มจร'จับมือ'ป.ป.ช.'ผุดกัณฑ์เทศน์ปราบโกง 'มจร'เตรียมเปิดลายแทง'สร้างไทยปรองดอง' จับมือ'ป.ป.ช.'ผุดกัณฑ์เทศน์ปราบคอร์รัปชั่น


'มจร'จับมือ'ป.ป.ช.'ผุดกัณฑ์เทศน์ปราบโกง

'มจร'เตรียมเปิดลายแทง'สร้างไทยปรองดอง' จับมือ'ป.ป.ช.'ผุดกัณฑ์เทศน์ปราบคอร์รัปชั่น :

เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมและการเมืองไทยมีความขัดแย้งมาเป็นเวลานาน มีการชุมนุมประท้วงพัฒนาไปถึงขั้นเกิดความรุนแรงเสี่ยงต่อการเกิดสงครามการเมือง ทั้งนี้เกิดจากปัญหาทางโครงสร้างของสังคมและการเมืองมีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆบ่อยเปลี่ยนแปลงไปมา ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดความรู้สึกเสียผลประโยชน์ ประกอบกับปัจจุบันนี้เป็นโลกของมูลข่าวสาร สื่อต่างๆได้ถูกนำมาใช้โจมตีกัน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคนไทยแบ่งสีแบ่งฝ่าย

ส่งผลให้ทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจ ปรับปรุงโครงสร้างทางสังคม การเมือง และกฎกติกาต่างๆ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ พร้อมกันนี้ได้สร้างกระบวนการของการปรองดองแห่งชาติขึ้นด้วยยุทธวิธีต่างๆ

แนวทางหนึ่งที่ คสช.ให้ความสำคัญคือนำหลักธรรมในศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนาเข้ามาประยุกต์ใช้ เห็นความสำคัญในบทบาทของคณะสงฆ์ในการช่วยสร้างความปรองดอง จึงได้ส่งตัวแทนเดินทางเข้ากราบนมัสการและถวายรายงานการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของชนในชาติ โดยใช้แนวทางพระพุทธศาสนา ภายใต้แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ที่วัดพิชยญาติการามที่ผ่านมา

และต่อมาได้มีคำสั่งมหาเถรสมาคม (มส.) แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (หมู่บ้านรักษาศีล 5)" จำนวน 17 รูป มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธาน โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสร้าง "หมู่บ้านรักษาศีล5" มาเป็นฐานนำร่องสร้างความปรองดอง

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) แม้นว่าจะเป็นสถานการศึกษาของคณะสงฆ์แต่ปัจจุบันนี้มีทั้งพระและฆราวาสเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก เพราะมีการเปิดการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกและแบบนานาชาติ มีบุคคลหลายระดับ ในแต่ละปีจะมีผลงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตที่ประกอบการศึกษาโดยประยุกต์หลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาออกมาเป็นจำนวนมาก

"มจร" นอกจากจะมีหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตระดับต่างๆแล้วยังมีหน้าที่ในการให้การบริการสังคมประยุกต์หลักธรรมเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ให้ร่วมสมัย จึงได้มีแนวความคิดที่จะนำวิทยานิพนธ์ลงมาจากหิ้งเพื่อนำมาแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมที่จะมีส่วนในการสร้างปรองดองสมานฉันท์ จึงได้ร่วมมือกับภาคเครือข่ายประกอบ สำนักงาน ป.ป.ช. คณะกรรมการอุดมศึกษา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สสส.

กำหนดจัดประชุมวิชาการนานาชาติ มจร (MCU Congress I) เรื่อง พุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและสังคมประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 23 - 24 กรกฎาคม 2557 ณ หอประชุมใหญ่ อาคาร มวก. 48 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ในวันที่ 23 ก.ค. พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุมในเวลา 13.00 น.

เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับสาธารณชนได้ทราบถึงกำหนดการดังกล่าว วันที่ 21 ก.ค. ที่ มจร อ.วังน้อย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม( มส.) ในฐานะอธิการบดี มจร และนายชัยรัตน์ ขนิษฐบุตร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้แทนเครือข่าย ร่วมกันแถลงข่าวถึงการจัดประชุมวิชาการนานาชาติดังกล่าว

พระพรหมบัณฑิต กล่าวว่า มีวัตถุเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการของนักวิชาการในไทย ทั้งส่วน มจร และสถาบันอุดมศึกษา ที่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับการพัฒนาจิตใจและสังคมที่มีอยู่จำนวนมาก มาแลกเปลี่ยนอภิปรายและเสนอต่อสังคม เนื่องจากที่ผ่านมางานวิจัยในลักษณะดังกล่าวกระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ แต่ไม่มีการนำเสนอเพื่อใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งที่บางงานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง มจร จึงเป็นเวทีกลางในการเสนองานวิจัยดังกล่าว เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเอาพุทธธรรมมาพัฒนาจิตใจ และแก้ปัญหาสังคม

ด้านนายชัยรัตน์ ขนิษฐบุตร รองเลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.มีแนวทางการป้องกันการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนา และมีบันทึกข้อตกลงร่วมกับมจร โดยมีการดำเนินการจัดทำคู่มือหลักสูตรการป้องการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนา และร่วมมือกับ มจร ส่วนภูมิภาค ขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริต นอกจากนี้จะมีการจัดทำกัณฑ์เทศน์ป้องกันการทุจริต เพื่อถวายให้พระสงฆ์ไปเทศน์ทั่วราชอาณาจักร โดยขณะนี้ทาง มจร กำลังอยู่ในระหว่างค้นหาคำสอนเรื่องการฉ้อราษฎร์-บังหลวงที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก

ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มจร กล่าวว่า ขณะนี้พระพรหมบัณฑิตได้ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสรุปผลการประชุมครั้งนี้ โดยจะมีการนำเรื่องการสร้างความสมานฉันท์เสนอไปยังคณะผู้บริหารประเทศด้วย

การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ได้มีการแบ่กลุ่มย่อยออกเป็น 1. พุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจ และการทรัพยากรมนุษย์ 2.พุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาการบริหาร การเมืองและธรรมาภิบาล และ 3 .พุทธบูรณาการเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์และลดความ เหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งจะเป็นการนำเสนอผลงานทางวิชาการในแต่กลุ่มย่อยดังกล่าวจากบุคคลที่ส่งเข้าประกวดโดยคัดเลือกเหลือกลุ่มละประมาณ 10 หัวข้อเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม โดยสามารถติดตามได้ที่ http://www.mcucongress.net/topic.php#tp_0

เชื่อแน่ว่าประชุมวิชาการนานาชาติ มจร ครั้งที่ 1 นี้ จะเป็นลายแทงสร้างไทยปรองดองอย่างแน่นอน และมีแผนที่จะดำเนินการในเชิงเข้มข้นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 573007เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2014 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2014 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท