nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

The Boy in the Striped Pyjamas_มิตรภาพไร้พรมแดนของเด็กชาย ๒ คน


         ได้ดูหนังเรื่อง The Boy in the Striped Pyjamas เมื่อ ๓ ปีก่อน และเพิ่งได้หนังสือมาอ่านวันนี้

         หนังสือ The Boy in the Striped Pyjamas (เด็กชายในชุดนอนลายทาง) เล่าเรื่องมิตรภาพของเด็กชาย ๒ คน บรูโน วัย ๙ ขวบ ลูกชายนายทหารนาซีที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานสำคัญที่ค่ายเอาช์วิตซ์ (Auschwitz) กับ ชมูเอล เด็กชายชาวยิวในค่าย

         ด้วยความใสซื่อ บรูโนไม่รู้แม้แต่น้อยว่างานที่พ่อทำคืออะไร ความเบื่อเหงาบรูโนหนีออกจากบ้านวิ่งไปจนถึงค่าย และพบกับเพื่อนใหม่หลังรั้วลวดหนาม มิตรภาพงอกงามกระทั่งวันหนึ่งบรูโน่กับแม่และพี่สาวต้องย้ายกลับไปอยู่เบอรลินหลังแม่ของบรูโน่รู้ความจริงว่าสามีของเธอมาที่เอาช์วิตซ์ด้วยภารกิจอะไร เธอไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป

         บรูโนออกไปเพื่ออำลาชมูเอล แผนการผจญภัยเริ่มขึ้นเมื่อทั้งสองนัดแนะว่า ชมูเอลจะหา “ชุดนอนลายทาง” มาให้บรูโน่ และบรูโน่จะเตรียมการเพื่อข้ามไปหลังรั้วเพื่อช่วยชมูเอลตามหาพ่อที่หายไป

         ในหนังสือไม่มีรายละเอียดที่บีบคั้นอารมณ์ ผู้เขียนเล่าด้วยภาษาที่เรียบง่ายแค่ว่าบรูโนเข้าไปในค่าย ถูกต้อนรวมไปกับยิวคนอื่นๆ ไปยังห้องๆ หนึ่ง เด็กชายสองคนจับมือกันมั่นเข้าไป ณ ห้องแห่งนั้น

         ไม่มีใครได้พบบรูโนอีกเลย หลังจากนั้น.

.....................


           อ่านหนังสือจบ หยิบหนังมาดูอีกรอบ หลังจากดูเมื่อ ๓ ปีก่อนและเขียนบันทึกชื่อ “อยากให้ดูหนังเรื่องนี้ :The Boy in the Striped Pyjamas”

          หลายๆ เรื่องที่ฉันดูหนัง และอ่านหนังสือ บ้างก็อ่านหนังสือก่อน บ้างก็ดูหนังก่อน ส่วนใหญ่หนังไม่สามารถเก็บรายละเอียดจากหนังสือได้ครบถ้วน

          สำหรับเรื่องนี้ ฉันชอบหนังมากกว่าหนังสือ หนังมีบทพูดและรายละเอียดครบถ้วนที่สะท้อน “ความเชื่อ” ระหว่างคนเยอรมันชาติเดียวกันที่ชื่นชอบวิธีคิดที่ฮิตเลอร์และบริวารพยายามชวนเชื่อว่ายิวคือปีศาจ เป็นศัตรูของชนชาติ ต้องกำจัดให้สิ้น และ คนที่เห็นต่างต้อง “ถูกกำจัด” เช่นกัน การไม่รายงานคนที่เห็นต่างในครอบครัวถือเป็นความผิด

           หนังสามารถสื่อความได้ครบถ้วนสมบูรณ์

           ซีนสุดท้ายที่พ่อแม่ของบรูโน่รู้ว่าเขาหายไป เป็นซีนที่บีบคั้น สะเทือนขวัญ สะเทือนอารมณ์ที่สุด หนังตัดสลับไปมาระหว่าง การตามหาลูก กับ การกวาดต้อนชาวยิวเข้าห้องแก๊ส ขณะที่ฟ้าครึ้มฝนเทลงมา  เด็กน้อยสองคนจับมือกันมั่น  บรูโน่พูดปลอบใจชมูเอลว่า “เราแค่หลบฝนอยู่ในนี้” ประตูเหล็กห้องแก๊สปิดลง แต่ได้ยินเสียงชวนสยดสยองลอดออกมา


           พ่อที่สิ้นหวังวิ่งพล่านตามหาลูกทุกเรือนนอน มาจนถึงห้องแก๊สที่ปิดสนิท เสียงกรีดร้องเรียกชื่อลูก แม่ทรุดตัวลงข้างรั้วลวดหนามกับกองเสื้อผ้าของลูกชาย....


          ขอเล่าอีกครั้ง....ฉากสุดท้าย...หน้าห้องแก๊สที่คร่าชีวิตชาวยิว ประตูเหล็กปิดสนิท กล้องถอยออกช้าๆ กล้องนิ่งนานกับภาพขมุกขมัวของกองเสื้อผ้า “ชุดนอนลายทาง” ค่อยๆ มืดลงช้าๆ อย่างจงใจบีบอารมณ์คนดูให้หดหู่กับ “การฆ่า” ที่ไร้เหตุผล.

อาทิตย์ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗

บันทึกส่งท้าย

            อ้างอิง : จอห์น บอยน์. The Boy in the Striped Pyjamas. (เด็กชายในชุดนอนลายทาง) วารี ตัณฑุลากร แปล. (พิมพ์ครั้งที่ ๔) กรุงเทพ : แพรวเยาวชน อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๗.

            จอห์น บอยน์ เป็นนักเขียนชาวไอริช เขียนและตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ หนังสือขายดีติดอันดับอยู่นาน ๕๗ สัปดาห์ และขายดีในหลายประเทศ มิราแมกซ์ซื้อไปสร้างเป็นหนังออกฉายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ไม่น่าจะเป็นหนังที่ทำเงิน และไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ซึ่งน่าเสียดาย ทั้งที่เป็นหนังดี

     อยากเชิญชวนให้ทุกท่าน อ่านหนังสือ และ ดูหนัง เรื่องนี้ค่ะ

...............................................

หมายเลขบันทึก: 576526เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2014 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2014 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

น่าอ่านทุกเล่มเลยนะคะ   ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณบันทึกที่ทำให้อยากอ่านหนังสืออีกแล้ว

ขนาดพี่ Nui เล่า  ยังดูบีบคั้นมากนะคะ   

เคยดู  Schindler's list   บีบหัวใจจริง ๆ ค่ะ   ไม่อยากจะเชื่อ  คนเราจะเกลียดชังกันได้ขนาดนี้ นะคะ

ขนาดอ่านพี่ Nui  เล่าหนัง  ยังบีบคั้น  เคยดูชิลเลอร์ลิสต์

ขอบคุณค่ะ  ทีวีน่าเอามาฉายนะคะจะรอดูค่ะ 

หนังเรื่องนี้ ถ้าเป็นหนังไทยคงมีต่ออีกนิดว่าพ่อของบรูโน่จะหนีหรืออยู่ทำหน้าที่ต่อไป หนีก็ตาย อยู่ก็ตายทั้งเป็น หรือเป็นบ้าไปเลยเพราะต้องเสียลูกเช่นเดียวกับยิวที่ตนไล่ต้อน..วิธีเดียวกัน ถูกกรรมตามสนอง

-สวัสดีครับพี่หมอ

-น่าสนใจนะครับ

-อยากอ่านบ้าง อิ ๆ

-พี่หมอสบายดีนะครับ?

-ขอบคุณสำหรับหนังสือแนะนำครับ

น่าอ่านมากค่ะพี่ Dr. Ple อยากชวนให้อ่านค่ะ

เป็นหนังสือแนะนำสำหรับเยาวชนด้วยค่ะคุณพิชัย พ.แจ่มจำรัส

เป็นแนวเดียวกันค่ะกับชินเลอร์ลิสค่ะน้องหมอ ธิรัมภา แต่เรื่องนี้เหยือเป็นเด็กที่เป็นลูกของนายทหารผู้บังคับบัญชาค่าย  พี่ว่าคนแต่งช่างคิดโครงเรื่อง

จริงอย่างอาจารย์ GD ว่าค่ะ  คือ "กรรม" ตามสนอง

อ่านหนังสือก็สนุก ดูหนังแล้วสะเทือนใจ ได้ข้อคิดค่ะอาจารย์

เป็นหนังสือน่าอ่านค่ะน้องเพชร เพชรน้ำหนึ่ง พี่ชอบแนวนี้

พี่เพิ่งทุเลาหวัดใหญ่ ขอบคุณค่ะ 

หนังสือและหนังหลายเล่ม หลายเรื่อง
ยังคงทำหน้าที่บันทึกปรากฏการณ์สังคมได้อย่างดียิ่งเลยทีเดียวครับ
โดยเฉพาะการหยิบเอาโศกนาฏกรรมมานำเสนอผ่านงานศิลปะนั้น  ช่วยให้เราเสพสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไม่อึดอัดนัก  

ขอบคุณครับ

สิ่งที่อาจารย์ แผ่นดิน นั้งถูกต้องทีเดียวค่ะ  ทั้งหนัง และหนังสือ เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์

พี่กำลังสงสัยว่า  หน้าประวัติศาสตร์ของละครโทรทัศน์ไทยจะถูกบันทึกอย่างไร ในเมื่อมีแต่เรื่องตบตี แย่งชิงผู้ชายกัน กับ ความรุนแรงที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิง ไม่มีสาระอันใดที่ประเทืองปัญญา ยกระดับจิตใจ

-สวัสดีครับพี่หมอ

-ตามมาอีกรอบ

-ทราบว่าอาการทุเลาบ้างแล้ว..

-อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย.นะครับพี่หมอ

-ตามมาชวนที่หมอไปเที่ยวเชียงรายด้วยกันครับ อิๆ 

ขอบคุณน้องเพชร เพชรน้ำหนึ่ง ที่เป็นห่วง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท