กิจกรรมกลุ่มกับเด็กออสการ์


              สวัสดีค่ะ ดิฉันนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่๓ มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ ในบทความนี้ ดิฉันจะมาเล่าเรื่องราวประสบการณ์การทำกิจกรรมกลุ่มในห้องเรียนวิชาของอาจารย์แอนค่ะ 

            ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เราได้รับมอบหมายให้แบ่งกลุ่มกันเอง โดยจะให้ทำกลุ่ม ๒ กลุ่ม คือกลุ่มเด็กประถม และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยให้เวลาทำกลุ่ม กลุ่มละ๓๐ นาที และจากการจับฉลาก ดิฉันได้หน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ช่วยผู้นำกลุ่ม ๔ คน ผู้นำกลุ่ม ๑ คน ในกลุ่มกิจกรรมเด็กประถมค่ะ เราทั้ง ๕ คนก็ได้เลือกกิจกรรมการแสดงละครตามนิทาน หรือ กิจกรรมบทบาทสมมุติ ที่น่าจะเหมาะกับเด็กในวัยประถมค่ะ และเราได้ตกลงหน้าที่ แบ่งขอบเขตการดูแลของแต่ละคน และการเตรียมอุปกรณ์การแสดงของเด็กค่ะ

              และในวันจัดกิจกรรมกลุ่มก็มาถึง ดิฉันก็มาที่ห้องเรียนด้วยความสบายอย่างทุกครั้ง คิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่ได้คาดการไว้ แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาจารย์แอนได้กำหนดการจัดกลุ่มใหม่ โดยเหลือ ผู้ทำกลุ่ม ๒ คน คนแสดงเป็นเด็ก ๗ คน และเพื่อนที่เหลือทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ ให้เวลา ๑ ชั่วโมงในการจัดกิจกรรมกลุ่ม และเพื่อนที่แสดงเป็นเด็กนั้น จะมีบ้างคนแสดงเป็นเด็กมีความต้องการพิเศษที่แตกต่างกันไป ซึ่งเปลี่ยนไปจากแรกคือจัดกิจกรรมกลุ่มในเด็กประถมวัยทั่วไป

              ฉะนั้นดิฉันและเพื่อนอีกหนึ่งคนจึงต้องจัดกิจกรรมกันแค่ ๒ คน เราตัดสินใจกันว่าเราจะเลือกทำกิจกรรมเดิม เพราะเราได้เตรียมมาแล้วและยอมรับเลยว่าคิดกิจกรรมใหม่ไม่ทัน แต่เราได้เพิ่มกิจกรรมการทำป้ายชื่อเด็กเข้าไป เพื่อหวังจะสังเกตว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมแบบไหนบ้าง

              เวลาจัดกิจกรรมกลุ่มก็มาถึง รู้สึกกังวลจนเห็นได้ชัดเจน แต่ก็ต้องทำใจดีสู้เสือไว้ เพื่อนๆที่แสดงเป็นเด็ก ๗ คนก็เดินออกมาพร้อมบทบาทที่ได้รับมาอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า นักแสดงจริงต้องอายกันเลยทีเดียว การดำเนินกิจกรรมกลุ่มค่อยๆเป็นไปอย่างช้า ถ้าตามความรู้สึกของดิฉัน เพราะเพื่อนๆ หรือดิฉันจะเรียกว่า “เด็กออสการ์” ทั้ง ๗ คนนั้น แสดงพฤติกรรมที่ทำให้กิจกรรมต้องหยุดชะงักหลายรอบทีเดียว อย่างเช่น ลุกออกจากกลุ่ม ไม่สามารถแตะตัวได้เพราะไวต่อความรู้สึก ช่วงความสนใจสั้น วอกแวกง่าย ไม่สนใจกิจกรรม ง่วงนอน ร้องไห้ แกล้งเพื่อน ทะเลาะกัน และอีกมากมายเกินที่ผู้ทำกลุ่ม ๒ คนอย่างดิฉันและเพื่อนจะรับมือได้หมด เรียกได้ว่าแสดงกันเกินค่าจ้าง ให้สิบเล่นพันกันทุกคน ทำให้ดิฉันคิดในใจว่า ทั้ง๗คนมีใครปกติบ้าง แอบน้ำตาตกใน

              และเวลาที่ได้มากับกิจกรรมที่มีก็ไม่สอดคล้องกัน บวกกับเราทำกิจกรรมเสร็จเร็วกว่าที่คาดการไว้ ทำให้เหลือเวลาอีกมาก ดิฉันในตอนนั้นคิดอะไรไม่ออกเลยจริงๆ ได้แต่สบตาเพื่อนที่นำกลุ่มอย่างสิ้นหวัง แต่เพื่อนก็ได้ชวนเด็กออสการ์เล่านิทานเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยและจบกลุ่มลง อาจารย์แอนได้ให้ทุกคนบอกหน้าที่ ความรู้สึก และเสนอแนะนำผลจากที่ได้จัดกิจกรรมกลุ่มเสร็จไป

              ดิฉันคิดว่าการเรียนจัดกรรมกลุ่มนี้ได้สอนดิฉันมากมายตั้งแต่ การเตรียมความพร้อม เตรียมใจ เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น อาจเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่เป็นตามที่คาดไว้ก็ได้ และหากไม่เป็นตามที่คาดไว้ เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แผนสำรอง การควบคุมอารมณ์และภาวะจิตใจ การคุยประสานงานกันของผู้จัดกิจกรรม รวมไปทั้งการซ้อมวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับเด็กจริงในอาชีพนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งในชีวิตจริงเราอาจได้เจอเคสที่ยุ่งยากกว่าที่เพื่อนแสดงแน่นนอน และการสังเกตทั้งระหว่างทำกิจกรรมและการสังเกตแบบคนนอก(ดิฉันได้เป็นผู้สังเกตในกลุ่มกิจกรรมผู้สูงอายุ)

              สุดท้ายนี้ดิฉันต้องขอบคุณอาจารย์แอนที่ได้ในดิฉันมีโอกาสลองจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้รู้ เข้าใจในการจัดกิจกรรมกลุ่มมากขึ้นและสามารถจัดกิจกรรมกลุ่มในผู้รับบริการได้ดีขึ้นในอนาคต และขอบคุณเพื่อนๆ ผู้สังเกตการณ์ที่ชี้ข้อผิดพลาด ให้คำแนะนำ และที่สำคํญเพื่อนๆ “เด็กออสการ์” ทั้ง ๗ คน ที่ให้ดิฉันได้ฝึกฝนตนเองเพื่อเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมบำบัดที่ดีขึ้นค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ^^

                                              

หมายเลขบันทึก: 576462เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2014 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2014 01:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกำลังใจให้เจไดนะคะ ทั้งผู้นำกลุ่มและผู้ช่วยผู้นำกลุ่มอดทนกันมากๆ :)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท