เมื่อเด็กม.6 "ใจหายไม่ไปรร."


นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ท้าทายความสามารถของนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมอย่างดร.ป๊อป ที่ใช้เวลาเกือบ 6 อาทิตย์ในการประเมินและค้นหากระบวนการฟื้นคืนสุขภาวะหรือการสร้างพลังใจ (Mental Health Recovery) ที่ผมคิดว่า "ประเทศไทยต้องมีระบบให้ความช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะปฏิเสธโรงเรียน (School Refusal) [Acknowledgement: Fremont WP. School refusal in children and adolescents. Am Fam Physician 2003;68(8):1555-61.]  และมหาวิทยาลัยอย่างเร่งด่วน" เพราะในมือของผมที่อยู่ในคิวก็มีไม่ต่ำกว่า 5 รายแล้วครับ ผมเชื่อว่า นักกิจกรรมบำบัดอีกหลายท่านที่กำลังให้บริการด้านการพัฒนาเด็ก (Habituation) และการบำบัดฟื้นฟูทางการศึกษาวัยรุ่น (Educational Rehabilitation) คงต้องพบกับความไม่เชื่อมโยงระหว่างระบบทางการแพทย์กับระบบทางการศึกษาเป็นแน่แท้

สำหรับกรณีศึกษาน้อง ซี (นามสมมติ) กำลังอยู่ชั้นม.6 แต่ไม่ได้ไปเรียนมา 1 ภาคการศึกษาแล้ว ทำให้คุณครูประจำชั้นพยายามมาเยี่ยมและให้โอกาสน้องไปนอนในห้องเรียนได้ แต่คุณครูฯยังไม่เข้าใจภาวะปฏิเสธโรงเรียนที่ควรมีกระบวนการจัดการที่หลากหลาย ผู้ปกครองของน้องจึงนัดหมายให้ดร.ป๊อปมาสื่อสารกับน้องด้วยการบูรณาการสื่อกิจกรรมบำบัดได้แก่ การใช้ความเป็นตัวเรา (ต้นแบบ บุคลิกภาพ ภาษากาย ทักษะการแสดงความเมตตา การสร้างสัมพันธภาพด้วยใจ และภาษาพูดที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดอัตโนมัติ) กับการให้กำลังใจ การให้แรงบันดาลใจ การให้สุขภาพจิตศึกษาด้วยพลังใจ การจัดกลุ่มกิจกรรมพลวัติ การออกแบบกิจกรรมตามความต้องการที่แท้จริง และการประเมินระดับความคิดความเข้าใจผ่านเครื่องมือวัดชีพจร-ประสาทการเคลื่อนไหว 

อย่างไรก็ตามผมต้องใช้ความพยายามในการแยกภาวะปมปัญหาของน้องตั้งแต่ ภาวะโรคสมาธิสั้นในวัยเด็กอายุ 6 ปี ที่แพทย์สั่งยาให้ทานโดยไม่มีการพัฒนาเด็กอย่างเป็นระบบ ภาวะโรคอารมณ์สองขั้วในวัยรุ่นอายุ 17 ปี ที่แพทย์สังยาให้ทานโดยไม่มีการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ และภาวะนอนไม่หลับ ทรงตัวไม่ได้ กล้ามเนื้ออ่อนล้า จนถึงภาวะซึมเศร้าในทุกๆเช้าที่ตื่นมาเองได้บ้าง ผู้ปกครองปลุกตื่นบ้าง แต่รู้สึก "ใจหาย" เมื่อต้องไปโรงเรียน แล้วพาตัวเองไปนอนหลับต่อที่โซฟาหรือไม่ยอมอาบน้ำด้วยเหตุผลเข้าข้างตัวเอง เช่น อาบน้ำแล้วรู้สึกหน้ามืด ไม่อยากทานข้าวเช้าเพราะอยากอาเจียน รู้สึกเพลีย-ขาไม่มีแรงขอนั่งนอนที่โซฟา ฯลฯ

ดร.ป๊อปพยายามทดลองหลายกระบวนการ เช่น ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อตามลำดับส่วน ฝึกหายใจลึกและทำสมาธิปรับระดับการรู้คิดจิตใต้สำนึก ฝึกเพิ่มความรู้สึกของการมองเห็น-การได้ยิน-การสัมผัสและการเคลื่อนไหวผ่านสมองข้างถนัด ฝึกการปรับสิ่งแวดล้อมด้วยการลดแสงเพื่อปรับอารมณ์จนถึงการเพิ่มแสงเพื่อปรับภาวะซึมเศร้า ฝึกการสะท้อนกลับวัดชีพจรขณะปรับกิจกรรมทางร่างกาย ฯลฯ แต่ก็ทำให้น้องกล้าไปโรงเรียนได้เพียง 3 วันเท่านั้น 

ครั้งล่าสุดคือ ดร.ป๊อปขับรถจากศาลายาไปถึงบางนา เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตที่แท้จริงขณะที่น้องรู้สึก "ใจหายไม่ไปรร." ราว 2 ทุ่มถึง 4 ทุ่ม (แบบจิตอาสา) และตั้ง "ใจ" จะขอสังเกตการณ์ภาวะการนอนไม่หลับและไม่ยอมไปรร.ในวันรุ่งขึ้นด้วยในโอกาสต่อไป ก็ได้ใช้การประเมินทางจิตใต้สำนึก (SCORE Model - NLP) [Acknowledgement: Andy Smith's Emotional Intelligence, NLP and Coaching Skills Site] พบว่า 

  • Symptoms น้องมีอาการกระวนกระวายเมื่อถูกตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับ "พรุ่งนี้คิดจะทำอะไร มีเรียนอะไร และรู้สึกอย่างไร" และขอลุกเข้าไปทานน้ำ ไปห้องน้ำ พักทำสมาธิ ไปหยิบปากกามาจดแผนความคิดในกระดาษหลายแผ่นแบบย้ำคิดย้ำทำ และไปหยิบหนังสือเพื่อนๆที่จบม.6 ไปแล้ว (น้องยังคงซ้ำชั้น) และเนื้อหาการฝึกอบรมแรงบันดาลใจมาดูเพื่อเพิ่มกำลังใจให้ตัวเอง
  • Cause อาการกระวนกระวายข้างต้นดูเหมือนมีภาวะวิตกกังวลจากประสบการณ์ที่มีการแยกตัวจากเพื่อนที่รัก (Separation Anxiety) และการปฏิเสธโรงเรียน (School Refusal ชื่อเดิมคือ School Phobia) ซึ่งน้องได้รับการสั่งยาจากจิตแพทย์ด้วย แต่ยังไม่ได้รับการจัดการปัญหาตรงนี้มากนัก 
  • Outcome น้องคิดว่าตัวเองอยากไปโรงเรียนและรู้ว่าต้องเรียนอะไรบ้าง บอกครู เพื่อน และผู้ปกครองว่า จะไปโรงเรียนให้ได้ แต่ก็จะหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองในการไม่ไปโรงเรียนในทุกเช้า ทำให้ต้องใช้ใบรับรองจากจิตแพทย์และนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมระบุขอผ่อนผันให้น้องขาดเรียนได้บ้างเพื่อการบำบัดฟื้นฟูภาวะการนอนไม่หลับ 
  • Resource น้องไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริง เพราะใช้การวางแผนความคิดมากเกินไป เช่น คิดว่าตนเองรู้สึก "อึดอัด" ไปจนถึงรู้สึก "ต้องแก้ปัญหาได้" ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายสุดท้ายคือรู้สึก "สดชื่น" ที่ได้ไปถึงโรงเรียน 
  • Effect น้องได้พูดตามความรู้สึกที่ไว้ใจดร.ป๊อปว่า "เค้าไม่มีแผนในการจะทำอะไร ไม่รู้สึกอยากไปโรงเรียน รู้สึกมีภาวะหลายโรคที่เป็นอุปสรรคจนทำให้เค้ารู้สึก "ใจหายไม่ไปโรงเรียน" เนื่องจาก หน้ามืด คลื่นไส้ ไม่มีแรง [เมื่อวัดการเปลี่ยนแปลงชีพจรก็พบว่า สุขภาพจิตที่บกพร่องของน้องส่งผลให้สุขภาพกายแย่ตามมา คือ ทรงตัวได้ลำบาก หายใจได้ไม่ลึก ชีพจรขึ้นลงเร็วเมื่อเปลี่ยนท่าทาง จึงต้องอาศัยผลกระทบตรงนี้เป็นสื่อกิจกรรมบำบัดต่อไป]

ดร.ป๊อปจึงใช้วันหยุดหลังการทำเลเซอร์เยื่อบุจอตาเมื่อวานด้วยการโทรศัพท์แบบพี่เลี้ยงให้น้องเค้าถึง 7 รอบตั้งแต่เริ่มเพิ่มความรู้สึก "ผ่อนคลายสบายใจ" พร้อมฝึกการหายใจและปรับท่าทางจนน้องหายจากอาการหน้ามืดใจสั่นเวลา 12.00-12.30 น. จากนั้นก็เพิ่มความรู้สึก "มีพลังใจคิดบวก" ในการทานอาหารเที่ยงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเวลา 12.30-13.00 น. จนน้องหายจากอาการคลื่นไส้อาเจียน จากนั้นก็เพิ่มความรู้สึก "มั่นใจอย่างต่อเนื่อง" ในการเริ่มเดินไปอาบน้ำ แต่งตัว ใส่ชุดนักเรียน นั่งแท๊กซี่ไปโรงเรียนเวลา 13.50 น. พอน้องไปถึงโรงเรียนก็กำลังจะเปลี่ยนใจไม่ข้ามไปเข้าประตูโรงเรียน ดร.ป๊อปก็เพิ่มความรู้สึก "มั่นใจ ตั้งใจ ในเป้าหมาย - พบครูหนึ่งคนแล้วนำการบ้านมาทำที่บ้าน" จนน้องทำได้ตามเป้าหมาย ก็เพิ่มความรู้สึก "ให้กำลังใจ ชื่นชมความสำเร็จ" และเฝ้าระวังต่อจนน้องนั่งรถเมล์กลับบ้านเวลา 13.50-16.00 น. จากนั้นน้องก็ขอบคุณและดีใจที่ไปโรงเรียนได้ในเวลาอันสั้น

จากนั้นดร.ป๊อปก็ปรึกษาพี่นิ่ม ผู้มีประสบการณ์ในการฝึกลูกจนมีความสุขจาก Homeschool และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือครอบครัวที่กำลังประสบปัญหา School Refusal ด้วยความขอบพระคุณมากครับ

พี่นิ่มแนะนำได้อย่างน่าสนใจว่า [คัดลอกมาจาก Facebook] "...การปฏิรูปการศึกษา เน้นแนวทางในการทำงานบนหลักกระบวนการมีส่วนร่วมค่ะ ... การต่อรองกับโรงเรียนโดยผู้ปกครองฝ่ายเดียว นั้น อาจจะลองดูก่อนได้ค่ะ แต่ถ้าโรงเรียนไม่ยืดหยุ่นให้สำหรับครอบครัวและเด็ก กระบวนการแก้ปัญหาร่วมกันทั้ง ๒ ฝ่าย โดยมีฝ่ายที่สามที่เข้าใจแนวทางการประเมินผล สามารถเข้าร่วมมือในการทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ค่ะ ... คือ ดร.ป๊อบ สามารถ ทำหนังสือรับรอง ให้กับ น้อง และข้อเสนอแนะ ในฐานะผู้ดูแลรักษา และเข้าใจธรรมชาติของโรคที่น้องเป็นอยู่ เพื่อสร้างความเข้าใจกับทางโรงเรียน ผ่านทาง ผ.อ. (ผู้รับชอบนักเรียนทุกคนค่ะ) ... ในขณะเดียวกัน ก็เตรียมการเข้าพบ ท่าน ผ.อ. เพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนค่ะ ... โดยคณะที่เข้าพบ ถ้าครอบครัวมั่นใจ ก็สามารถเข้าพบเองได้ ... หากครอบครัวต้องการเพื่อน ก็สามารถเชิญ ภาคีเครือข่ายเข้าร่วมการหารอกับทางโรงเรียนในการหาทางออกร่วมกันได้นะคะ

ดังนั้นผมจึงกำลังประสานงานจุดประกายให้ผู้ปกครองของน้องซีริเริมทำสิ่งที่เหมาะสมต่อไปเพื่อความสุขของครอบครัวนี้และความสำเร็จในใจของนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมตัวเล็กๆอย่างผมครับ

หมายเลขบันทึก: 574645เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2014 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2014 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มี(รุ่นห ลาน)..หนึ่งคน..ที่อดีต..ไม่ได้เรียน..ต่อไป..เพราะไปใช้คำว่า..อีแก่กับ..ครู...เด็กคนนี้เลยเป็นโรคคลื่นไส้กับโรงเรียน..เขาถูกแม่ตี..หนีออกจากบ้าน..ไปสิบห้าปี...เป็น โรคคลื่นไส้..แม่..และเดี๋ยวนี้...เป็นแม่..ของเด็ก..ที่ถูกเรียก..ว่าไฮเปอร์..ตัวตน..ก็เป็น..โรค..เอดด์..

เราควรรักษาใครดีคะ..สังคม..หรือ..ผู้ที่ถูกเรียกว่าป่วย...

ขอบพระคุณมากครับคุณยายธี ใช่ครับการบำบัดที่ยากและท้าทายคือ การบำบัดจิตสังคม ครับผม 

ขอบพระคุณมากครับอ.ต้น คุณยายธี และน้องธราดล

พี่ละประทับใจความทุ่มเทของอาจารย์

พี่สนใจที่อาจารย์พูดว่าเราน่าจะมีระบบช่วยเหลือเด็กที่ "ปฏิเสธโรงเรียน"  ถ้าเรามีจริง ทำได้จริง เราจะช่วยเด็กๆ ได้เยอะก่อนที่จะผลักเขาออกไป 

นานมาแล้วพี่เคยเป็นเด็กหนีโรงเรียน แต่ไม่เคยมีใครสงสัยและถามพี่สักคำว่าเกิดอะไรกับเด็กเรียนดีความประพฤติเรียบร้อยคนหนึ่ง  บุญยังมีที่ทำให้พี่ไม่หลุดออกไปจากกรอบ

กระทรวงศึกษาฯมี "ระบบดูแลช่วยเหลือ" อยู่ค่ะ แต่ไม่สามารถลงลึกในเนื้อหาที่ยากๆ เฉพาะสาขา ทำได้แค่คัดกรองเด็กที่เริ่มจะมีปัญหาเพื่อส่งต่อให้มืออาชีพ  ซึ่งก็เป็นระบบที่ดีแต่จะมีประสิทธิภาพแค่ไหนก็อีกเรื่อง

ถ้าอาจารย์จะเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่เดิมในโรงเรียน ก็เริ่มจากตรงนี้ได้ค่ะ

ขอบพระคุณมากครับสำหรับคำแนะนำที่ดีมากจากพี่ Nui ตอนนี้กำลังนัดวางแผนกับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเครือข่ายผู้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้อยู่ครับผม

ไม่น่าตกใจเด็ก ม. 6 ไม่ไปโรงเรียน, ม. 1 ไม่ไปโรงเรียนน่าเป็นห่วง

ขอบพระคุณมากครับคุณ pap2498 จริงๆแล้วเคสนี้เป็นมาตั้งแต่ม. 1 ครับผม แต่ก็พยายามยื้อเวลา พูดคุยกับครู แต่ตอนม.6 มีอาการมากขึ้นเลยน่าตกใจสำหรับผมครับ 

ขอบพระคุณมากครับพี่โอ๋ พี่นงนาท และคุณอักขณิช 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท