การใช้งานลิขสิทธิ์ภาพถ่าย


โครงการเสวนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : ลิขสิทธิ์ทางปัญญากับผลงานภาพถ่าย

(เก็บเกร็ดความรู้จากงานเสวนาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 / 13.00 -16.30 น. / โถงกิจกรรมชั้น 2-3 อาคาร 7 วิทยาเขตกล้วยน้ำไท มหาวิทยาลัยกรุงเทพ)

  • สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองคือ “กรรมสิทธิ์” / “วิธีการถ่ายภาพ” / “เทคนิคการถ่ายภาพ” แต่ถ้านำ “เทคนิคการถ่ายภาพ” หรือ “วิธีการถ่ายภาพ” มาเขียนเป็นหนังสือ กฎหมายลิขสิทธิ์จึงจะให้ความคุ้มครอง เพราะคุ้มครองในรูปแบบงานวรรณกรรม (คือมีการเขียน)
  • ในกรณีที่บริษัท ได้ให้ลูกจ้าง (ที่บ.จ้างไว้) ถ่ายภาพให้ “ลิขสิทธิ์” ของภาพถ่ายเหล่านั้นจะตกเป็นของ “ลูกจ้าง” เพียงแต่บริษัทจะสามารถนำภาพถ่ายที่ตนสั่งให้ถ่ายไปใช้ในงานบริษัทตนได้ แต่ลิขสิทธิ์จะไม่ได้เป็นของบริษัท ยกเว้นได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น โดยที่ต้องมีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้จะแตกต่างจากการ “จ้างทำของ” ที่ผู้ว่าจ้างได้จ้างให้ช่างภาพถ่ายภาพให้ และ “ลิขสิทธิ์” จะตกเป็นของผู้ว่าจ้าง เพราะเป็นการจ้างทำของ
  • กฏหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองเรื่องการ “โอนงานลิขสิทธิ์” โดยสามารถโอนย้ายเจ้าของสิทธิได้ แต่ต้องระบุระยะเวลาการโอนลิขสิทธิ์ไว้ หากไม่ได้มีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ตามกฏหมายจะถือว่า ลิขสิทธิ์ในงานนั้นจะกลับคืนสู่เจ้าของสิทธิเดิม เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี (กฏหมายพยายามที่จะช่วยปกป้องสิทธิให้ตกอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์เดิมให้มากที่สุด กรณีนี้เห็นได้จากกรณีศึกษางานของครูเพลงลูกทุ่งในอดีต ที่เมื่อแต่งเพลงแล้ว ลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของค่ายเพลงเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นและไม่ได้มีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นในปัจจุบัน)
  • หลักการใช้ Fair Use ต้องคำนึงถึง
  • 1. ใช้แล้วไม่กระทบกระเทือนเจ้าของลิขสิทธิ์

    2. ใช้เพื่อการศึกษาวิจัย

    ซึ่งผู้สอนหรือผู้วิจัยควรทราบถึง เกณฑ์พิจารณาการใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอน

    หรือนำมาใช้ในงานวิจัย โดยต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยว่า ต้องการให้ผู้นำงานลิขสิทธิ์ไปใช้งานได้ตามสมควร ไม่ถึงกับ “ห้าม” ไม่ให้ใช้ แต่ให้ผู้นำไปใช้ได้คำนึงถึงหลัก 4 ประการ* ก่อนนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นไปใช้ นั่นคือ

    1) คำนึงถึงวัตถุประสงค์และความเหมาะสมในการใช้งานลิขสิทธิ์

    2) คำนึงถึงลักษณะของงานลิขสิทธิ์

    3) คำนึงถึงปริมาณการใช้งานและสัดส่วนของงาน

    (โดยอาจพิจารณาจากเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 4)

    4) คำนึงถึงผลกระทบต่อการตลาดหรือมูลค่าของงานลิขสิทธิ์

    ในข้อที่ 4 นี้ มีเกณฑ์การพิจารณาปริมาณการใช้งานลิขสิทธิ์ในงานแต่ละอย่างแตกต่างกันไป สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thailibrary.in.th/wp-content/uploads/2011/03/20081013-copyright-study.pdf สำหรับการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทรูปภาพและภาพถ่ายในการเรียนการสอนนั้น ตามกฏหมายอนุญาตให้นำไปใช้ได้อย่างน้อย 1 ภาพ แต่ไม่เกิน 5 ภาพต่อผู้สร้างสรรค์ 1 ราย หรือ คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนภาพของผู้สร้างสรรค์ 1 ราย (ดังนั้น ถ้าผู้สร้างสรรค์นั้นเขามีภาพถ่าย 2 รูป และเราไปเอาภาพของเขามาใช้ 1 รูป อันนี้จะเข้าข่ายนำไปใช้ร้อยละ 50 ในจุดนี้จึงเป็นเรื่องที่พึงระวัง)

    สำหรับงานวรรณกรรม / สิ่งพิมพ์ สามารถทำได้ดังนี้ การทำสำเนา 1 ชุด สำหรับผู้สอนเพื่อใช้ในการสอนหรือเตรียมการสอนหรือเพื่อใช้ในการวิจัย

    ก. 1 บท (Chapter) จากหนังสือ 1 เล่ม

    ข. บทความ (Article) 1 บท จากนิตยสาร / วารสารหรือหนังสือพิมพ์

    ค. เรื่องสั้น (Short Story) หรือเรียงความขนาดสั้น (Short Essay) 1 เรื่อง บทกวีขนาดสั้น (Short Poem) 1 บท ไม่ว่าจะนำมาจากงานรวบรวมหรือไม่ก็ตาม

    ง. แผนภูมิ (Chart) กราฟ (Graph) แผนผัง (Diagram) ภาพวาด (Painting) ภาพลายเส้น (Drawing) การ์ตูน (Cartoon) รูปภาพ (Picture) หรือภาพประกอบหนังสือ (Illustration) จากหนังสือ นิตยสาร วารสาร หรือหนังสือพิมพ์ จำนวน 1 ภาพ

    นอกจากนี้ การทำสำเนาจำนวนมากเพื่อใช้ในห้องเรียน จะทำได้ไม่เกิน 1 ชุดต่อนักเรียน 1 คน โดยผู้สอน เพื่อใช้ในการสอนหรือการอภิปรายในห้องเรียน โดยสำเนาที่ทำขึ้นจะต้องไม่ยาวจนเกินไป และต้องมีการระบุรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ในสำเนาทุกฉบับด้วย

  • ถ้าเป็นการเห็นภาพถ่ายในงานภาพยนตร์ ตัวอย่างเช่นกรณีที่ภาพยนตร์นั้น ถ่ายทำแล้วเห็นภาพถ่ายปรากฎร่วมอยู่ในเฟรมด้วย เช่น พระเอกเดินผ่านพื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งมีบิลบอร์ดภาพถ่ายติดอยู่กลางแจ้งในที่ๆ มันตั้งอยู่ก่อนแล้ว ลักษณะงานเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดฯ เนื่องจากไม่ได้มีการ Set ฉาก และในทางกฏหมายก็อนุญาตให้ใช้ได้ เพราะถือว่าภาพนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่มาก่อนการเริ่มถ่ายภาพยนตร์แล้ว จึงนับเป็นฉากหลังที่ไม่จงใจให้มีความสัมพันธ์ที่เป็นนัยสำคัญให้กับงานภาพยนตร์
  • การนำภาพถ่ายไปเป็นแบบสำหรับวาดภาพ (Drawing) ควรที่จะมีการขออนุญาตเจ้าของภาพถ่ายนั้นๆ ก่อน เนื่องจากเป็นการทำซ้ำในรูปแบบหนึ่ง โดยมารยาทแล้ว ควรที่จะต้องมีการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพถ่ายนั้นๆ
  • ปัจจุบันคนไทยรู้จักกับกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น แต่ยังขาดความตระหนักรู้ในเรื่องของ “สิทธิ” และการปกป้องสิทธิเหล่านั้นของตนเอง โดยเฉพาะในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งลิขสิทธิ์ที่สร้างขึ้นในฐานะปัจเจกบุคคลนั้น กลับได้รับการดูแลและปกป้องน้อยจากเจ้าของสิทธิ ทั้งนี้เป็นเพราะความไม่เห็นคุณค่าของการถือสิทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เราจึงเห็นการปกป้องงานทรัพย์สินทางปัญญาจากหน่วยงาน ห้างร้านและบริษัทต่างๆ มากกว่าจะเห็นการปกป้องสิทธิที่เป็นแบบส่วนบุคคล
  • อย่างไรก็ตาม ตัวกฏหมายอาจไม่ใช่ทางออกของการปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา แต่การที่ทุกคนที่นำงานอันมีลิขสิทธิ์เหล่านั้นไปใช้นั่นต่างหาก คือทางลดการละเมิดฯ ซึ่งควรถูกกำกับไว้ด้วยเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมที่ต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนรุ่นใหม่ แล้วเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยก็จะมีวันเติบโตได้อย่างยั่งยืนและแข็งแรง เพราะรู้จักการรับและการให้อย่างพอเหมาะพอควร

    เอกสารอ้างอิง

    *กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์. คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม. กรุงเทพฯ. (หน้า 15-17)

    Link ข้อมูลสำหรับอ่านเพิ่มเติม

    https://www.thaicert.or.th/papers/general/2012/pa2012ge009.html

    http://foto76-stock-photos.blogspot.com/2012/10/add-captions-keywords-and-descriptions.html

    http://www.thailibrary.in.th/2013/09/06/cc-pdf-xmp/

    http://www.thailibrary.in.th/2013/09/05/creative-commons-using-xmp/

    http://www.slideshare.net/boonlert/20081013-copyrightstudy

    http://www.photometadata.org/meta-tutorials-adobe-photoshop

    http://www.thailibrary.in.th/2011/04/27/metadata-xnview-flickr/

    หมายเลขบันทึก: 571492เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2014 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2014 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (1)

    เป็นบันทึกที่ดีมีประโยชน์มากนะคะ...ขอบคุณค่ะ

    อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท