SEEN มหาสารคาม _๑๐ : ประเมินโรงเรียนกันทรวิชัย จ.มหาสารคาม


ภาคบ่าย วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทีมขับเคลื่อนฯ ปศพพ.ด้านการศึกษา ของ สพม. ๒๖ มหาสารคาม เข้าตรวจเยี่ยมและประเมินโรงเรียนกันทรวิชัย อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม  ผมค้นหาเว็บของโรงเรียนไม่พบ แต่มี FB ที่อัพเดทมากๆ ที่นี่ และข้อมูลพื้นฐานในเว็บของ สพฐ. ที่นี่ เป็นโรงเรียนประจำอำเภอ ขนาดกลางนักเรียนประมาณ ๑,๐๐๐ คน คณาจารย์ ๖๗ คน

ท่าน ผอ.คณาพร เทียมกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียน เพิ่งจะย้ายมาจากโรงเรียนดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๒๕ โรงเรียนในโครงการขับเคลื่อนฯ เมื่อปีที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมบุกเบิก "ถางทาง" ในการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษาในจังหวัดมหาสารคาม เมื่อท่านย้ายโรงเรียน ท่านนำ "ความพอเพียง" ไปบริหารโรงเรียนใหม่ด้วย...ผมคิดว่าท่านเป็นปัจจัยของความสำเร็จของ สพม. ๒๖ ที่สามารถนำโรงเรียนผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซนต์

ตั้งแต่ท่านย้ายมา โรงเรียนเริ่มขับเคลื่อนฯ อย่างจริงจัง ต่อเนื่องจากการฝึกอบรมที่จัดโดย สพม. ๒๖ มีผมเองและผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฯ (ศสพ.) ผอ.แสน แหวนวงศ์ จากโรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย จ.สุรินทร์ และ อ.ฉลาด ปาโส จากโรงเรียนเชียงขวัญวิทยาคมเป็นวิทยากรบรรยาย  ท่านได้เชิญทางโรงเรียนศรีขรภูมิพิสัยทั้งทีม "มาลง" ที่โรงเรียนกันทรวิชัยอีกครั้งหนึ่ง แล้วเริ่มขับเคลื่อนฯ กันอย่างจริงจัง  ทำให้การประเมินในวันนี้ มีบรรยายกาศคล้ายการประเมินโรงเรียนศูนย์ฯ จริงๆ ขาดก็แต่เพียงเครือข่ายฯ และผลงานการขยายไปสู่โรงเรียนภายนอก ที่ต้องมากขึ้นกว่าเดิมนี้...  จากการซักถาม ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะได้ขยายและเกิดผลแล้ว ผมเข้าใจว่า วันนั้นวัตถุประสงค์การประเมินฯ เน้นการขับเคลื่อนภายใน สนใจศักยภาพในการพัฒนา ทางโรงเรียนจึงไม่ได้เชิญสถานศึกษาเครือข่ายมามากนัก

ผลการประเมินและข้อเสนอแนะจากกรรมการ

กรรมการฯ ทุกท่านชื่นชม และสะท้อนว่าได้เรียนรู้รูปแบบของการขับเคลื่อนและนำเสนอของโรงเรียนกันทรวิชัย พัฒนาการของนักเรียนแกนนำ สามารถเชื่อมโยงถึง "คุณค่า" เข้าใจถึงระดับ "หลักคิด"  (ตามกรอบคิดนี้) เพียงแต่ครูอาจารย์อาจจะยังมีบทบาทอยู่ในระดับที่ ๒ ตามกรอบคิดนี้

ในมุมมองของผู้ขับเคลื่อนฯ โรงเรียนกันทรวิชัย ขับเคลื่อนไปได้ไกล และใกล้เคียงกับการเป็นโรงเรียนศูนย์ฯ มากที่สุด ผมเองมีเพียงความเห็นและข้อเสนอแนะเดียว นอกจากเรื่องการขยายเครือข่ายฯ คือ การ "ถอย" บทบาทของครู ออกมาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ออกมาเป็น "โค๊ช" ดูอยู่ห่างๆ บ้าง หรือเรียกว่าเป็น "ครูฝึกกก" (อ่านบึนทึกนี้ครับ) เพื่อให้นักเรียนได้ "ฝึกคิด" "ฝึกทำ" "ฝึกแก้ปัญหา" "ฝึกสร้างปัญญาด้วยตนเอง" และเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอ แสดงความสามารถ ในรูปแบบที่นักเรียนออกแบบเอง

ตัวอย่างการ "ถอยยย ออกมาเป็น ครูฝึกกก"

...รายวิชาภาษาไทย ครูมอบหมายให้นักเรียน สืบค้น ศึกษา เรียนรู้ และจัดกิจกรรม ฝึกขับร้องทำนองเสนาะ เกี่ยวกับบุญเผวท ฟังเทศน์มหาชาติ เวชสันดรชาดก กัณฑ์ทศพร  โดยให้จัดงานในโรงเรียนวันเดียวกับที่ชุมชนจัดงานนี้ ...  

เปลี่ยนเป็น

...ราย วิชาภาษาไทย กำหนดให้นักเรียนจัดงานจำลองประเพณีบุญเผวทของชาวอีสาน ในโรงเรียน โดยให้ทั้งระดับชั้นระดมสมองและกำหนด วันเวลาและรูปแบบของการจัดงานเอง แต่ต้องจัดให้มีนำเสนอผลงานหรือการแสดงของของกลุ่มในวันงาน และต้องนำแผนการจัดการงานและแผนกิจกรรมของแต่ละกลุ่มมาเสนอต่ออาจารย์ก่อนลง มือทำจริง ....โดยอาจารย์เป็นที่ปรึกษา และกรรมการในการประเมินผลคะแนน....

จะ เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ ครูอาจารย์ "ถอยยย" ออกมา ให้นักเรียนได้ "ฝึกคิด" ตั้งแต่ ต้องสืบค้น หาความรู้ ระดมสมอง วางแผนเอง แล้วต้อง "ฝึกนำเสนอ" แผนงานของตนเอง โดยมีอาจารย์ตั้งคำถาม เพื่อให้ชัดเจน เหมาะสม ขยายองค์ความรู้ และกระตุ้นการเรียนรู้  ก่อนจะได้ "ฝึกทำเอง" โดยมี "การป้อนกลับ" เพื่อการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ...

สรุปคือ ครูอาจารย์ "ถอยยย" ตนเองออกมาจาก การ "คิดให้ กำหนดให้ ป้อนให้ สั่งไป... " มาเป็น "ชง ชวน เชียร์ ชม" และถ้าจำเป็นค่อย "ช่วย"  .... เรียกว่า บทบาทแบบ "๕ช"

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 570732เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2014 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2014 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท