PLC_CADL_037 : นวัตกรรมการทำงาน


วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมได้รับเกียรติจากส่วนงานบุคคลในกลุ่มงานบริหารและยุทธศาสตร์ ให้เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับ "นวัตกรรมการทำงาน" ผมตอบตกลงทันทีที่คุณ "นกกิ" (เจ้าหน้าที่งานบุคคลหนึ่งเดียวของเรา) ทันที เพราะถือว่า นี่จะเป็นโอกาสดีที่ผมจะได้ทำความเข้าใจเรื่อง "องค์กรแห่งการเรียนรู้" ที่เรากำลังส่งเสริมกันอยู่ในขณะนี้

ผมเริ่มกิจกรรมด้วยการ "ตั้งสมาธิ รวมใจ ไว้ที่ตนเอง" เหมือนๆ กับทุกครั้งที่ผมมีโอกาสเป็นกระบวนกร KM กับพวกเรากันเอง  ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่วาง "ทุกอย่าง" ย่อมทำให้ "ใจไม่วาง"  ใจที่วุ่นวายเกินไป ย่อมทำให้ไม่เกิด "การเรียนรู้" เป็นอุปสรรคต่อการมุ่งสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO)

ในขั้นตอนของการทำ BAR ผมเสนอว่า สุดยอดของนวัตกรรมการทำงานคือ มองอย่างเป็นองค์รวม หลอมรวมเป้าหมายในชีวิตกับเป้าหมายในการทำงานเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดของผู้ปฏิบัติธรรม คือ การฝึกปฏิบัติธรรมผ่านการปฏิบัติงาน หรือเรียกว่า "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" ดังคำของท่าน พุทธทาสภิกขุ นั่นเอง  การที่จะ "เข้าถึง" สิ่งนั้นได้ เราและองค์กรจะต้อง "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" หรือก็คือปรัชญาของสำนักศึกษาทั่วไป นั่นอาจสรุปได้ว่า เราสามารถถือเอา "ปรัชญา" มาเป็นแนวทางเพื่อหา "นวัตกรรมการทำงาน" ของตนเอง ถ้าหากทำได้ ผมคิดว่านวัตกรรมอันนั้นๆ นั่นเองที่เป็น "สุดยอดนวัตกรรมการทำงาน" เพราะเกิดจากการเรียนรู้และริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นด้วยตนเอง

คำนวณอายุที่เหลือ เพื่อให้รู้จักตนเองมากขึ้น

การคำนวณอายุที่เหลือของตนเองเป็นกิจกรรมนี้ทำง่าย ใช้เพียงเครื่องคิดเลขกับปากกาและกระดาษ โดยกระตุ้นด้วยคำถาม ให้ทุกคนคำนวณตามที่ละขั้นด้วยข้อมูลจริงๆ และการคาดเดาของตนเอง ดังนี้

 

ผมลองคำนวณกับชีวิตเรื่องราวของตนเอง

  • ผมคาดว่าน่าจะตายตอน ๗๕ ปี  ตอนนี้อายุ ๓๘ ปี แสดงว่า ผมเหลือชีวิตอีก ๓๗ ปี
  • หรือเท่ากับ  ๓๗*๓๖๕ = ๑๓,๕๐๕ วัน 
  • วันหนึ่งๆ ผมนอนวันละประมาณ ๖ ชั่วโมง คิดเป็นเวลาที่จะนอนทั้งหมดในชีวิตที่เหลือประมาณ = ๖*๓๖๕*๓๗/๒๔ = ๓,๓๗๗ วัน
  • เท่ากับว่าผมเหลือชีวิตหลังจากตื่นนอนจนถึงก่อนเข้านอนเพียง ๑๐,๑๒๘ วัน 

 คำถามต่อไปคือ เราจะใช้ชีวิตอย่างไร มีความหมาย มีประโยชน์ มีคุณค่า และคุ้มค่าที่สุด หรือถามกันตรงๆ ว่า วันแห่งความสุขจริงๆ ของเรามีกี่วัน?

ผมเสนอวิธีพิจารณา เพื่อให้ทุกคนกำหนดหาคำตอบของตนเอง โดยแบ่งชีวิตออกเป็น ๔ ส่วน ส่วนที่อยู่กับตนเอง อยู่กับครอบครัว ส่วนที่ต้องใช้ร่วมกิจกรรมกับสังคม ร่วมงานบวช-บุญประเพณี สังสรรค์กับเพื่อนฝูง และ ส่วนที่ใช้ในการทำงาน โดยแบ่งมากน้อยตามความเห็นของชีวิตตนเอง ดังภาพ

ทดลองแบ่งชีวิตที่เหลือออกเป็น ๔ ส่วน แล้วนำจำนวนวันแต่ละส่วนมาลองพิจารณาด้วยตนเอง คนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่สามารถแยกได้ชัดเจน แต่เมื่อพยายามคำนวณออกมาเป็นตัวเลข จะทำให้ "เห็น" ว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ส่วนใดมากที่สุด

แน่นอนว่า ความฝันของคนทั่วไป คือ "ความสุข  มี"ครอบครัว"ที่อบอุ่น เป็นที่นับหน้าถือตา มีเกียรติมีศักดิศรี มีเพื่อนใน"สังคม"  ทำให้แทนที่จะใช้เวลาเรียนรู้ "ตนเอง" ซึ่งเป็น "ความสุข"จากภายในที่ได้มาง่ายๆ แต่กลับมุ่งใช้เวลาไปกับการทำ "งาน" เพื่อให้ได้เงินมาซื้อ "ความสุข" ข้างต้น

ถามตรงๆ คือ ปัจจุบันท่านทำงานอย่างมีความสุขหรือไม่ หากไม่ ชีวิตท่านจะหายไปกว่า ๔,๕๐๐ วัน ทันที (หากคำนวณว่าทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง) ดังนั้น "ทุกท่านโปรดหันมาทำงานอย่างมีความสุข" ... นี่เป็นข้อสรุปของผมในกิจกรรมแรก

ภาพหวังคือ GE เราเป็น "องค์กรแห่งการเรียนรู้" ที่ทุกคนเรียนรู้จากการทำงาน  โดยมีอัตลักษณ์ว่า "องค์กรแห่งความสุข" ที่ทุกคนได้ฝึกฝนตนเอง  ทำประโยชน์ตนได้ประโยชน์ท่าน ทำประโยชน์ท่านได้ประโยชน์ตน เข้าใจผู้อื่น เข้าใจสังคม ไม่ขัดแย้ง มี "จิตใหญ่"  และที่สำคัญ ครอบครัวเข้าใจ และภูมิใจในการทำงานของตน ทุกนในครอบครัวให้การสนับสนุน เกื้อหนุน แบ่งปัน  .... ผมกำลังพูดถึง คนที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีคุณธรรม จริยธรรม อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นั่นเอง


บรรยายเรื่อง "นวัตกรรมการทำงาน" สู่ LO

ผมบอกหัวหน้าสำนักงาน และชาวจีอีว่า ส่วนใหญ่ของช่วงเวลา จะขอมา "บรรยาย" หรือ "Lecture"  ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ทำแบบ KM  และบอกกับทุกคนว่า หลักการทำงานที่ดี น่าใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว ใครที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ผลงานใดดีอยู่แล้ว ให้นำมาต่อยอดขยายความสำเร็จ   เช่น การทำสไลด์นำเสนอของผมในคราวนี้ ก็นำผลงานดีๆ จากผู้ใหญ่ (ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช) มาขยาย ให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน ดาวโหลดต้นฉบับ narrated ppt ของท่านที่นี่ และสามารถอ่านบันทึกเกี่ยวกับ LO ของท่านที่นี่ หรือดาวโหลด ppt ฉบับคัดลอกได้ที่นี่

เมื่อนำ "หลัก" ที่ได้เรียน มา "ปรับ คิด แล้วเขียน" ผมเสนอว่า หากจะพัฒนา GE-MSU ไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ลักษณะของ GE ที่ต้องมี ๕ ประการ ได้แก่

  • (๑) รู้จักตนเอง  ข้อนี้นอกจากจะสอดคล้องกับ Personal Mastery ตามทฤษฎีฝรั่งแล้ว ยังมีความหมายลึกซึ้งเกินกินไปถึงความสามารถภายใน ที่สามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด จนกว่าจะ รู้ทุกข์ ดับสมุทัย แจ้งนิโรธ เข้าถึงองค์มรรค ผู้สนใจให้มาศึกษาหลักพุทธธรรมและนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง 
  • (๒) เข้าใจผู้อื่น ข้อนี้สอดคล้องกับหลักจิตวิทยา ภาษาฝรั่งอาจเรียกว่ารู้ Mental Models คือ เข้าใจกระบวนทัศน์ (Paradigm) กระบวนคิด (Mind Set) รู้ว่าคนเรามีวิธีคิดต่างกัน รู้ธรรมชาติของคนแต่ละประเภท เช่น นพลักษณ์ (Enneagram)  เรื่องนี้ตามหลักพุทธธรรม หากเข้าใจตนเอง จะสามารถเข้าใจผู้อื่นได้มากน้อยตามระดับที่เข้าใจตนเองนั่นเอง เช่น หากรู้ลักษณะตามจริต ๖ ของตน ก็จะสามารถเข้าใจลักษณะตามจริต ๖ ของคนอื่นด้วย เรียกง่ายๆ ว่า ถ้ารู้กิเลสของตน จะเข้าใจกิเลสคนด้วย นั่นเอง 
  • (๓) คิดอย่างเป็นระบบ หรือ System Thinking  หมายถึง คิดได้เชื่อมโยง ซับซ้อน เข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล เข้าใจว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดอะไร ซึ่งต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เพียงพอ  ข้อนี้อาจมองได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของ โยนิโสมนสิการ คือ การคิดโดยแยบคายตามหลักพุทธธรรม
  • (๔) มีวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) คือ คนในองค์กรมีเป้าหมายร่วมกัน เข้าใจความหมายและเห็นคุณค่าของเป้าหมายนั้นๆ ร่วมกัน มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อเป้าหมายนั้นร่วมกัน 
  • (๕) เรียนรู้เป็นทีม (Team Learning) และแน่นอนต้องทำงานเป็นทีม


เครื่องมือที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมการทำงานของตนคือ KM

ผมคิดว่า คนที่ใช้ KM เป็นเครื่องมือในการทำงานบ่อย จะมีคุณลักษณ์ ๕ ประการ ต่อไปนี้ 

  • "รู้จักฟัง" คือ "ฟังเป็น" ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังอย่างชื่นชม ฟังอย่างเป็นกลาง  กล่าวคือ รู้จัก "เก็บเกี่ยว TK" จากคนอื่นมาใช้งาน
  • "รู้จักคิด" คือ รู้จักความรู้ฝังลึกในคน หรือ TK (Tacit Knowledge) และ ความรู้ชัดแจ้ง EK (Explicit Knowledge) สามารถแยกจำแนกได้ คือ คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์
  • "รู้จักการเรียนรู้ภายใน" คือ รู้จักว่า TK ของตนเองว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร รู้วิธีการเรียนรู้ของตนเอง คือ เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้ สังเกตตนเองเป็น ...  ภาษานักปฏิบัติธรรมคือ การ "ดูจิต" "ตามดู ตามรู้ ตนเอง"
  • "รู้จักคุย" คือ การมีฉันทะ และทักษะในการ "เล่าเรื่อง" "สุนทรียสนทนา" รู้จักการ "ต้้งปัญหา" หรือ "ตั้งคำถาม" ที่เหมาะสมเพื่อ จุดประกายหรือเสริมพลังของการเรียนรู้ของ CoP (Community of Practice)
  • "รู้จักให้" คือ มีจิตใจที่พร้อมจะให้ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ช่วยเหลือ เกื้อกูล ทั้งที่เป็น "ธรรมทาน" และ "อามิสทาน" และรวมทั้งการเผยแพร่ ขยายความสำเร็จของตน หรือของคน เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป 

ช่วงท้ายของการบรรยาย ผมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ ทดลองเขียนว่า อะไรคือ TK ของตน ที่ภูมิใจและอยากบอกต่อ ได้ตัวอย่าง ดังแผนผัง นี้ 

เครื่องมือที่น่าสนใจ และได้แนะนำ บรรยายให้ทุกคนฟังคือ AI (Appreciative Inquiry) แต่ที่อยากให้ทุกคนทำจริงๆคือ "การเจริญสติ" ภาวนา หรือ "ดูจิต" ซึ่งผมตั้งใจโดยส่วนตนว่าจะศึกษาไปทั้งชีวิตนี้  

เครื่องมือทุกอย่าง ทุกๆ สิ่ง เวลาจะใช้จริง ต้องน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปเป็น "หลักคิด" ในการปฏิบัติ จะได้ TK ที่เป็นแนวปฏิบัติ ในแบบฉบับของตน หรือเรียกได้ว่า "นวัตกรรม" ของตนเนั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 570671เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2014 04:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2014 04:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท