การสอนอ่าน คิด วิเคราะห์..จากสิ่งที่ง่ายและใกล้ตัว


ใบไม้ร่วงหนึ่งใบอย่าไหวหวั่น อย่าเสียขวัญวิโยคโศกกำสรวล

ผมคิดว่าการสอนอ่านคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่การใช้สื่ออย่างเดียว แต่ต้องใช้เวลา..และทักษะการฝึกซ้ำๆบ่อยๆ ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสนามสอบโอเน็ตชั้น ป.๖ ด้วยแล้ว เป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน เกินกว่าเด็กจะเข้าถึง. นั่นหมายถึงครู..ไม่ได้วางแผนการฝึกฝน หรือเด็กได้รับการเรียนรู้ด้วยเวลาและเครื่องมือที่น้อยเกินไป

ครูหลายท่าน..ยังเข้าใจว่า การอ่าน คิด วิเคราะห์ ถูกนำไปใช้ หรือเป็นแบบทดสอบเฉพาะวิชาภาษาไทยเท่านั้น ปัจจุบันเทคนิควิธีการและตัวแบบทดสอบ มีให้คิด และวิเคราะห์ในหลายสาระวิชา ดังนั้น..ถ้าเด็กได้รับการฝึกอ่าน คิด และสังเกตแยกแยะ ที่มากพอ จะเข้าถึงแก่นแท้ของคำถามและหาคำตอบได้ไม่ยาก

ผมเองก็พอจะรู้ว่า มีงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยและแนบท้ายด้วยเครื่องมือ (แบบฝึกอ่าน) ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ รวมถึงนวัตกรรมและผลงานของครูมืออาชีพจากทั่วประเทศ ที่ออกแบบและทดลองใช้แบบฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ ที่เป็นต้นแบบสำหรับนำไปใช้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมคิดว่าจะต้องค้นคว้า หามาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้ได้

แต่เวลานี้...เป็นช่วงระยะเวลาเริ่มต้น ควรที่จะปูพื้นฐานจากง่ายไปหายาก ค่อยๆเรียนรู้และอ่านจากเรื่องที่ไม่ต้องลงลึกในรายละเอียดมากนัก ซึ่งผมได้เริ่มทดลองใช้มาราวๆ ๑ เดือน ในชั่วโมงซ่อมเสริม และคาดหวังว่า ภาคเรียนที่ ๒ เมื่อใช้แบบฝึกผ่านไปมากกว่า ๕๐ ครั้ง นักเรียนน่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

เมื่อผลสัมฤทธิ์ปลายปีออกมา และมีผลในเชิงบวก ผมคงได้จัดพิมพ์แบบฝึกเพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาในปีต่อไปและอาจได้ถอดบทเรียนในเชิงวิชาการ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้าง

ณ วันนี้ ขอบันทึกบอกเล่าเป็นสังเขป ว่าผมพบอะไรและใช้อย่างไร จากสื่อง่ายๆใกล้ตัว ที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว เพียงแค่ครูสังเกต หยิบมาใช้ เพิ่มคำถามและอดทนในคำตอบของนักเรียน เท่านี้ก็เป็นกระบวนการที่มากพอ ในการนี้ผมใช้..สื่อหนังสือ "กาญจนกานท์" รวมบทกวีวรรคทองร่วมสมัย เล่ม ๑ - ๒ ซึ่งเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ของ สพฐ.ที่ส่งให้โรงเรียนทั่วประเทศ

อย่างเช่นบทที่ว่า........

ใบไม้ร่วงหนึ่งใบอย่าไหวหวั่น   อย่าเสียขวัญวิโยคโศกกำสรวล

ฟ้ากำหนดเวลาว่าสมควร     ทุกสิ่งล้วนอนิจจังไม่ยั่งยืน

เมื่อไปก่อนถึงก่อนได้พักก่อน   อย่าอาวรณ์อาลัยให้ขมขื่น

จากกันแค่ชั่ววันและชั่วคืน      หลับหรือตื่นเราคงอยู่เคียงคู่ใจ      

                                                     บทประพันธ์ของ จิรวรรณ แก้วพรหม

นอกจากนักเรียนจะได้ฝึกการอ่านแล้ว ยังได้ฝึกการตอบคำถามแบบอัตนัย โดยผมจะตั้งคำถามให้แสดงความรู้สึกที่มีต่อบทร้อยกรองนี้ และท้ายที่สุดยังให้นักเรียน ตั้งชื่อเรื่องตามความนึกคิดของตนเอง

ในระหว่างทางที่นักเรียนอ่าน ผมมีคำถามเกี่ยวกับชีวิตจริงที่นักเรียนสัมผัส บรรยากาศอย่างนี้น่าจะเป็นงานใดที่พบในชุมชน...และใบไม้ร่วง..เปรียบได้กับสิ่งใด..เขียนบอกมา

รวมทั้งสัมผัสในวรรค ที่เป็นสัมผัสพยัญชนะ(คำซ้อน) ทำให้บทร้อยกรองไพเราะยิ่งขึ้น มีคำใดบ้าง

ผมคิดว่าบทความหรือบทร้อยกรองที่ครูพบเห็น..ถ้าได้นำมาใช้ ฝึกทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์ในลักษณะดังที่ผมกล่าวมา และทำอยู่บ่อยๆสม่ำเสมอ...ผมมีความเชื่อว่าคุณภาพนักเรียนที่พึงประสงค์น่าจะเกิดให้เห็นได้ไม่ยาก..ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป ครับ

 

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒ ตุลาคม ๒๕๕๗

 

                                               

หมายเลขบันทึก: 578087เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2014 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2014 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เด็กต้องอ่าน ก็ต้องคิด และเด็กต้องมีความรู้และประสบการณ์ถึงจะตอบได้ ต้องอ่านมากๆๆ คิดมากๆๆ มันเป็นทักษะ  ทักษะจะเกิดได้ ต้องฝึกบ่อยๆๆคะ  มาถูกทาง แล้ว.. เยี่ยมฝุดๆๆ

-สวัสดีครับท่าน ผอ.

-ตามมาอ่านและให้กำลังใจ

-ท่าน ผอ.สบายดีนะครับ?

-ด้วยความระลึกถึง..ครับ

ใบไม้ร่วงหนึ่งใบอย่าไหวหวั่น        อย่าเสียขวัญวิโยคโศกกำสรวล

ฟ้ากำหนดเวลาว่าสมควร              ทุกสิ่งล้วนอนิจจังไม่ยั่งยืน

เมื่อไปก่อนถึงก่อนได้พักก่อน        อย่าอาวรณ์อาลัยให้ขมขื่น

จากกันแค่ชั่ววันและชั่วคืน            หลับหรือตื่นเราคงอยู่เคียงคู่ใจ   

                                     .........................................

   บทกลอนนี้  อาจารย์จิรวรรณ เขียนให้กับ อาจารย์บุญเสริม  แก้วพรหม ในขณะที่ป่วย

ก่อนเสียชีวิตเป็นบทกลอนที่ไพเราะ  กินใจมาก ๆ  โดยเฉพาะหากรู้ถึงที่มาของบทกลอน

ดูเพิ่มเติม  ใน สวนขวัณ จิรวรรณแก้วพรหม

ชอบใจการให้นักเรียนวิเคราะห์

เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยได้ฝึกครับ

พยายามให้ฝึกวิเคราะห์เรื่องใกล้ตัวครับ

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท