การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)


การคิดเชิงระบบ

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบบ หมายถึง กลุ่มของสิ่งซึ่งมีลักษณะประสานเข้าเป็นสิ่งเดียวกันตามหลักแห่งความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกัน ด้วยระเบียบของธรรมชาติหรือหลักเหตุผลทางวิชาการ เช่น ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบจักรวาล ระบบสังคม ระบบการบริหารประเทศ.(ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒)ในขณะที่พจนานุกรมของอ๊อกฟอร์ด ให้นิยามว่าหมายถึง ชุดของสิ่งที่เกี่ยวโยงกันหรือ ส่วนประกอบทั้งหมดรวมกันซับซ้อน มีลักษณะเป็นชุดของสิ่งที่ทำงานร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกหรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อกัน เช่น ระบบทางรถไฟของรัฐ ระบบท่อน้ำ ในทางสรีรวิทยาจะหมายถึง อวัยวะที่ประกอบกันหรือทำหน้าที่ร่วมกัน เช่น ระบบการย่อยอาหาร หรืออาจหมายถึงร่างกายโดยรวมของมนุษย์หรือสัตว์ (Oxford University Press, 2014) (Press, 2014)ร่างกายของมนุษย์จึงถูกใช้เพื่อสะท้อนนิยามคำว่า “ระบบ” ได้ดี กล่าวคือ ร่างกายสามารถแยกออกเป็นส่วน ๆหรือระบบย่อย แต่ละส่วนก็ส่งผลกระทบกับสมรรถนะโดยรวม โดยแต่ละส่วนก็มีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เราสามารถศึกษาที่ละส่วนได้ แต่การศึกษาแต่ละส่วนไม่สามารถทำให้เราเข้าใจระบบโดยรวมได้ (Reed, 2006) การคิดเชิงระบบจึงเป็นการคิดถึงภาพรวมทั้งหมด โดย ปีเตอร์ เซงเก้ ได้กล่าวว่าการคิดเชิงระบบช่วยกระตุ้นให้เห็นความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ มากกว่าตัวของส่วนที่ศึกษาเอง มองหารูปแบบของการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง การเปลี่ยนระบบคิดเช่นนี้ทำให้สามารถเข้าใจระบบของสังคมที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ดีกว่า ในการคิดเชิงระบบจะมองปัญหาเป็นผลมาจากโครงสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆในระบบ มากกว่าที่จะเกิดจากรูปแบบเหตุและผลที่มองง่ายๆแยกออกจากระบบโดยรวม ในอีกนัยหนึ่งมีคำกล่าวว่า “อย่าพลาดป่าเพื่อหาแต่ต้นไม้”(Don’t miss the forest for the tree) เมื่อเราคิดเชิงระบบเราจะมองไปที่ป่าทั้งป่าแทนที่จะมองแต่ต้นไม้ ซึ่งเราจะเห็นสิ่งต่าง ๆที่อยู่ในป่าด้วยเช่นสัตว์ต่าง ๆ ดิน น้ำและอื่นๆ อีกมากมาย (Brown and Lerch, 2008, pp. 79-84) อาจกล่าวได้ว่าการคิดเชิงระบบจะต้องมองเห็นว่า ระบบประกอบด้วยระบบย่อย(subsystems)ที่มีความสัมพันธ์กันหลาย ๆ ระบบย่อย แต่อย่างไรก็ดีไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่าส่วนใดคือระบบย่อยขึ้นกับการกำหนดขอบเขตของระบบในแต่ละครั้งของการหยิบยกมาพิจารณา เมื่อพิจารณาให้แคบลงระบบย่อยจะเป็นระบบ แต่เมื่อแยกระบบย่อยใดระบบหนึ่งออกไป ระบบก็จะไม่อาจแสดงพฤติกรรมที่ผุดบังเกิดจากการอยู่ร่วมกันของระบบย่อยหรือส่วนประกอบของระบบได้ต่อไป ได้เช่นกัน ในแต่ละระบบจะถูกควบคุมโดย “วงผลป้อนกลับ” ผ่านข้อมูลของสถานะหรือพฤติกรรมของระบบทำให้เกิดการตอบสนองและการตอบสนองกับระหว่างส่วนต่าง ๆ หรือระบบย่อย (Savigny and Adam, 2009) อาจเป็นเกิดผลป้อนกลับโดยตรงหรือโดยอ้อมขึ้นกลับความซับซ้อนของระบบ องค์ประกอบดังกล่าวจะมีตัวแปรเสริมที่เป็นปัจจัยคงที่ของกระบวนการที่จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของระบบ อาจทำให้ระบบสำเร็จหรือล้มเหลวได้ การสร้างรูปแบบของระบบจึงต้องระบุ ตัวแปรเสริมที่สำคัญ โดยเรียกว่าเป็น จุดคานงัดของระบบ เมื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จุดดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของระบบโดยรวม องค์การอนามัยโลกได้กล่าวถึงความสำคัญของการคิดเชิงระบบ ว่าเป็น หนึ่งในสี่เรื่องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ โดยกล่าวว่าการนำการคิดเชิงระบบมาใช้ในระบบสุขภาพนั้นเราต้องเปลี่ยนจุดเน้น จากเดิมที่เราเคยให้ความสนใจระบบต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ เป็นมาให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ระหว่างระบบต่าง ๆ สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นใน “พื้นที่” ระหว่างระบบและสนใจว่าอะไรเกิดขึ้นที่นั่น และสนใจสิ่งที่ผุดบังเกิดจากการรวมกันระหว่างระบบต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ การคิดเชิงระบบจะช่วยเร่งให้เราเข้าใจความเป็นจริงว่าในระบบสุขภาพมี เรื่องใดทำงานได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับใคร ภายใต้สถานการณ์อะไร (Savigny and Adam, 2009) องค์การอนามัยโลกได้แนะนำแนวคิดการนำการคิดเชิงระบบมาใช้เป็น 10 ขั้นตอน คือ ประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เรียกรวมระดมสมองหามาตรการเปลี่ยนธรรมชาติ(intervention) วางกรอบผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดจากมาตรการฯ ปรับและออกแบบใหม่ให้ดีที่สุด เลือกตัวชี้วัดที่สำคัญในการติดตามมาตรการฯ เลือกวิธีการติดตามตัวชี้วัด เลือกออกแบบการประเมินผล พัฒนาแผนและกรอบเวลา ตั้งงบประมาณ หาแหล่งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการประเมินผลก่อนเริ่มโครงการ

เอกสารอ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๒). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, จาก http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-al...

Brown, S. E., and Lerch, D. C. (2008). Systems Thinking: A Tool for Municipalities. In Lerch, D. C. (Ed.), Post Carbon Cities: Planning for Energy and Climate Uncertainty (2nd ed., pp. 79-84). United States: Post Carbon Press. Retrieved from http://goo.gl/79yuzh

Oxford University Press. (2014). Oxford dictionaries Retrieved 22 june 2014, from http://www.oxforddictionaries.com/us/definition/am...

Reed, C. G. E. (2006). Leadership and Systems Thinking. Defense AT&L, May-June.

Savigny, D. d., and Adam, T. (Eds.). (2009). Systems thinking for health systems strengthening. France: WHO.

คำสำคัญ (Tags): #systems thinking
หมายเลขบันทึก: 572643เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท