ภาษาอินโดนีเซียแบบมวยวัด 3)


รักซาซ่าบาหลี ที่มา: balibalibeach.com

“เป็นเด็กไม่รู้ภาษาเข้าวัยรุ่นหนุ่มสาวก็ยังไร้เดียงสา”

คำว่า “ภาษา” ในภาษาอินโดนีเซียเขียนว่า “bahasa บาฮาซ่า” สังเกต “baha” ออกเสียง บ.ใบไม้และ ฮ.นกฮูก เวลาพูดจะเน้นเสียงหนักและยาวที่ “บา” ส่วน “ฮา” จะออกเสียงเบาและสั้นกว่า ในขณะที่ของเรารวบเป็นคำเดียวว่า “ภา” ซึ่งคำว่า “ภาษา” ในภาษาสันสกฤตเขียนด้วยอักษรโรมันว่า “bhasa” หรือ “bhasha” มีเพิ่มตัวเน้นเสียงด้านบน

คำว่า “เดียงสา” อาจารย์บางท่านว่าเกิดจาก “เดียง+ภาษา = เดียงสา” ไปเปิดพจนานุกรมก็แปลว่า....การรู้ผิดรู้ชอบตามปกติสามัญ ในภาษาอังกฤษอาจใกล้เคียงกับคำว่า “sensible” คงได้มั้ง ส่วนภาษาอินโดฯเขาเขียน “dewasa เดวาซ่า” แปลความว่าเป็นผู้ใหญ่หรืออีกคำเรียก “raya รายา” ในภาษามาเลย์รวมไปถึงเวลา ภาษาสันสกฤตเขียนด้วยอักษรโรมันว่า “divasa” แปลว่ากลางวันซึ่งคงเหมือนกับ “ทิวา” และที่อยู่ของเทพเทวะในอีกหนึ่งความหมาย

“โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตแต่ไร้ชีวา”

คำ “ชีวา” ภาษาอังกฤษว่า “life” หากอินโดฯเรียก “jiwa” หรือ “jiva” แปลว่าตัวตนระดับลึกหรือจิตวิญญาณ ออกเสียงว่า “จีวา” ถ้าเพียงหมายถึงชีวิตจะใช้คำว่า “hidup ฮีดุพ” ในภาษาสันสกฤตเขียน “jiva” ก็แปลเหมือนกันว่าชีวิต การมีชีวิต การปรากฏตัวและรวมไปถึงความหมายของคำว่า “soul”

“นรกและสวรรค์คงอาจไม่รู้จัก”

ถึงจะเป็นมุสลิมแต่ก็เป็นมุสลิมแบบอินโดนีเซียที่หลอมรวมเข้ากับความเชื่อดั้งเดิมมายาวนาน จึงเชื่อในชีวิตหลังความตายเชื่อในนรกและสวรรค์ คำว่า “นรก” เขาใช้ว่า “naraka นาระกะ” หรือ “นาระก้า” สันสกฤตเขียนในแบบเดียวกัน “naraka” คำว่า “สวรรค์” เรียกว่า “surga ซัวร์กะ” หรือ “ซัวร์ก้า” และภาษาสันสกฤตเขียนว่า “swarga” หรือ “svarga” ดินแดนแห่งสรวงสวรรคาลัย

“ยักษ์ มนุษย์และเทวดาก็เหินห่าง”

ภาษาอินโดฯซึ่งซึมซับวัฒนธรรมฮินดูอย่างถึงแก่นแกนพูดถึงยักษ์ในคำว่า “raksasa รักซาซ่า” ตรงกับภาษาสันสกฤต “rakshasa” หรือ “raksa” แปลว่าการปกป้องคุ้มครองและอสูร ตำนานของพวกฮินดูเล่าการกำเนิดพวกยักษ์จากการตะโกนร้องขอความช่วยเหลือของพระพรหมว่า “rakshama” แปลว่าปกป้องฉันด้วย” อาจตรงกับภาษาไทยว่า “รักษา”

“มนุษย์” สัตว์ประเสริฐ ชาวอินโดฯก็มีคำคล้ายว่า “manusia” อ่านมานุเซียต่างจากคำที่ใช้เรียก “คน” ว่า “orang ออรัง” ซึ่งภาษาสันสกฤตในร่างโรมันเขียนเช่นกันว่า “manus” อาศัยอยู่บนโลกที่เรียกว่า “dunia ดูเนีย” กับอีกคำว่า “loka โลกา” ส่วน “เทวดา” เขาใช้คำว่า “dewa เดวา” เหมือนในภาษาสันสกฤต “diva”

“มุ่งสร้างสมเพียงความสำเร็จและชัยชนะในทางโลก”

ชัยชนะในภาษาไทยเขียนได้หลายลักษณะทั้งเต็มรูปและลดรูป เทียบกับคำอินโดฯว่า “jaya” อ่านจาย่า เช่นอาณาจักร “sriwijaya ศรีวิจาย่า” หรือศรีวิชัยอันยิ่งใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาเลมบังบนเกาะสุมาตรา ตีกินเขตแดนข้ามช่องแคบมะละกาขึ้นคาบสมุทรมาลายาจนถึงเมืองไชยาภาคใต้บ้านเรา ในภาษาสันสกฤตเขียนโรมันก็แบบเดียวกัน “jaya” แปลว่าชัยชนะ พระอาทิตย์ ภรรยาและผู้หญิง ส่วนภาษาอังกฤษคงเข้าได้กับคำว่า “glorious”

“หากขาดความสุขทางจิตใจและคงไร้ซึ่งจินตนาการ”

จิตใจคงใช้ได้กับ “หทัย” หรือ “หฤทัย” เรียกขานในคำของเขาว่า “hati ฮาติ” หัวใจดวงน้อยๆให้ความหมายเชิงนามธรรมมากกว่ารูปธรรม และเขียนในคำสันสกฤต “hrdaya” ฝรั่งเอาไปใช้เป็นคำเดียว “heart” จึงขาดสุนทรียทางภาษาพอสมควร

อีกคำ “จินต” หรือเรียกมโนก็ตามที เรานำมาใช้ในเชิงความคิดมากกว่าอย่างอื่น ทางอินโดฯแปลความคำ “cinta จินตา” ได้ลึกซึ้งว่าความรัก “agu cinta pada kamu....ฉันรักเธอเสมอ” ซึ่งต้นทางเขาเขียนเหมือนกันแต่แปลออกได้ทั้งความคิด ความกังวลและการดูแลเอาใจใส่

สังเกตว่าคำของเขายังรักษาได้เกือบเหมือนภาษาต้นฉบับ ในขณะที่เข้ามาผสมผสานในวัฒนธรรมภาษาไทยก็กลายพันธุ์ปรับรูปเปลี่ยนเสียงและความหมายไปบ้าง เช่น “bh” เปลี่ยนจากเสียง “บฮ” มาเป็น “ภ” หรือ “j”จากเสียง “จ” เป็น “ช” หรือ “d” จากเสียง “ด” เป็น “ท” และ “r” จากเสียง “ร” เป็นเสียง “ย”


จันทบุรี 28 กรกฎาคม 2557 (แก้ไข 29 มิถุนายน 2560)

หมายเลขบันทึก: 574643เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2014 07:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2017 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ว้าวๆๆๆ..สุดยอด...ชอบมัก..ค่า...วิธีการเขียน..แล.ร้.อยคำ...(ภาษามวยวัด....)มีดอกไม้มาฝาก..มีรักมามอบให้...อ้ะะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท