สอนอย่างมือชั้นครู: 10. ใช้เวลาในชั่วโมงทำงานที่ห้องทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด


          บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructorsเขียนโดย Linda B. Nilsonซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผมซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรงเพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

          ตอนที่ ๑๐ นี้ ตีความจาก Part Two : Managing Your Coursesมี ๕ บทตอนที่ ๑๐ ตีความจากบทที่ 9. Making the Most of Office Hours

          สรุปได้ว่า นอกจากสอนในชั้นเรียนแล้วอาจารย์ต้องจัดเวลาช่วยเหลือนักศึกษาที่ต้องการความ ช่วยเหลือเป็นรายคนด้วย โดยที่ต้องฝึกการโค้ชนักศึกษาให้นักศึกษาค้นพบคำตอบด้วยตนเอง และในการ ทำหน้าที่นี้ อาจารย์ต้องรู้จักป้องกันตนเองด้วย

          ผู้เขียนบอกว่า ชั่วโมงสอนเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาทั้งชั้นแต่ชั่วโมงทำงาน ที่ห้องทำงาน (office hours) เป็นช่วงเวลาที่อาจารย์จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาเป็นรายคนซึ่งเป็นเวลาที่ อาจารย์จะได้ช่วยเหลือนักศึกษาเป็นรายคนหัวใจคือ ทำอย่างไรนักศึกษาที่มีปัญหาจึงจะมาหาอาจารย์ผมอ่านตรงนี้แล้ว ก็เห็นว่านักศึกษาที่ไหนๆ ก็ไม่ค่อยนิยมไปหาอาจารย์แปลกจริงๆ

          อ่านหนังสือบทนี้แล้ว ทำให้ตีความว่า คำว่า Office hours ในที่นี้ หมายถึงเวลาทำงานของอาจารย์ อย่างเป็นทางการ ที่จัดให้นักศึกษามาปรึกษานอกชั้นเรียนตามปกติ ผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยไทยไม่มีการจัดเวลา เพื่อเป้าหมายนี้อย่างเป็นทางการและหากมีการจัด และมีการใช้เวลาอย่างได้ผลดีน่าจะเป็นคุณแก่นักศึกษา มาก

ให้โอกาสนักศึกษาเข้าพบ

          ได้กล่าวแล้วว่า ในทางปฏิบัติ แม้จะมีการจัดเวลาทำงานของอาจารย์ให้นักศึกษาเข้าพบ เพื่อขอคำปรึกษา ได้เป็นรายคนแต่ก็มีนักศึกษาน้อยรายที่ใช้ประโยชน์ของบริการนี้

          มีการวิจัยหาเหตุผลที่นักศึกษาไม่นิยมเข้าพบเพื่อปรึกษาอาจารย์ได้ผลว่า เป็นเพราะนักศึกษารู้สึกว่า การเข้าพบอาจารย์ มีผลลดความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem)หรือลดความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy)นอกจากนั้นยังพบว่า นักศึกษาที่เข้าพบอาจารย์มักเป็นกลุ่มที่สอบได้เกรดอยู่ระหว่าง B- ถึง C+นักศึกษากลุ่มที่ เรียนดี กับกลุ่มที่สอบตก มักไม่ไปหาอาจารย์เขาอธิบายว่ากลุ่มที่ได้เกรดต่ำมักจะคิดท้อถอย ว่าตนเองคงจะเรียน วิชานี้ไม่สำเร็จจึงไม่คิดไปหาอาจารย์เพื่อขอคำแนะนำให้พากเพียรพยายามจนเกิดผลสำเร็จ

          จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์ ที่จะต้องหาวิธีดึงดูดนักศึกษาให้มาปรึกษาอาจารย์โดยเขาแนะนำปัจจัยหลัก ๔ ประการ คือ เทศะ กาละ การจัดรูปแบบ และ มีวิธีทำให้นักศึกษากล้ามาหา

          เทศะ

          เทศะหรือสถานที่พบปะมีความสำคัญยิ่งใกล้สถานที่ที่นักศึกษาคุ้นเคย หรือเป็นที่ที่นักศึกษา ใช้เป็นประจำวันโอกาสที่นักศึกษาจะเข้าพบอาจารย์จะเพิ่มขึ้นหนังสืออ้างผลการวิจัยที่อาจารย์ย้ายสถานที่ ของ office hour มาเป็นที่สนามหรือมาอยู่ในห้องสมุดจำนวนนักศึกษาที่เข้าขอคำปรึกษาจะมากขึ้นชัดเจน

          การจัดรูปแบบ

          มีผู้ทดลองจัด “ศูนย์บริการรายวิชา” (course center) ขึ้นในห้องเรียนตามปกติเป็นเวลาคาบละ ๑ - ๒ ชั่วโมงในเวลาปกติที่ไม่มีชั้นเรียนมีอาจารย์ของรายวิชาหรือผู้ช่วยมานั่งอยู่ในห้องประกาศให้นักศึกษามานั่ง ทำการบ้านคนเดียวก็ได้หรือมีคำถามมาปรึกษาก็ได้ใครสนใจมาก็มา ใครไม่สนใจหรือไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องมาคือเป็นเวลาอิสระพบว่าเป็นที่ชื่นชอบของนักศึกษาและมีประโยชน์ต่อนักศึกษามากกว่าการจัด office hour ของอาจารย์ไว้บริการ

          กาละ

          เขาแนะนำให้จัดเวลาอย่างน้อย ๑ ชั่วโมงในวันจันทร์หรืออังคารเพราะนักศึกษามีเวลาอ่านหนังสือ ตอนวันหยุดสุดสัปดาห์ และอาจมีคำถาม

          อาจารย์ต้องมีข้อมูลเวลาเรียนวิชาต่างๆ ของนักศึกษา และจัดเวลา office hour ให้ตรงกับช่วงเวลาที่นักศึกษาปลอดจากการเรียนวิชาอื่น

          ทำให้นักศึกษากล้าเข้าหา

          เริ่มจากการประกาศเวลา และสถานที่ ให้นักศึกษาเข้าพบในเอกสารข้อกำหนดรายวิชาประกาศด้วยวาจาในชั้นเรียนวันแรกและย้ำบ่อยๆ ในวันต่อๆ มารวมทั้งอาจระบุใน PowerPoint ประกอบการสอนเป็นครั้งคราวและมีประกาศติดไว้หน้าห้องทำงานของอาจารย์ด้วย

          นอกเหนือจากการเชื้อเชิญในรูปแบบต่างๆ ข้างต้น มีคำแนะนำวิธีดึงดูดนักศึกษาเข้าพบ อาจารย์ดังต่อไปนี้

  • กำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าพบอาจารย์ตามเวลาที่ระบุซึ่งจะเป็นช่วงต้นของการเรียนรายวิชาเมื่อคุ้นเคย นักศึกษาก็จะกล้าเข้าหาอาจารย์เอง ในภายหลัง
  • กำหนดให้นักศึกษาต้องมาพบอาจารย์ในช่วงที่กำลังเขียนรายงานชิ้นแรกเพื่อให้อาจารย์ได้ อ่านร่างรายงาน และให้คำแนะนำว่าอาจารย์คาดหวังผลงานที่เป็นอย่างไร
  • กำหนดให้นักศึกษาส่งการบ้าน หรือชิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย โดยส่งที่ห้องทำงานของอาจารย์ ในช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลาของชั้นเรียนและไม่ส่งที่ห้องเรียน
  • นัดให้นักศึกษามาหาเพื่อคุยกันเรื่องเกรดของการบ้านหรือชิ้นงานที่ได้รับมอบหมายโดยอาจารย์อาจคืนเอกสารคำตอบหรือชิ้นงานที่อาจารย์ตรวจแล้ว และเขียนคำถาม หรือคำวิพากษ์ไว้ให้นักศึกษาไปอ่านเตรียมตัวอภิปรายกับอาจารย์โดยในกระดาษนั้น ไม่มีคะแนนหรือเกรด
  • กำหนดให้ทีมงานนักศึกษาแต่ละทีมที่ได้รับชิ้นงานไปทำร่วมกันมาพบอาจารย์ร่วมกันทั้งทีม อย่างน้อย ๑ ครั้ง

          หากเมื่อถึงเวลานัด อาจารย์เกิดป่วยหรือมีภารกิจกระทันหันไม่อยู่ตามนัดต้องหาทางแจ้งนักศึกษา ล่วงหน้า และกล่าวคำขอโทษ

ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า

          ที่จริงหนังสือใช้ความว่า productive ซึ่งแปลว่ามีผลิตภาพ หรือมีผลงานสูง นั่นคืออาจารย์ต้องมี คำแนะนำต่อนักศึกษาที่มาหาอาจารย์ ให้เตรียมตัวมาอย่างดีให้เวลาที่ใช้ปรึกษาอาจารย์ เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อนักศึกษา ตามที่นักศึกษาต้องการคำแนะนำนี้ควรอยู่ในเอกสารรายวิชา

          เช่น แนะนำให้มาโดยมีเป้าหมายชัดเจนพร้อมกับนำเอกสารต่างๆ ที่นักศึกษาได้ศึกษาแล้วแต่ยังไม่เข้าใจกระจ่างเช่นบันทึกจากการฟังคำบรรยายสมุดบันทึกการทดลองในห้องปฏิบัติการร่างรายงานเอกสารที่อ่านและขีดเส้นใต้ส่วนที่ไม่เข้าใจเป็นต้นอาจแนะนำให้เขียนคำถาม หรือความไม่เข้าใจ ให้ชัดเจนและนำมาด้วย

          ถ้านักศึกษามาหาเพราะไม่เห็นด้วยกับเกรด หรือคะแนน ที่ได้รับให้นำข้อเขียนของนักศึกษา ที่สนับสนุนความต้องการให้แก้เกรดโดยมีเอกสารอ้างอิงมาด้วย

          บอกไว้ให้ชัดเจนว่า ถ้านักศึกษามาหาอาจารย์โดยไม่ได้เตรียมตัวมาให้พร้อม อาจารย์มีสิทธิยกเลิก การพบปะ และนัดใหม่ เพื่อให้นักศึกษากลับไปเตรียมตัวให้พร้อม

          บอกไว้ให้ชัดเจนว่า หากนักศึกษาไม่เข้าชั้นเรียนแล้วมาหาอาจารย์ให้ช่วยสอนใหม่ อาจารย์ จะไม่รับนัด หรือยกเลิกนัดอาจารย์จะไม่รับนัดนักศึกษาที่ต้องการให้อาจารย์ทำการบ้านให้

          เมื่อนักศึกษามาหาอาจารย์โดยเตรียมตัวมาอย่างดี อาจารย์ต้องให้เวลาและคำแนะนำอย่างเต็มที่อย่าให้เรื่องอื่นมาทำลายเวลานี้ของนักศึกษา

ติวแบบนักศึกษาเป็นผู้ปฏิบัติ

          หนังสือใช้คำว่า tutoring แต่ผมชอบคำว่า coaching มากกว่า คืออาจารย์พึงใช้เวลานี้ในการ โค้ช นักศึกษาแบบตัวต่อตัวและวิธีโค้ชที่ดีที่สุดคือการตั้งคำถาม ไม่ใช่ตอบคำถาม

          เมื่อนักศึกษาถาม อาจารย์ไม่ควรตอบคำถามตรงๆแต่ให้ถามกลับ ด้วยคำถามที่ค่อยๆ ช่วยให้นักศึกษา ค้นพบคำตอบเองวิธีนี้เป็นคล้ายๆ อาจารย์พลิกกลับตนเอง ให้นักศึกษา “สอน” เพื่อการเรียนรู้ของตัวนักศึกษา เองเพราะ “การสอนผู้อื่น” คือวิธีการเรียนรู้ที่ให้ผลสูงสุด ตาม Learning Pyramidอาจารย์ที่ทำอย่างนี้ได้ ต้องฝึกฝนตนเองมาอย่างหนัก

          หากพบว่า นักศึกษามาพร้อมกับความเข้าใจผิดอาจารย์ต้องมีวิธีจัดการอย่างมีชั้นเชิงเริ่มต้นด้วย การกล่าวชมส่วนที่นักศึกษาทำได้ดี หรือเข้าใจถูกต้องเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี

          นักศึกษาที่นัดแล้วไม่มาตามนัดอาจารย์พึงโทรศัพท์ติดตามหรืออาจนัดใหม่และพึงเตือนนักศึกษา ที่นัดแล้วลืม ได้ตระหนักว่าเวลาของอาจารย์มีค่า

นักศึกษาที่มีปัญหา

          นักศึกษาอาจมีปัญหาการเรียน ปัญหาทางอารมณ์ หรือทางด้านสุขภาพจิต หากมีปัญหาด้านใด อย่างรุนแรง อาจารย์ต้องแจ้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัย

          เช่นนักศึกษาที่พื้นความรู้อ่อนมากในหลายๆ วิชาต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือส่งไปเข้ารับ การอบรมเสริมความรู้ด้านนั้นๆ

          นักศึกษาที่มีปัญหาทางอารมณ์แปลกๆ อาจเป็นเรื่องสุขภาพจิตก็ต้องส่งไปยังหน่วยงานของ มหาวิทยาลัยที่มีความรู้ และมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงโดยที่อาจารย์พึงมีความรู้ในการพิจารณาว่า ปัญหาของนักศึกษาเกินกำลังของตัวนักศึกษาเองและเกินกำลังของอาจารย์ที่จะจัดการ

          ในกรณีที่นักศึกษาอาละวาด หรือก่อความรุนแรงอาจารย์ต้องรู้จักรักษาความปลอดภัยของตนเองโดยอย่าอยู่ในที่แคบหรือหลบหลีกไม่สะดวกรวมทั้งในกรณีอยู่สองต่อสองกับนักศึกษา ก็พึงหาวิธีไม่ให้เกิด ข้อครหาทางเพศหรือข้อครหาอื่นๆ

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 576400เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2014 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2014 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท