​ทำไมเป็นมะเร็ง ไปบริจาคร่างกายแล้วเขาไม่รับ ?


คงไม่แปลก ถ้าคนไข้ตั้งคำถามนี้กับคุณหมอที่รักษามะเร็ง เพราะมันก็น่าสงสัยอยู่

แต่ถ้าคนไข้คุยเรื่องนี้ซ้ำๆ ถึงสี่ครั้ง ทั้งๆ ที่เราเจอกันแค่สามหนในช่วงสองอาทิตย์ ต้องมีอะไรแน่ๆ

ต้นเดือนนี้ ผมเจอคุณหงส์ หญิงม่ายวัย ๔๔ ปี มาพบผมด้วยเรื่องมะเร็งลุกลามไปสมอง แต่โดยสภาพทั่วไปแล้ว ต้องถือว่ามีอาการไม่มากนัก ยังเดินคล่องแคล่ว ช่วยเหลือตัวเองและทำงานได้

.. .. ..

ในวันแรกที่เราพบกัน ระหว่างที่คุยกันอยู่ คุณหงส์ก็ถามคำถามข้างบนนี้กับผม “หมอ ทำไมเป็นมะเร็ง ไปบริจาคร่างกายแล้วเขาไม่รับ ?”

ผมตอบว่า “การที่เราเป็นมะเร็ง ก็กล้วกันว่า ผู้รับบริจาคอวัยวะของเราไป อาจจะได้เซลล์มะเร็งไปด้วย ก็เลยตัดปัญหา งดรับบริจาคจากคนไข้กลุ่มนี้

คุณหงส์ยังไม่ยอมแพ้ ส่งภาษาสำเนียงไทยปนจีนให้ผมต่อ “แล้วคนไข้ที่เป็นมะเร็งอยู่แล้วล่ะ เกิดต้องการอวัยวะ เอาของเราไปได้มั้ย ตรงนี้ ตรงนี้ เราให้ได้หมดเลยนะ”  พูดพลางเอามือแตะตัวเองตามจุดต่างๆ แล้วก็หัวเราะ

ผมอึ้งไป คิดไม่ถึงว่าจะเจอคำถามนี้ ได้แต่ตอบอ้อมแอ้ม “เขาก็ยังกลัวมั้ง ลองคิดดูสิ ถ้าเราเป็นมะเร็ง รักษาหายดีแล้ว ถ้าต้องรับบริจาคอวัยวะ เราอยากได้ของคนที่เป็นมะเร็งอยู่มั้ย”

คุณหงส์หัวเราะใหญ่  วันแรกเราคุยกันได้แค่นั้น 

.. .. ..

ถัดจากวันแรกสามวัน ผมนัดคุณหงส์มาพบกันอีกครั้งระหว่างฉายรังสี คราวนี้ผมมีเวลามากขึ้น

คุณหงส์ก็ยังติดใจเรื่องเดิม “จริงๆน้า มีมั้ยคนไข้ที่เป็นมะเร็ง แล้วต้องการอวัยวะพวกนี้ เราอยากจะให้ ให้หมดเลย”

คราวนี้ผมตั้งตัวได้ ตอบกลับไปว่า “ใจบุญจัง แต่เห็นพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว หมออยากรู้ว่าทำไมถึงคิดอยากบริจาคร่ายกาย”

“อยากช่วยคนอื่นนะ ได้ทำบุญ เราตัวคนเดียว ไม่มีลูก ไม่มีใครแล้ว พี่ๆน้องๆก็สบายแล้ว ไม่ต้องห่วงใครอีก” คุณหงส์ตอบมาเต็มปากเต็มคำ

ผมถามว่า “บอกหมอได้มั้ย มีความเชื่ออะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่า” 

“บริจาคร่างกาย ตายแล้วน่าจะช่วยให้เราได้ไปที่ดีๆ ไปสวรรค์” คุณหงส์พูดตรงๆ

หลังจากนั้นเราก็คุยกันค่อนข้างยาวเกี่ยวกับประสบการณ์และความเชื่อของคุณหงส์ จากประวัติในอดีต คุณหงส์มีหลายอาชีพ ย้ายที่ทำงานหลายจังหวัด ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าไร มีเรื่องร้ายๆ ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวหลายคน จนกระทั่งมาเสียพ่อ ครั้งนั้นคุณหงส์จึงไปบวชชีที่วัดเป็นเวลาถึงสามเดือน และนั่นคือจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้คุณหงส์หันมาสนใจในเรื่องศาสนา คุณหงส์ยังเล่าให้ผมฟังถึงหนังสือ ซีดี เทปธรรมะดีๆ ที่ได้มา

“แต่เป็นภาษาจีนนะ เราอยากแปล เราอยากให้คนอื่นได้รู้เรื่องดีๆ แบบนี้” คุณหงส์ตบท้ายเรื่องนี้

ผมเห็นช่อง ได้จังหวะถามคำถามสำคัญ “รู้สึกยังไงบ้าง คิดจะบริจาคร่ายกาย แต่ทำไม่ได้ มันทำให้เรารู้สึกผิดหรือเปล่า”

คุณหงส์ตอบว่า “ก็ไม่นะ แต่ถ้าทำได้ ก็ดี จะได้ช่วยคนที่ต้องการ”

ผมถามว่า “ใช้วิธีทำบุญอย่างอื่นแทนได้มั้ย”

“ก็อาจจะทำเทป ทำแผ่นๆ เรื่องธรรมะดีๆ แจกคน..”

ผมรู้สึกโล่งใจขึ้น อย่างน้อยคุณหงส์ก็ยังพอมีทางออกของตัวเอง

.. .. ..

วันที่คุณหงส์ฉายรังสีครบ ก็มาพบผมปิดท้าย ด้วยสีหน้าท่าทางแทบไม่เหมือนคนไข้มะเร็งเลย เราคุยเรื่องการรักษา ติดตามผลเสร็จแล้ว ก็วกกลับมาคุยเรื่องบริจาคร่างกายกันอีก

“ถ้าเราทำบุญด้วยการบริจาคร่างกายไม่ได้ ก็อาจจะทำด้วยวิธีอื่น หมอมีเรื่องอยากจะเสนอให้ลองคิดดู อย่าง..การมาเป็นอาสามัครช่วยเหลือคนไข้คนอื่น เพราะเห็นว่าเป็นคนมองโลกในแง่ดี เจอเรื่องร้ายๆ แบบนี้ ก็ยังยิ้มได้ หัวเราะเสียงดังได้ น่าจะช่วยคนอื่นได้เยอะ ได้ทำบุญโดยที่ยังไม่ต้องตายก่อนด้วยซ้ำ ได้ทำกับคนไข้โดยตรงด้วย”  ผมเสนอ

คุณหงส์สนใจ ผมจึงตามพี่ฟ่ง..กานดาวศรี มาร่วมสนทนาด้วยในห้องตรวจ


ผมถาม “บอกหมอได้มั้ย ว่าอะไรที่ทำให้เรารับมือกับเรื่องร้ายๆพวกนี้ได้ ยังยิ้มได้ ดูไม่เหมือนคนไข้มะเร็งเลย”

คุณหงส์ตอบผมว่า “ธรรมะ ธรรมสอนให้เรารู้ว่าชีวิตก็เป็นแบบนี้ …” 

หมายเลขบันทึก: 574274เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ความเชื่อเกี่ยวกับการบริจาคร่างกายของชาวอิสาน

ตอนที่จัด KM กับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายไต

พยาบาลเล่าว่า มีผู้ป่วยที่รับไตคนอื่นมา มีความผูกพันกับเจ้าของไต มีหลายครั้งฝันเห็นคนที่บริจาคไตให้ จะมาทวงเอาไตคืน รู้สึกหวาดกลัวมาก  บางครั้งเหมือนกับเขามาเตือนว่าหากไม่ดูแลตัวเอง เราจะรักษาไตไว้ไม่ได้

เราควรช่วยเหลือผู้ป่วยแบบนี้อย่างไรครับ 

พี่จะไปถามคุณพยาบาลที่เขาดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายไตมาเขียนนะคะ

อ่านแล้วได้แนวคิดดีๆครับ

คุณหมอก็หายไปนานมากๆๆ

หลังจากผมหายไปหลายปี นานๆจะกลับเข้ามาเปิดสักที และได้มาติดตามบันทึกของอาจารย์เติมอีกครั้ง และเข้าใจเรื่องของมะเร็งมากขึ้นเมื่อพ่อผมเป็นมะเร็งซะเอง ฮ่าๆๆ แต่ตอนนี้รักษาครบแล้ว กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม หลายๆครั้งผมก็อดสงสารคนไข้มะเร็งที่มีฐานะยากจนในต่างจังหวัดที่เข้ามารับการรักษามะเร็งตาม รพ.มะเร็ง รพ.มหาลัย และ รพ.ศูนย์ต่างๆ เนื่องจากต้องใช้เวลานานแล้วก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งทั้งตัวคนไข้และญาติจำเป็นต้องได้รับการดูและอย่างรอบด้าน ซึ่งมันเกินศักยภาพและอำนาจหน้าที่ของ รพ.ที่จะดูแลได้ในเรื่องอื่นๆที่จำเป็นเป็นประเด็นที่น่าคิดเหมือนกันครับว่าเราต้องทำอย่างไร ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่เฉพาะมะเร็งเท่านั้นรวมถึงโรคอื่นๆที่ต้องใช้ระเยะเวลาในการรักษานานก็คงเจอปัญหาเช่นเดียวกัน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท