บาตรใบเก่า!


    เมื่อวันก่อน (25-8-2014) ขยันนิดหน่อย.. ตั้งใจว่าจะถักถลกบาตรถวายพระคุณเจ้ารูปหนึ่งในลานธรรม อำเภอเชียงยืน มหาสารคาม.. เห็นเพราะท่านมีบาตรวางไว้ และมีฝาไม้ที่ทำจากต้นตาลกลึง มีรอยยาแนว เพราะแตกจากการหล่น.. รอยยาแนวจากกาววิทยาศาสตร์ เป็นทางยาว..   เหตุเพราะเมื่อวันก่อนขึ้นไปทำความสะอาดรอบๆ กุฏิของท่าน และเห็นมีถลกบาตรเก่าๆ วางตกอยู่ จึงได้ไอเดียถักถวาย.. ถลกสีเปลือกมงคุดเข้ม ไม่มีตัวฝา  สายสะพายดูไม่ออกว่าทำจากผ้าอะไร.. เป็นสายสีดำเหมือนกับเศษผ้าผูกปมที่ก้นบาตร.. ซึ่งดูเรียบง่ายและสมถะ ไม่อินังกับอะไรมากมาย.. คือความสันโดษตามพุทโธวาสของพระพุทธองค์  คือกินง่าย อยู่ง่ายตามวิสัยของนักบวชแห่งโคตมะเจ้า.. แต่ต้องสะอาด เรียบร้อย.. ตามวิถีธรรมของชาวพุทธ

      บาตรพระเป็นหนึ่งในบริขารทั้งหมด แปดอย่างที่ผู้ขอบวชจะต้องมี และใช้ในการอุปสมบท.. และตลอดระยะเวลาที่บวชเป็นพระอยู่ ไม่ใช่เพียงแค่ใช้บิณฑบาตรโปรดผู้ศรัทธาญาติโยมเท่านั้น แต่ใช้สำหรับใส่อาหารเวลาขบฉันด้วย.. บาตรจึงเป็นบริขารสำคัญที่นักบวชทุกท่านจะต้องดูแลรักษาความสะอาดให้มากที่สุด ล้าง เช็ด ผึ่งลม และรวมถึงการจัดวางในที่เหมาะสม.. ซึ่งธรรมเนียมนิยมวัตรของพระสายปฏิบัติท่านจะดูแลกันอย่างถูกต้อง.. ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการดูแลรักษาบาตร 

      ตั้งแต่ออกจากอุโบสถ หลังจากที่ญัตติเป็นภิกษุเรียบร้อยแล้ว เรื่องการอธิษฐานบริขาร เป็นสิ่งแรกที่ทุกคนต้องกระทำ.. เพื่อเป็นการยืนยันในการใช้สอยบริขารจำเป็นทั้งหมด อย่างมีสติ และระมัดระวัง (เรื่องนี้สมัยนี้ไม่ละเอียดอ่อนเหมือนในอดีต)..

     วกมาถึงเรื่องบาตรของครูบาอาจารย์ ถือว่าสำคัญสำหรับพระสัทธิวิหาริก พระนวกะ หรือพระผู้ดูแลอุปัฏฐาก ที่จะต้องดูแล ล้างบาตร จัดเก็บให้เหมาะสมพร้อม และรับบาตร (ดูแล) ในยามออกบิณฑบาตรในตอนเช้า.. บาตร คือหัวใจของภิกษุทุกรูป.. การมองข้าม ไม่ดูแลรักษาให้เรียบร้อย  นอกจากผิดพระวินัยแล้ว ยังหมายถึงมลทิน ที่ทำให้นักบวชผู้นั้น ไม่เจริญงอกงามในบทกรรมฐานด้วย..  นี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดความศรัทธาที่จะถักถลกบาตรใบใหม่ถวายพระอาจารย์ท่าน เพราะเป็นการอนุโมทนาที่ท่านเป็นแม่ทัพ ในการขับเคลื่อนกงล้อแห่งบุญ  เป็นผู้ดูแลและผู้นำสายบุญ สายธรรม แห่งห้วยสายบาตร  ให้เกิดศรัทธาในการปฏฺิบัติให้มากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นบุญกุศลที่ผู้เข้ามาได้เกิดศรัทธานำไปปฏิบัติต่อยอด เพื่อปรับ เปลี่ยน รูปแบบชีวิต และเป็นการสร้างกุศลกรรม นำไปใช้ในชีวิตได้ดียิ่ง.. 

      ส่งท้ายสักนิด.. บาตรของพระอาจารย์ท่าน เป็นบาตรสำริด (หนักมาก-ไม่ต่ำกว่า 5 กก.)  ลองคิดเล่นๆ นะครับ อาหารร้อนๆ เต็มบาตร สายรัดบาตรและถลกก็เก่าๆ แล้วพระคุณเจ้าท่านก็มีอายุแล้ว.. ลำบากนะครับ

หมายเลขบันทึก: 575251เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2014 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2014 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท