อาจารย์คณะเกษตรฯ มข. อบรมเพิ่มทักษะความรู้พนักงานบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์


อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง ธาตุอาหารที่จำเป็นในการผลิตเมล็ดพันธุ์และการจัดการช่วงการเก็บเกี่ยวถึงหลังการเก็บเกี่ยว ให้แก่พนักงานบริษัท อดัมส์เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด

          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2557 รองศาสตราจารย์ ดร.บุญมี ศิริ อาจารย์ประจำสาขาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญจากบริษัท อดัมส์เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “ธาตุอาหารที่จำเป็นในการผลิตเมล็ดพันธุ์และการจัดการช่วงการเก็บเกี่ยวถึง หลังการเก็บเกี่ยว” ให้แก่พนักงานของบริษัทฯ จำนวน 80 คน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ให้กับพนักงานก่อนการเริ่มปฏิบัติงานในฤดูการผลิต ใหม่ ในการฝึกอบรมพนักงาน ประจำปี 2557 ณ โรงแรมประตูน้ำโฮเต็ล ขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม พ.ศ.2557
           รองศาสตราจารย์ ดร.บุญมี ศิริ กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ที่ส่งออกต้องมีคุณภาพสูงโดยมีความงอกไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 มีความแข็งแรงสูง ต้องงอกเร็วและสม่ำเสมอกัน ปัจจุบันพบปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และมีสภาพเป็นกรด เป็นอุปสรรคต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชหลายชนิด เมล็ดพืชปริมาณไม่น้อยมักขาดธาตุอาหารรองที่จำเป็นโดยเฉพาะ แคลเซียม (Ca) และโบรอน (B) ธาตุอาหารบางส่วนถูกตรึงอยู่ในดิน เคลื่อนย้ายไม่ได้ จากโครงสร้างและความเป็นกรด-ด่างที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีผลต่อผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์โดยตรง ปัญหาที่พบมากเมื่อขาดแคลเซียม คือโรคปลายผลเน่าดำ (Blossum end rot) ของมะเขือเทศ อันมีผลให้ผลผลิตเสียหาย เมล็ดมีความงอกต่ำและไม่แข็งแรง ส่วนโบรอน เป็นธาตุที่ควบคุมการใช้แคลเซียมและฟอสฟอรัส มีผลต่อการผสมเกสรและการติดผล ทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกและความแข็งแรงสูง
            รองศาสตราจารย์ ดร.บุญมี กล่าวต่อว่า ดังนั้นการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชมูลค่าสูง อาทิ มะเขือเทศ พริก และแตง จึงมีความจำเป็นต้องให้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต ตามที่พืชต้องการอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะปุ๋ยจุลธาตุควรให้ทางใบในรูปอะมิโนคีเลต (Amino acid chelate) ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีจุลธาตุที่เข้าสู่ใบพืชได้ง่าย ซึ่งจะช่วยให้การผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ประสบความสำเร็จเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ เมล็ดพันธุ์มากขึ้น
            “นอกจากนี้การจัดการช่วงของการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมยังมีประโยชน์ต่อกระบวน การผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าจัดการได้อย่างเหมาะสมจะช่วยให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพและมีความแข็งแรง สูง” รองศาสตราจารย์ ดร.บุญมี กล่าวในที่สุด

             พจนา สีขาว ข้อมูลข่าว/ภาพ
             กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 574122เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท