​เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๔. การประชุมวันที่สอง ๒๒ ก.ค. ๕๗


          การประชุม 2014 International Engagement Australia Conference ที่มหาวิทยาลัย Charles Sturt เมือง Wagga Wagga, NSW, Australia วันที่สอง๒๒กรกฎาคม ๒๕๕๗ เต็มไปด้วยสาระเข้มข้น

          เริ่มด้วยรายการ Perspectives on Engagement : Universities, public good and the future Australia มีวิทยากร ๔ ท่าน เป็นการเสนอมุมมองจากหลายมุม ทั้งมุมของมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน ที่เรียกว่า Regional Universities, มุมมองของนักจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง มหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรม มุมมองของนักวิจัยทางสังคมและอุดมศึกษา และมุมมองของนักวิชาการด้าน community-engaged scholarship จากสหรัฐอเมริกา รายการนี้ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ให้ความรู้มากมาย

          ฟังแล้วผมคิดว่า หลุมดำของการทำงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคม คือการมองการทำงานวิชาการชั้นยอด กับงานรับใช้สังคมเป็นขั้วตรงกันข้าม ผมไม่คิดว่าการทำงานวิชาการรับใช้สังคม กับงานวิชาการเพื่อ ความเป็นเลิศระดับโลก เป็นขั้วตรงกันข้ามกัน ผมไม่ชอบวิธีคิดแบบ either … or … ผมชอบวิธีคิดแบบ both … and ... มากกว่า คือผมคิดว่า งานวิชาการรับใช้สังคม สามารถสร้างสรรค์ทฤษฎีเขย่าโลกได้ โดยเป็นทฤษฎี ที่สร้างจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ

          ท่านหนึ่งที่พูดดีมาก คือ Emeritus Professor Geoff Scott พูดเรื่อง Turnaround Leadership for Sustainability in Higher Education ผมนำสาระไปไว้ในบันทึกตอนที่ ๙

          ผมชอบแนวคิด ของ Kevin Cullen, CEO, NewSouth Solutions, UNSW ที่บอกว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่สร้างผลกระทบต่อสังคมโดยตรง แต่ช่วยให้ sector อื่นสร้างผลกระทบ

          อีกท่านหนึ่งที่ให้ความเห็นดีมาก คือ Professor Kerry Strand, Andrew G. Truxal Professor of Sociology, Hood College, USA ผู้เขียนหนังสือ Community-based Research and Higher Education พูดเรื่อง A Reflection : the opportunity for community – engaged scholarship (CES) บอกว่า ประโยชน์ของ CES ได้แก่ (๑) เป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน (๒) ดึงดูด นศ. ที่ดีมาเข้ามหาวิทยาลัย และเข้าสู่ชุมชน (๓) สร้างขวัญกำลังใจ ที่ดีแก่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา (๔) เป็นโอกาสได้ทำงานวิจัยที่มีความหมาย (๕) โอกาสบูรณาการ การสอน วิจัย และบริการวิชาการ (๖) นศ. ได้เรียนรู้ทักษะภาวะผู้นำ เพื่อพัฒนาไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (๗) นศ. ได้ทำงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (๘) เกิดประโยชน์โดยตรงต่อชุมชน

          ท่านบอกว่า สถาบันอุดมศึกษามีศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ใน ๓ ด้าน

  • ทำให้มหาวิทยาลัยทำงานตรงความต้องการของสังคมมากขึ้น
  • สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษา
  • ช่วยสร้างชุมชนที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น

          สิ่งที่จะต้องทำคือ

  • ทำลายกำแพงที่มองไม่เห็นด้านความคิด และด้านลำดับขั้น (hierarchy)
  • ท้าทาย และเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการวิจัย ให้นำหนักต่อ Engagement Scholarship และ Scholarshio of Teaching and Learning ให้เท่าเทียมกันกับ Scholarship of Discovery
  • ฝึกนักศึกษา ไปเป็นบัณฑิตที่ เป็น Engaged Citizen ตลอดชีวิต
  • มีการจัดการเชิงโครงสร้าง

          ในช่วง Q&A วิทยากรได้มีโอกาสบอกที่ประชุมว่า สังคมในปัจจุบันให้น้ำหนักผลงานเชิงธุรกิจ มากเกินไป คนมหาวิทยาลัยจึงต้องเรียนรู้วิธีเข้าไปเปลี่ยนนโยบายให้เน้นผลเชิงสังคมมากขึ้น มหาวิทยาลัย ต้องมุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ที่มุ่งทำเพื่อประโยชน์ของสังคม (public good) การศึกษาต้องสร้างคนที่มี intrinsic motivation ที่จะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มากกว่าขึ้นกับ extrinsic motivation แลมีคนพูดถึงคำ Translational Engagement ซึ่งหมายถึงการเข้าไปใกล้ชิดสังคม เพื่อทำงานวิชาการขาลง หรือขานำความรู้/ วิชาการ ไปใช้ประโยชน์ มีการพูดว่า วัฒนธรรมวิชาการในปัจจุบัน ขัดขวางการทำงานวิชาการรับใช้สังคม

          ต่อด้วยรายการ คุยกับ ๔ อธิการบดี” ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ อธิการบดีท่านหนึ่งมาไม่ได้ จึงเหลือ ๓ อธิการบดี กับหนึ่งรองอธิการบดี ที่เป็นประธานของ EA

          ผมได้เรียนรู้ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยของรัฐ ๔๐ แห่งในออสเตรเลีย มีการแยกกลุ่มอย่างชัดเจน ออกเป็น ๒ ขั้ว ขั้วหนึ่งคือ Go8 (Group of Eight) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (ท่านที่ต้องการทราบว่า กลุ่ม ๘ มหาวิทยาลัยวิจัยมีมหาวิทยาลัยใดบ้าง ดูได้ที่นี่) อีกขั้วหนึ่งคือมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น (Regional University) ซึ่งก็รวมตัวกันเป็นเครือข่าย Regional University Network เขาบอกว่ามีสมาชิก ๒๐ แห่ง

          อธิการบดีบางท่านบอกว่า การมี Go8 เป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ แต่บางท่านก็บอกว่า การมี Go8 ทำให้มหาวิทยาลัยของตนได้รับงบประมาณลดลง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่คนเราจะมีมมุมมองที่แตกต่างกัน แล้วแต่ว่ามองที่ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือที่ผลประโยชน์ส่วนย่อย ดังกรณีในประเทศไทย มีผู้เล่าว่า หลังเกิด รสช. ใหม่ๆ มรภ. ในอีสานรวมตัวกันไปฟ้องแม่ทัพภาค ๒ ว่า มรภ. ได้รับงบประมาณน้อย ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้รับงบประมาณมาก

          ความเห็นของผมก็คือ Go8 ระบุชัดเจนว่า เขาเน้น International Engagement และความเป็น มหาวิทยาลัยวิจัย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อบ้านเมือง ส่วน Regional Universities เน้น Community Engagement และ Engaged Scholarship ก็มีคุณค่าต่อบ้านเมืองเช่นเดียวกัน และสามารถทำให้เป็นวิชาการที่มีความเป็นเลิศ ได้เช่นเดียวกัน โดยเน้นที่คุณค่าของโปรแกรมการศึกษาต่อชุมชน และต่อชีวิตการทำงานของนักศึกษา

          ในช่วง Q&A มีคนเอ่ยถึง alumni engagement, engagement with schools, engagement with industry ตอนตอบเรื่อง engagement with schools อธิการบดีท่านหนึ่งให้ความเห็นน่าฟังมาก ว่าการเข้าไปร่วมมือ ยกระดับคุณภาพของโรงเรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระมัดระวัง เคารพบทบาทของโรงเรียน ว่าไม่ใช่แค่ผลิต นักเรียนป้อนมหาวิทยาลัยเท่านั้น ผมเดาว่าเขาหมายถึงว่านักเรียนบางคนมีเป้าหมายไปเรียนอาชีวะ หรือบางคน จะออกไปทำงานเลย

          ในเรื่องการ engage กลุ่มคนพื้นเมือง อธิการบดีท่านหนึ่งบอกว่า มีแผนรับคนพื้นเมืองเข้าเรียนระดับ บัณฑิตศึกษา เพื่อให้มีอาจารย์เป็นชนเผ่าพื้นเมือง จะเป็นกลไกส่งเสริม indigenous people engagement

          มีการพูดกันเรื่องมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง โฆษณาว่านักศึกษาของเขาจะได้รับแจก iPad และวิทยากรย้ำว่า คุณภาพสำคัญกว่าราคาหรือของแถม

          ตอนบ่ายเป็นรายการนำเสนอผลการวิจัย ๔ ห้องพร้อมกัน ห้องละ ๒ เรื่อง ในเวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง ผมเลือกไปเข้าห้องแรกเพื่อฟังการนำเสนอของ ดร. จเร สุวรรณชาติ และ รศ. มุกดา สุขสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เรื่อง The Engagement of Rajamangala University of Technology Srivijaya & Stakeholders in Community ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาหมู่บ้านคลองแดน จ. สงขลา ที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีต สมัยผู้คนใช้การคมนาคม สัญจรทางน้ำ และค่อยๆ ร่วงโรยไปเมื่อมีถนนเป็นเส้นทางคมนาคม โดยการชักชวนของเจ้าอาวาสวัด ดร. จเร ซึ่งเป็นสถาปนิก ได้เข้าไปดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลาเกือบสิบปี เท่ากับเข้าไปใช้วิชาการด้านการ ฟื้นฟูเมืองเก่า ร่วมกับภาคีทั้งในชุมชนและนอกชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนวิจัยจากการเคหะแห่งชาติ

          อ่านเรื่องราวของบ้านคลองแดนในปัจจุบันได้ ที่นี่

          เนื่องจากผู้เสนอผลงานเรื่องที่ ๒ ไม่มา จึงมีเวลาซักถาม ดร. จเร ทั้งในเวลา และนอกรอบ ยิ่งซัก ดร. จเร ก็ยิ่งเอาข้อมูลใน ไฟล์ เอามาให้ดู ผู้ดำเนินการประชุมในห้องย่อยถึงกับอุทานว่า เก็บข้อมูลครบถ้วนดีจริง เป็นตัวอย่างของผลงาน Community Engagement ที่น่าชื่นชมมาก

           ช่วงเย็น มีการเสนอผลงาน ๓ ห้องย่อย ห้องละ ๓ เรื่อง ใช้เวลารวม ๗๕ นาที ช่วงแรก ผมไปเข้าห้องที่ ๒ ซึ่งนำเสนอเรื่อง

๑.Innovative policy for growing sustainable community engagement : A report on the Timebanking trial from the NSW ซึ่งเป็นเรื่อง “ธนาคารเวลา” Timebanking เพื่อสร้างการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน เป็นวิธีการคล้ายๆ การลงแขก หรือตอบแทนแรงงานกัน ในภาคสมัยใหม่มีการจัดการแบบธนาคาร

๒.The Floating CORE : Indigenous Community as Pedagogical Practice คำว่า C.O.R.E. ย่อมาจาก Culturally Open Respectful Exchange เป็นหลักการ ที่ใช้ในทุกกิจกรรมของการเรียนรู้ ในชุมชนพื้นเมือง ที่มีพลังทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิด การเปลี่ยนแปลงระดับ transformation และทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้น ผมฟังแล้วคิดในใจว่า เรื่องแบบนี้นำเสนอ แบบ presentation ไม่มีวันเข้าใจ ต้องนำเสนอแบบเล่าเรื่อง (storytelling) จึงจะพอรู้เรื่องบ้าง จะเข้าใจจริงต้องไปดูหรือร่วมกิจกรรม

          หลังจากนั้น ผมย้ายไปห้องที่ ๓ เพื่อฟังเรื่อง Engagement & Innovation = Sustainability? Lessons from a case study at the University of Newcastle เอาเข้าจริงเขาลองให้แต่ละโต๊ะลองแลกเปลี่ยนกันว่า ได้ใช้ Appreciative Inquiry เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ อย่างไรบ้าง

          ทั้งสามเรื่องที่ผมฟัง มาจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล

          หลังการประชุมจบ ในช่วงเวลา ๑๗.๑๕ - ๑๘.๔๕ น. ทีมไทย ๑๒ คนไปทำ AAR กันในห้องที่ เขาจัดให้ ทำให้ผมได้ความรู้เพิ่มเติมมากมาย ส่วนที่น่าจะนำมาเล่าต่อคือ วิธีการ engage นศ. ครู กับโรงเรียนใกล้บ้าน ของมหาวิทยาลัย Central Queensland เล่าโดยท่านอธิการบดี นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ว่าเขาให้ นศ. ไปสอนที่โรงเรียนใกล้บ้านสัปดาห์ละ ๑ วัน โดยอาจารย์ไปโค้ชด้วย ภายใต้การดูแลของครู ในโรงเรียนนั้น และใน ๑ ปี จะมีช่วงเวลาที่ นศ. ไปสอนที่โรงเรียนนั้นติดต่อกัน ๖ สัปดาห์ ครูที่โรงเรียน มีความพอใจเพราะ (๑)ได้สอนนักศึกษา (๒) ลดภาระการสอนนักเรียน (๓)ได้โอกาสเข้ารับการอบรมใน มหาวิทยาลัย กิจกรรมนี้ ช่วยให้นักศึกษาครู ได้ engage กับโรงเรียนตั้งแต่ตอนเรียนในมหาวิทยาลัย และเป็นการสร้าง engagement ระหว่างโรงเรียนกับมหาวิทยาลัย

          อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะนำมาเล่า คือการเจรจาความร่วมมือระหว่าง Engagement Thailand กับ Engagement Australia เมื่อวานนี้ ที่ ศ. ดร. วิจิตร, ศ. ดร. ปิยะวัติ, ดร. นงเยาว์, และ รศ. นพ. อำนาจ อยู่สุข เข้าร่วมเจรจา ตกลงกันว่าจะมีความร่วมมือ ๓ ด้าน

๑.ด้านการผลิตบัณฑิต ระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิก (ของ ET มี ๓๕ แห่ง) กับมหาวิทยาลัยสมาชิก EA แบบ joint degree เรียนที่ประเทศไทย ๒ ปี ที่ออสเตรเลีย ๒ ปี ได้รับปริญญาของทั้ง ๒ มหาวิทยาลัย

๒.Central Queensland University จะให้ทุนนักศึกษาไทยมาเรียน สถาบันคลังสมองจะเป็นหน่วยจัดการความร่วมมือนี้ของฝ่ายไทย

๓.New Colombo Plan จะร่วมกันหาทาง ล้อบบี้ ให้รวมประเทศไทยด้วย

          Conference Dinner เริ่มเวลา ๑๙.๐๐ น. เขาเชิญนักการเมืองมาร่วมด้วย ศ. ดร. วิจิตร ได้รับเชิญ ไปร่วมโต๊ะทางการ โต๊ะที่ผมนั่งเป็นทีมไทยล้วน เป็น sit down dinner ที่หรู อาหารอร่อย ไวน์ก็อร่อย แถมยังมีเบียร์ให้ไปขอเพิ่มไม่อั้น


วิทยากรกล่าว Keynote

รายการคุยกับ ๔ อธิการบดี


ชื่อเรื่องผลงานของ ดร. จเร


ดร. จเร กำลังนำเสนอผลงาน

Five D Cycle of Apreciative Inquiry

บรรยากาศในห้อง AAR

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 575303เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้เข้าใจเรื่อง community engagement มากขึ้นค่ะ และรู้แหล่งที่จะไปขอเรียนรู้เพิ่มเติมแล้ว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท