เศรษฐกิจปี 50 ไปโลด ธปท.-คลัง-สภาพัฒน์ประสานเสียง คาดจีดีพีโต 5%


เศรษฐกิจปี 50 ไปโลด คาดจีดีพีโต 5%


เศรษฐกิจปี 50 ไปโลด  ธปท.-คลัง-สภาพัฒน์ประสานเสียง คาดจีดีพีโต 5%

'อุ๋ย' ดันเอกชนเป็นพระเอกกระตุ้นศก. ดัชนีความเชื่อมันไทยฟื้นต่างประเทศ-เอกชนไทย ปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยหลังปฏิรูปการเมือง ฟันธงปี 2550 ไปโลด   "อุ๋ย-โฆสิต" ดันภาคเอกชนเป็นเฟืองจักรหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่สัญญาณภาคส่งออกปีหน้ามีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง ลุ้นหลังแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัตินักธุรกิจเตรียมปรับแผน การลงทุน   ขณะที่แบงก์ชาติ-คลัง-สภาพัฒน์ฯ ประสานเสียงปรับขึ้นประมาณการจีดีพีโตถึง 5 % หลังการปฏิรูปการเมืองภายใต้การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งได้ แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติไปแล้ว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะชูเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหลักในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ แต่จากการประมวลตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ปี 2550 น่าจะขยายตัวได้ที่ 5.00%  ด้วยองค์ประกอบ 4-5 ปัจจัยหลัก คือ 1. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้น   2. แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง   3. ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง   4. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง   และ 5. งบประมาณปี 2550 ที่นำมาใช้ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยจัดงบประมาณขาดดุล 1 แสนล้านบาท เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2550 จากประมาณการเดิม 4.00-5.30 % เป็น 4.50-5.50 % ดร.ธาริษา วัฒนเกส รักษาการผู้ว่าการ ธปท. ปาฐกถาพิเศษ "มองเศรษฐกิจไทยปี 2550" เมื่อวันที่ 2 พ.ย.  ที่ผ่านมาว่า ในปี 2550 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 4.50-5.50 % ซึ่งเป็นแรงส่งต่อเนื่องให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2550 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี   ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัด   อย่างไรก็ตาม ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ยังมีประเด็นความเสี่ยงที่ ธปท.ให้ความสำคัญและติดตามใกล้ชิดใน 3 ด้าน คือ ราคาน้ำมันโลก ความชัดเจนของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการปรับตัวของความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทย  "ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป อยู่ที่การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งขึ้นกับความชัดเจนของโครงการลงทุนพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐ รวมทั้งขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนไทยเริ่มมีความเชื่อมั่นดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ"   สอดรับกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าว   ในการสัมมนา "กลยุทธ์บริษัทจดทะเบียนยุครัฐบาลปรับเปลี่ยน"ในวันเดียวกันว่า การบริหารงานด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้จะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนักลงทุนภายในประเทศมีความเข้าใจแล้ว แต่ยังคงต้องชี้แจงให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าใจให้มากขึ้นด้วย และยืนยันว่าการทำงานของรัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงหรือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะด้านอย่างแน่นอน  แต่สิ่งที่ควรทำคือ การดูแลให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรเพียงพอกับอัตราการใช้ และอัตราการเติบโตของประเทศที่ต้องการ เช่น ถ้าจะให้จีดีพีโตถึง 8% ทุกปี มันไม่ทันกัน เอาแค่ 5% ถ้าทำได้ก็โอเค    "ระบบเศรษฐกิจเสรีต้องเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำ ไม่มีประโยชน์  ที่รัฐบาลจะมีบทบาทนำ" รองนายกฯ และรมว.คลังกล่าว ขณะที่ ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวให้ความเห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2550 ว่ามีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยบวก คือ ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ผ่อนคลายลง ซึ่งจะมีผลให้การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขับเคลื่อนไปได้ แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้เพราะมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 และจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมทั้งค่าเงินบาทและเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น  สศช. จึงยังยืนประมาณการจีดีพีในปี 2550 ไว้ที่ 4.00-5.00% ตามเดิมไว้ก่อน เลขาฯ สศช. กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติซึ่งมีความชัดเจนว่ารัฐบาล     จะจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนอย่างไร โดยเฉพาะการดูแลเศรษฐกิจรากแก้วซึ่งเป็นเศรษฐกิจพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ  เอสเอ็มอี และการดูแลภาคสังคม ก็น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นและภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2550    ดีขึ้นหากปัจจัยภายนอกเช่น เศรษฐกิจสหรัฐ ฯ และราคาน้ำมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้  "หากมองเศรษฐกิจในปีหน้า จะเห็นว่าปัจจัยลบที่เคยมีในปีนี้คลายตัวดีขึ้น แต่ก็ไม่แน่ใจปัจจัยภายนอก สศช. จึงยังคงประมาณการไว้ที่ 4.00-5.00 %" จากที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ประมวลข้อมูลการทบทวนการจัดอันดับเครดิตของประเทศไทยในมุมมองของต่างประเทศนั้น บริษัท Standard & Poor’s หรือ S&P’s ได้ยกเลิกมุมมองระดับเครดิตของประเทศที่มีการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบออก (Credit Watch with Negative Implications) โดยมีแนวโน้มระดับเครดิตที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยระบุถึงการยืนยันระดับเครดิตของประเทศไทยในครั้งนี้ แสดงถึงมุมมองของ S&P’s ที่ยังเห็นว่าสถานะของเครดิตไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าจะผ่านการรัฐประหารก็ตาม   นอกจากนี้ ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับในระดับเดียวกัน โดยจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง S&P’s คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยใน 3 ปีข้างหน้าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี โดยคาดหมายว่าประเทศไทยจะสามารถกลับคืนเข้าสู่ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพได้ภายในปี 2550 รวมถึงการที่สามารถจัดให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาบริหารประเทศได้ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาว และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อการลงทุนของภาคเอกชนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต     S&P’s อาจปรับมุมมองของระดับเครดิตที่เป็นบวก หากรัฐบาลชุดใหม่สามารถดำเนินมาตรการที่ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว   ในทางตรงกันข้าม หากมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในระหว่าง หรือภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อระดับเครดิตของไทยได้เช่นกัน ก่อนหน้านี้ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2550 จาก 3.50-4.50%      เป็น 4.00-5.00%   บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ปรับจาก 4.00% เป็น 4.40%   ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เตรียมปรับประมาณการจีดีพีจากที่ประมาณการไว้ที่ 3.00-4.00%               ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.00-5.00% นายประสาร ไตรรัตน์ วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2550 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากปี 2549 โดยน่าจะเติบโตได้ที่ 4-4.5 % จากปัจจัยราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลงทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก ส่งผลดีต่อการอุปโภคบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ในส่วนของภาครัฐยังมีความชัดเจนขึ้นในเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะช่วยชดเชยภาคการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอยู่ที่ 12-15% "สิ่งที่ต้องระวัง คือ ปัจจัยทางการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนระยะยาว  โดยเฉพาะหลังหนึ่งปีไปแล้ว จุดอ่อนไหวทั้งกติกาทางการเมือง ปัจจัยภายใต้ที่มีลักษณะว่าจะปะทุขึ้นได้" ดร.ประสารกล่าว นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ทาง ส.อ.ท. อยู่ระหว่างพิจารณาตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 4.00-4.50% เนื่องจากจะมีงบประมาณจากภาครัฐออกมาใช้สอย และในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์จะสามารถเดินหน้าได้ ซึ่งไม่เหมือนกับปีนี้ที่เศรษฐกิจตก เพราะไม่มีรัฐบาลเข้ามาบริหารงาน  แต่ประเด็นที่ยังเป็นห่วงคือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งขณะนี้สมาชิกของ ส.อ.ท. มีเสียงสะท้อนออกกันมามากว่าอยากให้รัฐบาลเข้าไปดูแล และอีกปัญหาหนึ่งคือผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ที่ส่งผลให้พืชผัก      มีราคาสูงขึ้นทำให้กระทบต่อผู้บริโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วยนายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สำหรับปัจจัยราคาน้ำมันที่จะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจนั้น มองว่าหลังจากนี้ไปจนถึงปีหน้าราคาน้ำมันจะเริ่มทรงตัว  เนื่องจากยังมองไม่เห็นปัจจัยใดที่จะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้ในเวลานี้ ซึ่งจะส่งดีที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำมันเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้อยาก เพราะหากมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ก็จะส่งผลต่อราคาน้ำมันทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าศูนย์พยากรณ์ฯ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้ามีโอกาสขยายตัว 4.7% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ปัจจัยบวก  ที่จะทำให้เศรษฐกิจโต คือ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มใกล้เคียงปี 2549 โดยทรงตัวที่ระดับ 58-63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศอยู่ที่ 24-27 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงแต่ผู้บริโภคปรับตัวรับมือไหว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงประมาณ 0.5-0.75 ทำให้ดอกเบี้ยในประเทศมีโอกาสลดลง 0.25-0.50% นอกจากนี้การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน นักท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยดันเศรษฐกิจปีหน้าให้เติบโต  "เศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตจากการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว ส่วนด้านการส่งออกยังคงมีการเติบโต แต่เป็นการเติบโต   ในอัตราที่ลดลง เนื่องจากฐานตัวเลขส่งออกสูง โดยคาดว่าจะขยายตัว 10% มูลค่า 141,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2549 ที่ขยายตัว 15.8% มูลค่า 128,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   อย่างไรก็ดีหากเฉลี่ยมูลค่าส่งออก       ต่อเดือนปี 2550 จะอยู่ที่เดือนละ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ขณะที่ปี 2549 เฉลี่ยเดือนละ 10,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณการส่งออกต่อเดือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างงานเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ "การส่งออกยังเติบโต      แต่จะไม่ใช่พระเอกของจีดีพีเหมือนปีที่ผ่านมา" ดร.ธนวรรธน์กล่าว ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2550 ที่มีผลดีตั้งแต่ระดับประชาชนจนถึงเศรษฐกิจมหภาค คือ แนวโน้มการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลและความเห็นของนักวิชาการและนักการเงินส่วนใหญ่  มีความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันว่าในปี 2550 นั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์/พี 14 วัน) ลงประมาณ 0.50%-1 % โดยจะมีผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ย เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับลดตามไปด้วย ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะมีผลถึงการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ  ฐานเศรษฐกิจ (บางส่วน)  6  พ.ย.  2549  
คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 57574เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท