เขาเป็นชาวออสเตรเลียเกษียณที่มาพบรักใหม่ในประเทศไทย
เธอคือหญิงม่ายที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว 2 ครั้ง ลูกชายวัย 10 ปี ของเธอก็เริ่มคุ้นเคยกับพ่อใหม่คนนี้แล้ว
แต่ทว่า ตอนนี้เขากำลังจะตาย ลมหายใจที่รวยรินและร่างกายที่ทรุดโทรมลงทุกวันตอกย้ำความจริงนี้แก่เธออย่างไม่ปราณี เมื่อผมพบกับเขาเป็นครั้งแรก เราสามารถสื่อสารกันได้แค่การกระพริบตา และคำถาม ใช่/ไม่ใช่ แบบง่ายๆเท่านั้นเนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามไปที่สมองแล้ว
ทางทีมผมได้พบกับเขาครั้งแรกเมื่อ Chris มานอนที่รพ.ได้เกือบสองสัปดาห์ สาเหตุที่แพทย์หลักปรึกษานั้นก็เพื่อคุมอาการไม่สุขสบายต่างๆ ปัญหาด้านจิตสังคม ร่วมกับเป็นล่ามช่วยแปลภาษาให้ด้วย
เมื่อไปถึงที่ห้องของผู้ป่วย ครอบครัวจากออสเตรเลียก็มีท่าทีระแวดระวังขึ้นมาทันที โชคดีที่คู่หูของผมวันนั้นเป็นพยาบาลที่มาจากประเทศเดียวกัน พอเธอแนะนำตัวเองไปว่าเราคือทีม palliative care ท่าทีของครอบครัวก็เปลี่ยนไปในทันที
“พระเจ้า!! เรารอพวกคุณอยู่เลย! ขอบคุณมากที่มา” Kate พี่สาวคนโตบอก ขณะที่จับมือกับคู่หูผม
“สวัสดีครับหมอ” Will น้องเขยยกมือไหว้ผมแล้วจับมือทักทายเบาๆ อีก 2 คนที่อยู่ในห้องคือ Lorraine น้องสาวของ Chris และพี่พร ภรรยาชาวไทย
Chris มีอาการหลายอย่าง ทั้งเรื่องอาการปวดและหอบเหนื่อยจากตัวโรค ผมเริ่มวางแผนปรับยาพร้อมอธิบายถึงขั้นตอนต่างๆแก่ญาติ Chris เองก็พยายามมองตามและฟังผมอย่างตั้งใจ
“เดี๋ยวผมจะปรับยาแก้ปวดที่ชื่อว่า morphine ให้คุณนะ แล้วจะมาดูอีกทีในวันพรุ่งนี้ ถ้ายังปวดอยู่มากก็ขอยาเพิ่มได้นะครับ”
Chris มองหน้าผมแล้วกระพริบตา 1 ที
“เขาบอกว่าเข้าใจน่ะหมอ เราตกลงกันว่าถ้า Chris อยากบอกว่าใช่ให้กระพริบตา ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องทำอะไร” Kate อธิบายเพิ่ม
ครอบครัวดูสบายใจขึ้นมากเมื่อผมมาอธิบายถึงขั้นตอนและแผนการรักษาในขั้นต่อๆไปเนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีใครบอกอะไรกับพวกเขาเลย ระหว่างที่คู่หูของผมคุยกับเพื่อนร่วมชาติ ผมก็อธิบายให้พี่พรฟังเป็นภาษาไทยเพิ่มเติม
ในผู้ป่วยรายนี้ อาการไม่สุขสบายทางกายนั้นคงต้องปรับยาและมาดูเป็นระยะ แต่ปัญหาอื่นที่ผมกังวลนั้นมีอีก 2 อย่างคือผมไม่แน่ใจว่าพี่พรสามารถสื่อสารกับครอบครัวฝั่งสามีได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากสังเกตว่าเวลา Will หรือ Kate พูดกับพร เธอจะดูไม่เข้าใจทั้งหมด คนอื่นๆจึงต้องพยายามปรับภาษาให้ช้าและง่ายขึ้นจึงจะสื่อสารกันได้ อีกอย่างหนึ่งคือผมกังวลว่าเธอจะถูกเสียงข้างมากกลบเสียงของตัวเองไปหรือเปล่า นี่นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะปกติเวลาชาวต่างชาติมาอยู่ที่เมืองไทยก็มักจะอยู่กับครอบครัว ญาติพี่น้องคนไทยของภรรยา แต่ครอบครัวนี้คนไทยกลับกลายเป็นเสียงส่วนน้อยซะอย่างงั้น
พอเดินออกมาจากห้องพี่พรก็ตามออกมาและยืนยันความกังวลของผมด้วยตัวเอง
“หมอ..ฉันมีเรื่องอยากขอร้องหมอหน่อย หมอช่วยเป็นล่ามคุยกับทางนั้นได้มั้ย? ภาษาอังกฤษฉันไม่ค่อยดี”
“ได้ครับ พี่พรอยากบอกอะไรกับพวกเค้าเหรอครับ?” เธอนิ่งไปพักหนึ่งก่อนที่จะบอกต่อ
“เป็นความผิดของฉันหรือเปล่าหมอ?”
“ครับ?”
“ที่พาเค้ามาโรงพยาบาลสาย...จนเป็นถึงขนาดนี้..”
พี่พรมีสีหน้ากังวลอย่างเห็นได้ชัด เท่าที่ฟัง เธอคงกังวลว่าตนพาสามีมารพ.สายจนมะเร็งเป็นถึงขั้นลุกลาม
“พี่พรครับ...ผมเข้าใจนะว่าพี่รู้สึกเครียดและรู้สึกผิดกับสามี แต่พี่พรไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองนะครับ โรคพวกนี้ บางทีมันไม่ได้ตรวจพบง่ายๆในระยะแรกเริ่ม” ผมทิ้งช่วงไปครู่หนึ่งจึงค่อยบอกต่อ “และตอนนี้พี่ก็มาดูแลเขาเป็นอย่างดี ผมเห็นได้ว่าเขารับรู้ได้และทางพี่น้อง Chris ก็บอกกับผมเองว่าพี่พรดูแลน้องของพวกเขาดีมาก”
พี่พรดูสีหน้าคลายกังวลลงเล็กน้อย แต่ยังไม่ทั้งหมด
“งั้นหมอช่วยบอกแทนฉันหน่อยได้มั้ย? บอกกับพวกเขาว่าฉันขอโทษ...ขอโทษที่ทุกอย่างออกมาเป็นแบบนี้”
“ได้ครับ....แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นปมในใจของพี่พรและผมว่าทุกๆคนน่าจะอยากได้ยินจากตัวพี่เอง ถ้าพี่ต้องการ ผมก็จะเป็นล่ามแปลให้ แต่ถ้าพี่อยากพูดด้วยตัวเองก็ทำได้เหมือนกัน พี่คิดว่าไงครับ?”
พี่พรเงียบไปพักหนึ่งก่อนที่จะบอกว่า “งั้นฉันบอกเองหมอ”
วันถัดมา ผมไปปรับยาให้ Chris ดูพี่พรยังมีสีหน้ากังวลเหมือนเดิม ทางครอบครัวออสเตรเลียก็ถามตอบกับผมหลายอย่างและพยายามถามความเห็นร่วมในการตัดสินใจกับพี่พรด้วย เธอฟังไม่เข้าใจในหลายๆประเด็น ผมจึงเป็นล่ามแปลให้เหมือนเดิม ดูเหมือนว่าผมจะกังวลเกินไปเรื่องที่ว่าพี่พรจะโดนเสียงข้างมากกลบ เพราะพวกเขาเคารพการตัดสินใจและเสียงของพี่พรเป็นอย่างดี
เมื่อผมออกจากห้อง Kate ก็เดินตามผมออกมา เธอบอกถึงความกังวลของเธอให้ผมฟัง
“หมอ...พรเค้าจะไหวรึเปล่านะ พวกฉันมาช่วงกลางวันแล้วกลับไปที่พักช่วงเย็น แต่พรกลับอยู่เฝ้า Chris ตลอด 24 ชม. เลย ไม่รู้ได้นอนบ้างหรือเปล่า พวกฉันกังวลมาก อยากให้เขาพักและคิดถึงสุขภาพของตัวเองบ้าง แค่นี้พวกเราก็ซาบซึ้งกับเธอมากแล้ว”
“เขารู้สึกผิดหลายๆอย่างน่ะ แล้วเมื่อวานพรคุยกับพวกคุณรึยังนะ?”
“รู้สึกผิด? เรื่องอะไรล่ะ??? แล้วเมื่อวานก็ไม่เห็นเขาพูดถึงอะไรนี่?”
ดูเหมือนว่าพี่พรจะยังไม่ได้บอกความกังวลของตัวเองให้คนอื่นฟัง ขืนปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ ผมจึงคิดว่าคงต้องจัดประชุมในครอบครัวสักที ผมเข้าไปในห้องอีกครั้งแล้วอธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่าอยากนัดคุยกับครอบครัวทั้งหมด ทุกคนพยักหน้ารับทราบและเดินไปอีกห้องหนึ่ง พี่พรดูสีหน้าตื่นอย่างเห็นได้ชัด แต่ Will ก็โอบไหล่เธอไว้อย่างอ่อนโยนและชวนกันไปที่ห้องประชุม
เมื่อทุกคนมากันครบ ผมจึงอธิบายให้พี่พรฟังสั้นๆว่าที่เรียกมาก็เพราะจะเป็นล่ามบอกถึงความในใจของพี่พรให้ทุกคนรับทราบ เธอจึงแลดูตื่นน้อยลง
“ฉันขอโทษ...ขอโทษที่พาเขามารพ.สาย....ตอนนั้นเขาบอกว่าปวดขา..ถ้าฉันเร่งให้เขาไปตั้งแต่ตอนนั้นก็คง...ฉันขอโทษ...ขอโทษจริงๆ....ฉันเสียใจ....ที่เค้าต้องกลายเป็นแบบนี้....I…am…sorry.....” พี่พรพูดเสียงขาดๆปนก้อนสะอื้น นัยน์ตาแดงก่ำ เมื่อทางครอบครัวออสเตรเลียรับทราบทุกคนก็ตกใจและพากันปลอบประโลมเธอทันที
“เธอช่วยเขาได้มากแล้วนะพร เธอดูแลเขา อยู่ด้วยกันกับเขาทั้งตอนที่เขาสบายดีและตอนที่เขาป่วย แค่นี้พวกฉันก็รู้สึกขอบคุณเธอมากแล้ว และฉันมั่นใจว่า Chris เองก็รับรู้ได้เช่นกัน”
“เขาเป็นคนอย่างนั้นแหละ ถ้าไม่เจ็บหนักจริงๆก็จะไม่ไปหาหมอหรอก ต่อให้ Chris อยู่ในออสเตรเลีย ฉันก็เชื่อว่าจะไม่ต่างกัน”
“ใช่ แล้วรู้มั้ยว่า Chris เคยบอกอะไรให้ฉันฟัง? เขาบอกว่า ช่วงเวลา 6 ปีที่เขาอยู่ในไทย อยู่กับเธอ เป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุขที่สุดในชีวิต”
ได้ยินถึงตรงนี้พี่พรก็ปล่อยโฮออกมาทันที น้ำตาแห่งความอัดอั้นตันใจพรั่งพรูออกมาไม่หยุดหย่อน เธอคงแบกรับความรู้สึกนี้มาตลอด โดยที่ไม่ได้คุยกับใครเลย
ถึงตรงนี้ก็หมดหน้าที่ล่ามอย่างผมแล้ว พวกเขากอดและกุมมือกันเงียบๆอยู่พักใหญ่โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาหรือวจีใดๆ ใช้เพียงแค่อ้อมกอดและการสัมผัสเท่านั้นก็เพียงพอที่จะสื่อความในใจของกันและกันได้
มีคำพังเพยภาษาอังกฤษอันหนึ่งที่ว่า elephant in the room ซึ่งหมายถึงเวลาที่มีเรื่องบางอย่างปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด ทุกคนรับรู้ถึงมันได้ แต่ไม่มีใครพูดถึงสิ่งนั้น อาจจะเพราะไม่อยากคุย อยากหลีกเลี่ยง หรืออะไรก็ตามแต่
แต่สำหรับครอบครัวนี้ ช้างที่ว่านั้นเป็นช้างสัญชาติออสเตรเลีย และต้องการควาญช้างที่คุยภาษาช้างได้ ก็เท่านั้นเอง