เราจะประเมินจิตวิญญาณคนไข้..อย่างไรดี?


เราจะประเมินจิตวิญญาณคนไข้..อย่างไรดี?

ดิฉันทำงานดูแลผู้ป่วยมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปัจจุบัน

ผู้ป่วยมะเร็งที่มารักษาที่ หอผู้ป่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลศรีนครินทร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีทั้งผู้ป่วยที่มารักษาต่อเนื่อง และเป็นผู้ป่วยใหม่ มีประมาณ 2,500 คนต่อปี พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่มารับยาเคมีบำบัด

  • สามารถรับยาเคมีบำบัดได้ตามแผนการรักษา ประมาณร้อยละ 80
  • ร้อยละ 5 มีภาวะแทรกซ้อนก่อนรับยาเคมีบำบัด เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้ออื่นๆ และมีภาวะซีดต้องให้เลือดก่อนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด 
  • ร้อยละ 10 ไม่สามารถได้รับยาเคมีบำบัดได้ ต้องรักษาแบบประคับประคอง
  • ร้อยละ 5 เข้าสู่ end of life 

ที่หอผู้ป่วยของเรามีพยาบาลทั้งหมด 16 คน  เป็นพยาบาลที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย พยาบาลเชี่ยวชาญ คือ ดิฉันเอง และพยาบาลชำนาญการ 5 คน  นอกนั้นยังมีประสบการณ์ในการทำงานยังไม่มาก

ดิฉันในฐานะพี่ใหญ่ จะต้องคอยดูแลที่มีปัญหาซับซ้อน ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาด้านจิตใจ เช่น มีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ กลัวโรคจะเป็นกลับซ้ำ กลัวการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดไม่หาย กลัวตาย  มีปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ ปัญหาภาพลักษณ์ ปัญหาเพศสัมพันธ์  มีภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยที่คิดอยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น 

สำหรับกลุ่มที่เข้าสู่ระยะสุดท้ายที่แพทย์ได้คุยกับผู้ป่วยและญาติแล้วว่า โรคไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด จะให้การรักษาเพื่อประคับประคอง เราต้องเข้าไปดูแลให้ผู้ป่วยเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  ดูแลให้ได้รับความสุขสบาย ไม่มีความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด ต้องเหมั่นข้าไปดูแลทุกวัน และเตรียมความพร้อมทางด้านจิตวิญญาณ 

ซึ่งจะขอสรุปจากประสบการณ์ของตัวเองและจากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพยาบาลที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้ดังนี้

  • จากการสังเกต ขณะที่เราเข้าไปดูแลผู้ป่วยเราสามารถสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบเตียงว่ามีอะไรบ้างเช่น มีพระพุทธรูปองค์เล็กวางที่หัวเตียง มีพระห้อยที่คอองค์เดียว มีพระห้อยคอหลายองค์ มีพวงมาลัยแขวนที่หัวเตียง บางคนวางเงินไว้ที่หัวเตียงเพื่อซื้อเตียง จะได้ไม่ฝันร้าย ผู้ป่วยบางคนเล่าว่า เป็นการหยุดฝันร้ายด้วยการซื้อเตียง เราต้องเป็นคนช่างสังเกตสิงต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและสิ่งที่เคารพบูชา นอกจากนี้ต้องสังเกตสัญลักษณ์ต่างๆที่ผู้ป่วยทำ เช่น ทาเล็บสีแดงจากความเชื่อเรื่องผีแม่หม้าย ถ้าทาเล็บสีแดง จะสามารถป้องกันภยันตรายจากผีแม่หม้ายได้ เป็นต้น
  • การสัมภาษณ์ โดยพูดคุยสร้างสัมพันธภาพ แล้วใช้คำถามง่ายๆ  เริ่มจากสิ่งที่เราสังเกตเห็น แล้วสอบถามอาการว่าเป็นอย่างไร นอนหลับดีไหม ทานอาหารได้ดีไหม เจ็บปวดตรงไหน เราสามารถแตะบริเวณที่ผู้ป่วยบอกว่าเจ็บหรือปวดเบาๆ ขณะนั่งพูดคุยกับผู้ป่วยเราสามารถจับมือ จับแขนผู้ป่วยได้ถ้าเป็นผู้ป่วยหญิง สำหรับผู้ป่วยชาย เราแค่แตะแขนหรือจับมือเบาๆแล้วปล่อยมืออกจะเหมาะสมกว่า จากนั้นพูดคุยเรื่องครอบครัว บุตร สามีหรือภรรยา ญาติ พี่น้อง อดีตที่เคยภาคภูมิใจ สังคมและความเป็นอยู่ ความเชื่อในเรื่องต่างๆ เช่น การทำพิธีกรรมต่างๆที่ผ่านมา การสเดาะเคราะห์ บทบาทหน้าที่สัมพันธภาพในครอบครัว ระยะทางจากบ้านมาถึงโรงพยาบาล เดินทางอย่างไร ความต้องการและความคาดหวังเกี่ยวกับการจัดการเมื่อเจ็บป่วย แล้วค่อยค้นหาโดยใช้แนวคำถามด้านจิตวิญญาณ เพื่อเจาะลึกค้นหาสิ่งที่ค้างคาใจ สิ่งที่ต้องการให้อภัย  ค้นหาสิ่งยึดเหนี่ยว ศาสนา ปรับตามบริบท สร้างความเชื่อใจ ความศรัทธา ให้คุณค่าความเป็นคน
  • จากการใช้แบบประเมินการใช้แบบประเมินด้านจิตวิญญาณ อาจใช้แนวคำถามเชิงคุณภาพ เช่น FICA model หรือและแนวคำถามตามกรอบแนวคิดของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และ แบบประเมินความต้องการด้านจิตวิญญาณ(spiritual need) ซึ่งทีมงานของเราได้พัฒนาจากการจัดกระบวนการ KM  ก็เป็นกรอบคำถามให้เราสามารถประเมินได้ตรงประเด็น

 จากการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขอนำมีคำกล่าวของผู้ให้ข้อมูลมาเป็นตัวอย่างบางส่วน

“การประเมินภาวะจิตวิญญาณจะจู่โจมไม่ได้ แต่ก็มีเทคนิควิธีที่เข้าถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเร็ว คือ การทักทาย สัมผัส มองตา จับมือ จับเท้า รวมทั้งนวดเบาๆอย่างอ่อนโยนในตำแหน่งที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่สุขสบาย และนำญาติมาร่วมดูแลด้วยเสมอ”

“การใช้เครื่องมือในการประเมิน เพื่อหาความต้องการด้านจิตวิญญาณก่อน เปรียบเสมือน“เกาให้ถูกที่”เพื่อช่วย“ปลดล๊อก”สิ่งค้างคาใจ เพื่อตอบสนองและช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวได้ตรงความต้องการ”

ประสบการณ์ในการประเมินผู้ป่วย ผู้ป่วยเล่าว่า...............

“เวลาปวด รู้สึกทุกข์ทรมานเหมือนกำลังจะตายจิตวิญญาณจะออกจากร่าง ทำให้รู้ตัวว่าจะอยู่อีกไม่นาน รู้เองว่าวาระสุดท้ายกำลังจะมาถึง ไม่ต้องให้ใครมาบอกว่าเรากำลังจะไป ตอนนี้ไม่กลัวตาย แต่อยากเห็นหน้าลูกอายุ 11 เดือนที่อยู่กับป้า และอยากเห็นหน้าแม่ อยากขอโทษแม่ที่ไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดู"

“การตายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ทรมาน คิดว่าการตายจากโลกนี้ไปดีที่สุดแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่ทรมานด้วย สิ่งที่พยาบาลทำให้ได้ คือ การดูแลเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานให้บรรเทาเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

“ ถ้าลุงมีอาการแย่ลง ไม่ต้องทำอะไร ขอให้ส่งลุงให้ถึงบ้านก็พอ”

“การสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ และพิธีทางไสยศาสตร์ทำมาหมดแล้ว ยกเว้นการขอขมา เพราะพิธีขอขมาจะทำตอนที่คิดว่าจะต้องจากไปจริงๆ”

บทเรียนรู้ที่สำคัญ

  • การประเมินด้านจิตวิญญาณ จะต้องไม่ทำในคราวเดียวกัน ควรหมั่นเข้าไปดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบาย และพูดคุยสร้างสัมพันธภาพก่อนเสมอ
  • การสัมผัสเบาๆที่มือหรือแขนของผู้ป่วยหรือบริเวณที่ผู้ป่วยเจ็บปวด จะทำให้สร้างสัมพันธภาพได้ง่าย ทำให้การประเมินภาวะด้านจิตวิญญาณผู้ป่วยและญาติได้ดีและเร็วขึ้น 
  • ระหว่างพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ ผู้ป่วยอาจน้ำตาไหลด้วยความตื้นตันใจในสิ่งที่เล่าออกมา เราควรปล่อยให้ผู้ป่วยเล่าต่อ และให้เวลาโดยนั่งฟังอย่างตั้งใจ เราเพียงยื่นกระดาษทิชชูให้ผู้ป่วยไว้ซับน้ำตา และพยักหน้ารับรู้อย่างเข้าใจ
  • การดูแลในมิติจิตวิญญาณควรให้ญาติอยู่ด้วยเสมอ  เราต้องประเมินให้ได้ว่าญาติคนไหนที่ผู้ป่วยไว้วางใจ คนไหนที่ผู้ป่วยต้องการพบ ถ้าญาติคนนั้นไม่สามารถมาทันในช่วงที่ผู้ป่วยกำลังจะจากไป เราสามารถแนะนำให้ญาติที่อยู่กับผู้ป่วยต่อสายโทรศัพท์แล้วให้พูดกันผ่านโทรศัพท์ได้ 
  • การจัดสิ่งแวดล้อมให้ญาติอยู่กับผู้ป่วยในวาระสุดท้ายที่กำลังจะมาถึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยกั้นม่านให้เป็นสัดส่วนและแนะนำญาติให้พูดกับผู้ป่วยเบาๆในเรื่องที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยห่วงกังวล หรือสวดมนต์เบาหรือนั่งสมาธิแผ่บุญกุศล สามารถเปิดช่องไว้เล็กน้อยเพื่อให้บุคลากรเข้าไปสังเกตอาการได้เป็นระยะ
  • การพูดถึงเรื่องความตายกับผู้ป่วยโดยตรงไม่ยากเหมือนที่เราคาดคิด ถ้าเราได้เตรียมความพร้อมและดูแลผู้ป่วยมาก่อน ผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองดีแล้ว และได้เตรียมทุกอย่างให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี ไม่มีอะไรต้องห่วงกังวล  ส่วนใหญ่บอกเราว่า ไม่กลัวตาย กลัวแต่ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานเท่านั้น
  • ผู้ที่จะประเมินด้านจิตวิญญาณ ควรมีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาก่อน คุณสมบัติพยาบาลที่สามารถประเมินมิติจิตวิญญาณในผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะต้องมีสัมพันธภาพที่ดี ให้เวลากับผู้ป่วย เป็นผู้ฟังที่ดี ไวต่อความรู้สึก สร้างความไว้วางใจได้ เป็นคนสม่ำเสมอ เป็นที่พึ่งได้ มีจิตใจที่อยากช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา เข้าใจความรู้สึก สามารถประเมินความต้องการและสิ่งค้างคาใจผู้ป่วยและญาติ ให้โอกาสผู้ป่วยเสมอ  สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ทุกเวลาทั้งรับปรึกษาทางโทรศัพท์ ดังนั้นพยาบาลจะต้องรู้จักผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างดี มีความรู้เรื่องโรคและการรักษา เข้าใจธรรมชาติโรค เข้าใจธรรมชาติของคน มีการเตรียมความพร้อมโดยให้ข้อมูลเรื่องโรค การดูแลตนเอง ตั้งแต่เริ่มรักษาจนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อโรคกระจาย จะทำให้การดูแลและเข้าถึงผู้ป่วยยากขึ้น 
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นพระสงฆ์ พยาบาลจะต้องเข้าใจถึงความต้องการ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่รายละเอียดความต้องการอาจต่างกัน 
  • พยาบาลเองก็ต้องรู้จักพัฒนาตนเอง เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น เรียนรู้ที่จะเยียวยาตนเอง มีความผาสุกด้านจิตวิญญาณและสามารถทำงานเป็นทีม จึงจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวได้

แก้ว บันทึก

9 สิงหาคม 2557 เวลา 21.17น

หมายเลขบันทึก: 574178เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2014 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2014 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นงานที่น่าชื่นชมนะครับพี่แก้ว เกือบจะ 30 ปี....งานที่เหมือนมัจจุราชจะพรากชีวิต...แต่เราจะทำอย่างไงให้ผู้ป่วยและญาติปราศความกลัว และเดินทางไปอย่างสงบ อ่านบันทึกนี้แล้ว ช่วยได้เยอะ เพราะทุกคนต้องมี หรือต้องมีประสบการณ์นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

ทิมดาบคะ

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่มายาเคมีบำบัด ส่วนใหญ่แล้วเราก็เห็นความสำเร็จจากการได้ดูแลผู้ป่วยได้ถึงร้อยละ 70 บางคนมารับยาเคมีบำบัดหลายปี จนมีความผูกพันกับพยาบาล ได้ยาครบแล้ว มาตรวจที่ OPD แล้วยังมาเยียมเยือนเราด้วย  ทำให้เรายิ้มได้

เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง ผู้ป่วยมีความสุข สงบ ยอมรับวาระสุดท้ายที่กำลังจะมาถึง นั่นเป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้ป่วยของเราค่ะ

เป็นบันทึกที่สรุปรวบยอดเรื่องนี้ได้อย่างดีเลยครับพี่แก้ว ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ตรง อยู่หน้างานเท่านั้น ถึงจะกลั่นออกมาระดับนี้ได้ เป็นบันทึกที่มีคุณค่ามากครับ ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ครับ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์เต็มศักดิ์ที่ให้โอกาสทบทวนงานที่ทำมาหลายปี

เราเตรียมผู้ป่วยอย่างธรรมชาติ จนผู้ป่วย..พร้อมที่พูดถึงเรื่องความตายได้อย่างไม่มีความกลัว

และทกคนพร้อมที่กลับไปที่บ้าน เมื่อหมอพร้อมจะบอกว่า โรคเขารักษาไม่ได้แล้ว

ขออย่างเดียวไม่ต้องการทุกข์ทรมานเท่านั้นค่ะ

พี่แก้ว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท