หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เสียงจากนิสิต (AAR...เรียนรู้อะไรจากเวที)


หลายต่อหลายคนยืนยันว่าเวทีนี้ถึงจะไม่ได้มีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการมากมายอย่างที่คาดหวัง แต่ก็ทำให้นิสิตมีความสุขกับการเรียนรู้ค่อนข้างมาก เริ่มเข้าใจว่าการลงชุมชนมีความสำคัญและต้องปฏิบัติอย่างไร



ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (กลุ่มเป้าหมายนิสิต) เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ด้วยข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่เลื่อนไหลบ้างตามสภาวะ ผมจึงไม่อาจจัดเวทีปฏิบัติการการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังได้ดังใจคิด

กระนั้น ก็มิได้ละเลยเสียทั้งหมด พลิกสถานการณ์เป็นการนำหนังสือเรื่องเล่าจากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ๒ เล่มล่าสุดมาโชว์เรียกน้ำย่อย เพื่อให้รู้ว่า หากนิสิตลงมือทำ มันย่อมเป็นรูปเป็นร่างประมาณนี้...

เช่นเดียวกับการเปิดเว็บไซด์ให้เข้าไปศึกษาลักษณะของเรื่องเล่าแต่ละเล่มในระบบ E-book พร้อมๆ กับการบอกเล่าแนวทางการเขียนโดยสังเขป โดยย้ำเน้นให้นิสิตลงมือเขียน และเขียนบันทึกทุกครั้งเมื่อลงพื้นที่

ทั้งนี้ยังได้หยิบเอาวีดีทัศน์โครงการในปีก่อนๆ มาให้นิสิตได้ดูร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คืออะไร และลักษณะของการบูรณาการภารกิจ ๔ In ๑ ต้องทำอย่างไร – ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อนิสิตดูวีดีทัศน์ชุดนี้แล้ว พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ชัดเจน-เข้าใจแล้ว”




ก่อนปิดเวที ผมทำกระบวนการแบบเร่งรีบอยู่มาก เพราะเวลาได้ล่วงมาพอประมาณ จึงชวนให้นิสิตได้เขียนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดว่าได้เรียนรู้อะไรจากเวทีในวันนี้ (AAR) ...

และนี่คือข้อมูลอันเป็นมุมมองความคิดที่นิสิตเขียน หรือสื่อสารกลับมา


ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล


ความรู้ความเข้าใจในหลักคิดของการลงชุมชน

  • เทคนิคการสัมภาษณ์ การสังเกต การสนทนากับชุมชน
  • การใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลชุมชน
  • การจัดเก็บข้อมูลชุมชนที่เป็นระบบ และการวิเคราะห์ชุมชน
  • มารยาทในการเรียนรู้ชุมชน
  • การให้ความสำคัญกับเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน ประเพณีวัฒนธรรม ค่านิยม สถานที่สำคัญๆ ในชุมชน
  • การคำนึงถึงโจทย์ หรือความต้องการของชุมชน
  • แนวทางการบูรณาการศาสตร์สู่การเรียนรู้และพัฒนาชุมชน ทั้งศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และชุมชน หรือภาคีอื่นๆ
  • กระบวนการวางแผนการลงชุมชนอย่างเป็นขั้นตอนบนหลักของการมีส่วนร่วม
  • ฯลฯ

ดร.สมชาย แก้ววังชัย




ความรู้ความเข้าใจในหลักคิดการถ่ายภาพ

  • เข้าใจความสำคัญของการเก็บข้อมูลชุมชนผ่านภาพถ่าย
  • เข้าใจองค์ประกอบของการจัดภาพและการตกแต่งภาพ
  • เข้าใจหลักการถ่ายภาพเพื่อบันทึกกิจกรรมหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
  • เข้าใจแนวคิดของการนำเสนอข้อมูลและเรื่องราวให้มีพลังผ่านภาพถ่าย
  • เข้าใจหลักการถ่ายภาพในมิติของการประเมินผลโครงการ ตั้งแต่ระยะต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หรือการถ่ายภาพจาก BAR-AAR
  • ฯลฯ




ไม่เพียงแค่สองประเด็นคำถามเท่านั้น แต่ผมยังสอบถามเพิ่มเติมว่า ถ้าจะจัดเวทีในทำนองนี้อีก นิสิตมีความประสงค์จะให้หนุนเสริมองค์ความรู้ในเรื่องใดอีกบ้าง ซึ่งนิสิตก้มหน้าก้มตาเขียนสะท้อนอย่างจริงจัง เคร่งขรึมเป็นเวลาพอสมควรเลยทีเดียว นั่นก็คือ....

  • ฝึกปฏิบัติการลงชุมชนจริงๆ
  • ฝึกปฏิบัติการการถ่ายภาพ
  • ฝึกปฏิบัติการการเขียนเรื่องเล่า
  • ฝึกการจัดต่อวีดีทัศน์
  • มารยาทในการลงสู่ชุมชน
  • การควบคุมอารมณ์ในชุมชนเมื่อเจอข้อคัดแย้งระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน หรือระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน

รวมถึงข้อเสนอแนะอื่นๆ อย่างน่าสนใจ เช่น

  • อยากให้จัดอบรมนอกสถานที่ อย่างน้อย 1 คืน 2 วัน
  • อยากให้มีการบรรยายประกอบวีดีทัศน์ หนังสั้น หรือสื่ออื่นๆ ให้มากกว่าเดิม
  • อยากให้จัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์แทรกเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นให้ตื่นตัว และรู้จักกันให้มากขึ้น
  • อยากให้ผู้มีประสบการณ์ ทั้งที่เป็นชาวบ้านและนิสิตที่ประสบความสำเร็จในโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนจากปีที่ผ่านมาได้มาบอกเล่าประสบการณ์และแลกเปลี่ยนกับนิสิตที่กำลังขับเคลื่อนในปีนี้
  • จัดทำเอกสารหลายๆ ชุดเป็นเล่มเดียวกัน
  • จัดให้มีการประกวดเรื่องเล่า-ประกวดภาพถ่าย
  • อยากให้มีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเวทีนี้ให้มากกว่าที่จัดขึ้น โดยไม่เน้นการบรรยาย แต่เน้นการจัดวงโสเหล่
  • ฯลฯ



ครับ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ คือมุมมองความคิดของนิสิตที่เกิดขึ้นในเวทีฯ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ นิสิตกลุ่มนี้คือแกนนำการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของแต่ละหลักสูตรเพียงตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของนิสิตที่มีต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้ คณะกรรมการบริหารโครงการฯ จึงไม่เพิกเฉยที่จะเติมความรู้ สร้างความเข้าใจ กระทั่งสร้างแรบันดาลใจในเรื่องเหล่านี้แก่นิสิต โดยมิได้ทิ้งเป็นภาระของอาจารย์ในแต่ละหลักสูตรต้องแบกหามในเรื่องนี้เสียทั้งหมด

นอกจากมุมมองข้างต้นแล้ว ในข้อเขียนเล็กๆ จำนวนไม่น้อยของนิสิตที่ส่งกลับมา หลายต่อหลายคนยืนยันว่าเวทีนี้ถึงจะไม่ได้มีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการมากมายอย่างที่คาดหวัง แต่ก็ทำให้นิสิตมีความสุขกับการเรียนรู้ค่อนข้างมาก เริ่มเข้าใจว่าการลงชุมชนมีความสำคัญและต้องปฏิบัติอย่างไร   เริ่มตื่นเต้นกับการใช้หลักคิดของการถ่ายภาพไปใช้จริงในชุมชนและการใช้ชีวิตอื่นๆ ..

รวมถึงการรับรู้และเข้าใจว่าหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ไม่เพียงการเรียนรู้คู่บริการทั่วๆ ไป แต่หมายถึงการบ่มเพาะนิสิตให้เป็นผู้มีจิตสาธารณะต่อการรับผิดชอบต่อหน้าที่ตนเองและต่อสังคมไปพร้อมๆ กัน 

และที่สำคัญที่ผมรู้สึกดีมากๆ ก็คือ นิสิตบอกเล่าว่า เข้าใจหลักคิดของการทำงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนอย่างมหาศาล หลังจากก่อนหน้านี้ไม่ชัดเจนเอาซะเลย 

รวมถึงการที่นิสิตยืนยันว่าอยากทำงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนด้วยตนเอง  โดยแยกออกมาจากหลักสูตรฯ ซึ่งอาจไปบูรณาการในค่ายประจำปีของนิสิตที่เป็นทั้งชมรม องค์การ สโมสรนิสิต 

หมายเลขบันทึก: 574894เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2014 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

โครงการดี ๆ ที่ดีอยู่เสมอ ;)...

ความคิดเห็นเป็นไปตามสภาวะ

ป.ล. บันทึกจากมอชอ ครับ

ของสาธารณสุข ก็ต้องเรียนรู้เรื่องชุมชนเหมือนกันค่ะ   ต้องทำแผนที่ชุมชน  นำแผนที่ที่ทำมาใช้วิเคราะห์ชุมชน และเข้าใจชุมชน  พัฒนาชมต้องอาศัย การมีส่วนร่วมของชุมชน  โดยชุมชน  ของชุมชน และเพื่อชุมชนนะคะ  


ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ 

ครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

ตกลงมาทักทายข หรือมาทวงบันทึก กันแน่น๊อ

ครับ พี่ Dr. Ple

หลักสูตรในคณะสาธารณสุขศาสตร์ในบางหลักสูตรใช้แผนที่ หรือเครื่องอื่นๆ มาใช้กับหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนค่อนข้างดี ส่วนใหญ่ใช้หลักคิดของ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และบูรณาการเข้ากับเครื่องมือที่หมอโกสมาตรฯ และทีมงานได้สร้างขึ้นมาครับ

ชอบใจการลงชุมชนและได้เรียนรู้จากชุมชนเสมอๆ

มีหลายประเด็นที่ควรเรียนรู้ก่อน

เช่นการถ่ายภาพ การเขียนเรื่องของชุมชน

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท