เสน่ห์เมืองเก่าสงขลา


สมัยเด็กๆ ป้าเป้าชอบพามาเที่ยวสงขลาอยู่บ่อยๆ เพราะครอบครัวทางแม่เป็นคนสงขลาแซ่จิ่วแต่เปลี่ยนมาเป็นจ่าผ่องศรีในภายหลัง ก๋งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่นั่งเรือมาจากประเทศจีนแล้วมาขึ้นฝั่งที่ทะเลสาบสงขลา ก๋งปลูกบ้านอยู่แถวๆ สะพานเหล็กไม่ใกล้มากนักกับประตูเมืองสงขลาและถนนนครนอกและถนนนครใน

เวลามาสงขลากับป้า ป้าจะพานั่งรถไฟมาจากนครศรีฯ ตั้งแต่เช้ามาลงที่หาดใหญ่แล้วจึงนั่งรถไฟจากหาดใหญ่มาลงที่สงขลา หรือส่วนใหญ่รู้สึกว่าจะก็นั่งรถแท็กซี่บ่อยกว่า

บ้านของก๋งที่ป้าและแม่อาศัยอยู่นั้นขายไปแล้ว ดังนั้นป้าจะพามาพักที่บ้านเพื่อนของป้าที่ชื่อน้าศรีทุกครั้ง ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลกับบ้านเดิมของแม่

บ้านของคนสงขลาจะมีบ่อน้ำตรงกลางเปิดโล่งแทบทุกบ้าน สมัยนั้นน้ำประปายังไม่มี ป้าจะตักน้ำจากบ่อมาใส่ในห้องน้ำไว้ให้อาบน้ำและชำระล้าง แม่เล่าว่าทหารญี่ปุ่นจะให้ลูกอมเด็กๆ แล้วเพื่อมาขออาบน้ำโดยใส่แค่ผ้าผืนเล็กปิดส่วนหน้าและส่วนหลังไว้เท่านั้น

อีกที่หนึ่งที่ป้าชอบพาไปแวะคือร้านสินอดุลย์พันธ์ จำได้ว่าป้าจะพานั่งรถสามล้อปั่นไปที่ร้านนี้ซึ่งอยู่บนถนนนครใน เพื่อไปซื้อของที่อร่อยที่สุดของสงขลาที่ทำกันมาเป็น 100 ปี คือ ข้าวเกรียบกุ้ง น้ำพริกเผากุ้ง กะปิกุ้ง ลูกหยีฉาบ กุ้งแดดเดียวอบแห้ง น้ำจิ้มไก่ น้ำบูดู และซีอิ้วหวาน

ตอนอยู่บนถนนนครนอกหรือนครในจำไม่ได้แน่ชัดนัก ป้ามักจะชี้ให้ดูตึกโบราณที่โดนระเบิดตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ตัวตึกยังเหลืออยู่ครึ่งหนึ่งและมีคนอาศัยอยู่ แต่ตอนนี้ตึกนั้นน่าจะถูกทุบทิ้งไปแล้วเพราะไม่เห็นตีกครึ่งตีกนั้นอีกแล้ว หรือไม่ก็เสริมต่อจนจำไม่ได้เพราะภาพตึกนี้สมัยเด็กๆ ก็ลางเลือนเต็มที่

ตึกแถวถนนนครนอกและนครในมีเสน่ห์มากๆ อายุเกือบ 200 ปีก็ยังอยู่ ด้านหลังของตึกจะเป็นทะเลสาบสงขลา ซึ่งแม่เล่าว่าตอนเด็กๆ ประมาณ 6-7 ขวบ แม่ว่ายน้ำแข่งกันกับเพื่อนรอดใต้ท้องเรือสำเภาสินค้าเกือบไม่รอด

วันก่อนเห็นเขาประกาศขายบ้านโบราณหลังหนึ่งบนถนนนครนอกราคา 6 ล้านบาท อายุน่าจะประมาณเป็นร้อยปีแล้ว น่าเสียดายมาก

ในวัย 43 ปีของลูกสงขลาคนนี้แม้จะไปโตอยู่ที่นครศรีฯ แต่ก็ต้องกลับมาอยู่สงขลาตั้งแต่อายุ 18 ปีจนถึงปัจจุบัน อยากทำให้เมืองสงขลาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต อยากที่จะเดินทางไปสัมภาษณ์เจ้าของตึกเก่าบ้านเก่าทุกหลังของเมืองสงขลา และอยากที่จะเก็บภาพสถาปัตยกรรมของตึกทั้งหมดบนถนนสายโบราณเหล่านี้อย่างละเอียด ทั้งถนนนครนอก ถนนนครใน ถนนเก้าห้อง ถนนไทรบุรี และอีกมากมาย

... ด้วยความหลงใหลมนต์เสน่ห์ของเมืองเก่าสงขลาแห่งนี้เอามาก และยิ่งเห็นตีกเหล่านี้ถูกทอดทิ้งมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เศร้าใจอย่างบอกไม่ถูกเอาเสียเลย ...

หมายเลขบันทึก: 573921เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2014 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2016 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นตำนานที่ยังคงภาพความรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ในอดีต...ภูมิสถาปัตยกรรมงดงามมากครับ...น่าอนุรักษ์และรักษาไว้มากนะครับอาจารย์....

ขาย-ซื้อไปเพื่ออนุรักษ์ ก็น่ายินดีด้วย

แต่ถ้าถูกทุบทิ้ง ก็น่าเสียดายมากๆครับ

อยากอ่านบันทึกแบบนี้ของอาจารย์จันอีกนะครับ

คลาสสิคมาก ๆเลยครับ

..

ขอบคุณมากนะครับ

การอนุรักษ์ของเดิมไว้ ถ้ายังอยู่ทำให้เราทึ่งและชื่นชมเสมอว่ายังอยู่นะ คนรุ่นหลังได้ชมได้สมผัส แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งไม่เห็นความสำคัญเลย  ตึกภาพสุดท้ายถ้าทาสีให้ใหม่คงสวยงามมากนะคะ อาหารสงขลาน่าอร่อยทั้งนั้น น้องอ.จันเล่าอ่านแล้วทำให้คิดถึงก๋งกับอม่าของพี่ดาไปด้วย ท่านทั้ง 2 มาจากเมืองจีนเช่นกันค่ะ

   


ว่าแล้วก็น่าจะเสนอสิ่งที่อ.จันอยากทำให้เป็น project นักศึกษากันนะคะ อาจจะของคณะศิลปศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ควบคู่กับวจก. ในการเอาเทคโนโลยีรวบรวมประวัติศาสตร์ที่คงจะสูญหายหมดสิ้นไปโดยไม่ได้รับการอนุรักษ์อย่างจริงจัง เรื่องแบบนี้คนที่อยู่หรือเคยอยู่เท่านั้นที่จะรู้ดีที่สุดนะคะ 

เห็นด้วยมากๆ เลยค่ะ นศ.จะได้ลงชุมชนจริงๆ เป็น 21st century learning ของจริงกันเลย

ดูลวดลายใต้หลังคานะคะ สวยงามมากค่ะ และกระเบื้องดินเผานี่ก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสงขลานะคะ

สวัสดีครับ

มีเพื่อนๆหลายคนชวนผมไปสงขลา

เพื่อไปชมย่านเมืองเก่า

ผมใฝ่ฝันที่จะไปมาก

แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปชม

เห็นภาพที่เพื่อนๆส่งมาให้ชม

งามบาดใจจริงๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท