เรียนศิลปะอย่างไรให้สนุก?


เรียนศิลปะอย่างไรให้สนุก?

วิชา “ศิลปะ” เป็นอีกหนึ่งรายวิชาตามหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย ซึ่งนักเรียนหลายๆคนคงสงสัยว่าทำไมจึงต้องเรียนวิชานี้ เพราะบางคนก็มีความถนัด ในขณะที่นักเรียนบางคนไม่มีความถนัดทางด้านศิลปะเลย คำตอบคือกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะเป็นกลุ่มสาระที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการทางศิลปะ ชื่นชมความงาม มีสุนทรียภาพ ความมีคุณค่า ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ อีกทั้งกิจกรรมทางศิลปะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพนั่นเอง

สำหรับคำตอบ และข้อดีของการเรียนวิชาศิลปะเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ช่วยอธิบายให้นักเรียนเข้าใจอย่างลึกซึ่งสักทีเดียว ดังนั้นครูผู้สอนวิชาศิลปะจึงเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญที่สรรหากิจกรรมที่จะเพิ่มทักษะในการคิดเชิงสังเคราะห์ การได้สนุกกับศิลปะอย่างมีอิสระตั้งแต่เล็ก เสริมสร้างการเข้าสังคม และการเปิดโลกน้อยๆของลูกให้กว้างขวางขึ้น อีกทั้งศิลปะยังเป็นรูปแบบการแสดงความเป็นตัวเอง และสื่อสารความรู้สึกและอารมณ์ออกมาได้ ยิ่งถ้าได้สร้างงานเองอย่างอิสระโดยไม่ได้ลอกเลียนแบบ หรือถูกตีกรอบ นั่นเท่ากับได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัว และประโยชน์ของศิลปะยังช่วยเด็กสำหรับการต่อยอดความคิด อีกทั้งช่วยให้เด็กมีความสนใจที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้ครั้งแรก จะเป็นการมอบประสบการณ์ครั้งแรกที่ติดตัวเขาไปตลอด และสิ่งเหล่านี้แหล่ะที่จะช่วยพอกพูนสะสมกลายเป็นความมั่นใจต่อไปได้อีก

ถามว่าศิลปะดีกับลูกอย่างไร ไม่เพียงแต่ศิลปะจะช่วยฝึกฝนการใช้กล้ามเนื้อน้อยๆให้กับลูกเท่านั้น แต่ช่วงเวลาที่เด็กๆกำลังทำงานศิลปะ คือช่วงเวลาที่สมองน้อยๆกำลังรวบรวม สรรหา จัดส่วนประกอบต่างๆของสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว ที่เขาได้รับรู้สะสมมา รวมทั้งความคิดที่มีต่อสิ่งรอบตัว สรุปออกมาเป็นความคิด แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรม ศิลปะจึงเป็นสื่อนำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะมองความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งศิลปะช่วยก่อเกิดสุนทรียภาพ เบิกบานใจเพราะเด็กๆ จะซึมซับความปราณีต งดงาม

จากงานศิลปะที่ได้พบเห็น ได้ลงมือทำ สั่งสมไปเป็นจิตใจที่ปราณีต อ่อนโยน ไม่แข็งกร้าว เป็นจิตใจที่รับสัมผัสได้ไวต่อความงามที่อยู่รอบตัวจะทำงานสิ่งใดก็ต้องทำให้ดี ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการและการแสดงออกทางศิลปะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ และจังหวะการเติบโตพัฒนาการ เด็กไม่ได้วาดในสิ่งที่เขาเห็น แต่เขาวาดสิ่งต่างๆ ในแบบที่เขารู้จัก การทำงานศิลปะจึงเป็นทั้งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และเป็นการสร้างความเพลิดเพลินกับเด็กตามจินตนาการ และความงดงามภายในจิตใจ ช่วยให้เค้ามีสมาธิในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เค้าทำอย่างเพลิดเพลิน และจดจ่อจนแทบลืมเวลาไปเลย

ดังนั้นพ่อแม่ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมศิลปะให้ลูกได้อีกทาง เพราะศิลปะสำหรับเด็กเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เมื่อเด็กได้ทำหรือได้ปฏิบัติ จะมีความสุข ไม่รู้จักเบื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี การแสดงนาฏศิลป์ หรือการทำงานศิลปะต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม คือ การพัฒนาทั้งพฤติกรรม จิตใจ และสติปัญญา ที่เกิดการพัฒนาทั้งภายในและภายนอกของเด็กไปพร้อมๆกัน และศิลปะทุกแขนงสามารถเกิดขึ้นที่บ้านได้ นอกเหนือจากที่โรงเรียน

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 576255เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2014 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2014 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท