แนวคิดเกี่ยวกับพลังแห่งการสร้างสรรค์


              ในงานเขียนของมาร์กซ์ยุคแรก ๆ(อ้างใน Ritzer:1992)ได้กล่าวถึง creativity power หรือพลังแห่งการสร้างสรรค์ไว้อย่างแยบคายและน่าสนใจยิ่ง มาร์กซ์ ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในซึ่งเขาเรียกว่า พลังแห่งการสร้างสรรค์ (creativity power) หัวใจของพลังแห่งการสร้างสรรค์นั้นประกอบด้วยเงื่อนไขสามประการกล่าวคือ ประการแรกการรับรู้ของมนุษย์ว่าโลกทางวัตถุที่แวดล้อมตัวเรานั้นมีอะไรอยู่บ้าง มาร์กซ์เน้นย้ำตรงนี้ว่าโลกทางวัตถุในที่นี้หาได้หมายถึงเพียงอิฐหินปูนทราย ถนน ตึกอาคารบ้านเรือนเท่านั้นไม่ โลกทางวัตถุในที่นี้หมายรวมไปถึงโครงสร้างทางสังคมทั้งส่วนบนอันได้แก่บรรดาสถาบันทางสังคม การเมือง ศาสนา การศึกษา กฎหมาย รวมถึงบรรดาระเบียบกฎเกณฑ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ ที่แวดล้อมเราอยู่ และโครงสร้างส่วนล่างซึ่งมาร์กซ์ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการผลิต และพลังแห่งการผลิตในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ต่างนับเป็นโลกทางวัตถุทั้งสิ้น ครั้นเมื่อเรารับรู้แล้วว่าโลกทางวัตถุมีอะไรอยู่บ้างจากนั้นจะนำไปสู่ประการที่สองคือมนุษย์จะทำการปรับทิศทางของวัตถุเหล่านั้น เพื่อให้รู้ว่าเราจะสามารถจัดการกับมันได้อย่างไร ประการสุดท้ายมนุษย์จะไม่ยอมให้โลกทางวัตถุมากระทำต่อมนุษย์เพียงฝ่ายเดียวแต่มนุษย์จะหาหนทางที่จะทำให้วัตถุสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้จงได้ การดัดแปลงโลกทางวัตถุจะเกิดในส่วนที่สามนี้ และเมื่อมันสนองตอบความต้องการได้มัยจึงกลายเป็นนวัตกรรม และเป็นภูมิปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงไม่หยุดนิ่งไม่ตายตัว เคลื่อนเป็นพลวัตรไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จบ ในส่วนของการปรับทิศทางและทำให้มันมาสนองตอบความต้องการของเรานี้จึงเป็นเรื่องข้ามวัฒนธรรมได้ เป็นการหยิบเล็กผสมน้อยนำไปสู่ความรู้ใหม่ ๆ ภูมิปัญญาใหม่ ๆ อยู่เรื่อยไป

                 แต่อย่างไรก็ตาม มาร์กซ์มองว่า ในโครงสร้างการผลิตแบบทุนนิยมไม่ส่งเสริมให้เกิด พลังแห่งการสร้างสรรค์ กรรมกรขายเวลาขายแรงงานให้กับนายทุนทำให้กรรมกรขาดพลังในการสร้างสรรค์ เขาให้ความสำคัญกับคำว่า แรงงาน Labour อย่างสูงค่าว่ามันหมายถึงผลรวมของ การทำงาน กิจกรรมและการสร้างสรรค์ เพราะแรงงานทำหน้าที่สำคัญในการแปลงวัตถุดิบให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแห่งการใช้สอย แต่ในทุนนิยมมูลค่าแห่งการใช้สอยถูกลดค่าลงต่ำกว่ามูลค่าแห่งการแลกเปลี่ยน ดังนั้นการขายแรงงานของกรรมกรจึงทำให้คำว่า Labour ลดค่าลงเป็นเพียงแค่Job คือการทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ค่าแรงเป็นเงิน ไร้กิจกรรม ไร้พลังแห่งการสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่นด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ที่อยู่ภายในตัวเรา เราอาจทำอะไรได้ดีกว่าสร้างสรรค์กว่า การยืนเอาตุ้มหูใส่แป้นตุ้มหูแต่ด้วยเงื่อนไปทางโครงสร้างที่กดทับบีบบังคับให้เราต้องมีเงินเพื่อมูลค่าในการแลกเปลี่ยนเราจึงต้องก้มหน้าทำต่อไป ประกอบกับจิสำนึกที่ผิดพลาดทำให้รู้ไม่เท่าทันการขูดรีดแรงงานและมูลค่าส่วนเกิน

                 สังคมทุนนิยมได้ลดทอนศักยภาพแห่งการเรียนรู้และทำลายพลังแห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์จนมนุษย์มีความแปลกแยก และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางการศึกษาจึงเป็นเพียงหลักสูตรที่เน้นการท่องจำ และปฏิบัติตามเพื่อนำไปสู่การเป็นแรงงานที่ดีเลิศในอุตสาหกรรมเท่านั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงควรที่จะเป็นมีลักษณะสำคัญที่การเพิ่มศักยภาพแห่งการเรียนรู้และฟื้นฟูพลังแห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์เพื่อต้านทานกับกระแสแห่งการเรียนรู้ในวาทกรรมหลักที่รัฐเป็นผู้กำหนดเพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่เน้นทุนนิยมเพียงด้านเดียว

คำสำคัญ (Tags): #พลังสร้างสรรค์
หมายเลขบันทึก: 572019เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2014 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2014 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ทุนนิยม"..เป็น..ระบบกินตัว..(เดี๋ยว..มันก็สลาย..ตัวไปเอง)..ดังเช่น..ธรรมชาติ(..อิอิ)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท