หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เมื่อคณะศิลปกรรมศาสตร์เริ่มเปิด (งาน) และเปิด (วง) เรียนรู้ร่วมกัน-


ผมปรารถนาให้หลักสูตรทำงานชิ้นนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ศึกษาบริบท-ต้นทุนในชุมชนมาสู่การออกแบบการแสดงให้กับนักเรียน เชื้อเชิญปราชญ์ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ทำงานวิจัยไปด้วย และนั่นอาจหมายถึงการปักหมุดสู่การสร้างหลักสูตรท้องถิ่นในเรื่องเหล่านี้ด้วยก็เป็นได้

วันนี้ (๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗) มีโอกาสได้ลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (หลักสูตรศิลปะการแสดง)  ของคณะศิลปกรรมศาสตร์  ภายใต้ชื่อโครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปะการแสดงสู่ชุมชน โรงเรียนเทศบาลบ้านค้อ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม”   ซึ่งมีอาจารย์ร้อยตรีเกิดศิริ นกน้อยและอาจารย์รัตติยา โกมินทรชาติ เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนโครงการฯ




โครงการดังกล่าวนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ดำเนินการในโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

              สำหรับปีนี้หลักสูตรศิลปะการแสดงปักหมุดหมายลงสู่โรงเรียนเทศบาลบ้านค้อด้วยเหตุผลสำคัญหลายประการ เช่น ระยะทางอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยฯ ไปมาระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนได้อย่างไม่ติดขัด  

              กอปรกับโรงเรียนมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์ (เครื่องดนตรี) บุคลากร (ครูดนตรี-ครูนาฏศิลป์)
             หรือพูดง่ายๆ ก็คือมี “วงโปงลาง” อยู่แล้วก็ว่าได้   จึงต้องการให้มหาวิทยาลัยได้ไปช่วยเพิ่มพูนทักษะดนตรีและนาฏศิลป์ให้กับนักเรียนและครู -

              และที่สำคัญอีกประการคือโรงเรียนเทศบาลบ้านค้อได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในวงเงิน 500,000 บาท เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ในเรื่องภูมิปัญญาและการแสดงท้องถิ่น 
             รวมถึงการนำวงโปงลางของโรงเรียนไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ประเทศเวียดนาม

              ครับ, นั่นคือเหตุผล  หรือโจทย์ของการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในวาระนี้




ปัจจุบันโรงเรียนเทศบาลบ้านค้อ  ครอบคลุมการบริการชุมชน 3 ชุมชนใหญ่ๆ คือชุมชนเครือวัลย์ ๑ -๒ และชุมชนศรีมหาสารคาม เปิดสอนอนุบาลจนถึงมัธยมต้น มีนักเรียนประมาณ ๒๖๐ คนและครูอีกจำนวน ๒๐ คน


งานวันนี้เป็นเพียงการเปิดตัว-เปิดงานเป็นครั้งแรก 
         มีผู้หลักผู้ใหญ่มาพร้อมเพรียงกันอย่าน่าชื่นใจ  ทั้งปลัดเทศบาลและรองนายกเทศมนตรีเทศบาลบ้านค้อ 
         รวมถึงผู้ปกครองและคณะกรรมการการศึกษาอีกหลายคน  ต่างเดินทางมาร่วมรับรู้รับฟังเป็นสักขีพยานเนื่องในปฐมบทการ "เปิดตัวโครงการ"  นี้ร่วมกัน




วันนี้-  ถึงแม้ฝนฟ้าจะไม่เป็นใจนัก  แต่กิจกรรมทั้งปวงยังคงเคลื่อนไหลไปตามหมุดหมายที่วางไว้   เพียงแต่เวลาเท่านั้นที่ดูจะคลาดเคลื่อนออกไป   
       กระนั้นก็ถือว่าไม่ใช่สาระสำคัญ  เพราะทุกอย่างปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์   สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง  ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งในระดับบุคคลและกลุ่มทีม

จากการสังเกตของผมเอง  เห็นได้ชัดว่า  อาจารย์ฯ  วางระบบการทำงานให้กับนิสิตค่อนขางเป็นระบบ
      ทีมทำงานหลักๆ มีป้ายชื่อประจำตัว (ชื่อเล่นและชั้นปี)  เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารกับนักเรียน คณะครูและภาคีอื่นๆ
      แต่ละกลุ่มคนถูกวางตำแหน่งการทำงานไว้ชัดเจน   ทั้งที่เป็นฝ่ายลงทะเบียน   ฝ่ายปฏิคม-สวัสดิการ   ฝ่ายจัดคิวการแสดง ฝ่ายการแสดงและนันทนาการ  ฝ่ายประเมินผล (แบบสอบถาม)




ครับ, นี่คือระบบและกลไกเล็กๆ ที่อาจารย์ฯ มอบหมายและจัดวางให้นิสิตได้มีส่วนร่วมต่อการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ยกเว้นพิธีการเท่านั้นที่อาจารย์ฯ  ยังไม่อาจปล่อยให้นิสิตได้รับบทบาทหน้าที่นั่นเอง   เพราะคงกลัวจะเสียงาน เนื่องจากมีผู้หลักผู้ใหญ่มาด้วยหลายท่าน   
               แต่คิดว่าครั้งคราวหน้า นิสิตคงมีโอกาสได้ “ถือไมค์” เป็น “พิธีกร” ด้วยตนเองบ้าง –กระมัง





การงานในวันนี้เริ่มต้นจากการกล่าวรายงานอย่างเป็นทางการ  เพื่อประชาสัมพันธ์ย้ำเจตนารมณ์การทำงานร่วมกัน (เรียนรู้คู่บริการ) อีกครั้ง 

ถัดจากนั้นเป็นการมอบของที่ระลึกให้กับโรงเรียนและเทศบาลบ้านค้อ 

เมื่อมอบของที่ระลึกเสร็จ  จึงเป็นการ  “เปิดวง” ของ “ศิลป์อีสาน”  ที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศฯ ในระดับประเทศมาสดๆ ร้อนๆ   ซึ่งประกอบด้วยนักดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เสมือนการบูรณาการศาสตร์จากทั้งสองคณะเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

ครับ, เป็นการบูรณาการที่ยากยิ่งต่อการแยกขาดออกจากกัน  
            ทั้งสองศาสตร์เป็นองค์ประกอบของกันและกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่ต่างอะไรจากการ “ทานข้าวเปล่า...ไม่มีอาหารให้เคี้ยว...ให้กลืน”  
           เมื่อทั้งสองศาสตร์เคลื่อนตัวออกหน่วยบริการสังคมร่วมกันเช่นนี้   จึงเหมือนเป็น “กับข้าวกับปลา” ที่ลงตัว รสชาติเอร็ดอร่อย ถึงอกถึงใจ อิ่มท้อง อิ่มใจ อิ่มทิพย์






สำหรับการแสดงวงโปงลาง (วงศิลป์อีสาน) ในวันนี้ประกอบด้วยชุดการแสดงหลัก ๓ ชุด ได้แก่ ฟ้อนตังหวาย เซิ้งกะลา และฟ้อนสาวสารคามลำเพลิน ซึ่งทั้งสามชุดสร้างความสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจให้กับนักเรียน ครูและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เสียดายก็แต่ทางโรงเรียนไม่ได้นำวงของตนเองมาแสดงโชว์ร่วมกัน –

อย่างไรก็ดีในมุมมองของผมนั้น หากสามารถนำวงโปงลางของโรงเรียนมาแสดงร่วมกันได้ จะช่วยทำให้การงานในวันนี้สมบูรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่

และผมก็มองว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ ถือเป็นการ “ออกแบบ” กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่สำคัญไม่ใช่ย่อย


การแสดงร่วมกันในมิติของผม คือการสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง เพราะยังไงๆ โรงเรียนก็มีวงและซ้อมวงกันอยู่แล้ว

การแสดงของนักเรียน อาจไม่จำเป็นต้องเต็มวง   แต่อาจจะเลือกบางชิ้นบางประเภทมาโชว์  หรือเล่นร่วมวงกับพี่ๆ นิสิตก็ได้ เสมือนการต้อนรับผู้มาเยือนดีๆ นั่นเอง




และเมื่อเสร็จสิ้นการแสดงบนเวทีของนิสิตแล้ว  ก็ถึงเวลาของการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับนักเรียนและคณะครู-ผู้ปกครอง เพื่อสร้างความคุ้นเคยต่อกันและกัน  
                ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถเรียกเสียฮา-ชอบใจได้ไม่แพ้การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์บนเวทีเลยทีเดียว เพราะแต่ละส่วนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมจริงๆ




โดยส่วนตัวแล้ว ผมคาดหวังกับโครงการครั้งนี้มากกว่าทุกครั้ง
ผมปรารถนาให้หลักสูตรทำการศึกษาศิลปะการแสดงของชุมชนอย่างจริงๆ จังๆ  ขับเคลื่อนเป็นระยะๆ  ไม่ใช่จัดครั้งสองครั้งก็ปิดวงปิดงานงานหายเข้าหลีบเมฆ  ราวกับมาเปิดวิกแสดงโชว์แล้วก็ลาลับสัญจรไปเปิดการแสดงตามที่อื่นๆไปเรื่อยๆ   เพราะหัวใจของการบริการวิชาการแก่ชุมชนในมิติ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”  คือการ “เรียนรู้คู่บริการ” อันหมายถึงเรียนรู้ร่วมกัน  ผสมผสานระหว่าง “องค์ความรู้ของชาวบ้านกับมหาวิทยาลัย” เข้าด้วยกัน  เพื่อก่อให้เกิดทั้งคุณค่าและมูลค่า

และที่สำคัญคือ  ไม่ใช่ทำตูมเดียวแล้วหนีหาย...





ครับ, ผมปรารถนาให้หลักสูตรทำงานชิ้นนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป   ศึกษาบริบท-ต้นทุนในชุมชนมาสู่การออกแบบการแสดงให้กับนักเรียน เชื้อเชิญปราชญ์ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม   ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ทำงานวิจัยไปด้วย และนั่นอาจหมายถึงการปักหมุดสู่การสร้างหลักสูตรท้องถิ่นในเรื่องเหล่านี้ด้วยก็เป็นได้

เช่นเดียวกับการปรารถนาให้หลักสูตรฯ ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง   ด้วยการหนุนเสริมร่วมพัฒนาศักยภาพของนักเรียนและครูไปเรื่อยๆ เพื่อให้วงโปงลางของโรงเรียนเข้มแข็งกว่าที่ผ่านมา  ดูแลและเรียนรู้ร่วมกันไปจนถึงห้วงของการยกวงไปเผยแพร่ที่เวียดนามเลยยิ่งดี –

และยิ่งพอได้รู้ว่าศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฯ ก็เป็นครูสอนนาฏศิลป์อยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ ผมว่า - ยิ่งสมควรที่จะต้องหนุนเสริมให้ลูกศิษย์ลูกหาได้มีพลังในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโรงเรียนและชุมชน





แน่นอนครับ-เวทีครั้งนี้เป็นแค่การเปิดตัว เปิด (วง) เรียนรู้เท่านั้น ระยะทางแห่งการเรียนรู้ยังคงอีกยาวไกลนัก เพราะขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังออกแบบและปรับความคาดหวังร่วมกัน ทั้งรูปแบบ ห้วงเวลา สถานที่ ซึ่งเป็นการพูดคุย (โสเหล่) ร่วมกันทั้งจากมหาวิทยาลัย-โรงเรียน-เทศบาล หรือกระทั่งชาวบ้าน

เมื่อแผนงานตกผลึกเป็นรูปธรรมแล้ว เราค่อยมาติดตามและร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันอีกทีก็แล้วกัน




๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๘
โครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปะการแสดงสู่ชุมชน โรงเรียนเทศบาลบ้านค้อ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม”
(หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ม.มหาสารคาม)


เครดิตภาพ : บรรจง บุรินประโคน, พนัส  ปรีวาสนา


หมายเลขบันทึก: 575304เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ชื่นชมการทำงาน

อยากเห้นการทำงานด้านศิลปะอย่างต่อเนื่องเหมือนกัน

ชอบใจที่อยากเห็นนิสิตมีบทบาททั้งหมด

เคยไปที่หนึ่งมีแต่อาจารย์ทำงาน

นิสิตเลยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

มาร่วมชื่นชมการปลูกฝังวัฒนธรรมดีๆเช่นนี้ค่ะ...

-สวัสดีครับ

-เคยไปอยู่อีสาน(มุกดาหาร)มา 5 ปี

-ประทับใจความเป็นอีสาน

-ชอบเสียงโปงลาง...

-ชอบวัฒนธรรมประเพณี..อันดีงาม

-ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

โดยปกติงานบริการวิชาการ  จะมีอาจารย์เป็นผู้ขับเคลื่อนอยู่แล้ว  ซึ่งหมายถึงนำความรู้ของอาจารย์ไปถ่ายทอดต่อชุมชน  โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนก็ยังคงยึดมั่นแนวทางการทำงานเช่นนั้น  เพียงแต่ให้นิสิตเข้ามามรีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรม  ทั้งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ หรือในบางกิจกรรม ก็ให้นิสิตได้ออกแบบกระบวนการด้วยตนเอง  เสมือนการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ  แต่เป็นการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  ระหว่างนิสิต อาจารย์และชาวบ้าน  บนโจทย์หลัก  อันหมายถึงความต้องการของชุมชน นั่นเอง...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

สบายดีนะครับ
ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
งานศิลปะทุกแขนง  สื่อสะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของจิตใจมนุษย์โดยแท้เลยทีเดียวครับ
สำหรับเวทีนี้  การเลือกชุมชน-โรงเรียนที่มีความพร้อมในระดับหนึ่งอยุ่แล้ว  จะช่วยให้การงานขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น  เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปซื้ออุปกรณ์มาตั้งวง  ไม่ต้องเสียเวลาในการจ้าง-บรรจุครูผู้สอน  แต่สามารถพัฒนาจากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วได้เลย...

ตรงนี้ ง่าย แต่ก็ต้องลงแรงอย่างมาก
ดีหน่อยที่โรงเรียนและเทศบาลมีนดยบายหนุนเสริมอยู่แล้ว  จึงน่าจะมองเห็นภาพที่จะเติบโตและสัมฤทธิ์ผลได้ไม่ยาก -

สวัสดีครับ พี่ใหญ่  นงนาท สนธิสุวรรณ

หากในอนาคตสามารถนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หรือสาระการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมในโรงเรียนได้  ผมก็คิดว่านั่นคือความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ  เพราะเป็นการสานสร้างมรดกทางสังคมให้คงอยู่ต่อไป  เป็นการปลูกฝังความเป็นชาติผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงาม ครับ

ครับ เพชรน้ำหนึ่ง

อีสาน แล้งน้ำ แห้งแล้ง แต่ไม่แล้งน้ำใจ
ในทุกชาติพันธุ์อุดมด้วยน้ำใจและวัฒนธรรม
ไม่ว่าสุข หรือทุกข์แค่ไหน
คนอีสาน ก็มีดนตรีหลากทำนองที่ปลุกเร้าพลังให้กับตัวเองเสมอมา
ม่วนซืนโฮแซว  ครับ-

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท