ประเด็นเรื่อง "คัมภีร์พระอภิธรรม"


         

              คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาคือพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า ในส่วนของพระอภิธรรมปิฏกซึ่งถือเป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยคำสอนอันลึกซึ้ง เนื้อหาเต็มไปด้วยแนวคิดทางปรัชญาในพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนามีความเห็นแตกต่างกันว่า คัมภีร์พระอภิธรรมปิฏกเป็นพระพุทธพจน์จริงหรือไม่ หรือว่าแต่งขึ้นในภายหลัง    และฝ่ายที่เห็นว่าเป็นพุทธวจนะและไม่เห็นด้วยต่างก็มีหลักฐานและเหตุผลอ้างอิงด้วยกันทั้งสองฝ่าย

               ในพระพุทธศาสนาพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาประกอบด้วยพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก ในปิฎกทั้งสามนั้นพระอภิธรรมเป็นประเด็นที่ชาวพุทธมีความเห็นขัดแย้งกันมากที่สุด  เนื่องจากมีคำถามว่า พระอภิธรรมปิฎกเป็นพุทธวจนะจริงหรือไม่ เป็นคัมภีร์ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมหรือแต่งขึ้นในยุคหลัง  เป็นหลักธรรมที่จำเป็นต่อการศึกษาปฏิบัติ หรือว่าเป็นส่วนที่เกินความจำเป็น

                คำว่า "อภิ" ในภาษาบาลีแปลว่า ยิ่ง เกิน ล่วงเมื่อนำมารวมกับคำว่า "ธรรม" จึงอาจแปลได้ว่า ธรรมอันยิ่ง ธรรมอันเกิน ธรรมอันล่วง  แล้วแต่ว่าผู้แปลจะแปลอย่างไร ความเห็นของชาวพุทธเกี่ยวกับอภิธรรมมีหลากหลาย  เมื่อรวบรวมความเห็นที่มีปรากฏอยู่ในแหล่งต่างๆ  ในวงการการศึกษาพระพุทธศาสนาในปัจจุบันพุทธบริษัทมีความเห็นเกี่ยวกับพระอภิธรรม สรุปแล้วมีสามกลุ่มคือ

     1. ฝ่ายปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก

2. ฝ่ายยอมรับพระอภิธรรมปิฎก

3. ฝ่ายประนีประนอม

ฝ่ายที่ปฏิเสธพระอภิธรรมว่าไม่ใช่พุทธพจน์ ให้เหตุผลไว้ดังนี้

       1. ภาษาที่ใช้ในพระอภิธรรมปิฎกเป็นสำนวนบาลีรุ่นหลังกว่าสำนวนในพระสูตรและพระวินัยอย่างที่เรียกว่าไวยากรณ์ ในนวังคสัตถุศาสน์ คือรูปประโยคแบบแต่งเอาไม่ใช่ภาษาพูดหรือสนทนา

       2. เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพานทรงตรัสถึงมหาประเทศ 4 มีแต่ให้สอบสวนดูให้ถูกต้องกันกับพระสูตร, พระวินัย เท่านั้นมิได้กล่าวถึงพระอภิธรรม

       3. ข้ออ้างว่า พระพุทธองค์ขึ้นไปบนดาวดึงส์เทศนาโปรดพระพุทธมารดา เป็นเพียงถ้อยคำของพระอรรถกถาจารย์ เรื่องนี้ในพระสูตร, พระวินัยไม่ปรากฏ

       4. ศัพท์ว่า อภิธมฺเม อภิวินเย ดังที่ปรากฏในพระสูตร, พระวินัยบางแห่งนั้น มิได้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎก เช่นใน กินติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ก็มีคำว่า อภิธมฺเม อรรถกถาแก้ว่าหมายถึงธรรมอันประเสริฐล้นค่าคือ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ

       5. พระองค์เมื่อตรัสถึงสัตถุศาสน์ มักตรัสว่า ธมฺโม จ วินโย จ ซึ่งแปลว่าพระธรรมและพระวินัย ไม่พบว่ามีพระอภิธรรม

       6. นิกายพุทธศาสนาหลายนิกาย เช่น สรวาสติวาทินก็ถือว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นสาวกภาษิต

       7. ในคัมภีร์พระอภิธรรมเองก็ปรากฏว่ามีคำ ยญฺจ โข ภควตา ชานตา ปสฺสตา ฯลฯ แปลว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้รู้อยู่เห็นอยู่ ฯลฯ และ วุตฺตญฺเจตํ ภควตา แปลว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแล้วมิใช่หรือ? สำนวนเช่นนี้แสดงว่าเป็นของพระสังคีติกาจารย์

       8. พระอภิธรรมเป็นธรรมที่เกินความจำเป็น  เป็นธรรมฝ่ายเรืองปัญญา มิจำเป็นสาหรับการปฏิบัติ

ส่วนเหตุผลของฝ่ายที่ยอมรับพระอภิธรรมปิฎก มีเหตุผลดังต่อไปนี้

       1. เรื่องที่พระพุทธองค์เสด็จดาวดึงส์และเทศนาโปรดพระพุทธมารดา มีปรากฏหลักฐานแน่ชัดในอรรถกถาปรมัตถทีปนี ธัมมปทัฏฐกถา เป็นต้น ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องนี้ว่าเป็นจริงก็ต้องไม่เชื่อเรื่องอื่นทั้งหมด

        2. ข้อความในคัมภีร์พระวินัยและพระสูตรมีปรากฏคำว่าอภิธรรม ชัด เช่น ในอังคุตตรนิกายมีความตอนหนึ่งว่า "ก็โดยสมัยนั้นแล พระภิกษุเถระทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตภายหลังแห่งภัตรแล้วประชุมกันสนทนาพระอภิธรรมกันอยู่" ในวินัยปิฎก มหาวิภังค์มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ภิกษุใดศึกษาอภิธรรม ภิกษุเหล่านั้นรวมเป็นคณะ (พระทัพพมัลลบุตร) ก็จัดเสนาสนะไว้ด้วยคิดว่าท่านเหล่านั้นจักมีธรรมสากัจฉาอภิธรรมกัน" ในภิกษุณีวิภังค์ ความว่า"ภิกษุณีผู้ถามปัญหาแก่ภิกษุ ขอโอกาสอันใด ต้องถามอันนั้นถ้าขอโอกาสถามพระสูตรแล้วกลับไปถามพระวินัยก็ดี ไปถามพระอภิธรรมดีก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์" ในอปาทาน อุบาลีเถรวัตถุ หน้า 61 มีว่าพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมว่าเป็นพระพุทธวจนะ มีองค์ 9 ทั้งสิ้นนี้เป็นธรรมสภาของพระองค์" นอกจากนี้ในเถรี อปทาน มหาสิงโคลวาทสูตรเป็นต้นก็ปรากฏคำว่าอภิธรรม อีกมาก ฉะนั้นคำที่ว่าไม่มีอภิธรรมในพระสูตรและพระวินัยจึงเป็นอันตกไป

       3. คำว่า ธมฺโม จ วินโย จ ซึ่งแปลว่า ธรรมและวินัย   คำว่าธรรม มิได้หมายแต่เฉพาะพระสุตตันตปิฏกอย่างเดียวแต่หมายเอาพระอภิธรรมปิฎกด้วย

       4. ถ้าปฏิเสธพระอภิธรรมว่ามิใช่พุทธพจน์เพราะเหตุมีคำว่า วุตตเมตํ ภควตา ฯลฯ ดังนี้แล้วพระสูตรและพระวินัยก็ควรปฏิเสธด้วย เพราะพระสูตรและพระวินัยพระสาวกก็สดับมาจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้นพระพุทธองค์ก็มิได้ทรงนิพนธ์ขีดเขียนไว้ที่ไหน พระสูตรเองก็มีคำว่า "ข้าพเจ้าสดับมาดังนี้" (เอวมฺเม สุตํ) ในวินัยก็มีคำว่า "โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค" (เตน โข ปนสมเย ภควตา) เป็นต้นเหล่านี้ ล้วนแสดงว่าเป็นวาจาของพระเถระผู้ทำสังคายนาถ่ายทอดจากพระศาสดาอีกต่อ ถ้าจะเอาหลักแน่ชัด ก็ลำบากเช่นกัน

       5. ยอมรับเพียงแต่คัมภีร์กถาวัตถุเท่านั้น ที่เป็นวาทะของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระแต่ท่านก็อาศัยพุทธมติ

       6. พระอภิธรรมมิใช่ธรรมที่เกินจำเป็นแต่เป็นธรรมที่สูงดีเลิศเกื้อกูลแก่การปฏิบัติจะเห็นได้จากผู้ที่ศึกษาอภิธรรมอย่างแตกฉานย่อมจะปฏิบัติสมาธิได้รวดเร็วก้าวหน้ามาก

          จากแนวความคิดที่แตกต่างในประเด็นเรื่อง "พระอภิธรรมเป็นพุทธวจนะหรือไม่" นี้  ผู้เขียนเห็นว่าเราไม่สามารถจะตัดสินได้ว่าความคิดของฝ่ายใดถูกต้องหรือความคิดของฝ่ายใดไม่ถูกต้อง  แต่ผู้เขียนต้องการตั้งคำถามใหม่ว่า "คัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกมีคุณค่าอย่างไร" และคำตอบที่ได้จากคำถามนี้เองจะนำไปสู่การวางท่าทีต่อคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกอย่างถูกต้อง

                  หลักจริยธรรมทางพุทธศาสนานั้นตั้งอยู่บนหลักคำสอนที่เรียกว่าสัจธรรม หรือ ปรมัตถธรรม  ซึ่งเป็นคำสอนที่ว่าด้วยความจริง  ทั้งความจริงที่เป็นปรมัตถสัจจ์และความจริงที่เป็นสมมติสัจจ์  คำสอนที่ว่าด้วยความจริงทั้งปรมัตถธรรมและสมมติบัญญัตินี้ถูกบันทึกเอาไว้ในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎก  เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการเข้าใจหลักสัจธรรมขั้นปรมัตถ์ในพุทธศาสนา  เราก็ต้องศึกษาคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎก  หากจะว่าไปแล้วปรมัตถธรรมในพระอภิธรรมปิฎกที่ว่าด้วย จิต เจตสิก รูป นิพพานก็คือ หลักอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา  เพราะอภิปรัชญาคือศาสตร์ที่แสวงหาความจริงอันสูงสุดซึ่งก็ตรงกับหลักปรมัตถธรรมที่ปรากฏในพระอภิธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการเข้าใจแนวคิดทางอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนาเราก็ต้องศึกษาหลักคำสอนในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎก

                   การศึกษาปรมัตถธรรมเกี่ยวกับสภาวลักษณะในพระอภิธรรมเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบความรู้ ความคิดและปัญญาเป็นหลักไม่ได้เน้นเรื่องจริยธรรมหรือการปฏิบัติ   แต่อย่างไรก็ตามคำสอนระดับปรมัตถธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกก็เป็นคำสอนที่สำคัญมาก เพราะเป็นคำสอนที่เป็นพื้นฐานของหลักจริยธรรมทั้งหมดในพุทธศาสนา   การปฏิบัติธรรมใด ๆ ก็ตามจะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักปรมัตถธรรมหรือสัจธรรม  การปฎิบัติธรรมนั้นจึงจะถูกต้องและบรรลุผล เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาวิเคราะห์หลักคำสอนในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎก เพื่อเข้าใจคำสอนที่เป็นพื้นฐานหลักจริยธรรม และแนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

หมายเลขบันทึก: 573596เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2014 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2020 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทำไมภาษาอภิธรรม ไม่อธิบายให้ง่ายที่คนโลกจะเข้าใจบ้างนะ อ. เรากลัวเสียfundamental root หรือว่า กลัวว่า คำสอนจะเพี้ยนครับ  "กระแสพุทธวจนะ" กำลังท้าทายกระแสเก่า หรือกำลังท้าทายสังคมให้ตื่นตัวกันแน่..

ตามที่ผมเข้าใจนะครับ  ความจริงตัวคำภีร์พระอภิธรรมไม่ได้ยากเกินไปที่จะศึกษาเรียนรู้  แต่ปัญหาที่เรามองว่ายากเพราะมันมีกำแพงอยู่สามชั้นด้วยกันครับ  ชั้นที่ ๑ กำแพงภาษาบาลี  ภาาาที่ใช้ในการเขียนอภิธรรมคือภาษาบาลี  ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาบาลี และพระเถระที่ถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยก็ใช้ศัพท์สำนวนวัด  กำแพงที่สองคือภาษาไทยที่ใช้เป็นภาษาไทยที่แปลโดยพยัญชนะไม่ได้แปลโดยอรรถ  บางทีท่านก็ทับศัพท์  กำแพงที่สามคือภาษาธรรมะ  ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเชิงวิชาการทางพระพุทธศาสนา  เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเข้าใจพระอภิธรรมก็ต้องทลายกำแพงทั้งสามชั้นนี้ให้ได้ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท