ทำความรู้จัก "ซั้งกอ" ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำให้จำนวนปลากลับคืนสู่อ่าวไทย ฟื้นชีวิตชาวประมงชายฝั่ง


“ซั้งกอ” ภูมิปัญญาแบบง่ายๆ ของชาวประมงพื้นบ้าน นับเป็นอีกหนึ่งวิธีจัดการปัญหาในชุมชน ซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ซึ่งใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น แค่นี้ก็ทำให้ประมงพื้นบ้านบ้านแขกแห่งนี้มีความยั่งยืนสืบไป

ซั้งกอ” บ้านปลากลางอ่าวไทย

ทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตระหนักร่วมกันว่าถ้าไม่ลงมือทำอย่างใดพอย่างหนึ่ง อาชีพประมงพื้นบ้านของพวกเขาอาจจะล่มสลายในเร็ววัน 

ตามไปดูชาวบ้านร่วมกันวาง “ซั้งกอ” กลางอ่าวไทย

“ก็อยากจะดักให้มันอยู่แถวนี้บ้าง ไม่อยากให้มันว่ายขึ้นข้างบนเร็วนัก เห็นคนแม่กลองเขาจับได้ตัวใหญ่ๆ ก็นึกอิจฉา ว่าทำไมเราได้ตัวนิ้ดนึง” สมพร มาเจริญชาวประมงบ้านแขก ต.ปากแพรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าขำๆ ถึงเหตุผลและความจำเป็นในการวาง “ซั้ง” เสริมยังกอเดิมที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้

สิ่งที่สมพรพูดถึงนั้น หมายถึงปลาทูในอ่าวไทย ซึ่งเป็นสัตว์น้ำสำคัญที่ชาวประมาณพื้นบ้านอย่างสมพรจับได้ในแต่ละวัน แต่ดูเหมือนว่า วันนี้กำลังมีปัญหา เมื่อสภาพแวดล้อมทางทะเลโดยทั่วไปเสื่อมโทรมลง มีการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่อย่างผิดกฎหมาย ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน

ชาวประมงพื้นบ้านบ้านแขก แห่งบางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน การขาดแคลนทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลส่งผลให้รายได้ลดน้อยลง พวกเขาจึงคิดบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจัดทำโครงการ “กลุ่มประมงพื้นบ้านแขกร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ชาวประมงพื้นบ้านหวงแหนในทรัพยากรของตัวเองและร่วมกันฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์ปลาให้คงอยู่ตลอดไป

ครงการ “กลุ่มประมงพื้นบ้านแขกร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ของชาวบ้านแขก ถือเป็นหนึ่งในโครงการเด่นของชุดโครงการ “ชุมชนน่าอยู่” ซึ่ง สสส.ให้การสนับสนุนชุมชนหรือหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 1,300 ชุมชน สำหรับกิจกรรมของชาวบ้านแขกที่โดดเด่น คือการการสร้าง “ซั้ง” เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำ



ผูกเชือกต่อกิ่งแล้วทิ้งลงน้ำ

"ซั้ง" เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่อดีต เป็นอุบายดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอยู่รวมกันเป็นจํานวนมาก เพื่อความสะดวกในการจับ หรือทําการประมง โดยการนําซั้งหรือทุ่นปะการังเทียมไปทิ้งไว้ในทะเลอ่าวไทย เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยชาวบ้านสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นที่สามารถย่อยสลายในน้ำได้

การทำซั้ง ทำกันหลากหลายรูปแบบ บางพื้นที่ทำเป็นพุ่มลอยน้ำ บางแห่งใช้ แหเก่า อวนเก่า ผูกกับไม้ไผ่ แล้วทิ้งลงทะเล ดังนั้นส่วนประกอบหลักๆ ที่ขาดไม่ได้มีอยู่ 3 อย่าง คือ ไม้ไผ่ เชือก และถุงทราย ส่วนองค์ประกอบอื่นที่จะช่วยก่อรูปให้เป็นซั้งนั้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ ว่าจะเลือกใช้สิ่งใด แต่สำหรับชาวประมงบ้านแขก เลือกใช้ “ทางมะพร้าว” เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง

ก่อนหน้าที่จะไปวางซั้งกลางทะเลหนึ่งวัน ชาวบ้านแขกช่วยกันตัดไม้ไผ่ สอยทางมะพร้าว และกรอกทรายใส่กระสอบ นำไปวางเรียงไว้ริมหาดแหลมสน บางสะพานน้อย ติดกับหมู่บ้าน และนัดแนะกันว่าเวลา 8 โมงเช้าจะออกเรือไปวางซั้งกลางทะเล

วันรุ่งขึ้น เราไปถึงหาดแหลมสนช้ากว่าปกติ แต่ก็เห็นชาวบ้านประมาณ 30 คนรออยู่แล้ว ส่วนในทะเลริมหาดมีเรือหลากหลายขนาด จอดเรียงรายอยู่ 7 ลำ เป็นเรือหางยาวขอนาดกลาง 4 ลำ และเรือประมงแบบเครื่องวางท้องอีก 3 ลำ จอดรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้เวลาทุกคนช่วยกันขนส่วนประกอบของซั้งที่เตรียมไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ไม้ไผ่ ทางมะพร้าว กระสอบทราย และเชือก ขึ้นไปบนเรือ

ซั้งของชาวบ้านแขก ไม่ได้ทำสำเร็จตั้งแต่บนบก แต่จะนำทุกส่วนประกอบไปประกอบเข้าด้วยกันที่กลางทะเล ณ จุดที่ซั้งกอวางอยู่ ซึ่งซั้งกอของชาวบ้านแขก จะวางอยู่ระหว่างชายฝั่งหาดแหลมสนกับเกาะทะลุห่างจากฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร โดยวางทั้งหมด 3 จุด

เป็นเขตการทำประมงพื้นบ้าน เราทำเพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็กให้มีโอกาสได้เจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณ และยังสามารถช่วยป้องกันเรือประมงขนาดใหญ่ เข้ามาทำการประมงในเขตบริเวณชายฝั่งด้วย” สมพร อธิบายระหว่างนั่งเรือไปกลางทะเล

เรือแล่นออกจากหาดมาได้ประมาณ 20 นาที ก็ถึงจุดวางซั้ง ภาพที่เห็น คือเสาไม้ไผ่ปักเรียงรายระเกะระกะประมาณ 40 ต้น ซึ่งจุดนี้ สมพร เล่าว่าเคยวางไว้แล้วตั้งแต่ต้นปี วันนี้จึงเตรียมซั้งมาอีก 25 ต้น เพื่อวางแซมลงไปให้ดูหนาแน่นขึ้น

ส่วนระดับความลึกนั้น จุดที่เหมาะสมไม่ควรลึกเกิน 10 เมตร เพราะเป็นระดับที่พอดี หากลึกเกินไปจะทำให้ไม้ไผ่ทั้งลำที่เตรียมมา จมมิดลงไปใต้น้ำ ทำให้มองชาวประมงที่มาจับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นมองไม่เห็นว่ามีซั้งกออยู่ อวนหรืออุปกรณ์จับสัตว์น้ำเมื่อวางลงไปแล้วอาจจะเสียหายได้

ซั้งของชาวบ้านแขกที่ประกอบกันกลางทะเล จะเริ่มจากชาวบ้านคนหนึ่งใช้มีดบั้งท่อนไม้ไผ่ให้เป็นรูทุกๆ ปล้อง เพื่อให้น้ำไหลเข้าไปในปล้องไม้ไผ่ จะได้จมง่าย อีกคนใช้เชือกไนล่อนยาว 2-3 เมตร ผูกกับโคนไม้ไผ่ ส่วนอีกปลายหนึ่งของเชือกผูกกับกระสอบทราย ขณะที่อีกคนหนึ่งผูกทางมะพร้าวจำนวน 2 กิ่งตรงกลางลำไม้ไผ่

เมื่อเสร็จแล้วจะช่วยกันยกกระสอบทราย ทิ้งลงน้ำ น้ำหนักของกระสอบทรายจะดึงรั้งไผ่ทั้งลำดิ่งลงสู่ก้นทะเลในลักษณะตั้งตรงกับพื้น ส่วนทางมะพร้าวที่ผูกไว้กลางลำไผ่จะแผ่ออก ภาพของซั้งใต้น้ำจะมีลักษณะคล้ายต้นไม้ มีกิ่งใบ ใช้เป็นที่พักอาศัยของปลานานาชนิด

รือแต่ละลำบรรทุกไม้ไผ่ กระสอบทราย เชือก แยกกันไปผูกรวมกันกลางทะเล


“ซั้งกอ”เขตแดนของประมงพื้นบ้าน

นอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กแล้ว ซั้งกอยังเป็นการประกาศเขตแดนของชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินอยู่ริมชายฝั่ง ไม่มีเรือใหญ่ออกไปจับปลาย่านน้ำลึก

“เราต้องช่วยเหลือตัวเอง การทำซั้งกอก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้มีสัตว์น้ำมากขึ้น และยังเป็นการแสดงอาณาเขตให้ประมงขนาดใหญ่ทราบไม่ให้รุกล้ำเข้าในเขตประมงพื้นบ้าน” สมพร บอก

ชาวบ้านแขกเห็นตรงกันว่า ถ้าไม่ทำซั้งกอ สัตว์น้ำก็ไม่มีที่อยู่อาศัยส่งผลต่อการขยายพันธุ์ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง รายได้ก็ลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาวบ้านแน่นอน เพราะเมื่อออกเรือแล้วมีรายได้ไม่คุ้ม ก็ไม่มีใครอยากออก ซึ่งอาจจะส่งผลเลิกทำอาชีพนี้ไปเลยก็ได้

สมพร เล่าด้วยว่า ชาวประมงอย่างเขาจะออกเรือตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเที่ยงหลังจากนั้นจะกลับมาพักและออกอีกครั้งช่วงหัวค่ำ แต่ละครั้งจะรายได้ประมาณ 500บาท แต่ถ้าวันไหนได้ถึง 2,000 บาทถือว่าโชคช่วย เพราะทุกวันนี้สัตว์น้ำที่ลดน้อยลงแล้ว

“การมีซั้งมันดีอยู่แล้ว ทั้งปูทั้งปลามาอยู่กันเต็มไปหมด ปูม้าก็เยอะ ปลาหลังเขียว ปลาพิกุล ปลาทู เป็นปลาที่ชอบเข้าไปอยู่” สมพร ตอบเมื่อถามถึงสัตว์น้ำที่จับได้บริเวณใกล้ๆ ซั้งกอ

“ใจจริงก็อยากให้ปลาทูมาอยู่แถวนี้เยอะๆ ไม่ต้องรีบขึ้นไปทางแม่กลองก็ได้” สมพรพูดต่อพร้อมกับหัวเราะ

สิ่งที่สมพรร้องขอจากธรรมชาติ อาจจะไม่เกินเลยไปนัก เพราะทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ช่วยพยุงคุณภาพชีวิตของชาวประมงชายฝั่งอ่าวไทยที่สำคัญ คือ ปลาทู ซึ่งการทำซั้งกอของชาวบ้านแขก ถือเป็นอุบายหนึ่งที่ช่วยดักปลาทูไม่ให้ว่ายน้ำขึ้นไปยังก้นอ่าวเร็วเกินไป อย่างน้อยก็ควรหยุดพักหาอาหาร เลี้ยงลูกน้อยแถวๆ ปะทิว บางสะพาน ทับสะแก บ้างก็ยังดี

สำหรับชุมชนบ้านแขกมีทั้งหมด 120 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือทำสวนมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน ทำอาชีพประมงมีเพียง 20 ครอบครัว เป็นประมงพื้นบ้านแบบครัวเรือนไม่ได้ทำเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่

แม้จะมีชาวประมงในสัดส่วนที่น้อย แต่ชาวบ้านทุกคนก็พึ่งพิงแหล่งอาหารทะเลจากพี่น้องชาวประมงกลุ่มนี้

นพรัตน์ ค้ำชู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ปากแพรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า ปัญหาที่พบในชุมชนของเขา คือ สัตว์น้ำลดน้อยลง กระทบกับรายได้ อีกทั้งในอดีตชาวบ้านยังไม่มีการรวมกลุ่มต่างคนต่างทำมาหากิน เขาจึงไปชักชวนให้ 20 ครอบครัวที่ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมกลุ่มกันเพื่อให้ตระหนักถึงทรัพยากรสัตว์น้ำ และเป็นการส่งเสริมอาชีพ ถ้าหากทำแล้วได้ผลดีก็จะเป็นประโยชน์ต่ออาชีพต่อชาวประมงเอง ซึ่งเขา ในฐานะผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

“เป็นการปกป้องอาชีพพื้นบ้านของเรา ช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้เรายังเอื้อเฟื้อให้หมู่บ้านอื่นมาจับสัตว์ในพื้นที่ซั้งกอที่เราวางไว้ เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของพี่น้องชาวประมงอีกด้วย” ผู้ใหญ่นพรัตน์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า ช่วงที่วางซั้งนั้นจะทำกันในช่วงปิดอ่าว คือเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม เป็นช่วงปลาวางไข่ การวางซั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นการอนุรักษ์เป็นแหล่งพักพิงของปลาวัยอ่อนด้วย

ทางด้าน สมพร ปัจฉิมเพชร นายอำเภอบางสะพานน้อย กล่าวว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำลดน้อยลงส่งผลต่อรายได้และวิถีชีวิตของชาวชุมชน ซั้งกอ ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านนำไปใช้ในการจำลองต้นไม้กลางน้ำวางไว้กลางทะเลเพื่อเป็นแหล่งอนุบาล เป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์น้ำนานาชนิด และมีข้อกำหนดไว้ว่าประมงพื้นบ้านจะต้องทิ้งระยะในการจับสัตว์น้ำจากซั้งกออย่างน้อย 50 เมตร เพื่อช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้น ในส่วนข้อขัดแย้งของประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ปัญหาก็ลดน้อยลงไปเพราะเราเอาทั้ง 2 กลุ่มมาร่วมพูดคุยในลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ต้องพูดถึงข้อกฎหมาย ก็ได้ข้อสรุปเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย

ทางหน่วยงานราชการก็พร้อมช่วยเหลือและส่งเสริมชาวชุมชนโดยเฉพาะภูมิปัญญาที่เข้ามาจัดการปัญหาในชุมชนของตนเอง เพราะหน่วยงานราชการเราไม่มีภูมิปัญญาเหมือนชาวบ้าน แต่เรามีพลังขับเคลื่อนมีเครื่องมือในการกระตุ้นภูมิปัญญาที่คอยผลักดันและส่งเสริมให้ภูมิปัญญานั้นๆ ประสบความสำเร็จขึ้นได้

“ซั้งกอ” ภูมิปัญญาแบบง่ายๆ ของชาวประมงพื้นบ้าน นับเป็นอีกหนึ่งวิธีจัดการปัญหาในชุมชน ซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ซึ่งใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น แค่นี้ก็ทำให้ประมงพื้นบ้านบ้านแขกแห่งนี้มีความยั่งยืนสืบไป

วงจรชีวิตปลาทู
ชายฝั่งบางสะพานแค่ทางผ่าน

คนไทยคุ้นเคยกับปลาทูมานานแล้ว และถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกที่คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ และดูเหมือนว่ากินปลาทูเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักหมด ทั้งๆ ที่แต่ละวันชาวประมงในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี จับปลาทูได้รวมกันถึงวันละ 1 ล้านกิโลกรัม แต่ละปีประมงไทยจับได้ไม่ต่ำกว่าแสนตัน
จากการศึกษาค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลไทย พบว่า ปลาทูคือสินในน้ำที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งของทะเลไทย เพราะวงจรชีวิตของปลาทูเวียนว่ายตายเกิดอยู่กลางอ่าวไทย จะมีบ้างทางฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดระนอง พังงา แต่ไม่มากเท่าฝั่งทะเลตะวันออก
ที่ก้นอ่าวไทย บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไปจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปลาทูที่พบในน่านน้ำคือปลาทูสาว ตัวใหญ่ เนื้อละเอียด นุ่มและมัน เมื่อถึงเดือนธันวาคม-มกราคม ใกล้ฤดูวางไข่มันจะพากันอพยพลงใต้ ไปยังหมู่เกาะอ่างทอง เกาะพะงัน เกาะสมุย เขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณนี้มีเกาะแก่งมากมาย เหมาะสำหรับวางไข่ และอนุบาลลูกน้อย พอถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ลูกปลาทูเริ่มแข็งแรงและโตเพียงพอ จะพากันว่ายเข้าชายฝั่ง หากินอาหารตามปากแม่น้ำ ไล่ตั้งแต่หลังสวน ปะทิว บางสะพาน ทับสะแก ก่อนจะไปโตเต็มที่ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่แม่กลอง มหาชัย และปากแม่น้ำเจ้าพระยา พอหากินไปซักระยะ ก็ถึงเวลาอพยพลงใต้ต่อ ว่ายวนตามเข็มนาฬิกา เป็นวัฎจักรเสมอมา

ดังนั้น-ชายฝั่งทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็น “ทางผ่าน” ของปลาทูในอ่าวไทย


ภาพที่มา : http://toetaerider.com/index.php?action=printpage%3Btopic=263.0
หมายเลขบันทึก: 578108เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2014 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2014 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหาใหญ่สุด...อ่าวไทย..น้ำเสียมีมากกว่าน้ำดี...(น้ำใส..เห็นตัวปลา..โบราณว่า).....ทุกวันนี้...ผลพวงทางอุตสาหกรรม(คำนี้ตลกแบบยิ้มไม่ออก)..เป็นพิษ..ร้ายแรงต่อ..ธรรมชาติและสังคม..ไม่มีการวางแผน(รึมี)..แต่ทำไงกันไม่รู้..๕๕...(หน้าที่ของชาวบ้านทุกคน..)..ที่จะต้องช่วยกัน..ทำให้น้ำดี..น้ำใส....ปลาจะกลับมาแน่ๆ..ไม่เชื่อ..อย่าดูหมิ่น..อ้ะะๆๆ...

ปัญหาปลาหมดไปจากท้องทะเล นอกจากน้ำเสียแล้ว น่าจะมีอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับปลาแบบไม่บันยะบันยัง ทำอวนตาห่างให้จับได้แม้แต่ลูกปลา พยายามลักลอบจับปลาในฤดูผสมพันธุ์ ไม่เปิดโอกาสให้ปลาเพาะพันธุ์ได้ มีเรดาร์ทันสมัยในการค้นหาปลาตามตำแหน่งต่างๆ ไม่รวมกับการใช้ไฟฟ้าที่จะช็อตปลาเพื่อจับปลาให้ได้มากที่สุด สุดท้ายปลาก็หมดอ่าว จะว่าใครก็ไม่ได้ ทำกันเอง กว่าจะรู้ตัวว่าเดือดร้อนจากพฤติกรรมของตนเองก็แทบจะฟ้นฟูไม่ได้แล้ว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท