เรียนรู้วัฒนธรรมการอ่าน...ผ่านบ้านเมืองญี่ปุ่น ๑ พิพิธภัณฑ์


ในฐานะเป็นโรงเรียนแกนนำการอ่าน ทำให้ปีนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปเรียนรู้การสร้างวัฒนธรรมการอ่านถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาได้ด้วยการอ่าน ก่อนไปก็มีภาพวาดในใจไว้แล้วว่าคงเจอทุกคนเอาหน้าซุกหนังสือในทุกหนทุกแห่ง

แต่ก็เปล่าหรอกเราเจอแค่เมืองที่สงบเงียบและเป็นระเบียบต่างหาก ซึ่งดูท่าว่าที่เงียบเพราะเขากำลังก้มหน้าก้มตาอ่านกัน

ตลอดเส้นทางจากสนามบินสู่เมืองโอซาก้า เพื่อชมโอซาก้า อะความเรี่ยม ไคยูคัง ตั้งอยู่บริเวณอ่าวโอซาก้า ไม่ได้มีป้ายโฆษณา หลากหลายเหมือนบ้านเราและรถไม่ติด เราเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในเช้าที่ก้าวเท้าเหยียบญี่ปุ่น และนี่คือเช้าวันจันทร์ มีพ่อแม่ลูกมาดูสัตว์น้ำ กันหลายครอบครัว ซึ่งเป็นเด็กเล็กๆ พิพิธภัณฑ์จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ วงแหวนแห่งไฟ ซึ่งตลอดเส้นทางในวงแหวนแห่งไฟ ครอบครัวที่เราพบนั้นยังคงอ้อยสร้อยอยู่กับฝูงปลา การพาเด็กเล็กๆ ไปไหนมาไหนด้วยจะพบเห็นตลอดเส้นทางแม้จะจากพิพิธภัณฑ์มาแล้วก็ตาม พวกเขาคงกำลังสร้างการเรียนรู้และการอ่านผ่านสายตาเล็กรีกันอยู่หากว่าลูกอยู่ในวัยเด็กเล็ก ยังอ่านคำไม่ได้ สิ่งหนึงที่ควรอ่านคืออ่านโลก ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์ ใช้วิธีการอ่านเช่นนี้กับลูกชาย

ฝนตกตลอดเส้นทาง ยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงความเงียบของเมือง เราบ่ายหน้าไป นาโกยา เพื่อเข้าชมห้องสมุด ของมหาวิทยาลัย นาโกยา ซึ่งที่นี่ทำให้เราพบว่านอกจากเราจะมีโอกาสเห็นพระอาทิตย์ช้ากว่าญี่ปุ่น ถึงสองชั่วโมง เรายังช้ากว่าญี่ปุ่นในเรื่องของเทคโนโลยีในการศึกษาค้นคว้าในห้องสมุด ตั้ง ๒๐ ปีเห็นจะได้ ระบบห้องสมุดนาโกยาเน้นการค้นคว้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่ได้แค่ในประเทศ ต่างประเทศก็ด้วย เรามีนักศึกษาปริญญาโทชาวฟิลิปปินส์ที่เดินทางมาศึกษาต่อ เป็นผู้นำชมการใช้ห้องสมุด การยืมคืน ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมทั้งหมด ที่สำคัญห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งนี้เน้นการนำความรู้จากการศึกษาค้นคว้านำมาถกกันในห้องเล็กๆ ที่ห้องสมุดจัดไว้เพื่อเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างตั้งใจ เรามีโอกาสเห็นห้องเรียนเล็กๆ เหล่านี้มีชีวิตขึ้นเพราะนักศึกษาที่กำลังถกเถียงกัน

ว่ากันว่า การทำให้การอ่านสนุกขึ้นคือการนำเรื่องราวที่อ่านมาถกเถียงกัน มาชำแรกแจกแจง มาวิเคราะห์ วิพากย์ วิจารณ์ ราวกับตัวหนังสือเหล่านั้นออกมากระโดดโลดเต้นอยู่ตรงหน้า


ฝนตกสั่งลาขณะเรากางร่มตากฝนจากห้องสมุดมา คณะต้อนรับเรายังยืนโค้งคำนับให้กับเราเมื่อมองกลับไปท่ามกลางสายฝน หยิบที่คั่นหนังสือรูปใบไม้ที่ฝ่ายต้อนรับอธิบายถึงความจงใจให้เป็นของกำนัลสำหรับการมาเยือน เล็กน้อยแต่งดงามและเปี่ยมไปด้วยความหมาย

หมายเลขบันทึก: 576532เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2014 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2014 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจครับ..โครงการการอ่านนี้
หวังว่าได้รับความรู้ และวัฒนธรรมรักการอ่านอย่างคนญี่ปุ่นไปเยอะเลยนะครับ ^^

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท