ผลกระทบของหนี้บัตรเครดิตต่อการขายประกันผ่านช่องทางโทรศัพท์


ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจการประกันวินาศภัยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีมาตลอด โดยอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยทั้ง 2 ธุรกิจรวมกันในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 13-15 % โดยธุรกิจประกันชีวิตโตเฉลี่ยปีละ 15-20 % ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยโตเฉลี่ยปีละ 5-10 % ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการทำประกันภัยของคนไทยยังค่อนข้างตำ่ ยิ่งถ้าพูดถึงประกันวินาศภัยด้วยแล้วจะพบว่าคนไทยสนใจทำประกันวินาศภัยในอัตราที่ตำ่กว่าการทำประกันชีวิตมาก โดยในครึ่งปีแรกของปี 2557 พบว่าสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP (Insurance Penetration Rate) ของธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิตมีสัดส่วนเท่ากับ 1.7 % และ 4 % ตามลำดับ โดยในส่วนของการประกันชีวิตนั้นคาดว่าในปี 2557 จะมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ของคนไทยอยู่ที่ 38% เท่านั้น (อัตราการถือครองกรมธรรม์คิดจากจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับหารด้วยจำนวนประชากรคูณด้วย 100)

การแข่งขันในธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยในปัจจุบันมีค่อนข้างสูง โดยบริษัทประกันแต่ละบริษัทต่างก็พยายามพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งขยายช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด

ช่องทางในการขายประกันปัจจุบันมีหลายหลายกว่าแต่ก่อนที่พึ่งพาช่องทางตัวแทน (Agency) เป็นหลัก โดยพบว่าปัจจุบันมีช่องทางธนาคาร (Bancassurance) ช่องทางการขายทางโทรศัพท์ (Telemarketing) ช่องทางนายหน้า (Broker) ช่องทางขายตรงทางทีวี (TV Direct Response) ทางไปรษณีย์ (Direct Mail) ช่องทางอินเตอร์เนต (Internet Marketing) เป็นต้น

การขายคือผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่างๆ (Insurance products) ทางโทรศัพท์ (Telemarketing) ต่างก็ได้รับความสนใจจากทั้งบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตเป็นอย่างมาก โดยบริษัทประกันหลายรายต่างก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อการเสนอขายผ่านทางโทรศัพท์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยทั่วไปผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ใช้เสนอขายทางโทรศัพท์ มักมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. ผลิตภัณฑ์ที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

2. มีความคุ้มครอง 2-4 รายการ เช่น ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวันกรณีรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุ เป็นต้น

3. เป็นแบบประกันสำเร็จรูป ลูกค้าไม่ต้องเลือกความคุ้มครองเอง

4. เบี้ยประกันไม่แพง

5. วิธีการชำระเบี้ยเป็นรายเดือนและใช้วิธีหักผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าโดยตรง

6. เป็นสัญญาประกันแบบปีต่อปี เมื่อครบปีแล้วไม่ต้องมีการโทรไปขายใหม่ โดยความคุ้มครองจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆโดยอัตโนมัติตราบที่บริษัทยังได้รับการชำระเบี้ยจากลูกค้าหรือจนกว่าจะเกิดเหตุตามเงื่อนไขที่ระบุไว้เกี่ยวกับการสิ้นผลบังคับของสัญญาประกัน

7. ไม่มีมูลค่าเงินสด (Cash value) สะสม ดังนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาจะไม่มีเงินคืน

ปัจจุบันการขายประกันทางโทรศัพท์ มีทั้งแบบที่บริษัทประกันโทรไปเสนอขายให้แก่ลูกค้า (Outbound Telesales) และแบบที่ให้ลูกค้าโทรเข้ามาซื้อกับทางบริษัท (Inbound Telesale) โดยการขายประกันทางโทรศัพท์ทั้ง 2 แบบจะให้ลูกค้าตอบตกลงทางโทรศัพท์โดยมีการบันทึกเสียงการสนทนาการขายระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อไว้เป็นหลักฐาน ความคุ้มครองของประกันมักจะเริ่มต้นทันทีที่ลูกค้าตอบตกลง หรืออาจเริ่มต้นเมื่อบริษัทรับประกันสามารถหักเงินค่าเบี้ยประกันจากบัตรเครดิตลูกค้าได้แล้ว ทั้งนี้แล้วแต่ข้อกำหนดของบริษัทประกันแต่ละราย

การขายประกันภัยทางโทรศัพท์ปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ยังเติบโตได้อีก โดยในปี 2555 พบว่าเฉพาะการซื้อประกันชีวิตผ่านทางโทรศัพท์มีจำนวน 358,780 กรมธรรม์และมีมูลค่าเบี้ยประกันปีแรก (First Year Premium หรือ FYP) ถึง 3,128ล้านบาทและเมื่อรวมกับเบี้ยปีต่อ (Renewal Year Premium หรือ RYP) และประกันชีวิตที่จ่ายเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) แล้วจะมีเบี้ยประกันรับตรง (Direct Premium) รวมทั้งหมดถึง 11,382 ล้านบาท ส่วนปี 2556 มีจำนวนของการซื้อประกันชีวิตผ่านทางโทรศัพท์ 434,325 กรมธรรม์ และมีมูลค่าเบี้ยประกันปีแรกถึง 4,351ล้านบาทเมื่อรวมกับเบี้ยปีต่อและประกันชีวิตที่จ่ายเบี้ยครั้งเดียวแล้วจะมีเบี้ยประกันรับตรงรวมทั้งหมดถึง 12,882 ล้านบาท

เมื่อเทียบอัตราการเติบโตของการซื้อประกันชีวิตผ่านทางโทรศัพท์ พบว่าในปี 2556 มีอัตราการเติบโตของจำนวนกรมธรรม์จากปี 2555 ถึง 21 % และมีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันปีแรกจากปี 2555 ถึง 39 %

ส่วนการซื้อประกันวินาศภัยผ่านทางโทรศัพท์ในปี 2555 มีจำนวน 5,062,010 กรมธรรม์และมีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับตรง (Direct Premium) ถึง 8,441ล้านบาทส่วนปี 2556 มีจำนวนของการซื้อประกันวินาศภัยผ่านทางโทรศัพท์7,691,044กรมธรรม์ และมีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับตรงถึง 8,937 ล้านบาทเมื่อเทียบอัตราการเติบโตของการซื้อประกันวินาศภัยผ่านทางโทรศัพท์ พบว่าในปี 2556 มีอัตราการเติบโตของจำนวนกรมธรรม์จากปี 2555 ถึง 51 % และมีอัตราการเติบโต 6 % ของเบี้ยประกันภัยรับตรงจากปี 2555

หากรวมเบี้ยประกันทั้งการซื้อประกันชีวิตและประกันวินาศภัยผ่านทางโทรศัพท์จะพบว่ามีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับตรงของประกันภัยทั้งสองธุรกิจรวมกันในปี 2556 ถึง 21,819 ล้านบาท

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของการขายประกันทางโทรศัพท์โดยเฉพาะแบบที่บริษัทโทรไปขายให้ลูกค้า มักเป็นกลุ่มฐานข้อมูลสมาชิกหรือกลุ่มฐานข้อมูลลูกค้า (Leads) ของบางองค์กร เช่น กลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อ ผู้เช่าซื้อสินค้าบางประเภท เช่น รถยนต์ เป็นต้น เพราะข้อมูลของบุคคลเหล่านี้มีค่อนข้างเพียงพอต่อการเสนอขาย และสมาชิกส่วนใหญ่มีศักยภาพในการซื้อประกัน อีกทั้งองค์กรที่เป็นเจ้าของฐานข้อมูลก็สามารถส่งข้อมูลของสมาชิกเหล่านี้ให้บริษัทประกันเพื่อติดต่อเสนอขายได้ทันทีเนื่องจากข้อมูลมีพร้อมอยู่แล้ว

ทั้งนี้การตกลงกันระหว่างบริษัทประกันกับองค์กรที่เป็นเจ้าของฐานข้อมูล อาจมีในเรื่องค่าตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การให้ค่าตอบแทนแก่องค์กรตามจำนวนสมาชิกในฐานข้อมูลที่ตกลงซื้อประกันกับบริษัทประกัน หรือจ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนที่บริษัทประกันสามารถโทรติดต่อขายประกันได้ นอกจากนี้อาจมีค่าตอบแทนพิเศษอื่นๆเพิ่มเติมให้แก่องค์กรเจ้าของฐานข้อมูลสมาชิกอีก แล้วแต่ตกลง เช่น การตกลงเพื่อให้ได้ Exclusive Leads คือฐานข้อมูลรายช่ือสมาชิกรายใหม่ขององค์กรที่ไม่เคยให้บริษัทประกันรายอื่นมาก่อน (Hot Leads) และต้องไม่มอบรายชื่อฐานข้อมูลดังกล่าวแก่บริษัทประกันรายอื่นในระยะเวลาหนึ่งอาจเป็น 1-2 ปี โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้แก่องค์กรเจ้าของฐานข้อมูลสมาชิกเพื่อแลกกับการได้ Exclusive Leads ดังกล่าว เพื่อให้บริษัทประกันรายนั้นใช้ฐานข้อมูลเพื่อโทรขายประกันได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้พบว่ากลุ่มฐานลูกค้าที่เป็นรายใหม่ หรือ Hot Leads นี้จะมีอัตราการตกลงซื้อประกันสูงกว่ากลุ่มที่เคยถูกบริษัทอื่นเสนอขายมาก่อน ด้วยเหตุนี้บริษัทประกันบางรายจึงยอมจ่ายค่าตอบแทนพิเศษเพื่อแลกกับการได้ Hot Leads  มาใช้ทำการโทรไปขาย

ดังนั้นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของการขายประกันทางโทรศัพท์ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มผู้ที่เป็นสมาชิกบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆนั่นเอง

ในปัจจุบันความนิยมในการใช้บัตรเครดิตมีมากขึ้นเนื่องจากบัตรเครดิตมีประโยชน์สำหรับผู้ใช้หลายอย่าง เช่น ใช้ในการรูดซื้อสินค้าแทนการจ่ายเงินสด สามารถผ่อนสินค้าผ่านบัตรเครดิตได้ นอกจากนี้ปัจจุบันบรรดาบัตรเครดิตต่างๆ ต่างก็พากันทำโปรโมชั่นออกมามากมายทั้งมอบส่วนลดในการซื้อสินค้าโดยใช้บัตรเครดิต การสะสมคะแนนจากยอดการใช้บัตรเครดิตเพื่อนำไปเป็นส่วนลดหรือแลกสินค้าและบริการหลายๆอย่างได้ รวมทั้งอาจได้รับของแถมอีกด้วย จำนวนบัตรเครดิตและจำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติพบว่าจำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8-10 % โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าจำนวนบัตรเครดิต 5 ปีล่าสุดเป็นดังนี้

ปี 2553 มีจำนวน 14,185,815ใบ

ปี 2554 มีจำนวน 15,328,291 ใบ

ปี 2555 มีจำนวน 16,870,025 ใบ

ปี 2556 มีจำนวน 18,548,754ใบ

ปี 2557 มีจำนวน19,527,033 ใบ(ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม)

นอกจากนี้จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งได้ทำการสำรวจจำนวนบัตรเครดิตของผู้ที่ถือบัตรเครดิต พบว่าในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวนผู้ถือบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็น 41.2 % รองลงมาคือจำนวนผู้ถือบัตรเครดิต 2 ใบ คิดเป็น 28.8 % และจำนวนผู้ถือบัตรเครดิต 3 ใบ คิดเป็น 16.3 %

สถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตทั้งธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank) และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ต่างให้ความสำคัญในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตนี้ให้เป็นเครื่องมือทางการเงินที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการออกโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรเครดิตของตนให้ใช้บัตรเครดิตในการซื้อหรือชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆด้วย

จากการที่มีจำนวนฐานผู้ใช้บัตรเครดิตจำนวนมาก ทำให้เจ้าของสินค้าและบริการหลายชนิดต่างก็อยากได้ฐานข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิต เพื่อที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนให้แก่กลุ่มผู้ใช้บัตรเครดิต โดยเจ้าของสินค้าและบริการต่างๆเหล่านี้อาจใช้วิธีในการเข้ามาทำโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต เช่น อาจมีโบรชัวร์นำเสนอผลิตภัณฑ์แนบไปกับใบแจ้งยอดบัตรเครดิต การให้ส่วนลด สิทธิพิเศษ หรือของแถมเมื่อผู้ถือบัตรเครดิตมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของตน เป็นต้น หรือในบางรายอาจมีการตกลงกับสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตในการนำฐานข้อมูลผู้ถือบัตรเครดิตเพื่อนำมาใช้เสนอขายผลิตภัณฑ์ของตนโดยเฉพาะซึ่งมีทั้งรูปแบบการตลาดผ่านทางโทรศัพท์ (Telemarketing) ด้วยการโทรไปเสนอขายสินค้าหรือบริการ หรือการทำตลาดทางตรง (Direct marketing) ด้วยส่งเอกสารแจ้งโปรโมชั่นไปให้ผู้ถือบัตรเครดิต เป็นต้น

ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นิยมเสนอขายให้แก่กลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตผ่านช่องทางโทรศัพท์ก็คือผลิตภัณฑ์ประกันภัยทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัยนั่นเอง

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าการขายประกันทางโทรศัพท์มีอัตราการเติบโตสูงแต่บริษัทประกันส่วนใหญ่พบว่าอัตราความยั่งยืนของกรมธรรม์ (Policy Persistency Rate) ที่ขายผ่านช่องทางโทรศัพท์มักต่ำมากเมื่อเทียบกับช่องทางตัวแทน (Agency) หรือช่องทางธนาคาร (Bancassurance)หรืออีกนัยหนึ่งคือ อัตราการสิ้นผลบังคับ (Lapse Rate) ของกรมธรรม์ที่ขายทางช่องทางโทรศัพท์นั้นสูงกว่าช่องทางตัวแทนและช่องทางธนาคารนั่นเอง ทั้งนี้การขายประกันทางโทรศัพท์นั้นมักขายให้กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นสมาชิกบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อ และมีการหักเบี้ยประกันผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อด้วย การที่กรมธรรม์ที่ขายทางช่องทางโทรศัพท์มีอัตราการสิ้นผลบังคับสูงนั้น จากการวิเคราะห์สาเหตุพบว่ามี 2 สาเหตุหลักๆด้วยกันคือ

1. บริษัทประกันไม่ได้รับเบี้ยประกันจากลูกค้าเนื่องจากไม่สามารถหักเบี้ยประกันจากบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อของลูกค้าได้

2. ลูกค้าโทรมาขอยกเลิกกรมธรรม์ โดยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ลูกค้าขอยกเลิกมาจากการไม่ได้รับกรมธรรม์หลังตกลงซื้อประกันทางโทรศัพท์ไปแล้ว การตอบตกลงโดยเข้าใจผิด หรือตอบตกลงไปเพื่อตัดรำคาญแล้วจึงค่อยมายกเลิกภายหลัง นอกจากนี้ลูกค้าบางรายต้องการยกเลิกเพราะเคลมไม่ได้ และไม่พอใจในการให้บริการของพนักงาน รวมทั้งมีบางรายที่ขอยกเลิกกรมธรรม์เพราะเสียดายเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันทิ้งไปเฉยๆ คิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำประกันอีกต่อไปหรือบางรายยกเลิกเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆเยอะ เป็นต้น

ซึ่งกว่า 90 % ของกรมธรรม์ที่ซื้อผ่านช่องทางโทรศัพท์ทร่สิ้นผลบังคับเกิดจากทั้งสองสาเหตุเป็นหลัก โดยบางบริษัทนั้นกว่า 50 % ของกรมธรรม์ที่ขายทางช่องทางโทรศัพท์ที่สิ้นผลบังคับนั้นมาจากสาเหตุที่ไม่สามารถหักเบี้ยประกันจากบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อของลูกค้าได้

จากผลการสำรวจหนี้บัตรเครดิตของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าผู้ถือบัตรเครดิตกว่า 55.2 % มีหนี้ในบัตรวงเงินสูงกว่าปีก่อนและบางรายวงเงินในบัตรเต็มแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทจึงไม่สามารถหักเบี้ยประกันจากบัตรเครดิตหรือบัตรสินเชื่อของลูกค้าได้โดยผู้ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและนักศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่า87.2%ของผู้ถือบัตรเครดิตจะชำระหนี้บางส่วนและไม่ชำระหนี้เลยขณะที่12.8%ของผู้ถือบัตรเครดิตเท่านั้นชำระหนี้ทั้งหมด โดยในส่วนที่เบี้ยวหนี้หรือไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิตเลยมีถึง2ล้านบัญชีเลยทีเดียว นอกจากนี้ผลการเปรียบเทียบรายได้และยอดค้างชำระบัตรเครดิตพบว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนส่วนใหญ่จะมียอดค้างชำระเฉลี่ย 30,000 - 40,000 บาท, กลุ่มที่มีรายได้ 10,000-20,000 บาทส่วนใหญ่จะมีหนี้ค้างชำระต่ำกว่า 10,000 บาท, กลุ่มที่มีรายได้ 20,000-30,000 บาทส่วนใหญ่จะมีหนี้ค้างชำระ 10,000-20,000 บาทและกลุ่มที่มีรายได้ 90,001 บาทขึ้นไปส่วนใหญ่จะมีหนี้ค้างชำระ 40,001-50,000 บาท

เมื่อกลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับการขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ของบริษัทประกันภัย ดังนั้นหากผู้ถือบัตรเครดิตชำระหนี้เพียงบางส่วนหรือไม่ชำระหนี้ จนทำให้วงเงินในบัตรเต็มหรือไม่เพียงพอในการหักเบี้ยประกัน ก็ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราความยั่งยืนของกรมธรรม์ และส่งผลต่อการเติบโตและการทำกำไรของบริษัทประกันเช่นกัน ดังนั้นบริษัทประกันเองควรมีวิธีในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ควรมีการคัดกรองผู้ถือบัตรเครดิตที่มีความเสี่ยงต่อการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ในอนาคตหลังซื้อประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีรายได้น้อย ไม่สม่ำเสมออย่างอาชีพรับจ้างและนักศึกษาที่พบว่ามักเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ซึ่งจะทำให้วงเงินในบัตรเครดิตไม่เพียงพอต่อการหักหักเบี้ยประกันและทำให้กรมธรรม์สิ้นผลบังคับในอนาคตเร็วเกินไปก่อนที่บริษัทประกันจะสามารถทำกำไรได้

อย่างไรก็ตามกลุ่มนักศึกษานั้น มักเป็นกลุ่มที่ตอบตกลงซื้อประกันน้อยมาก จึงแทบไม่ค่อยมีผลกระทบกับช่องทางการขายประกันผ่านทางโทรศัพท์มากนัก

ปัญหาหนี้บัตรเครดิตนอกจากส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันในเรื่องการหักเบี้ยประกันภัยผ่านบัตรเครดิตอัตโนมัติแล้ว ยังส่งผลต่ออัตราการตอบรับการทำประกันผ่านทางโทรศัพท์ด้วย ทั้งนี้ลูกค้าที่มีหนี้บัตรเครดิตสูงแต่ขาดการชำระหรือชำระหนี้เพียงบางส่วนมักปฏิเสธการซื้อประกันที่โทรไปขาย เนื่องจากจะเป็นภาระทางการเงินเพิ่มเติม ดังนั้นหากมีการวิเคราะห์กลุ่มผู้เป็นหนี้บัตรเครดิตก่อนโทรไปขายน่าจะช่วยทำให้การขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ควรทำการวิเคราะห์กลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตเพื่อเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการแก่ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยลดอัตราการยกเลิกกรมธรรม์ของลูกค้าได้

References

1. พฤติกรรมการเลือกใช้บัตรเครดิตของผู้บริโภค, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2554.

2. พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของประชาชน, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 2557

3. รายงานช่องทางการขายธุรกิจประกันชีวิต, สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, www.oic.or.th สืบค้นเมื่อ 09/19/2014

4. รายงานการรับประกันภัยจำแนกตามช่องทางการขาย, , สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, www.oic.or.th สืบค้นเมื่อ 09/19/2014

5. การให้บริการบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิต, ธนาคารแห่งประเทศไทย, http://www2.bot.or.th/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?  สืบค้นเมื่อ 09/19/2014

หมายเลขบันทึก: 578528เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2014 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การทำประกันมีประโยชน์มากค่ะ พี่ก็ทำไว้ แต่การขายประกันทางโทรศัพท์รบกวนเวลาส่วนตัว และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ใครโทร.มาพี่จะโกรธมากและจะไม่ซื้อสินค้าตัวนั้นไปเลย ยังสงสัยว่าเขาไปได้เบอร์เรามาจากไหน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท