บุญนิธิที่ไม่เพียงแค่ทาน กับการคำนึงเนืองๆของพระพุทธเจ้า


เวลาเรานำอาหารไปถวายพระ นั่งสงบจิตฟังเทศน์ พอกลับบ้าน หากมีใครถามว่าไปไหนมา เราก็อาจตอบว่า “ไปทำบุญที่วัดมา”

เวลาที่เห็นใครได้ทุกข์แล้วอยากช่วยเหลือ ก็อาจมีคนสนับสนุนความเห็นเราอีกแรงว่า “ช่วยเขาหน่อยเถิด นึกว่าเอาบุญ”

หรือหากเราร่วมสร้างสถานที่บางแห่งเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ เราก็อาจชวนเพื่อนที่ทำงานร่วมบริจาคเงินด้วย ด้วยคำพูดที่ว่า “มาบอกบุญ” คือมาชวนพวกเขาเหล่านั้นร่วมทำบุญด้วยการบริจาคด้วยกัน

คำว่า “บุญ” จึงเป็นคำที่ชาวพุทธไทยคุ้นเคยมากค่ะ คำนี้อันที่จริงมีที่ใช้มาก่อนพุทธกาลโดยมีความหมายเจือโชคหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ได้ทรงรับคำที่ใช้กันอยู่แล้วมาใช้ในพุทธศาสนาด้วย แต่ในลักษณะที่เท่าที่ธรรมในพุทธศาสนาจะพอสอดคล้องกันได้

คำคำนี้มีความหมายกว้างขวางมากค่ะ มากอย่างไร เชิญตามมาค่ะ มีเรื่องมาเล่า

ในพจนานุกรมมคธ-ไทย โดยพันตรี ป.ปลงสมบุญ อธิบายความหมายของบุญไว้ว่าคือ “ชำระล้าง,สะอาด,แจ่มใส,น่ายินดี,กุศล,กรรมดี,ความงาม,ความสุข,เครื่องชำระสันดานให้สะอาด” ส่วนในพจนานุกรมบาลี – ไทย โดย พระอุดรคณาธิการ และ ศ.พิเศษ.ดร.จำลอง สารพัดนึก อธิบายว่าหมายถึง “บุญ,ความผ่องแผ้วของดวงจิต,ความสะอาด,ความสุข,ความดี

จากความหมายทั้งหมดนี้ แสดงถึงบุญว่ามีทั้งส่วนที่เป็นเหตุ และ บุญในส่วนที่เป็นผล

บุญส่วนที่เป็นเหตุ คือ การกระทำ หรือ สิ่งที่ทำให้เกิดบุญ สิ่งที่ทำให้เกิดผลดี ดังเช่นในความหมายว่าเป็น เครื่องชำระสันดาน เป็นต้น ที่ว่าเป็นเครื่องชำระสันดาน เป็นเครื่องชำระล้างทำให้จิตใจสะอาด ก็เพราะในเวลาที่สิ่งซึ่งเป็นบุญเกิดขึ้นในใจ เช่น เมื่ออบรมเมตตาให้เกิดขึ้นเพื่อชำระจิตจากพยาบาท ใจก็สะอาดบริสุทธิ์, เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น จิตใจก็ผ่องใส หายเศร้าหมอง เป็นต้น

นักวิเคราะห์ศัพท์ แปล บุญ ว่า นำมาซึ่งการบูชา** หรือ ทำให้เป็นผู้ควรบูชา ก็คือว่า ใครก็ตามค่ะที่ได้ทำสิ่งต่างๆอันเป็นการสั่งสมบุญหรือสั่งสมความดีไว้ เช่น สั่งสมศรัทธา เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นต้น ผู้นั้นก็มีแต่คุณธรรมมากมาย คุณธรรมหรือคุณสมบัติเหล่านั้นนี่เองค่ะที่ช่วยยกระดับจิตใจของเขาขึ้น เขาจึงเป็นผู้ควรแก่การบูชา ดังนั้น อีกความหมายหนึ่งของบุญก็คือ ทำให้เป็นคนน่าบูชา ทำให้เกิดผลที่น่าชื่นชม

และบุญส่วนที่เป็นส่วนผล คือผลจากการทำเหตุหรือการทำบุญ หรือก็คือวิบากของการกระทำที่เรียกว่าบุญนั่นเองค่ะ ดังเช่นความหมายว่า ความสุข ความงาม ความสะอาด น่ายินดี เป็นต้น เพราะว่าเมื่อเกิดการทำบุญขึ้นมาแล้วก็ต้องมีวิบากหรือผลที่ดีงาม น่าชื่นชม คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข เพราะเมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว จิตใจก็สบาย มีความเอิบอิ่มแช่มชื่นผ่องใส บุญจึงเป็นชื่อของความสุขไปด้วย

เพราะความหมายที่กว้างขวางอย่างนี้ บุญ จึงไม่ได้หมายความเพียงการทำทาน การตักบาตร การฟังธรรม การขวนขวายในงานสาธารณประโยชน์ การปล่อยสัตว์ อย่างที่เราส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่หมายรวมถึงการกระทำทางกาย วาจา ใจ อันทำให้เป็นผู้ควรบูชา อันชำระจิตใจให้สะอาด เช่น หากคิดโลภอยากได้ของของใครแล้วกำหนดได้ว่ากำลังถูกกิเลสคือโลภะครอบงำอยู่ จึงพยายามละความคิดนั้น พยายามบรรเทา พยายามทำให้ไม่มีความคิดนั้นเกิดขึ้นอีกต่อไป ก็ถือว่าเราได้ทำบุญแล้วค่ะเพราะได้ชำระจิตจากเครื่องเศร้าหมอง

เมื่อทำบุญส่วนเหตุ คือ ระงับความคิดนั้นได้ สามารถเอาชนะกิเลสในใจตนได้

ก็ได้บุญส่วนผล คือ มีสุข ชีวิตเป็นปกติ ไม่ต้องเร่าร้อนเพราะกิเลสเรื่องนั้น

บุญ จึงนอกจากจะเป็นชื่อของความสุข ความผ่องใส คุณธรรมที่เพิ่มพูนขึ้นแล้ว มีอานิสงส์คือความสุขดังกล่าวแล้ว ยังมีอานิสงส์อื่นๆอีกมากมายค่ะ คือ ทำให้มีทางไปหรือคติที่ดี และทำให้ได้สมบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และ นิพพานสมบัติอีกด้วยค่ะ ซึ่งสมบัติทั้งหมดนั้น พระศาสดาทรงพรรณาไว้ว่ามี “ความมีผิวพรรณงดงาม, ความมีเสียงไพเราะ, ความมีทรวดทรงสมส่วน, ความมีบริวาร, ความเป็นใหญ่, ความเป็นอิสระ, ความสุข, ปฏิสัมภิทา, วิโมกข์, สาวกบารมี, ปัจเจกโพธิ และ พุทธภูมิ” ตามที่ตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตร หรือ พระสูตรว่าด้วยขุมทรัพย์

เอ่ยถึงขุมทรัพย์หรือ “นิธิ” ในภาษาบาลีแล้ว ก็ขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับคำนี้ก่อนก็แล้วกันนะคะ คำว่าขุมทรัพย์ในพระสูตรนั้นหมายถึงขุมทรัพย์อันเป็นทรัพย์ทั้งที่เป็นตัวสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ และ สิ่งที่เป็นนามธรรมที่สามารถติดตามเราไปทุกหนแห่ง ไม่ว่าอยู่ในภพภูมิใดค่ะ

ในพุทธกาล ในกรุงสาวัตถี กุฎุมพีไม่ปรากฏนามท่านหนึ่ง เป็นผู้มั่งคั่ง มีศรัทธา ไม่ตระหนี่ ครองเรือนอยู่ วันหนึ่งเขาถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ก็พอดีในขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลมีรับสั่งหา ในขณะที่ราชบุรุษมาตามตัวนั้น เขากำลังอังคาส เลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์อยู่ จึงได้บอกไปแก่ราชบุรุษว่าให้ราชบุรุษล่วงหน้าไปก่อน ท่านจะตามไปทีหลัง ท่านขอฝังขุมทรัพย์ในขณะนั้นเสียก่อน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงแสดงบุญสัมปทาหรือความถึงพร้อมของบุญว่าเป็นนิธิหรือขุมทรัพย์โดยปรมัตถ์ จึงได้ตรัสนิธิกัณฑสูตรนั้น

ในสมัยก่อน คนเรามักรักษาทรัพย์ด้วยการนำทรัพย์ใส่หีบหรือไห ขุดดินแล้วฝังไว้ พอฝังหีบไหที่เต็มไปด้วยทรัพย์รวมกันไว้มากๆ ที่ที่ทรัพย์ที่หุ้มห่อ กลบฝัง เพื่อรอการนำมาใช้ต่อไปนี้ก็ถูกเรียกว่า “ขุมทรัพย์” โดยที่ขุมทรัพย์แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ ถาวระ, ชังคมะ, อังคสมะ และ อนุคามิกะ

มาดูที่ความหมายของทรัพย์แต่ละชนิดกันนะคะ

๑ ถาวระ คือทรัพย์ถาวร ทรัพย์ที่ยั่งยืนในมนุษยโลก เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน เงิน ทอง ถ้าเรียกในสมัยนี้ก็คืออสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์นั่นเองค่ะ

๒ ชังคมะ คือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ทาสชายหญิง ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข ไก่ เป็นต้น สมัยนี้ไม่มีทาสแล้ว ก็คงมีแต่สัตว์ต่างๆที่เราไม่เรียกว่าทรัพย์ แต่เลี้ยงว่าสัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์แทน

ทรัพย์ทั้ง ๒ อย่างนี้ สามารถสูญหายได้ ยิ่งใช้ ยิ่งหมดไป และเราครอบครองได้ก็ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ หรือ ตราบเท่าที่เรายังทำกรรมอันเป็นบุญเท่านั้น หากเมื่อใดเราประกอบกรรมที่นำไปสู่ที่ต่ำ เช่น คบเพื่อนชั่ว เล่นการพนัน เป็นต้น ทรัพย์นี้ก็อาจหมดสิ้นไปได้

๓ อังคสมะ คือทรัพย์ติดตัวทางความชำนาญในด้านวิชาความรู้ ศิลปะวิทยาต่างๆ ทรัพย์นี้ท่านเปรียบเสมือนอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายค่ะ จึงได้ชื่อว่า อังคสมะ เสมอด้วยอวัยวะ

ที่เรียกทรัพย์ว่าทรัพย์ติดตัว ก็เพราะทรัพย์นี้เมื่อมีแล้วก็คงอยู่อย่างนั้นและติดตามเราไปในบางภพภูมิที่อวัยวะเราสามารถทำงานนั้นๆได้ ทรัพย์นี้จึงเปรียบเหมือนมีใครลากหีบสมบัติติดตามเราไปทุกแห่งอย่างนั้นค่ะ ถ้าในภพภูมิไหนเราไม่นำมาใช้ ความชำนาญนั้นก็จะถูกลืมเลือนไป จนกว่าจะมีโอกาสได้เริ่มต้นการนำมาใช้ใหม่จึงจะถูกรื้อฟื้นขึ้น แต่ถ้าไม่มีการรื้อฟื้น ทรัพย์ในหีบก็ “มีเหมือนไม่มี” เพราะไม่ได้นำออกมาใช้ หรือหากภพภูมิใดที่อวัยวะไม่สมบูรณ์ ความชำนาญนั้นๆก็ถูกนำมาใช้ไม่ได้

สมมติว่าเราเคยฝึกทำงานบางอย่างมาแล้ว หากในชีวิตนี้ เราได้มาเริ่มทำงานอย่างนั้นใหม่ เราอาจคิดว่าเราได้เริ่มทำสิ่งใหม่ๆแต่อันที่จริงก็คือเรากำลังเปิดหีบขุมทรัพย์ออกแล้วก็เพิ่มทรัพย์ใหม่ลงไปอันทำให้ทรัพย์ที่มีอยู่เดิมนั้นเพิ่มพูนขึ้น และเพราะเคยทำมาแล้ว เราจึงเรียนรู้ได้ไวจนก้าวหน้ากว่าใครที่เรียนมาล่วงหน้าแต่ว่าไม่เคยสะสมทรัพย์นั้นในหีบมาก่อนค่ะ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเราไม่ได้ “เพิ่งมาเรียนรู้” แต่เรามา “ต่อยอด” ความรู้เดิมที่มีอยู่ให้เพิ่มพูน

๔ อนุคามิกะ ทรัพย์ติดตามตัวทางคุณธรรม และเพราะสามารถติดตามไปได้ทุกภพภูมิ จึงได้ชื่อว่า อนุคามิก ติดตามตัว ขุมทรัพย์นี้บุคคลจะได้ก็ด้วยการทำบุญคือ ทาน ศีล สัญญมะ และ ทมะ อย่างถึงพร้อม คือ ควบคู่กันไปทั้งหมด ไม่ใช่ทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลควรฝังขุมทรัพย์ชนิดนี้ในเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกผู้มาเยือน บิดามารดา พี่ชาย เป็นต้น

ทาน คือการแบ่งปัน ศีล คือเจตนาละเว้นการเบียดเบียนด้วยจิตที่มีเมตตา สำรวมกาย วาจา  สัญญมะ เป็นการห้ามจิตไม่ให้ตกไปในอารมณ์ต่างๆ คำนี้เป็นชื่อของสมาธิและอินทรียสังวร ส่วน ทมะ หมายถึงการฝึกตนได้แก่การเข้าไประงับกิเลส การพิจารณาเพื่อให้กิเลสสงบรำงับ คำนี้เป็นชื่อของปัญญาค่ะ  

ทรัพย์นี้ ติดตาม ทำให้เรามีคุณสมบัตินั้นๆพร้อมการเกิด บางอย่างเช่นคุณลักษณะของจิตปรากฏให้เห็นเองตามที่เคยได้รับการอบรมมา เช่น บางคนมีเมตตาเป็นพื้นฐานของจิตมาตั้งแต่เด็ก แต่บางเรื่องเช่น สมาธิ ปัญญา หรือ ความชำนาญในการฝึกกรรมฐาน ก็เหมือนกับหีบทรัพย์ด้วยเหมือนกันค่ะ คือ ถ้าไม่มีการเปิดออกใช้ ก็มีเหมือนไม่มี จวบจนได้พบเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ จึงหวนคิดขึ้นมาได้ตามวิสัยที่เคยใช้ความความอย่างนั้นมาก่อน หรือ ได้พบกัลยาณมิตรและมีความเพียรที่แยบคาย ทำให้นำทรัพย์นั้นมาใช้ใหม่ ก็จะสามารถพัฒนาคุณธรรมที่มีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จนสามารถบรรลุธรรมในพุทธศาสนาได้

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชอบตามป้าไปวัด ชอบเล่นเป็นพระมาตั้งแต่อายุได้ ๗ พรรษา โดยเกณฑ์ญาติพี่น้องให้มาเล่นเป็นชาวบ้าน ท่านเอาผ้าขาวม้ามาห่มเป็นจีวร ให้พี่น้องที่เล่นเป็นชาวบ้านใส่บาตร บางทีท่านก็นั่งบนที่ที่สมมติว่าเป็นธรรมาสน์ แล้วเทศน์ให้ชาวบ้านสมมติฟัง หรือเมื่อท่านเจ็บป่วย ต้องนอนอยู่ตามลำพัง ป้าของท่านต้องจุดเทียนให้ท่านเพ่งเปลว ซึ่งคล้ายๆเป็นการเพ่งอะไรสักอย่างเพื่อให้จิตสงบนะคะ พอท่านมีโอกาสบวชในระหว่างพรรษาเมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา เพียงในสามเดือนแรกของการบวช เมื่อท่านได้รับการอบรมจากพระอุปัชฌาย์  ท่านก็สามารถประทับนั่งบนธรรมาสน์จริงๆและแสดงธรรมเทศนาแทนได้ และเมื่อพ้นพรรษานั้นแล้ว ท่านก็ยินดีอยู่ในสมณเพศต่อไป

เหล่านี้แสดงถึงศรัทธา ความเคยชิน ความชอบที่สั่งสมและติดตามตัวมาค่ะ

สำหรับพระผู้มีพระภาคที่เคยสั่งสมกุศลธรรมอันเป็นบารมี สั่งสมคุณความดีใดๆ ได้อธิษฐานไว้ในใจว่าจะขอตรัสรู้พระโพธิญาณเพื่อเหล่าสัตว์อันมีจำนวนมหาศาลมาก่อน เมื่อมาพบความผันผวนอันเป็นธรรมดาของโลก ก็จะใช้สามารถพิจารณาอย่างแยบคายตามวิสัยเดิมที่ทรงเคยกระทำมาจนเห็นทางออกหรือเห็นธรรมได้ด้วยพระองค์เองค่ะ

ดังที่ปรากฏใน ปาสราสิสูตร ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ว่าทรงพิจารณาอยู่เสมอๆว่า สิ่งต่างๆมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ตนเองก็มีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ไฉนจึงยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาอยู่อีก ก็เมื่อทราบชัดถึงโทษของความเป็นธรรมดาเหล่านี้แล้ว ก็น่าจะแสวงหาทางที่จะทำให้พ้นไปจากธรรมชาติเหล่านี้ตลอดไป (ในพระสูตรนี้จะเห็นว่าแม้การออกผนวชก็ไม่ได้ทรงหนีในเวลากล่างคืนค่ะ)

ส่วนที่ว่า “สิ่งต่างๆ” หมายถึงอะไร ความหมายก็คือ “บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แกะ แพะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน” นั่นเองค่ะ

เมื่อพิจารณาจากความในพระสูตรนี้ น่าจะหมายถึงว่าพระองค์ทรงใคร่ครวญถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆนะคะ ไม่น่าจะทรงเพิ่งจะระลึกได้เพียงเพราะการพบเห็นเทวทูตทั้ง ๓ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ เพียงครั้งที่เสด็จประพาสพระนครเพียงไม่กี่วันดังที่เราเคยเรียนกันมาในวิชาพระพุทธศาสนา แต่การทอดพระเนตรเห็นสมณะ น่าจะเป็นเหตุให้ทรงตัดสินพระทัยถึงวิถีชิวิตที่จะค้นพบโมกขธรรมมากกว่า

ในตำราบางที่นำสมณะเข้าไปรวมกับเทวทูตทั้ง ๓ แล้วเรียกว่าเทวฑูต ๔ ก็มีค่ะ แต่อันที่จริงควรเรียกเทวทูต ๓ และสมณะ ๑  เพราะสามลักษณะแรกเกี่ยวกับภาวะของทุกข์ที่ต้องพบในโลก ส่วนสมณะเป็นภาวะที่เอื้อต่อปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปจากทุกข์

อย่าเพิ่งเชื่อดิฉันนะคะ ลองพิจารณาเนื้อความตามพระสูตรนี้ แล้วใช้วิจารณญาณด้วยตัวท่านเอง แล้วค่อย “ปลงใจเชื่อ” ตามความเห็นของท่านเองค่ะ

“ [๒๗๖] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนเราเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล

เราจึงคิดอย่างนี้ว่า ‘เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก’ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา... มีความตายเป็นธรรมดา... มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา... มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก” ทางที่ดีเราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ”

(ความแก่ เจ็บ ตาย เศร้าโศก เศร้าหมอง ตรัสในทำนองเดียวกัน )

<p>[๒๗๗] ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพราะราชมารดาและพระบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่ทผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต”</p><p>ม.มู.(แปล) ๑๒ / ๒๗๖ / ๒๒๙ – ๓๐๐ )</p><p>และเมื่อพระองค์ทรง “ทราบชัด” โทษ ทางออกจากความเป็นธรรมดาเหล่านั้นและทรงหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว อีกทั้งทรงทราบว่าความหลุดพ้นของพระองค์จะไม่กำเริบอีก พระชาตินั้นเป็นพระชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดอีกต่อไป ก็ทรงตรัสรู้พระโพธิญาณ และทรงทราบด้วยค่ะว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นธรรมลึก ยากที่ผู้อื่นที่ยังติดพันอยู่กับสิ่งเหล่านั้นจะมองเห็น หรือ มองเห็นแล้ว ก็ยากที่จะถอนตัวออก ยังคงพอใจในความสุขที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และแสวงหาสิ่งที่ให้ความสุขเหล่านั้นอยู่

ไม่ต้องดูอื่นไกลค่ะ ก็ดูที่ตัวเราๆทั้งหลาย ที่แม้จะทราบโทษของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศกเศร้าปางตายแล้ว ก็ยังถอนความยึดมั่น ถอนความปรารถนาจากสิ่งนั้นๆที่มีธรรมชาติเป็นธรรมดาเหมือนๆเราในทันทียังไม่ได้ ต้องค่อยๆถอนความพอใจไปทีละน้อย สร้างบุญสร้างกุศลเพื่อเป็นทางไปของตนทีละน้อยๆนะคะ

พอมาถึงตรงนี้ นึกถึงพระคาถานี้ในขุททกนิกาย ธรรมบทขึ้นมาทันทีเลยค่ะ ที่ว่า

          ผู้มีปัญญาพึงกำจัดมลทินของตน

          ทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ

         เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง ฉะนั้น

         ขุ.ธ.(แปล) ๒๕ / ๒๓๙ / ๑๐๖

ดังนั้นหากเราหวังผลของบุญในลักษณะต่างๆ ก็ควรทำบุญในทุกๆทางหรือก็คือทำบุญให้ถึงพร้อมค่ะ ทั้งในเรื่องของการแบ่งปัน(ทาน), การมีเจตนาไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยกาย วาจา ใจ โดยมีเมตตาเป็นที่ตั้ง(ศีล), การพยายามตั้งสติเพื่อปิดกั้นอกุศลธรรม พยายามกำหนดรู้กิเลสที่เกิดขึ้นในใจเป็นครั้งๆแล้วข่มกลั้นไม่ยอมให้ถูกกิเลสครอบงำด้วยจิตที่ตั้งมั่น มีสมาธิ(สัญญมะ) และ การพิจารณาเนืองๆเพื่อละ บรรเทาให้น้อยลง จนถึงการไม่เกิดขึ้นอีกของกิเลสข้อนั้นๆในที่สุด(ทมะ)

การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ตรัสว่า แม้จะไม่หวังนิพพาน แต่หากได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติไป ๆก็จะพบนิพพานเองค่ะ*** เช่น นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบันหรือสันทิฏฐิกนิพพาน คือ การสามารถดับความต้องการที่เป็นตัณหาได้เป็นครั้งๆไป ดับได้คราวใด ก็สุขเย็นได้ในคราวนั้น ใจก็ใสสะอาดปราศจากกิเลสได้ในบัดนั้น แต่เพราะกิเลสในเรื่องนั้นยังมีอยู่ ความต้องการอันเป็นตัณหาจึงอาจเกิดขึ้นได้ใหม่ ไม่เป็นไรค่ะ เกิดใหม่ก็เพียรดับใหม่ ขอเพียงไม่ปล่อยใจให้ไหลตามกิเลสที่จรมาสู่ ก็จะพบกับสันทิฏฐิกนิพพานนี้ได้อีก ยิ่งพบสันทิฏฐิกนิพพานนี้ได้บ่อยเท่าไร ก็อยู่เป็นสุขได้ในปัจจุบันได้บ่อยขึ้นและนานขึ้นเท่านั้น จนกว่าจะพิจารณาจนดับกิเลสเรื่องนั้นๆดับได้หมด

หากจะถามว่าทำไมด้วยการทำบุญจึงพบนิพพานได้ คำตอบก็คือ เพราะบุญอันเป็นขุมทรัพย์นั้นที่บุคคลด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล สมาธิ (สัญญมะ) และ ปัญญา (ทมะ) จะเห็นว่าตรงกับ ไตรสิกขา หรือ มรรค เลยใช่ไหมคะ เพียงแค่แยกทานออกมาให้เด่นขึ้นเท่านั้น เพียงแต่หากทำบุญโดยหวังผลตอบแทนแก่ตน ก็เรียกว่า โอปธิกบุญ บุญที่อำนวยผลแก่เบญจขันธ์ อันเป็นโลกิยกุศล เป็นโลกิยมรรค แต่หากทำบุญโดยเพื่อหวังจาคะ สละกิเลส สละความเห็นว่าเป็นตน ก็เป็นโลกุตรบุญ เป็นโลกุตรกุศล เป็นโลกุตรมรรค

คำว่าบุญที่เราใช้ๆกันอยู่โดยทั่วไปนี้ แม้จะพูดกันว่า “บุญ” เฉยๆ ก็ควรเข้าใจว่ามีคำว่า “โอปธิก” กำกับอยู่ด้วยเสมอ คือ เรามักทำบุญโดยหวังผลตอบแทนแก่ตน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายไว้ในหนังสือพุทธธรรมว่า เมื่อมีคำว่าโอปธิกบุญ ก็น่าจะมีคำว่า อโนปธิกบุญ หรือ นิรูปธิกบุญ ใช้ด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีค่ะ ส่วนบุญในระดับโลกุตระนั้น มีคำว่าโลกุตรกำกับ เป็น โลกุตรบุญ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้

ตรงข้ามค่ะ แทนที่จะมีอโนปธกบุญหรือนิรูปธิกบุญ มาเข้าคู่กับโอปธิกบุญ ท่านว่ากลับพบคำว่าโอปธิกบุญ คู่กับ นิรูปธิกกุศล แทน

เหมือนกับกุศลที่แปลว่า ดี, งาม, ฉลาด, คล่อง, สบาย, ถูกต้อง,เกื้อกูล, ตัดโรคหรือความชั่วร้าย ยังมีธรรมที่เข้าคู่กัน คือมีทั้งที่เป็นโลกิยกุศล และ โลกุตตรกุศล หรือ มรรค ที่มีทั้งโลกิยมรรค และ โลกุตรมรรค แต่คู่ของบุญกลับไม่เป็นอย่างนั้น เป็น โอปธิกบุญ คู่กับ นิรูปธิกกุศล แทน

แต่เราคงไม่ต้องสนใจศัพท์ที่เรียกแทนความหมายมากนักก็ได้นะคะ แค่ทำแต่บุญอย่างถึงพร้อมก็พอแล้ว

จึงมองว่าความเห็นในการทำบุญก็ยังมีการหมุนเวียน เหมือนมรรคที่หมุนเวียนแก่รอบขึ้นเรื่อยๆ จากโลกิยมรรคค่อยๆแก่รอบขึ้นจนเป็นโลกุตรมรรค และค่อยๆแก่รอบขึ้นจนบังเกิดวิชชา วิมุตติ หลุดพ้นในที่สุด

อย่าเพิ่งเชื่อดิฉันนะคะ

แต่..........

พิจารณาด้วยตัวท่านเอง

.......ดีกว่า

หมายเลขบันทึก: 573156เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 05:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านบันทึกพี่ตุ๊กตาแล้ว อิ่มใจค่ะ

บันทึกเขียนโดยความเข้าใจลึกซึ้ง โยงใยเรื่องราวได้สืบต่อเนื่อง น้องคิดถึงการเขียนเรียงความเชิงกระทู้ธรรม

สมัยเด็ก ๆ ผ่านโลกมาน้อยอ่านแล้วไม่เข้าใจ เพียงแค่รู้สึกว่า หัวข้อธรรมนั้น ๆ เราเคยได้ผ่านการอ่านและฟังจากการฟังเทศน์ธรรมสวณ มาอ่านบันทึกพี่ตุ๊กตาจึง อิ่มใจ

..อยากได้นั่งคุย..หมายถึงฟังพี่ตุ๊กตาตรงหน้าตัวเป็น ๆ สักครั้งค่ะ แบบว่าจะมีสมาธิและเข้าใจได้ง่ายเมื่อได้ฟัง
เหมือนเพื่อนที่เป็นที่รัก(กัลยาณมิตร)ท่านหนึ่ง สมัยที่ต่างคนมีเวลาและได้พบกันเรามักคุยกันถึงหัวข้อธรรมเสมอ ๆ
..(น้องเป็นคนฟังมากกว่า)

สักวันหนึ่งคงมีโอกาสดี ๆ แบบนั้น ขอบคุณมากค่ะ

ขอบพระคุณหมอเล็กมากค่ะ

แวะมาเยี่ยมกันบ่อยๆ

:)

อยากจะได้พบ ได้คุย ได้จ้อกันจนอิ่มใจกับหมอเล็กสักครั้งจังค่ะ

โอกาสคงมาถึงสักวันนะคะ

ขอบคุณ ทุกครั้งที่อ่านการขยายกระจายธรรม

เป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และ นิพพานสมบัติ ซึ่งสมบัติทั้งหมดนั้น พระศาสดาทรงพรรณาไว้ว่ามี “ความมีผิวพรรณงดงาม, ความมีเสียงไพเราะ, ความมีทรวดทรงสมส่วน, ความมีบริวาร, ความเป็นใหญ่, ความเป็นอิสระ, ความสุข, ปฏิสัมภิทา, วิโมกข์, สาวกบารมี, ปัจเจกโพธิ และ พุทธภูมิ”

นี่เป็นผล... เชิญชวนทำ เหตุ หรือ action เริ่มจากง่ายๆก่อน( การแบ่งปัน เอื้อประโยชน์ และควบคุมอารมณ์ความคิด ส่งผลกำกับพฤติกรรมเอง) กระบวนความงดงาม จะเริ่มเป็นสาย งดงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท