"สมาธิผิดหรือเพี้ยน?"


                                                          

                                                                                                                         

                 ในปัจจุบันโลกคือ สังคมมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ทำให้ผู้อาศัยในโลกต้องปรับตัวเองไปด้วย ในขณะเดียวกันหลักการแบบเก่าก็ถูกท้าทาย ให้แปรเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับนววิถีของโลกและมนุษย์ นี่จึงเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนักอนุรักษ์นิยม (Conservationist) อีกฝั่งตรงข้ามคือกลุ่มสมัยนิยม (Modernist) ก็เสาะแสวงหาแต่สิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายชีวิตและสังคมไปเรื่อย

                 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เองที่เร่งเร้าให้ผู้คนปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ หรือคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจแบบอนุรักษ์วิถีอยู่ ทำให้ต้องเรียกร้องหาแต่อดีตหรือรูปแบบเดิมให้คงไว้ กลุ่มนี้อาจแสดงบทบาทที่สุดโต่งได้กล่าวคือ แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา หรือประท้วง เรียกร้องให้มีการรักษาไว้ หรือห้ามแตะต้อง จนกลายเป็นชนิดที่เรียกว่า หัวรุนแรงได้ เรียกว่า กลุ่ม fundamentalist 

                 แต่ก่อนมนุษย์อยู่ในป่าพงดงของธรรมชาติ เพราะยังมีจำนวนน้อย ปัญหาด้านชีวิตยังไม่ซับซ้อนเหมือนทุกวันนี้ พวกเขาจึงไม่มีปัญหาเรื่อง ความคิดเห็น การประท้วง การใช้เทคโนโลยี มือถือ สื่ออินเตอร์เน็ต ไอจี เอฟบี ยังไม่มี ทำให้หมกมุ่นอยู่กับการหาอาหาร การหาที่อยู่ การบูชาเซ่นไหว้ จากพระเทพเจ้า ซึ่งไม่มีปริมาณปัญหาเท่าเรา

                 มนุษย์จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่อง จิตหรือปัญหาปัญญา ที่เราวัดกันว่าไอคิว เพราะไม่มีมาตรฐานสากล พอมาถึงยุคนี้ อะไรก็เร่งเร้าเขย่าจิตใจหรือวิถีการครองชีพ ตีบตัน มีปัญหากันทั้งคนเมืองและชนบท ภาพที่ปรากฏเด่นๆ คือ หาเงินให้ได้เยอะๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวก (ที่ตายสบาย) พร้อมสรรพ และอยู่อย่างสบาย ปลอดภัย ไร้ปัญหา แถมมีอิสรเสรีสุดขอบจักรวาล (ยิ่งดี)

                 เมื่อพลเมืองโลกกำลังจะล้นโลก ล้นประเทศ ล้นเมือง ล้นพื้นที่ ทำให้ปัญหาการครองชีพ การดำรงชีวิต ต้องกระทบกระทั่งกัน แข่งขัน แย่งชิง เห็นแก่ตัวมากขึ้น โดยไม่คำนึงหลักพฤติกรรมที่สวยงามตามหลักการศาสนาเคยสอนไว้แล้ว หลักการที่ทุกคนต้องยึดคือ "เอาตัวรอด"  การเอาตัวรอดคือ ให้ชีวิตรอด ไม่อดตาย แต่เสี่ยงในการถูกแช่งชิง วิ่งราว ขโมย จี้ปล้น ฆ่า เพราะเมื่อคุณได้ครอบครอง ในขณะคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีแย่งแบบดิบๆ เอา จึงทำให้บ้านเรา เมืองเรา มีรั้วบ้าน มีกำแพงสูง มีกรงกั้น เพื่อป้องกันคนอื่นแย่งชิง

                   สิ่งที่กระทบต่อมาคือ สุขภาพจิต คุณภาพจิต คุณรวยแต่หาความสุขไม่ได้ คนจนก็อดอยาก คิดแต่เรื่องอาหาร เงินทอง จิตใจก็ไม่เป็นสุข เมื่อสุขภาพจิตผู้คนย่ำแย่ จะหาแมวที่ไหนศึกษาศาสนา เพื่ออุดมคติของชีวิตในโลกนี้และโลกหน้าละ นี่คือ รากเหง้าที่คนเราหาที่พึ่งแบบสร้างทางลัดคือ หาเลข หาหวย หาทางต้มตุ๋น ขายยาเสพติด ขายตัว ทุจริต คดโกง คอร์รัปชั่น จี้ปล้น ลักขโมย ฯ

                   เมื่อปัญหามันสอดสานตามโครงสร้างที่เสื่อมถอย ทุกรอยต่อของชุมชนแบบนี้ เราจะหาความสุขได้อย่างไร ต้องหวาดระแวงกันทั้งกลางวัน และกลางคืน ทางออกของผู้คนจึงพยายามบำบัดตนเองอย่างผิดๆ หรือแปรความหมายเอาเพื่อให้ตัวเองให้โดดเด่นขึ้นมา ด้วยวิธีทางศาสนานั่นคือ คนจนวิ่งไปหาศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ ครูบาอาจารย์ ที่ดลให้ตนเองมีเงิน มีทอง ร่ำรวยได้ ส่วนคนมีฐานะก็ใช้ทรัพย์สินเงินทอง ท่องเที่ยวต่างประเทศ เสพสุขกับเงินทองของตน 

                    การแสดงออกดังกล่าว ถือว่าเป็นสิทธิส่วนตัว ที่พึงทำได้ และอีกส่วนกลับมีปัญหาที่ถาถมเข้ามาในชีวิต จนหมดทางเยียวยา อยากตาย อยากหนีปัญหาโลกเหลือเกิน จนจิตเตลิดไปตามตลาดปัญหาสังคม คือ โรคจิต โรคซึมเศร้า เหงาหงอย เบื่อชีวิต จนกลายเป็นคนจิตอ่อนแอ อันจะนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพย่ำแย่ต่อไป

                   ประเทศไทยคือ เมืองพุทธ (ฉากหน้า) แม้จะมีการฆ่า จี้ปล้น ข่มขืน ตื่นข่าว สัตว์ออกลูก พืชออกดอก ของแปลก ฯ มักจะเฮโล ก้มกราบ ลูบ ชุบไหว้ ขอพร ขอโชค ขอลาภ ฯ เป็นเรื่องกะโหลกกะลาแท้ๆ นี่คือ ฉากหลังเมืองไทย ที่เป็นไปแบบนี้ ในขณะเดียวกัน ก็เข้าวัด เข้าวา หาโอกาสในทางร่ำรวยไปด้วย (หลวงพ่อวัดไหนดังทางบอกหวย) 

                  ส่วนที่สนใจกระพี้ด้านสมาธิ กัมมัฏฐาน ก็แสวงหาไปทั่วประเทศว่า อาจารย์ไหนดี ไปกราบไหว้ ไปปฏิบัติร่วม แต่ก็ยังไกลแก่นแท้หัวใจศาสนาอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้คนพึ่งพาพระไม่ได้ ก็ตั้งตัวเป็นครูสอนเองซะเลย หรือตั้งสำนักขึ้นมาเพื่อตอบสนองชาวบ้าน หาเงินหาทองไปด้วย อีกอย่างก็ช่วยบำบัดทุกข์เขาไปด้วย

                  ในหลักการศาสนาพุทธ มีของดีคือ สมาธิและวิปัสสนา ที่ชาวตะวันตกสนใจศึกษา จนตั้งสาขา ตั้งชมรม สมาคมด้านการปฏิบัติสมาธิกันทั่วไป ในบ้าน ในมหาวิทยาลัยดังๆ เพราะพวกเขาตระหนักแล้วว่า โลกแห่งความเจริญไปจนถึงที่สุด ไม่มีอะไรที่รักษาใจ และเลี้ยงจิตให้มีความสงบสุขได้เลย ในเวลาเดียวกัน ทางเอเชียกลับบ้าตามฝรั่งดั้งโด่งเป็นบ้าเป็นหลัง

                 เป็นปรากฏการณ์ขึ้นมา "แบบค่อยเป็นค่อยไป" อย่างน่าเป็นห่วงและน่าติดตามในสังคมไทยวันนี้ว่า กำลังสนใจด้านสมาธิ "แบบตัวกู" หมายความว่า คนไทยพุทธเริ่มใช้สมาธิไปในทางที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น โดยตั้งตนเป็นครูสมาธิ เน้นสอนแบบบำบัดหรือให้คำแนะนำทางโรคบางอย่าง ต่างก็โพนทนาว่า ของฉันดี ของแท้ได้ผล เหมือนโฆษณาสินค้า ซึ่งก็น่าตั้งข้อสังเกตอยู่ไม่น้อย

                   ผู้เขียนได้สำรวจคร่าวๆ และวิเคราะห์ต้นกำเนิดและปลายทางพบว่า ผิดเพี้ยนจากพุทธประสงค์ไปมาก หากจะมองอีกแง่ก็ถือว่า ผู้คนนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้ หากจะยึดในกรอบแบบพวกอนุรักษ์นิยมก็น่าคิดว่า ผิดวัตถุประสงค์ศาสนาไปแล้ว หรือกำลังออกนอกลู่ นอกทางไปเรื่อยๆ หรือจะปล่อยไปตามแบบพวกโลกสมัยใหม่กันดีนะ?

                                                        

                   ต้นกำเนิดเรื่อง "สมาธิ" มาจากพวกฮินดูที่สอนเรื่องการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายแห่งวัฏของอัตมัน ที่พวกฤๅษี นักพรตก่อนพุทธกาลนิยมกัน เมื่อศาสนาพุทธกำเนิดขึ้น ก็อาศัยวิธีนี้ค้นหาสัจธรรมเช่นกัน จนพบทางบรรลุอรหันต์ เชื่อกันว่า พระองค์น่าจะใช้ แบบสมาธิ อย่างใด อย่างหนึ่งแน่นอน ต่อมาสาวกและผู้คนก็อาศัยหลักการนี้เรื่อยมา แต่ให้จับหลักไว้ว่า พระพุทธศาสนเน้นสมาธิเพื่อทำให้จิตสงบในเบื้องต้น กำจัดกิเลสในท่ามกลาง และตัดประหารอวิชชา อุปาทาน ในที่สุด ผลคือ บรรลุสิ้นวัฏเข้าสู่นิพพาน

                     ด้วยระยะเวลายาวนาน การสืบทอดคำสอนต่างๆ ก็ค่อยๆ ห่างต้นเค้าออกไปเรื่อยๆ มีหลักการในพระไตรปิฏกไว้เป็นเครื่องนำพา กระนั้น ผู้คนต่อมาก็ยากที่จะจับหัวใจหรือหลักการได้ จึงเชื่อและทำผิดเพี้ยนไป แล้วก็ยืนยันว่า สำนักตนถูกหลักการ วิธีการของตนถูกต้อง จนสร้างรอยปัญหาในคำสอนกันมาอย่างหลากหลาย 

                    เถราจารย์ อรรถกถา อนุฎีกา ครู คณาจารย์ฝ่ายหลัง ได้ขยายเกินขอบเขตพุทธพจน์หรือไม่ หรือใช้อัตโนมติเอา จนเกิดสำนักต่างๆขึ้น เช่น สำนักพุทธโฆษาจารย์ ฝ่ายลังกา ฝ่านสยามวงษ์ ฝ่ายมหายาน ฝ่านเถรวาท ฝ่ายจีน ฝ่ายญี่่ปุ่น ฝ่ายพม่า มอญ และไทย ถิ่นกำเนิดเหล่านี้ ยังมีสำนักปฏิบัติที่ซ้อนกันอยู่มากมาย ซึ่งไม่ได้เป็นเอกภาพที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่คนละเรื่องเดียวกัน

                   พอถึงยุคเราทุกวันนี้ เกิดสำนักอีกมากมายเท่าไหร่นับไม่ถ้วน แม้หลักการพุทธจะเอื้อให้เป็นสากลนิยมก็จริง ปรับเปลี่ยนได้ตามกาลสมัยก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตไปพร้อมกันคือ ต่างแตกแยกจุดกำเนิด และวิธีการ ทั้งๆ ที่เป้าหมายอันเดียวกัน อย่างนี้จะให้สิทธิสำนักเหล่านี้ หรือควรจะชี้หลักการไว้ให้มั่นคง ดั่งพระพรหมคุณาภรณ์เน้นย้ำเสมอ 

                                     

                   ในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตมาเรามีสำนักปฏิบัติด้านสมาธิมากมาย ไม่รู้เค้าเดิมของครูอาจารย์เหล่านั้น กับอนุศิษย์รุ่นต่อมา ยึดหลักการเดิมไว้หรือแปลงแปลงอุดมคติไปหมดแล้ว เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นมีลักษณะค่อยๆปฏิรูป ส่วนที่เกิดใหม่จริงๆ กลับเพี้ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากพุทธประสงค์มากทีเดียว นี่คือ จุดที่ควรตั้งคำถามหรือไม่ว่า ใช้หลักสมาธิผิดหรือเพี้ยนไปไหม?

               นี่คือ สำนักตัวอย่าง ซึ่งพอจัดกลุ่มไว้ดังนี้

              ๑) กลุ่มสมาธิเพื่อบรรลุธรรม คือ พวกกลุ่มดั้งเดิมเถรวาท และสาวกที่ยึดในหลักพระธรรมวินัยไว้ ฯ

               ๒) กลุ่มสมาธิเพื่ออิทธิฤทธิ์ คือ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดธรรมกาย ฯ

               ๓) กลุ่มสมาธิเพื่อบำบัดจิต เช่น ฟอยด์ ก็ใช้สมาธิแบบนี้รักษาผู้ป่วยโรคจิต หรือแพทย์ทางเลือกในปัจจุบัน หรือสำนักอนัมคารา ฯ

              ๔) กลุ่มสมาธิเพื่อไสยศาสตร์ เช่น สำนักสักยันต์ สวดภาณยักษ์ บูชาพระราหู ฯ

              ๕) กลุ่มสมาธิเพื่อรักษาโรค เช่น โกเอ็นก้า อ.แดงกีร์ต้า อ.ดร.สมพรแบบ SKT หรือ แบบ TM ของมหาฤๅษี Mahesh

              ๖) กลุ่มสมาธิเพื่อปัญญา เช่น สายหลวงพ่อพุทธทาส สายพอง ยุบ จากพม่า สายหลวงปู่มั่น และสำนักในต่างประเทศ ฯ

              ๗) กลุ่มสมาธิเพื่อเกิดพลานุภาพ เช่น หลวงพ่อวิริยังค์ สมาธิหมุน เหวี่ยง ติช ทัช ฮัน หรือแบบผสมโยคะ ดร.สนอง วรอุไร ฯ

              ๘) กลุ่มสมาธิเพื่อท่องนรก สวรรค์ เช่น หลวงพ่อพุธ  แม่ชีต่างๆ หรือพระครูบาต่างๆ ในภาคเหนือที่นิยมนั่งสมาธิเที่ยวนรกกัน ฯ

               ๙) กลุ่มสมาธิเพื่อเสพติดสุข เช่น เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ตำหนักทั้งหลาย ที่ติดในรูปแบบพิธีกรรมสมาธิปากทางเท่านั้น ฯ

              ๑๐) กลุ่มสมาธิเพื่อเข้าถึงพระเจ้า เช่น ลัทธิต่างๆ ศาสนาอื่นๆ

                ทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่าง ที่ยังมีอีกมากมาย ทั้งสำนักเล็กๆ ทั้งบุคคล ตำหนัก ฤๅษี ร่างทรง องค์เทพ ทั้งหลาย ล้วนใช้หลักการสมาธิเป็นบันไดทั้งนั้น ที่ควรจะสังเกตคือ สำหนักเหล่านั้น สอนไปตามพุทธประสงค์หรือไม่ หรือหากจะแปลง ประยุกต์ อยู่บนฐาน สติ ปัญญา การมักน้อย สันโดษ ดับทุกข์ บรรลุอาสวะะหรือไม่ 

                  แม้จะหาคนที่จะเป็นแบบอย่างแบบสมัยก่อนไม่ได้ แต่ก็ต้องรักษาหลักการให้มั่นไว้ มิฉะนั้น จุดนี้ นานไปก็จะกลายเป็นหลักการผิดเพี้ยน ออกนอกทางศาสนาในที่สุด อย่างไรก็ตาม คุณพรรณี ภาณุวัฒน์สุข ได้ศึกษาจากชาวตะวันตกชื่อ มาคัส อูริเลี่ยส ที่เขาสรุปการทำสมาธิไว้ ๔ ประการคือ ๑) เพื่อทำจิตให้ว่างจากความคิด ๒) จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ๓) เปิดจิต เปิดใจ ให้กว้างขึ้น ๔) สร้างให้เกิดกระบวนการคิดจากเหตุ ไปหาผล  (http://www.thaicam.go.th/index.php?option=com_cont...)


                สำหรับผู้เขียน เชื่อว่า สมาธิ เป็นสมบัติสากล ไม่มีใครจะยึดเป็นของใครได้ ในศาสนาต่างๆ ก็ได้ใช้สมาธิในรูปแบบต่างกัน อย่างไรก็ตาม ควรจะศึกษาหลักการของฐานตนเองให้ดีก่อน จะนำไปแปลง เช่น หากเป็นชาวพุทธ ก็ควรเข้าใจฐานการปฏิบัติว่า เป็นอย่างไร มีหลักการอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร  เพื่อให้เห็นแนวทางจากอดีต เพื่อประยุกต์ในปัจจุบันและอนาคต 

                 อนึ่ง หากจะนำไปใช้ในด้านการแพทย์ ก็ควรกำหนดกรอบว่า การรักษาในทางการแพทย์ต่างกับศาสนา ที่เน้นการบรรลุเเบบดั้งเดิมตามจุดหมายอุดมคติศาสนา หากจะนำไปใช้แบบทิ้งรากเหง้าเค้าเดิมทางศาสนาเลย อาจทำให้เสียจุดยืนในที่สุด แล้วท่านคิดอย่างไรบ้างครับ  ท่านใช้สมาธิแบบใดบ้าง อยากรู้ครับ           

--------------------(๒๕/๗/๕๗)-------------------------

คำสำคัญ (Tags): #สมาธิเพี้ยน?
หมายเลขบันทึก: 573194เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2014 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Thank you for this high quality blog.

I agree that 'meditation' is merely a mind/mental improvement technology -- an 'open' technology that is known and practice for many thousands years.

I like to see 'meditation' technology in school curricula as 'mental fitness) education' to complement 'physical (fitness) education' and logical (reasoning) education.

Thank you, sr, for sharing idea, I agree with you too that the meditation should be taught in some schools as another fitness centers as you said. In fact, there is any school has done for children but it seemed that meditation is used for relief of the disorder.

"จิต..ที่แท้..นั้น..ประภัทร์สร"...สมาธิ..สูงสุด..นำให้..เข้าถึง..สัจจธรรม..(ผู้ที่จะเข้าถึง..ที่สุดอันมีปรินิพาน..อันเป็นที่ตั้ง...นั้นจัก..ต้องฝึกวิริยปฏิบัติ...)...(ไม่มีความเพี้ยน...ในอนิจัง)...มันเป็นเช่นนั้นแล..ดัง..พุทธวจนะ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท