สิ่งบูชาสักการะบูรพคณาจารย์...มุมมองต่อครู


ความหมายของดอกไม้มงคลในวันไหว้ครู

วันนี้ ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมประกวดพานไหว้ครูขึ้น โดยมีรูปแบบการจัดงานดังนี้

แต่ละห้องส่งตัวแทนเข้าแข่งขัน 5 คน ทำพานไหว้ครูจำนวน 1 พาน ในระยะเวลาที่กำหนด โดยพานต้องประกอบไปด้วยเครื่องสักการบูชาครูอย่างที่เราทราบกันดีว่าต้องมี ดอกเข็ม หญ้าแพรก ดอกมะเขือ ข้าวตอก นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องมีความสวยงาม ความสะอาดและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่เอะใจมากคือ นักเรียนบางส่วนเข้าใจว่า “ข้าวตอก” คือ ข้าวโพดคั่ว (popcorn) เพราะเมื่อวาน เมื่อผู้เขียนสอนเสร็จก็ได้ฝากเรื่องการจัดทำพานไหว้ครูและการเข้าร่วมพิธีไหว้ครู ได้มีตัวแทนนักเรียน (เข้าใจว่าเป็นหัวหน้าห้อง) ได้แบ่งงานกัน ผู้เขียนพบว่า นักเรียนลืมเขียน “ข้าวตอก” ลงไปในใบรายการด้วย จึงบอกว่า “ต้องมีข้าวตอกด้วยนะคะ” นักเรียนก็ อ๋อ... แต่ก็วงเล็บเพิ่มเติมว่า popcorn ซึ่งผู้เขียนก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมไปอีกว่า ข้าวตอก คือ ข้าวสารที่นำมาคั่วให้แตกออกเหมือนข้าวโพดคั่วนั่นแหละ ซึ่งนักเรียนก็เข้าใจดี (แต่ไม่รู้ว่านำมาใส่รึเปล่า)

สิ่งที่กระตุ้นต่อมเอ๊ะอีกอย่างก็คือ ตอนตัดสินการประกวดพานไหว้ครูนั้น กรรมการท่านหนึ่งบอกว่า “ปีที่แล้วไม่มีข้าวตอกนะ” คำว่า “ปีที่แล้ว” คงจะหมายถึงที่โรงเรียนของคุณครูไม่มีเองกระมัง แต่โดยธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอยู่แล้วนั้นย่อมมีข้าวตอกอยู่อย่างแน่นอน แต่มีเหตุผลหนึ่งที่ฟังขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้างคือ “ข้าวตอกมันหายาก” ซึ่งความจริง...หาเป็นเช่นนั้นไม่ มิหนำซ้ำ นักเรียนยังสามารถทำข้าวตอกได้เองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม กรรมการอีกท่านก็ได้ชี้แจงว่า ได้บอกนักเรียนไปแล้วว่า “มีข้าวตอก” ด้วย (กรรมการที่บอกว่าไม่มีข้าวตอกนั้น บอกอีกว่า “คนที่ไม่ใช่กรรมการอย่ามายุ่ง” คงจะไม่ยุ่งไม่ได้หรอก เรื่องแบบนี้ส่งผลไปถึงนักเรียนแน่นอน!)

ตกตอนเย็น (11 มิ.ย. 2557) ผู้เขียนมีโอกาสเดินผ่านบริเวณที่นักเรียนทำกรวยดอกไม้ขายเพื่อนำไปเป็นเงินห้อง โดยเป็นดอกไม้ที่ใช้ไม่หมดในการแข่งขัน (นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์) ก็เลยได้มีโอกาสทำกรวยดอกไม้สำหรับไหว้ครูผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้บริหารของโรงเรียน

ไม่ทราบว่าอะไรดลใจไม่รู้ ผู้เขียนเกิดความรู้สึกในใจต่อเครื่องสักการบูชาทั้ง 4 อย่างนั้น กล่าวคือ การที่นักเรียนประดิษฐ์พานไหว้ครูที่มีเครื่องสักการบูชานั้นมาไหว้ครู คล้าย ๆ กับจะเป็นการเตือนสติครูเองด้วยว่า ครูควรจะมีคุณสมบัติเหมือนดังทำเปรียบเปรยต่อเครื่องสักการบูชานั้นด้วย คือ

ดอกเข็ม ลักษณะของดอกเข็มไม่ว่าจะดอกตูมหรือดอกบาน กลีบดอกจะมีปลายเรียวแหลม เปรียบเหมือนสติปัญญาอันแหลมคม ครูควรจะต้องพัฒนาความรู้ของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ หมั่นทบทวนตำรา คิด วิเคราะห์ ออกแบบการจัดการเรียนรู้ ฯลฯ สอดคล้องกับมาตรฐานความรู้และประสบการณ์

ดอกมะเขือ ลักษณะของดอกมะเขือจะก้มหน้าลงดินไม่บานขึ้นฟ้าเหมือนดอกไม้ทั่ว ๆ ไป และเมื่อมีมะเขือพวงเกิดขึ้น กิ่งจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ดอกมะเขือต้องโน้มลงดินตามไปด้วย เปรียบดังความสุภาพอ่อนน้อม ถ่อมตนที่ครูควรจะมีเป็นแบบอย่างนักเรียนดู ไม่ว่าครูผู้น้อยหรือครูผู้ใหญ่ การให้เกียรติกันย่อมแสดงให้เห็นว่า ครูท่านนั้นสอนให้นักเรียนเป็นคนสุภาพอ่อนน้อมได้เช่นกัน ยิ่งครูผู้ใหญ่ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นแบบอย่างในทุก ๆ สิ่ง สอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติตนซึ่งประกอบด้วย 5 จรรยาบรรณ

หญ้าแพรก ในตอนเด็ก ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นหญ้าแพรกเกิดบริเวณที่เป็นดินแฉะและดินลูกรัง ต่อมาได้ลองค้นคว้าข้อมูลว่า หญ้าแพรกนั้นเปรียบเหมือน การแผ่ขยายกระจายตัวไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งก็อาจจะหมายให้ข้าราชการครูไม่ว่าอยู่ที่ใดก็สามารถทำงานโดยมุ่งผลประโยชน์ในทางที่ถูกต้องของผู้เรียนเป็นหลัก และเน้นการมีส่วนร่วมของสังคมเหมือนดังสถานที่เกิดของหญ้าแพรก และสีเขียวของหญ้าแพรก (สังเกตเอง) ยังเป็นสีเขียวสดใส อยู่ได้นาน ลำต้นสูง เรียว ตรง ใบแผ่ออกข้างสมส่วน สวยงาม ผิวค่อนข้างเรียบ สอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติงาน 12 ข้อ

ข้าวตอก ในยามที่คั่วข้าวตอกนั้น เมื่อข้าวโดนความร้อนจนได้ที่แล้วก็จะปะทุแตกออกมา เสมือนผู้เรียนที่ได้รับการบ่มเพาะให้อยู่ในระเบียบวินัย ศีลธรรม คุณธรรมอันดี เมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นคนดีของสังคมได้ นอกจากนั้น กลิ่นหอมของข้าวก็ (น่าจะ) เป็นเหมือนคุณงามความดีในตัวผู้เรียนอีกด้วย มองในมุมที่เกี่ยวข้องกับครู ผู้เขียนเปรียบเปรยเล่น ๆ ว่า ก็คงจะเป็นตอนที่สวมเครื่องแบบนักศึกษาอยู่ นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้คิดไปถึงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูอีกอย่างหนึ่งก็คือ วินัยและการลงโทษทางวินัย ซึ่ง (คิดว่า) เปรียบได้กับความร้อนของไฟที่ทำให้ข้าวสุก แต่ตัวข้าวนั้น กลับเป็นได้ทั้งตอนที่ครูยังเป็นนักศึกษาอยู่และตอนที่ได้เป็นข้าราชการครูอย่างเต็มตัวแล้ว นั่นคือ ครูต้องประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย วาจา ใจ อยู่ตลอดเวลา

ผู้เขียนได้มีโอกาสนำกรวยดอกไม้ไปกราบสักการะผู้บริหารและครูอาวุโสในโรงเรียนหลายท่าน ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตข้าราชการครูอย่างยิ่ง ขอความสุขความเจริญจงมีแต่คณะครูตลอดไป ช่วยกันอบรมพร่ำสอนนักเรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

รัชพล มาลาศิลป์

12 มิ.ย. 2557

หมายเลขบันทึก: 570419เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2014 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2014 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบใจความหมายของแต่ละอย่าง

เด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้จักครับ

บางอย่างต้องสอน

ขอบคุณมากๆครับที่เขียนเรื่องดีๆให้อ่าน

ความหมายของแต่ละอย่างก็จำเขามา หาใน internet แต่มุมมองต่อครูนี่คิดเอาเองครับ ไม่อาจถูกใจหรือถูกต้องก็ได้ครับ

มาแจ้งว่า  25-28 สิงหาคม ได้ไปม.ราชภัฏบุรีรัมย์ จะฝากความคิดถึงใครไหม

อ.สินีนาฏ เชิญไปจัดกิจกรรมให้นักศึกษาปี 4 

ที่ สตรีภูเก็ต  ผศ.ดร.พรทิพย์ เสมาภักดี ยังเป้นที่ปรึกษาอยู่ไหมครับ

ไม่อยากฝากความคิดถึงครับ อยากไปด้วยเลยทีเดียว 555

เรื่องที่ปรึกษานั้น ไม่ทราบทีครับ

คุยกับ อ. สินีนาฏ แล้ว ก็อยากตามไปอยู่ครับ 555

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท