รัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยม (Postmodern Public Administration)


รัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยม (Postmodern Public Administration)

นัทธี จิตสว่าง

บทนำ

รัฐประศาสนศาสตร์ก็เช่นเดียวกับสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดโพสต์โมเดิร์น (Postmodernism) หรือแนวคิดหลังสมัยนิยม ทำให้มีนักรัฐประศาสนศาสตร์ในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมาหันมาให้ความสนใจต่อการพัฒนาแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมกันจำนวนมาก โดยมีบทความ หนังสือ และงานวิจัยในด้านนี้ออกมาเป็นระยะๆ ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และในประเทศไทย แม้หลายเรื่องจะไม่ได้กล่าวถึงแนวคิดหลังสมัยนิยมโดยตรงก็ตาม เสน่ห์ของรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมน่าจะอยู่ที่การวิเคราะห์รัฐประศาสนศาสตร์ในสังคมที่กำลังอยู่ในสภาวะของการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และไม่สามารถคาดเดาได้ แม้รัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมจะไม่ได้เสนออะไรขึ้นมาใหม่อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็วิพากษ์ทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ในสภาพสังคมดั้งเดิมที่เรียกว่า สมัยนิยม (Modern) ได้ชัดเจนสอดคล้องกับสภาวะสังคม เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคสมัยนิยมไม่สามารถตอบโจทย์ของสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิเสธวิทยาศาสตร์และตรรกปฏิฐานนิยมที่ยอมรับนับถือกันมานานว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการเข้าหาความจริงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่นักรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคปัจจุบันไม่ควรละเลยที่จะศึกษารัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยม บทความเรื่องนี้ จึงมุ่งที่จะเสนอแนวคิดและพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยม เพื่อชี้ให้เห็นถึงมุมมองอีกด้านหนึ่งของรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งมักจะมีมุมมองที่แตกต่างและหลากหลายอยู่เสมอ


จากแนวคิด “ก่อนสมัยนิยม” มาสู่ “หลังสมัยนิยม”

การจะเข้าใจถึงการจะเข้าใจถึงแนวคิดหลังสมัยนิยมให้เป็นที่เข้าใจได้ถ่องแท้นั้นอาจเริ่มจากการจำแนกยุคต่างๆของโลกออกเป็น 3 ยุค คือ ก่อนสมัยนิยม สมัยนิยมและหลังสมัยนิยม ทั้งนี้แนวคิดแต่ละยุคจะเป็นไปตามสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคมของแต่ละยุค อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไป แนวคิดหลักที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคอาจไม่เหมาะสมกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เสื่อมสลายและเกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมาแทนที่

แนวคิดยุคก่อนสมัยนิยม (Pre - modernism)

แนวคิดยุคก่อนสมัยนิยม เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนศตวรรษที่ 18 เป็นยุคที่มนุษย์มีความเชื่ออย่างเบ็ดเสร็จในพระเจ้าและผู้ปกครอง มนุษย์ฝากชีวิตไว้กับอำนาจสูงสุดที่มีเทพเจ้าเป็นศูนย์กลางอำนาจดังกล่าว และอำนาจดังกล่าวถูกใช้โดยการตีความของผู้มีอำนาจ ยุคนี้จัดเป็นยุคเทวสิทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าผู้นำได้อำนาจมาจากเทพเจ้าหรือเป็นผู้มีบุญญาธิการและเป็นผู้ที่มิอาจมีผู้ใดโต้แย้งได้ เช่นเดียวกับศาสนาที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของมนุษย์ในยุคนี้ มนุษย์ไม่อาจที่จะคิดในสิ่งที่ท้าทายหรือโต้แย้งต่ออำนาจและหลักการของผู้นำหรือศาสนาได้ มนุษย์ไม่ได้รับอนุญาตให้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ หรือตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ถือกันว่าเป็นความจริงที่กำหนดโดยผู้ปกครองหรือผู้นำศาสนาที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพราะความจริงถือว่าเป็นสิ่งสมบูรณ์ (Absolutism) ผู้นำหรือผู้ปกครองจึงมีอำนาจมาก สามารถที่จะลงโทษและกำหนดความผิดได้ตามอำเภอใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดสิ่งที่ขัดแย้งแต่ต่อต้านผู้ปกครองหรือผู้นำศาสนาเป็นความผิด ในขณะที่การลงโทษก็เป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและปราศจากกฎเกณฑ์และการพิสูจน์ความจริงที่แน่ชัด ความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในยุคนี้จึงขึ้นอยู่กับผู้นำที่มีอำนาจปกครอง

แนวคิดยุคความทันสมัย (Modernism)

แนวคิดในยุคความทันสมัยก่อตัวขึ้นในศตวรรษที่ 18 ในยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) อันเป็นผลมาจากการประดิษฐ์คิดค้นและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มนุษย์มีความมั่นใจและกล้าคิดกล้าแสดงออกซึ่งเหตุผลโดยเชื่อว่าเมื่อมนุษย์สามารถค้นพบเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ในการอภิปรายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้แล้วเหตุใดจะใช้เหตุผลในการอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติของสังคมมนุษย์ไม่ได้ ยุคนี้เองจึงเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มนำหลักเหตุผลมาหักล้าง แนวคิดลัทธิเทวสิทธิ์ และ ไสยศาสตร์ โดยเกิดการเคลื่อนไหวของเหล่านักคิด นักเขียน และนักปรัชญาในยุโรปที่มุ่งปฏิรูปสังคมและการเมือง นักปรัชญาสังคมคนสำคัญของยุคนี้ เช่น Voltaire, Montesquieu, John Locke และ Thomas Hobbes ได้เสนอแนวคิดสำคัญๆเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์และหลักปรัชญาการเมือง โดยเฉพาะการเสนอหลักการแบ่งแยกอำนาจ และ สัญญาสังคม (Social contract)


ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการตื่นตัวและหลงใหลในแนวทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความจริง จนทำให้แนวทางวิทยาศาสตร์ ผูกขาดการเข้าถึงความจริงในเรื่องต่างๆ ซึ่งต้องใช้วิธีการพิสูจน์เชิงประจักษ์เท่านั้นที่จะพรรณนาในเรื่องต่างๆ และ ทำนายปรากฏการณ์ต่างๆของสังคมได้ การไม่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการอธิบายหรือเข้าถึงความจริงจึงเป็นวิธีการที่ไม่เป็นที่ยอมรับ


แนวคิดยุคหลังสมัยนิยม (Postmodernism)

แนวคิดหลังสมัยนิยมที่กำเนิดมาจากในฝรั่งเศสและเยอรมัน มีอิทธิพลต่อการศึกษาในสาขาวิทยาการต่างๆมากมาย โดยแนวคิดนี้ถือว่าโลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา สรรพสิ่งในโลกล้วนไม่แน่นอน ซึ่งรวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ยังเป็นโลกที่มีความหลากหลายและแยกส่วนของกลุ่มคนและชุมชนต่างๆ ตามความเชื่อและวัฒนธรรมซึ่งต่างมีอัตลักษณ์ของตนเองและมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่ควรที่จะใช้กฎหรือเกณฑ์ หรือ ทฤษฎีที่เป็นการรวมศูนย์ที่มีลักษณะใช้ได้ทั่วไปครอบคลุมและควบคุมทุกสิ่งจากส่วนกลาง เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมทำให้โครงสร้างของอำนาจจากส่วนกลางเปลี่ยนแปลงได้ตลอด การคงศูนย์อำนาจและกฎเกณฑ์ต่างๆไว้ที่ส่วนกลางจึงไม่อาจทำได้ตรงกันข้ามจะต้องมีการกระจายอำนาจไปตามความหลากหลายของสภาพสังคม นอกจากนี้แนวคิดหลังสมัยนิยมยังต่อต้านการได้มาของความรู้ที่มาจากการใช้เหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ใช่เป็นแหล่งที่มาของความรู้แต่เพียงแนวทางเดียวและไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะความจริงในทัศนะของแนวคิดหลังสมัยนิยม เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาและครอบงำโดยผู้มีอำนาจให้ต้องยอมรับความจริงนั้น ทั้งๆที่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่สลับซับซ้อนและโต้แย้งได้เสมอ

รัฐประศาสนศาสตร์ยุคหลังสมัยนิยม

แนวคิดของยุคหลังสมัยนิยมได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อสาขาวิชาต่างๆในทางสังคมศาสตร์ วรรณคดี ศิลปะ ดนตรี วิศวกรรม และสถาปัตยกรรม จากนั้นจึงเข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐประศาสนศาสตร์ โดยในสหรัฐอเมริกาเริ่มฉายแววของแนวคิดหลังสมัยนิยม ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่สังคมอเมริกันต้องประสบกับปัญหาสับสนวุ่นวายในสังคม ทั้งในเรื่องของปัญหาการเหยียดผิว การจลาจลของคนผิวดำ การต่อต้านสงครามเวียดนาม และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้เกิดนักรัฐประศาสนศาสตร์กลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่มรัฐประศาสนศาสตร์แผนใหม่รวมตัวกันประชุมที่เมือง Minnowbrook แสดงความไม่พอใจต่อสถานะของรัฐประศาสนศาสตร์ในขณะนั้นที่มุ่งสร้างทฤษฎีและองค์ความรู้โดยอาศัยแนวทางวิทยาศาสตร์ และความเป็นกลางในการศึกษาตามแนวปฏิฐานนิยม แต่ไม่สามารถสอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมที่กำลังสับสนวุ่นวายในขณะนั้นได้ (Frank Marini, 1971) จนเกิดแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์แผนใหม่ ที่เน้นการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยปฏิเสธวิทยาศาสตร์และให้ความสำคัญกับค่านิยมที่เอนเอียงสู่ผู้เสียเปรียบและยึดถือหลักความเสมอภาคในสังคม

แนวคิดของรัฐประศาสนศาสตร์แผนใหม่ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งในปี ค.ศ. 1982ที่ Gary L. Wamsley จัดประชุมที่เมือง Blackburn ประกาศ Blackburn Manifesto โดยเห็นด้วยกับกลุ่มรัฐประศาสนศาสตร์แผนใหม่ที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมศาสตร์ และ ปฏิฐานนิยมวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ แม้จะเห็นว่าแนวคิดของรัฐประศาสตร์แผนใหม่ ไม่เหมาะกับการบริหารรัฐกิจในรูปแบบการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม (Gary L. Wamsley, 1990)

อิทธิพลของแนวคิดหลังสมัยนิยมมีผลต่อการสร้างทฤษฎีทางรัฐประศาสนศาสตร์ในช่วงทศวรรษนี้เช่นกัน โดยในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 นี้เองมีนักรัฐประศาสนศาสตร์ Robert B Denhardt & Kathryn G. Denhardt (1979) เริ่มออกมาโจมตีการใช้หลักเหตุผลในรัฐประศาสนศาสตร์เพราะนักรัฐประศาสนศาสตร์สร้างทฤษฎีโดยไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคม แต่ยึดติดอยู่กับการใช้หลักเหตุผล การตัดสินใจตามลำดับขั้น ตามกฎเกณฑ์ และการพิสูจน์เชิงประจักษ์ของปฏิฐานนิยม ทั้งสองจึงเสนอทฤษฎี critical theory ที่ให้รัฐประศาสนศาสตร์ปฏิรูประบบราชการที่มีลำดับขั้นการบังคับบัญชาหลายชั้น มีกฎหมายระเบียบที่เคร่งครัดจากส่วนกลางที่ครอบคลุมไปทั่ว มาเป็นการบริหารที่มีการปรับให้สามารถตอบสนองต่อความหลากหลายและมีทางเลือกหลายทาง ในขณะเดียวกันไมเคิล ฮาร์มอน (Michael Harmon) 1981 ได้เสนอทฤษฎี Action Theory โดยไม่เห็นด้วยกับกรอบเค้าโครงความคิดแบบตรรกปฏิฐานนิยมที่ยึดถือแนววิทยาศาสตร์ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมและการบริหาร เพราะการบริหารจะต้องอาศัยค่านิยมและปรับสภาพเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อให้รัฐประศาสนศาสตร์สอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคมและแก้ปัญหาในทางปฏิบัติได้ไม่ใช่ยึดถือแต่เพียงทฤษฎี

แนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์หลังยุคสมัยนิยมเริ่มมีปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในการประชุม PAT – Net ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ที่ได้เริ่มมีการกล่าวถึงรัฐประศาสนศาสตร์หลังยุคสมัยนิยมและเสนอให้รัฐประศาสนศาสตร์ตอบสนองต่อสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง (Peter Bogason, 2005: 239 - 240)

อย่างไรก็ตามการยอมรับการมีอยู่ของรัฐประศาสนศาสตร์ยุคหลังสมัยนิยมปรากฏชัดขึ้นในทศวรรษที่ 1990 เมื่อ Fox and Miller (1995) เขียนหนังสือ Postmodern Public Administration: Toward Discourse ที่กล่าวโจมตีรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคสมัยนิยม ซึ่งจัดเป็นยุค Orthodoxy ที่เน้นลักษณะความเป็นรูปธรรมมีการบริหารที่มีโครงสร้างชัดเจน มีการบริหารที่รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง มีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐานไม่ยืดหยุ่นกับสถานการณ์บ้านเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความหลากหลายยากที่จะหาเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากลใช้ได้กับทุกกลุ่ม

สำหรับ Fox และ Miller (1996) ทั้งสองเห็นว่า แนวคิดของรัฐประศาสนศาสตร์สมัยนิยมเป็นแนวคิดแบบเป็นทางการดั้งเดิม (Orthodoxy) ซึ่งหมายรวมถึงแนวคิดการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) ของ Federick Taylor ซึ่งมีการบริหารโดยใช้ระบบรางวัล แนวคิดเรื่องระบบราชการ (Bureaucracy) ของ Max Weber ซึ่งมีการบริหารโดยอาศัยลำดับขั้นการบังคับบัญชา และแนวคิดเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของฝ่ายข้าราชการของ Woodlow Wilson ซึ่งแนวคิดทั้ง 3 แนวคิดนี้มีลักษณะของความเป็นรูปธรรมมีการกำหนดกฎเกณฑ์ มีโครงสร้างการบริหารที่ถาวรและชัดเจน มีการบริหารที่รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง นอกจากนี้การวิจัยและการพิสูจน์ความจริงความถูกต้องของเรื่องราวต่างๆอาศัยหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ มีขั้นตอนและมีเหตุผล มีการสร้างความชัดเจนเป็นคำพูด เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ เช่น การออกกฎหมาย หรือ ระเบียบข้อบังคับ

นอกจากนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับวงจรประชาธิปไตย รัฐประศาสนศาสตร์ยุคสมัยนิยม ยังยึดถือระบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ซึ่งเป็นการแยกกันอย่างเด็ดขาดระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่จะเข้ามาควบคุมข้าราชการให้ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ข้าราชการจึงต้องเป็นกลางในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายใดมาบริหารก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย และมีความยืดหยุ่น เพื่อให้นักการเมืองสามารถปฏิบัติงานตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน อย่างไรก็ตามวงจรประชาธิปไตยในความเป็นจริงนั้นไม่เป็นไปตามหลักการที่วางไว้ เพราะข้าราชการยังเลือกปฏิบัติตามเฉพาะที่ตนเห็นชอบเท่านั้น ไม่เป็นกลางเสมอไป และทางฝ่ายการเมืองก็มักจะเข้าแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ วงจรประชาธิปไตยจึงไม่เป็นไปตามหลักการและขาดความน่าเชื่อถือ ประชาธิปไตยโดยผ่านระบบผู้แทนเช่นนี้ ทำให้เห็นว่าการบริหารลักษณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนได้ Fox and Miller จึงเสนอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองโดยตรงแทนการใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านผู้แทนซึ่งประชาชนเมื่อเลือกผู้แทนแล้วมักไม่สนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเพราะถือว่าเป็นเรื่องของผู้แทน หรือ ประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมไม่มีความรู้ ความสามารถ หรือ ประสบการณ์ดีพอ อีกนัยหนึ่ง รัฐประศาสนศาสตร์หลังยุคสมัยนิยมต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวงจรประชาธิปไตยแบบเดิม มาเป็นการมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างข้าราชการกับประชาชน

โดยนัยนี้ Fox and Miller ได้เสนอแนวคิด Discourse Theory ซึ่งเป็นแนวคิดในเรื่องการสนทนาปรึกษาหารืออย่างจริงจังของผู้เกี่ยวข้องต่างๆ และผู้มีส่วนร่วมในสังคมเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายหรือแก้ไขปัญหาการบริหารรัฐกิจที่จะนำไปปฏิบัติได้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในการบริหารราชการหรือให้ท้องถิ่นได้บริหารกันเอง

ผู้เขียนทั้งสอง ได้เปรียบการบริหารรัฐกิจเหมือนเป็นสนามพลังสาธารณะ ซึ่งมีปรากฏการณ์และความไม่แน่นอนต่างๆเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว จึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการบริหารภาครัฐจึงควรมีความยืดหยุ่นโดยไม่เน้นวัตถุประสงค์ในการควบคุม แต่ปล่อยให้สถานการณ์เป็นตัวกำหนด ดังนั้นโอกาสและข้อจำกัดของนโยบายสาธารณะจึงเกิดขึ้น และ เปลี่ยนแปลงตามแรงของการปรึกษาหารือ หรือ ความต้องการของสังคมหรือชุมชน

ในขณะที่ Farmer (1995) ได้ชี้ให้เห็นว่า ความทันสมัยหรือสมัยนิยมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับความรู้ที่เป็นรูปธรรมแต่ยุคหลังสมัยนิยมมีความเกี่ยวข้องกับค่านิยมและการค้นหาความจริงมากกว่าคุณลักษณะเฉพาะของความรู้ นอกจากนี้ สมัยนิยมยังเป็นการแสดงออกถึงข้อจำกัดในเรื่องหลักต่างๆ 4 หลัก คือ (1) หลักวิทยาศาสตร์นิยม (Scientism) (2) หลักความกล้าได้กล้าเสีย (Enterprise) (3) หลักเฉพาะตัวนิยม (Particularism) ซึ่งในยุคหลักสมัยนิยมจะถูกครอบงำด้วยความมีประสิทธิภาพ ความเป็นผู้นำ การจัดการ ตัวองค์การ และ (4) หลักเทคโนโลยีนิยม (Technologism) ซึ่งในยุคหลังสมัยนิยมมองว่าทำให้เกิดความกังวลในเรื่องการสูญเสียความเป็นมนุษย์ในการปฏิบัติงานของรัฐ

สำหรับในยุโรป กล่าวได้ว่า แนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมเริ่มต้นขึ้นจากนักรัฐประศาสนศาสตร์ในยุโรป และ นักรัฐประศาสนศาสตร์แนวหลังสมัยนิยมส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศในยุโรป โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค อังกฤษ และออสเตรีย แม้แนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมจะไม่ได้รับการยอมรับในยุโรปเท่าใดนักก็ตาม (Peter Bogason, 2005: 240) ผู้ที่มีอิทธิพลมากในแนวคิดหลังสมัยนิยมในยุโรปได้แก่ Foucault (1980) ซึ่งปูพื้นฐานทางรัฐประศาสนศาสตร์ไว้เกี่ยวกับการยอมรับอำนาจ ซึ่งแต่เดิมจะเน้นที่มาของอำนาจ โดยเฉพาะถ้าเป็นอำนาจที่มาตามโครงสร้างการบริหารในรูปของระบบราชการแล้วจะเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับโดยปริยายซึ่งแท้จริงแล้ว ขึ้นอยู่กับการได้อำนาจของผู้นั้นมากกว่าว่ามีคุณธรรม มีเหตุผลหรือไม่ มิฉะนั้นก็จะเป็นเรื่องของความพยายามในการครอบงำทางการปกครองรูปแบบหนึ่งโดยผ่านระบบราชการเท่านั้นเอง

งานของ Frissen (1999) ดูเหมือนจะเป็นการวิเคราะห์รัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมได้อย่างลึกซึ้ง โดยวิเคราะห์รัฐประศาสนศาสตร์ในยุคข้อมูลข่าวสารในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มขององค์การในอนาคตที่จะเป็นองค์การที่แยกส่วนและมีความหลากหลาย อีกทั้งยังกล่าวโจมตีหลักการที่ยอมรับกันในยุคสมัยนิยมเกี่ยวกับลำดับชั้นการบังคับบัญชาและระบบประชาธิปไตยที่เคร่งครัดในกฎหมาย พร้อมชี้ให้เห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงจากองค์การที่มีลำดับชั้นการบังคับบัญชา ไปสู่องค์การที่อาศัยกระบวนการเครือข่ายและเคลื่อนย้ายจากรูปแบบการปกครองโดยส่วนกลางไปสู่การปกครองตนเองของท้องถิ่นโดยอาศัยข้อได้เปรียบจากระบบการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่ทำให้ท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียมกับส่วนกลาง

ความหลากหลายในแนวคิดของรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมนับเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของแนวคิดนี้ กล่าวคือ นักรัฐประศาสนศาสตร์ที่ยึดแนวคิดหลังสมัยนิยมแต่ละท่านจะเสนอแนวทางที่แตกต่างหลากหลายจนไม่สามารถจะยึดถือเป็นทฤษฎีใหม่ ในทางรัฐประศาสนศาสตร์ขึ้นมาใหม่ได้ คงมีแต่ประเด็นโจมตีและโต้แย้งแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์สมัยนิยมเป็นหลัก ซึ่งแนวคิดทั้งสองแนวสามารถเปรียบเทียบได้ตามตารางที่ 1 และ คงต้องรอให้มีรัฐประศาสตร์หลังสมัยนิยมคนอื่นๆอ อกมาเสนอความคิดและแก่นของรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปให้มากกว่านี้


ตารางที่ 1

การเปรียบเทียบแนวคิดสมัยนิยมกับหลังสมัยนิยม


ประเด็นเปรียบเทียบ สมัยนิยม หลังสมัยนิยม
สภาพแวดล้อม
คงที่ มั่นคง เป็นปึกแผ่นเปลี่ยนแปลงซ้ำทีละน้อย ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างรวดเร็วและรุนแรงและคาดการณ์ไม่ได้
การปกครอง - เน้นความเป็นศูนย์กลาง ความเป็นปึกแผ่น มีความเป็นทางการ รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง 
 - มีขอบเขตที่แน่นอน 
 - เน้นบูรณาการ
- เน้นการกระจายอำนาจความหลากหลายของหน่วยในการพัฒนาตนเอง 
 - เน้นความเป็นเศษเสี้ยว 
 - เน้นความแตกต่างของวัฒนธรรม
โครงสร้างองค์กร - มีรูปแบบที่แน่ชัด 
 - โครงสร้างอย่างเป็นทางการถาวร มีขนาดใหญ่ 
 - มีโครงสร้างสายงานบังคับบัญชาตามลำดับขั้น (hierarchy)
- มีรูปแบบไม่แน่ชัด หลากหลาย 
 - โครงสร้างไม่เป็นทางการมีขนาดเล็ก 
 - มีความเป็นอนาธิปไตย (anarchy) เป็นทีมงาน เป็นเครือข่าย
กระบวนการบริหาร - มีการวางแผน เพราะสภาพแวดล้อมคาดการณ์ได้ 
 - เป็นการติดต่อสื่อสารแบบเป็นทางการ การประชุม 
 - เน้นการกำกับดูแลควบคุม

- เน้นการตัดสินใจที่ใช้หลักเหตุผล

- ทรัพยากรที่สำคัญ คือ คน เงินทุน เครื่องมือ

- ไม่เน้นการวางแผนเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 
 - เน้นการติดต่อแบบไม่เป็นทางการ การพูดคุย 
 - เน้นการกระจายความรับผิดชอบ ประเมินตนเอง

- การตัดสินใจใช้จินตนาการและประสบการณ์

- ทรัพยากรที่สำคัญ คือ ข้อมูล

การเข้าถึงความจริงวิธีแสวงหาความรู้ - ตรรกปฏิฐานนิยม (Logical positivism) - ต่อต้านตรรกปฏิฐานนิยม
ระเบียบวิธีวิจัย - วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถพิสูจน์เชิงประจักษ์ได้ด้วยโสตประสาททั้ง 5 เพื่อบรรยายและทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ จนถูกขนานนามว่าเป็นการบรรยายที่ยิ่งใหญ่ (Grant Narative) 
 - ผู้ศึกษาดีดตัวออกมาจากสิ่งที่ศึกษาเพื่อมิให้มีอคติและใช้ค่านิยมเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดเป็นวัตถุนิยม (objectivity)
- เน้นการตีความ
- ต่อต้านการผูกขาดโดยวิทยาศาสตร์ในการเข้าถึงความจริง ใช้การรื้อสร้างการวิพากษ์ เกมภาษา และการสนทนา (discourse) แต่ต่อต้านการบรรยาย
 - ผู้ศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ศึกษาเพื่อเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง (subjectivity) 
 - ต่อต้านการตีความ

สรุป

รัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมเป็นแนวคิดที่ต่อต้านรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคสมัยนิยมที่เน้นความเป็นรูปธรรม การมีโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน มีกฎเกณฑ์ตายตัว หรือทฤษฎีที่เป็นการรวมศูนย์และมีลักษณะใช้ได้ทั่วไปครอบคลุมและควบคุมทุกสิ่งจากส่วนกลาง จึงทำให้ไม่สามารถปรับตัวหรือยืดหยุ่นให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็ว และ มีความหลากหลายที่ยากต่อการหากฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากลใช้ได้กับทุกกลุ่ม นอกจากนี้ รัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมยังต่อต้านการได้มาของความรู้ที่เน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพราะไม่ใช่เป็นแหล่งที่มาของความรู้แต่เพียงแนวทางเดียว โดยหันมาให้ความสนใจกับการให้ข้อมูลเชิงคุณภาพ การใช้ทฤษฎีพื้นฐาน (Ground Theory) และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษากับสิ่งที่ศึกษา แต่โดยเหตุที่รัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมเน้นการโจมตีและมีเนื้อหาตรงข้ามกับทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์สมัยนิยม จึงทำให้ทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทฤษฎีทางรัฐประศาสนศาสตร์ใหม่ คงเป็นได้เพียงแนวความคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยม ซึ่งมีส่วนในการขยายความชัดเจนของทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์สมัยนิยมเท่านั้น แต่ก็มีผู้ที่สนับสนุนแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยมเป็นจำนวนมากและทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ในปัจจุบันก็เชื่อมโยงและได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่ไม่ผูกขาดแต่เพียง ระเบียบวิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด (George Freerickson and Kevin b. Smith, 2003: 156 - 157) ดังนั้น นักรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคปัจจุบันจึงไม่ควรละเลยที่จะศึกษารัฐประศาสนศาสตร์หลังสมัยนิยม เพราะโลกยุคปัจจุบันเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถึงจนกระทั่งไม่อาจยึดหลักเกณฑ์หรือแก่นสารอะไรได้เลยสรุป




บรรณานุกรม

Bogason, Peter. “Postmodern Public Administration” in Handbook of Public Management,

Ewan B. Fertile, Larry Lynn. & Christopher Pollitt, (2005).

Denhardt, Robert B. & Kanthryn G Denhardt (1979) “Public Administration and the Critique

of Domination” Administration and Society Vol 11 No 1. pp 207-222.

Farmer, David John. (1995) The Language of Public Administration Bureaucracy,

Modernity, and Postmodernity, Tuscaloosa, Ala: University of Alabama Pres.S.

Fox, Charels J. & Hugh T. Miller (1995). Post Modern Public Administration: Toward

Discourse. Thousand Oaks, CA: Sage Publications.

Foucault, M. (1980) Power & Knowledge. Brighton: Harvester.

Frissen, P.H.A. (1999) Politics, Governance and Technology: A Postmodern Narrative on

the Virtual State, Now Horizons in Public Policy. Cheltenham: Edward Elgar.

Frederickson, H George and Kevin B. Smith, (2003) The Public Administration Theory

Primer. Westview Press.

Harmon, Michael (1981) Action Theory for Public Administration, New York and London:

Longman Inc.

Marini, Frank, Toward a New Public Administration: the Minnow brook Perspective,

SARANTON: Chandler Pub.Co.

Wamsley, Gary (ut.al) (1990), Refounding Public Administration. SAGB Publication, INC.

หมายเลขบันทึก: 574126เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท