นวัตกรรมอุดมศึกษา (3)


เดิมความรู้เกิดจาก interaction ระหว่างครูและนักเรียน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ การเรียนการสอนไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการทำให้เกิดการเรียนรู้

วันที่ 16 พฤษภาคม 2557

วันนี้มีแขกจากมหาวิทยาลัยอื่นมาร่วมประชุมด้วย ดิฉันได้พบกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยทำงานเบาหวานด้วยกันมานานหลายปีสมัยที่อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ดีใจที่ได้เจอกัน จึงได้นั่งประชุมด้วยกันตลอดครึ่งวันเช้าและตอนรับประทานอาหารกลางวัน ดิฉันสังเกตว่าขณะที่ฟังการบรรยายอาจารย์รัชตะจะจดบันทึกประเด็นสำคัญๆ ของการบรรยายและสิ่งที่ควรไปศึกษาเพิ่มเติมเอาไว้เป็นข้อๆ ในอุปกรณ์ IT แบบพกพา ต่างจากดิฉันที่ยังคงจดบันทึกในสมุดหรือกระดาษ 

เช้านี้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง มาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศสหราชอาณาจักร (UK Professional Standards Framework (UKPSF) for Quality Teaching and Support of Learning) โดย Dr. John Craig, Assistant Director and Head of Social Sciences, The Higher Education Academy, UK

เราได้รู้จัก Higher Education Academy ของอังกฤษ ที่ทำงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับผู้เรียน ดิฉันชอบประโยคที่ว่า “Excellent teaching is an essential ingredient in the creation of an outstanding student learning” แล้วมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า excellent teaching จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

PSF มี 3 มิติ คือ Areas of Activity, Core Knowledge, Professional Values ทำให้เรารู้ว่าครูและผู้สนับสนุนการเรียนรู้จะต้องทำอะไร มีความรู้เรื่องใด และมีค่านิยมทางวิชาชีพอย่างไรบ้าง

เขามี professional recognition 4 ระดับคือ Associate fellow, Fellow, Senior fellow และ Principal fellow มีตัวกำหนดคุณลักษณะของแต่ละระดับว่าเป็นอย่างไร (แอบคิดว่าน่าจะเอามาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาอาจารย์ได้) มีการให้การรับรอง (accreditation)

เล่าถึง impact ของ UKPSF และ HEA enhancement programmes

ต่อด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มี อาจารย์ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดี มวล. เป็นประธาน มีการนำเสนอของ รศ. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธาน กกอ. ซึ่งหลังฟัง Dr.Craig แล้ว พูดโดยไม่ขอใช้ PowerPoint ที่เตรียมมาก่อนหน้านี้ ได้เกร็ดความรู้หลายเรื่อง ท่านเล่าถึงนักวิจัยรางวัลโนเบลที่เตรียมการสอนมาอย่างดี สอนใน auditorium แต่เมื่อสอบถามนักศึกษาแล้วพบว่าได้ความรู้ไปนิดเดียวเทียบไม่ได้กับการที่เด็กไปเยี่ยมที่ห้อง Lab…

คำว่า Faculty หมายถึงพลังภายใน inherent power/capacity กลุ่มคนมารวมกันแล้วมีพลัง มีแต่คนใฝ่เรียนใฝ่รู้ Faculty เทียบกับแบคทีเรียที่มีหรือไม่มีออกซิเจนก็อยู่รอดได้ คนใน Faculty ถ่ายทอดองค์ความรู้และความรู้สึก/ integrity ไปให้คนที่สนใจ

การสอนที่ครูและนักเรียนไม่รู้จักกัน ไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ไม่ใช่ตัวหนังสือให้แก่ผู้เรียนได้... Higher education, higher ไม่ใช่ high ธรรมดา ไม่มีขีดจำกัด ไม่ใช่ต่อยอดจากมัธยม

การพัฒนาอาจารย์ที่ส่วนกลางทำอยู่คือ

  • มคอ. เป็นการปรับปรุงการสอน
  • IQA วัดว่าทำ 9 องค์ประกอบได้ดีไหม
  • การขอตำแหน่งทางวิชาการ มีการประเมินผลการสอนด้วย
  • สถาบันคลังสมอง ภายใต้มูลนิธิทบวงมหาวิทยาลัย จัดการอบรมกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับคณบดี อบรมหลักสูตรการพัฒนาการเรียนการสอน
  • เครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท.) ซึ่งเกิดขึ้นมาเนื่องจาก สกอ.มีนโยบายการพัฒนาอาจารย์ ส่งอาจารย์ของ 5 สถาบันไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา มีการตั้งคณะกรรมการ ได้รับงบประมาณจาก สกอ. ปี 2549-2553 แล้วหยุด เครือข่ายยังอยู่ มีการจัดอบรมหลักสูตรก้าวแรกสู่อาจารย์มืออาชีพ พัฒนานักเรียนทุน สกอ. อบรมไปแล้ว 12-13 รุ่น
  • อนุ กพอ. ทำเรื่องเกี่ยวกับการรักษาระบบมาตรฐานการฝึกอบรม มีหลักสูตรอบรมผู้บริหาร และรับรองหลักสูตรให้มหาวิทยาลัยไปทำ

ปัญหาของเราทุกวันนี้ ทำกันอยู่กระจัดกระจาย อยากให้ชัดเจนและมาช่วยกัน... Faculty member จะต้องสามารถอย่างน้อยที่สุดสร้างลูกศิษย์มาทดแทนตนเองได้ การเรียนรู้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

อ.ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มวล. นำเสนอแนวคิดและกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning และตัวอย่างการทดลองจัดรายวิชาที่ มวล.

รศ.ดร.ประภาศรี อัศวกุล รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ มทส. นำเสนอการพัฒนาระบบความก้าวหน้าด้านการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ มทส. เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง ควอท.

มทส. ตั้งสถานพัฒนาคณาจารย์ เตรียมการสำหรับอาจารย์ใหม่เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นอาจารย์มืออาชีพทั้งด้านการสอนและวิจัย มีหนังสือปฐมบทสู่การเป็นอาจารย์มืออาชีพแจกให้อาจารย์ทุกคน มีระบบการส่งเสริมอาจารย์ (พัฒนา) ตามประสบการณ์ของอาจารย์ แบ่งเป็นประสบการณ์ 0-2 ปี 2-3 ปี และเกิน 3 ปี มีระบบความก้าวหน้าวิชาชีพ

ในด้านการสอน จะมีกรอบมาตรฐานวิชาชีพด้านการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือคุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ ดูของ UKPSF และสร้างตามบริบทของเรา มีระบบเมธาจารย์ 4 ระดับคือ ผู้ช่วยเมธาจารย์ เมธาจารย์ วุฒิเมธาจารย์ และอภิเมธาจารย์

การดำเนินการระยะเริ่มต้นจะมีการรับรองวิทยฐานะโดย The Higher Education Academy จัดหลักสูตรพัฒนา ในอนาคตจะมีการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เพิ่มเติมข้อมูลให้ว่า เดิมความรู้เกิดจาก interaction ระหว่างครูและนักเรียน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ การเรียนการสอนไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการทำให้เกิดการเรียนรู้ ต้องยึดวัฒนธรรมคุณภาพเป็นตัวหลัก... UKPSF กำหนดกว้างแต่ละเรื่อง ให้แต่ละที่ไปกำหนดให้เฉพาะของตน

วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557

หมายเลขบันทึก: 570438เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 00:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท