“ในเวลาที่เหลือน้อย...จะช่วยคุณตาอย่างไรดี”


               เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาฉันถูกปรึกษาทางโทรศัพท์จากหัวหน้าหอผู้ป่วยพิเศษและอาจารย์เภสัชในเรื่องผู้ป่วยคนเดียวกันในประเด็น   “ในเวลาที่เหลือน้อย...จะช่วยคุณตาอย่างไรดี”    โดยอาจารย์เภสัชส่งนักศึกษาเภสัชปีที่ 6 มา 2 คน  เพื่อมาปรึกษาส่วนหัวหน้าหอผู้ป่วยส่งญาติมาปรึกษา  ฉันให้นักศึกษาเภสัชลงไปเยี่ยมผู้ป่วยและครอบครัว  เพื่อประเมินสภาพทั่วไปและหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยและครอบครัว  โดยแนะนำการหาข้อมูลให้ครบ 4  มิติ  คือ กาย  จิต  สังคม  และจิตวิญญาณ   แนะนำการทำแผนผังครอบครัวฉันให้ข้อคิดกับนักศึกษาเภสัชว่า  “การที่ช่วยคนๆหนึ่งได้ต้องรู้จักเขาทั้งคน  นอกจากความเจ็บป่วยยังต้องรู้ถึงสังคมวัฒนธรรม  รู้ใจและเป้าหมายชีวิต  ถึงจะให้ใจได้  แล้วนำข้อมูลมาเพื่อพูดคุยกันและมาวางแผนร่วมกันในการไปเยี่ยมครั้งต่อไป  โดยให้นักศึกษาเภสัชไปเรียนรู้ด้วยกันกับฉัน”

              จากข้อมูลที่ได้จากญาติและนักศึกษาเภสัชมีดังนี้  ผู้ป่วยชายไทย อายุ  89  ปี  ศาสนาพุทธ  อาชีพ  ข้าราชการบำนาญ ( ศึกษานิเทศน์)  ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย  ที่มีการลุกลามไปกระดูก  และกล่องเสียง  นอกจากนี้มีไตวายเรื้อรังมา 7 ปี  ต้องล้างไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง  มีความดันโลหิตสูง  มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง  มีโรคเบาหวาน  ที่สำคัญผู้ป่วยไม่ทราบว่าเป็นมะเร็งทราบเพียงแต่เป็นก้อนที่ปอด  ผู้ป่วยมีบุตรสาว 5 คน บุตรสาวที่อยู่อเมริกา 1 คน

              วันนี้ฉันนัดกับนักศึกษาเภสัชเวลา 16 .00 น. ไปเยี่ยมคุณตาที่หอผู้ป่วยพิเศษ  ภาพที่เห็นตรงหน้า  คือ  คุณตานั่งอยู่บนเตียงรู้สึกตัวดีแต่ดวงตาดูเหม่อลอย  และดูไม่สดใสเท่าใดนัก  อ่อนเพลีย  หายใจเหนื่อย  ใส่สายออกซิเจน 3 ลิตรต่อนาที 

              หลังจากการเยี่ยมครั้งนี้ฉันสังเกตเห็น  รอยยิ้มบนใบหน้าคุณตา  แววตาสดใส  พูดในสิ่งที่ที่เป็นความภูมิใจ  เพื่อถอดบทเรียนฉันจึงให้น้องนักศึกษาเภสัช  สะท้อนความรู้สึกจากการไปเยี่ยมคุณตา

                                            ความรู้สึกจากการไปเยี่ยมคุณตา ( 30กรกฎาคม2557)

               วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณตาที่หอผู้ป่วยพิเศษเป็นครั้งที่ 3  หลังจากที่คุณตาเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล  เนื่องด้วยอาการ  delirium  จากภาวะโรคของคุณตาเองและ/หรือจากยาที่คุณตาได้รับ  เดิมนั้นคุณตาเป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นประจำทุกวันอังคารและวันศุกร์  แต่เมื่อไม่นานมานี้  คุณตาได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด  และในขณะนี้โรคลุกลามไปกระดูก  และกล่องเสียงแล้ว  ทำให้คุณตามีอาการปวดกระดูกเป็นอย่างมาก  และมีน้ำเสียงที่แหบแห้ง  โดยในขณะนี้คุณตายังไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย  เนื่องจากลูกสาวของคุณตาไม่ต้องการให้คุณตาทราบเพราะกลัวว่าคุณตาจะเสียใจและเครียดกับโรคที่เป็น

              วันนี้เมื่อดิฉันเข้าไปในห้องที่คุณตาพักรักษาตัวอยู่  ภาพที่เห็นตรงหน้า  คือ  คุณตานั่งอยู่บนเตียงดูสดใสกว่าวันที่มาฟอกเลือดครั้งล่าสุดเล็กน้อย  แต่ดวงตาของคุณตายังคงดูเหม่อลอย  และดูไม่สดใสเท่าใดนัก  แต่ความรู้สึกที่ดิฉันมีณขณะนั้น  คือ  ดิฉันรู้สึกดีใจที่เห็นคุณตาลุกขึ้นนั่งไม่ได้นอนอยู่บนเตียงเพียงอย่างเดียว  เหมือนเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าคุณตายังคงสู้ไหว  ซึ่งในวันนี้ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณตากับพี่ฟ่ง  เมื่อพวกเราไปเยี่ยมคุณตานั้น   พี่ฟ่งพูดคุยเรื่องราวต่างๆกับคุณตา  พูดคุยในสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของคุณตา  นั่นคือหน้าที่การงานและผลงานที่คุณตาเคยทำมาในอดีตล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจทั้งสิ้น  จึงทำให้ในระหว่างการพูดคุยนั้นคุณตามักมีรอยยิ้มเปื้อนบนใบหน้าเสมอ  แววตาของคุณตาดูสดใสขึ้น  และคุณตาอยากเล่าเรื่องราวต่างๆ  ให้พวกเราฟังเพราะคุณตามีจิตวิญญาณของความเป็นครูสูง  คุณตาก็จะพยายามที่จะพูดที่จะอธิบายให้พวกเราเข้าใจ  ความจำของคุณตาดีเยี่ยม  เมื่อพี่ฟ่งและลูกสาวของคุณตาถามถึงเรื่องราวในอดีต  คุณตาสามารถพยักหน้าหรือตอบว่าไม่ใช่อย่างชัดเจน  ดิฉันรู้สึกดีใจมากที่เห็นรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าของคุณตา  ในระหว่างที่พูดคุยกัน  และดีใจมากที่คุณตาจำดิฉันและเพื่อนได้ว่า  เป็นนักศึกษาฝึกงานที่คอยดูแลคุณตาเมื่อมาฟอกเลือดที่หน่วยไตเทียม

               มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ดิฉัน  รู้สึกประทับใจและตื้นตันใจปะปนกันจากการพูดคุยกับคุณตาในวันนี้  นั่นก็คือ 

 ลูกสาวของคุณตาเล่าให้ฟังว่า  "คุณตาเป็นคนมีวินัยเป็นอย่างมาก  คุณตาปฏิบัติตามที่คุณหมอบอกอย่างเคร่งครัด  คุณตามีวินัยในการดูแลตนเอง  มีวินัยในการรับประทานยา  คุณตาจำชื่อยาที่คุณตารับประทานอยู่ได้ทุกชนิด  และคุณตามีความกระตือรือร้นเสมอเมื่อจะมาฟอกเลือดเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความไม่ย่อท้อต่อปัญหาหรือโรคที่เกิดขึ้นกับตนเอง  แต่คุณตาพยายามที่จะอยู่กับโรคให้ได้" 

 ซึ่งในระหว่างการพูดคุยกันนั้นมีประโยคหนึ่งที่พี่ฟ่งถามคุณตาว่า  “คุณตารู้สึกท้อหรือรู้สึกเบื่อมั้ยกับโรคที่เป็นอยู่” 

 คุณตาได้ตอบมาว่า  “บางครั้งก็เบื่อ”    

พี่ฟ่งจึงได้ถามต่อว่า  “เวลาที่คุณตารู้สึกเบื่อ  คุณตาทำอย่างไร” 

คำตอบที่ได้รับจากคุณตาเป็นคำตอบสั้นๆ  ที่ทำให้ฉันรู้สึกดีและประทับใจอย่างมากนั่นก็คือ  “สมาธิ"  คุณตาใช้วิธีการทำสมาธิ  เมื่อคุณตารู้สึกเบื่อกับภาวะโรคหรือความเจ็บป่วยที่คุณตาเป็น  โดยการสวดมนต์ด้วยบทสวดที่คุณตาสวดเป็นประจำ 

คุณตาบอกว่า  "บางครั้งนอนสวดมนต์  ทำสมาธิไปก็หลับไปเอง  โดยไม่รู้ตัวและหายจากความเบื่อหน่าย" 

นั้นแค่เพียงเล็กๆสิ่งนี้ที่คุณตาแสดงให้พวกเราเห็นเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าคุณตามีจิตใจอยู่ในระดับสูงใช้ธรรมมะข่มความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง  แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่คุณตาทำให้ดิฉันรู้สึกยกย่องในความคิดของคุณตา  และต้องกลั้นน้ำตาเอาไว้ในขณะที่คุณตากำลังพูดนั่นก็คือ   พี่ฟ่งถามคุณตาว่า  “คุณตาน้อยใจบ้างมั้ยที่ลูกบางคนไม่ได้มาเยี่ยม”  

คำตอบจากปากของคุณตาคือ  “ไม่น้อยใจ...เข้าใจ”  คุณตาพูดต่อว่า   “เข้าใจว่าช่วงชีวิตของคนเราไม่เหมือนกันสถานการณ์ไม่เหมือนกันต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์เราเข้าใจเขาว่าเหตุการณ์และเวลาเป็นตัวบีบให้เขาต้องทำแบบนี้เพราะฉะนั้นจึงไม่น้อยใจและไม่เสียใจ” 

               คำพูดที่ออกมาจากปากของคุณตาทำให้ดิฉันตื้นตันใจเป็นอย่างมาก  และแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่   คุณตาเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี   มองโลกได้อย่างเข้าใจ  และไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นอยู่เป็นบุคคลที่น่ายกย่องมากคนหนึ่ง  ทั้งเรื่องหน้าที่การงานและผลงานที่คุณตาได้ทำมา  แต่เหนือสิ่งอื่นใด  คือ  ความคิดของคุณตาที่คิดได้อย่างลึกซึ้งและน่ายกย่อง  คุณตามีหัวใจของความเป็น  “ครู”  ที่แท้จริงและคุณตาเป็นผู้ป่วยที่ดิฉันมีโอกาสดูแลที่จะอยู่ในความทรงจำของดิฉันและเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้แก่ดิฉันต่อไป....

                                                                                                                           บันทึกโดยนศภ......

                                                                                                                               Pharm Dปี 6

หมายเลขบันทึก: 574296เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบันทึกที่ได้มองเห็นชีวิตที่มีค่าของคนๆ หนึ่ง...บันทึกที่ทำให้หันมามองตนเอง...ขอบคุณครับ

เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งการสอนนักศึกษาและการช่วยเหลือผู้ป่วยไปพร้อมๆกัน

คุณตาเพิ่งเสียชีวิต  11-08-57  เวลา  17.20 น. อย่างสงบ ไม่มีอาการทุรนทุราย 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท