Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สรุปผลความคืบหน้าของการสนับสนุนน้องปูเปรี้ยวในการพัฒนาสิทธิในเลขประจำตัวประชาชนที่ถูกต้อง



กรณีศึกษา “น้องปูเปรี้ยว” - งานวิจัยเพื่อเยาวชนนักกฎหมายที่สู้เพื่อสิทธิในเลขประจำตัวประชาชนที่ถูกต้อง

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗

-------------------------------------------------

เป็นกรณีศึกษาที่เสนอโดย ผู้วิจัยเอง หลังจากที่น้องปูเปรี้ยวร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามาโดยตรงที่ผู้วิจัยเอง แม้กรณีของน้องปูเปรี้ยวจะไม่แตกต่างจากกรณีศึกษาน้องเอ๋เลย กล่าวคือ เป็นบุตรของคนเชื้อสายเวียดนามที่เกิดในประเทศไทย และเป็นหลานของคนเชื้อสายเวียดนามที่อพยพหนีภัยความตายจากประเทศเวียดนาม ผ่านประเทศลาว เข้ามาอาศัยในประเทศไทย เธอถือเลขประจำตัวประชาชนในรูปแบบของคนสัญชาติไทยภายหลังการเกิด ทั้งที่เธอมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ความแตกต่างของเรื่องนั้น อยู่ที่ว่า น้องปูเปรี้ยวเรียนจบนิติศาสตร์บัณฑิต จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้วิจัยตระหนักว่า กรณีศึกษาน้องเอ๋ย่อมจะเป็นโอกาสที่คณะนักวิจัยฯ จะได้ใช้กรณีศึกษานี้ทำความเข้าใจกับกรมการปกครอง ตลอดจนสังคมไทยโดยรวม ถึงความมีอยู่ของปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่ยังเกิดขึ้นต่อไปในครอบครัวของอดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติ น้องปูเปรี้ยวกำลังอบรมกฎหมายที่สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เธอก็เหมือนนักนิติศาสตร์โดยทั่วไปที่อยากจะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ซึ่งเป็นอาชีพสายตรงในกระบวนการยุติธรรม และผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวนี้จะต้องมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด เธอมีความกังวลว่า เมื่อเธอได้รับประกาศนียบัตรจากเนติบัณฑิตยสภา และมีประสบการณ์ทำงานกฎหมาย ตลอดจนมีอายุครบที่กฎหมายกำหนด เธอจะมีสิทธิสมัครสอบผู้พิพากษาหรืออัยการหรือไม่ เธอจึงร้องขอการสนับสนุนจากผู้วิจัยในการดำเนินการเพื่อแก้ไขเลขประจำตัวประชาชนที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง ทั้งนี้ น้องปูเปรี้ยว ซึ่งเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตจะดำเนินการด้วยตัวเอง ตั้งแต่การยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ซึ่งเป็นขั้นตอนเบื้องต้นของการใช้สิทธิตามกฎหมาย จนถึงการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง หากกรณีจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น เราซึ่งเป็นนักวิจัยจึงมีหน้าที่เพียงเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และยืนยันข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง[1]

น้องปูเปรี้ยวเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๒ ณ โรงพยาบาลหนองคาย จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนเชื้อสายเวียดนามซึ่งเกิดในประเทศไทย เธออาศัยอยู่ที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เธอได้รับการรับรองในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทยแล้ว โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าว เธอจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย[2] สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลโพนพิสัยจึงจะต้องรับรองเธอในสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น น้องปู้เปรี้ยวย่อมมีสิทธิในเลขประจำตัวประชาชนในแบบของคนสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย มิใช่ในแบบของคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ในลักษณะเดียวกับกรณีศึกษาน้องเอ๋ น้องปูเปรี้ยวจึงตกเป็นคนที่ถูกบันทึกผิดทางทะเบียนราษฎร” ถ้าเราแก้ปัญหาของน้องปูเปรี้ยวได้ เราก็คงแก้ปัญหาของน้องเอ๋ได้ และน้องปูเปรี้ยวก็ได้คำร้องขอแก้ไขเลขประจำตัวประชาชนที่ผิดพลาดนี้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ แต่อย่างไรก็ตาม น้องปูเปรี้ยวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ร้องขอ คำตอบแรกที่น้องปูเปรี้ยวได้รับ เป็นคำตอบจากคุณเสถียร สีสงค์ นายทะเบียนท้องถิ่น สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลโพนพิสัย ได้มีหนังสือที่ นค.๕๒๒๐๑/๓๕๓ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖ เรื่องแจ้งผลการดำเนินการหารือการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ ถึงน้องปูเปรี้ยว โดยอ้างถึงหนังสือคำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร ลงวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗และส่งสำเนาหนังสือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลที่ นค.๕๒๒๐๑/๒๒ ลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ มาด้วย

หนังสือแจ้งน้องปูเปรี้ยวมีข้อความว่า "ตามที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลโพนพิสัยได้รับคำร้องจากท่านในกรณีขอแก้ไขเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลัก รายละเอียดทราบแล้วนั้น สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลฯ ได้พิจารณาตามเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า ท่านเป็นผู้ได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติ่ม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๗ (๒) ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขเลขประจำตัวประชาชนฯ ดังกล่าว เป็นไปด้วยความถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย จึงมีหนังสือหารือข้อคิดเห็นของสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลฯ ไปยังสำนักทะเบียนอำเภอโพนพิสัย ซึ่งสำนักทะเบียนอำเภอโพนพิสัยได้ส่งหนังสือหารือต่อไปยังสำนักทะเบียนจังหวัดหนองคาย ซึ่งสำนักทะเบียนจังหวัดแจ้งว่า ขณะนี้ อยู่ในระหว่างส่งหนังสือหารือกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อนึ่ง ถ้ากรมการปกครองได้แจ้งหนังสือตอบข้อหารือดังกล่าวแล้ว จะแจ้งผลการหารือให้ท่านทราบโดยเร็ว จึงเรียนมาเพื่อทราบ"

น้องปูเปรี้ยวรอคอยมาแล้วราว ๘ เดือน และก็ทำหนังสือทวงถามไปแล้วอีกรอบหนึ่ง น้องปูเปรี้ยวคงจะต้องใช้ความรู้กฎหมายวิธีพิจารณาความปกครองเพื่อรักษาสิทธิในเลขประจำตัวประชาชนของเธอเอง และเราซึ่งเป็นนักวิจัยด้านนิติศาสตร์ก็คงจะต้องยืนอยู่เคียงข้างเธอ เพื่อการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่ถูกต้องต่อไป

[1]พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร,ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดเลขประจำตัวตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้แก่คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน โดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย (กรณีนางสาวพรทิพย์ โสภาเจริญสกุล),เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152152235498834<วันอังคารที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗>

[2] เราอาจสรุปได้ว่า น้องปูเปรี้ยวได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลของมาตรา ๗ (๓) แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ทั้งนี้ เพราะ (๑) เธอเกิดในประเทศไทย (๒) เธอไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เพราะไม่มีบิดาหรือมารดาต่างด้าวที่มีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และ (๓) เธอไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อ ๒ แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ เนื่องจากปรากฏในขณะที่เธอเกิดว่า เธอมีมารดาเป็นผู้เกิดในประเทศไทย มิใช่ผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในขณะที่เธอเกิด บิดายังไม่มีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีเช่นนี้เคยได้รับการพิจารณาแล้วโดยศาลฎีกาใน ฎ.๙๘๙/๒๕๓๓ ว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย

หมายเลขบันทึก: 575195เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2014 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2014 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท