คณะเกษตรฯ มข. อบรมเจ้าหน้าที่และเกษตรกร รู้จักโรคพืชและการควบคุมโรค


เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหรือยังไม่รู้จักชนิดของสาเหตุโรคพืชหรือไม่ทราบอาการโรคพืชที่สามารถบ่งชี้ถึงสาเหตุโรคได้ จึงทำให้จัดการโรคพืชที่ปลูกได้ผิดพลาด ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและใช้สารเคมีมากเกินจำเป็น

         “เป้าหมายในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง รู้จักโรคพืชและการควบคุมโรคโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีสำหรับการเกษตรปลอดภัย เพื่อให้ความรู้ที่จำเป็นและทักษะที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคพืช รู้จักเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่สามารถทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดโรคพืชและวิธีการใช้ที่ถูกต้อง การเลือกใช้สารเคมีกำจัดโรคพืชที่ถูกต้องเหมาะสมตามความจำเป็น เสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการโรคพืชและรักษาสุขภาพของต้นพืชที่ปลูก ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในด้านการจัดการโรคพืช และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมๆกัน และคาดหวังว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแล้ว จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้เป็นแนวปฏิบัติและช่วยถ่ายทอดให้กับสมาชิกในกลุ่มหรือในชุมชนให้กว้างขวางขึ้น เป็นการส่งเสริมการผลิตพืชอาหารปลอดภัย เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและสะอาดมีสุขอนามัยพืชให้กับชุมชน องค์กรและประเทศชาติสืบต่อไป”
         เมื่อวันที่ 16 และ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2557 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรองศาสตราจารย์ ดร.เพชรรัตน์ ธรรมเบญจ สาขาโรคพืชวิทยา ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน คณะเกษตรศาสตร์ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง รู้จักโรคพืชและการควบคุมโรคโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีสำหรับการเกษตรปลอดภัย ให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืชอาหารปลอดภัยและเมล็ดพันธุ์คุณภาพเยี่ยมและมีสุขอนามัยพืชที่ดี จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 50 คน มีทีมวิทยากรทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติการ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.เพชรรัตน์ ธรรมเบญจพล อาจารย์ ดร.สุวิตา แสไพศาล คุณรัติกาล ยุทธศิลป์ และทีมงาน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุพิน ผาสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดการอบรม โดยมีการมอบใบประกาศนีบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมทุกคน จัดขึ้น ณ ห้อง 7013 อาคารเรียนรวม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
         รศ.ดร.เพชรรัตน์ ธรรมเบญจพล กล่าวว่า โรคพืชมีความสำคัญมาก ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านคุณภาพและปริมาณของผลผลิตพืช ตลอดจนส่งผลกระทบโดยอ้อมต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคในทุกระดับตั้งแต่ภายในครัวเรือน ในชุมชน ภาคและประเทศหรือส่งออกไปยังต่างประเทศเนื่องจากไปเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชทั้งโรคพืช และแมลงพาหะนำโรคพืช รวมทั้งสารเคมีกำจัดวัชพืชต่างๆ ที่เข้ามาในแปลงปลูกพืชซึ่งในส่วนของการผลิตเพื่อการบริโภคนี้มีเกณฑ์มาตรฐานในการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice, GAP) สำหรับพืชอาหารเข้ามาใช้เป็นแนวปฏิบัติ ส่วนในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช เนื่องจากโรคพืชส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ มีเชื้อสาเหตุโรคหลายชนิดที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางเมล็ดพันธุ์ได้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญมากสำหรับธุรกิจผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออกที่ต้องรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้และยังไปเกี่ยวข้องกับการที่ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยของพืช (phytosanitary certification) จากกรมวิชาการเกษตร ประกอบการส่งออกเมล็ดพันธุ์ด้วย
         รศ.ดร.เพชรรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรของประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายสะสมอยู่มาก และทำให้ต้นทุนในการผลิตพืชทั้งเพื่อการบริโภคและการผลิตเมล็ดพันธุ์สูงเกินจำเป็นก็คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่เข้าใจหรือยังไม่รู้จักชนิดของสาเหตุโรคพืชที่ปลูก หรือไม่ทราบอาการโรคพืชที่สามารถบ่งชี้ถึงสาเหตุโรคได้ จึงทำให้จัดการโรคพืชที่ปลูกได้ผิดพลาด เช่น ใช้สารเคมีกำจัดโรคพืชไม่ถูกกับชนิดโรค ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุและใช้สารเคมีมากเกินจำเป็น นอกจากทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีบนพืชและในสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมากและต่อเนื่องยาวนานโดยเฉพาะในกลุ่มของเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่มีการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชกันอย่างมากตลอดช่วงการเพาะปลูกโดยไม่ได้วิเคราะห์ว่าจำเป็นจริงๆหรือไม่ และใช้ได้เหมาะสมกับโรคหรือศัตรูพืชที่พบหรือไม่ รู้แต่ว่าถ้าเห็นอาการผิดปรกติแล้วต้องใช้สารเคมีพ่นควบคุมอย่างเดียว
         รศ.ดร.เพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การควบคุมโรคพืชโดยชีววิธี จึงเป็นทางเลือกสำหรับการปลูกพืชปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือในการผลิตพืชแบบอินทรีย์ เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่สามารถควบคุมโรคพืชและช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชโดยตรงจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับการจัดการโรคพืชที่ยั่งยืนนี้ เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์เป็นสิ่งมีชีวิต เมื่อปล่อยไปในธรรมชาติที่มีการปลูกพืชและดูแลให้เจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมแล้ว เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่ดีเหล่านี้สามารถเจริญเพิ่มปริมาณได้ไม่มีที่สิ้นสุด สามารถเข้าไปครอบครองพื้นที่รอบรากพืชเพื่อป้องกันระบบรากให้กับพืชไม่ให้เกิดโรคได้ง่าย สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานโรคให้กับพืชปลูกได้ และมีเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์อีกหลายชนิดที่ส่งเสริมให้ต้นพืชเจริญเติบโตได้มากกว่าปรกติที่ไม่มีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ดังกล่าวโดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีมากนัก ทำให้ลดต้นทุนการผลิตอันเนื่องจากการซื้อปุ๋ยเคมีลดลงได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามในการใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของเชื้อดังกล่าวด้วย
          “การส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการวินิจฉัยแยกอาการโรคพืชที่เกิดจากสาเหตุโรคพืชชนิดต่างๆ สามารถแยกลักษณะความแตกต่างของอาการโรคพืชผักที่สำคัญได้ด้วยตนเอง ทราบวิธีการจัดการโรคพืชที่ถูกต้องและเลือกปฏิบัติได้ทันทีเพื่อลดการเกิดโรคและลดการแพร่ระบาดของโรคได้ทันเวลา และได้เข้าใจถึงบทบาทและวิธีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่เหมาะสมกับชนิดโรคพืชเพื่อการจัดการโรคพืชโดยชีววิธีได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าต้องการผลิตพืชแบบอินทรีย์หรือแบบปลอดภัยที่ไม่เน้นด้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ให้มีหลักในการเลือกใช้สารเคมีที่ถูกต้องเหมาะสมกับโรคพืช ซึ่งจะนำไปสู่สำหรับการผลิตพืชแบบปลอดภัยและยั่งยืนคือต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตดี เกษตรกรสุขภาพดีและสภาพแวดล้อมดี ได้ในที่สุด” รศ.ดร.เพชรรัตน์ ธรรมเบญจพล กล่าวในที่สุด

         กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 572642เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2014 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท