การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ตอนที่ 2


2. การวิเคราะห์เชิงอุปนัย (analytic induction)

ก่อนที่นำเสนอเรื่องนี้ผมจะได้บรรยายความรู้ก่อนเรียนเกี่ยวกับความหมายของคำที่สำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในเรื่องนี้ได้แก่ 1. อุปนัย (induction) 2.นิรนัย (deduction) 3. ความคิดรวบยอด (concept)

1. อุปนัย (induction) คือการอ้างเหตุผลโดยอาศัยหลักฐานจากประสบการณ์ที่ได้มาจากการสังเกตด้วยวิธีการต่างๆกล่าวคือ มีการอาศัยหลักฐานจากประสบการณ์ และเริ่มต้นจากข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะ (particular) ไปสู่ข้อสรุปซึ่งมีลักษณะทั่วไป(universal) ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือของข้อสรุปอยู่ในระดับเพียงโอกาสหรือความน่าจะเป็น(probability) แต่มักจะให้ความรู้ใหม่เสมอ เช่น "ร้านก. ที่อยู่ซอยแรกด้านข้างทิศเหนือของโรงเรียน บริการดีจริงๆไปใช้บริการมาหลายครั้งแล้ว และหลายคนก็พูดทำนองเดียวกันหมด" ในประเด็นการตัดสินความถูกต้องของการอ้างเหตุผลนั้นจะพิจารณาที่ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นำมาอ้าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เริ่มจากสิ่งเฉพาะไปสู่ความรู้ทั่วไป

2.นิรนัย (deduction) คือการอ้างเหตุผลที่อาศัยหลักฐานจากความรู้เดิมหรือความจริงทั่วไปซึ่งเป็นที่ยอมรับกล่าวคือ มีการอาศัยหลักฐานจากความรู้เดิมและเริ่มต้นจากข้ออ้างซึ่งมีลักษณะทั่วไป (universal) ไปสู่ข้อสรุปซึ่งมีลักษณะเฉพาะ (particular)ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือของข้อสรุปอยู่ในขั้นความแน่นอน (certainty)แต่มักจะไม่ให้ความรู้ใหม่มากไปกว่าการยืนยันความรู้เดิม เช่น"ทราบมาว่า ก. เป็นป้าของ ข. ฉะนั้น ก.ต้องเป็นผู้หญิงแน่ๆ"ในประเด็นการตัดสินความถูกต้องของการอ้างเหตุผลนั้นจะพิจารณาที่ความสมเหตุสมผล (valid)เป็นสำคัญ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จากสิ่งทั่วไปไปพิสูจน์สิ่งเฉพาะ

3. ความคิดรวบยอด (concept) ความคิด ความเข้าใจที่สรุปเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันเกิดจากการสังเกต หรือการได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นหลายๆ แบบแล้วใช้คุณลักษณะของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นนำมาประมวลเข้าด้วยกันเป็นข้อสรุปของเรื่องนั้น

เมื่อรู้เรื่องความหมายของคำกันแล้วมาฟังข้อเสนอของผมกันนะครับ

ทฤษฎีฐานราก หรือ groundedtheory คือ ทฤษฎีที่ได้จากการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นทฤษฎีที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อมูลที่เป็นไปตามปรากฏการณ์จริงมากที่สุดวิธีการแบบทฤษฎีฐานราก (grounded theory method) เป็นวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นในสาขาสังคม เพื่อสร้างคำอธิบายเชิงทฤษฎีจากข้อมูลโดยตรง วิธีวิทยาของการสร้างทฤษฎีฐานรากพัฒนาขึ้นมาจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่าการจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์และการอยู่รวมกันของมนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจถึงกระบวนการที่บุคคลได้สร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเพราะความคิดและการกระทำของมนุษย์มีพื้นฐานที่สำคัญอยู่ที่ความหมายที่ตนมีต่อสิ่งต่างๆวิธีวิทยาแบบนี้จึงเน้นที่การศึกษาปรากฏการทางสังคมโดยยึดหลักของการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาสร้างเป็นความคิดรวบยอดหาความเชื่อมโยงระหว่างความคิดรวบยอดต่างๆเพื่อให้ได้ข้อสรุปเชิงทฤษฎีของปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต้องการหาคำอธิบาย

กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือเมื่อเราต้องการจะหาความเป็นปกติธรรมดา (regularities)ของโลกทางสังคมหรือวัฒนธรรม การวิเคราะห์เชิงอุปนัยจึงกลายเป็นพระเอกในเรื่องนี้เราจะสร้างความคิดรวบยอดต่างๆออกมาได้ ก็ต้องดูข้อมูลเป็นหลักกระนั้นการที่เราจะหาความคิดรวบยอด จึงจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการแบบอุปนัยเป็นหลักกล่าวคือดูสัก 2-3 กรณี แล้วมาสร้างเป็นสมมติฐาน อย่างไรก็ตาม แม้เราจะใช้วิธีการแบบอุปนัยแต่วิธีการแบบนิรนัยก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการสร้างทฤษฎี (theory generation)โดยการใช้วิธีการแบบอุปนัย จะต้องมีการทดสอบทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมาด้วยเช่นกัน (theoryverification) เราตรวจสอบทฤษฎีด้วยวิธีการแบบนิรนัย การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบนี้ก็คือการที่เราเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างการอุปนัยและการนิรนัย โดยในนัยยะนี้การสร้างสมมติฐานที่เป็นแบบอุปนัยจะตามมาด้วยการทดสอบสมมติฐานแบนิรนัยสุดท้ายก็เพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง

คนที่ใช้คำว่าการวิเคราะห์เชิงอุปนัยเป็นคนแรกน่าจะเป็น Zmaniecki (1934)เพื่อต้องการจะค้นหาความเป็นปกติ หรือความเป็นสากล (universals) ในชีวิตทางสังคมหรือวัฒนธรรม ในปัจจุบันนี้การวิเคราะห์เชิงอุปนัยมีความหมายถึงการตรวจสอบอย่างเป็นระบบในเรื่องความเหมือนกันของกรณีต่างๆ(cases) เพื่อที่จะนำเอากรณีที่เหมือนกันมาสร้างเป็นความคิดรวบยอดนี่เป็นวิธีการในการวิเคราะห์แบบอุปนัยของ Hammersley และ Atkinsonมีจำนวน 6 ข้อ ได้แก่

1.เราจำเป็นต้องสร้างนิยามของปรากฏการณ์ตั้งแต่ตอนแรก

2. เราต้องสำรวจในบางกรณี (some cases) และศึกษาคุณลักษณะในเชิงการบรรยายของกรณี

3. เราต้องสร้างการอธิบายที่เป็นสมมติฐาน (hypotheticalexplanation) โดยดูจากความเหมือนกันที่เราวิเคราะห์ไว้ในข้อที่ 2กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การบ่งชี้ปัจจัยที่มีร่วมกัน (common factor) ในทุกๆกรณี

4. เราจำเป็นที่จะต้องนำกรณีอื่นๆเพื่อมาทดสอบสมมติฐาน

5. หากสมมติฐานไม่ตรงกับข้อเท็จจริง (fact) ตอนนี้เรามีทางเลือกอยุ่ 2 ทาง ก็คือ 1. เปลี่ยนสมมติฐาน2.เปลี่ยนนิยามของปรากฏการณ์

6. กระบวนการตรวจสอบกรณีต่างๆ,การปรับเปลี่ยนสมมติฐาน, และหรือการนิยามปรากฏการณ์ใหม่ ต้องทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกระทั่งกรณีใหม่ๆเข้ากันได้กับสมมติฐาน จนกระทั่งเราสามารถสรุปได้ว่าสมมติฐานถูกต้องแล้ว

มีนักวิชาการบางคนเชื่อว่าการวิเคราะห์เชิงอุปนัยนี้ใช้ในการศึกษาหลักฐาน (evidence)เพื่อที่เราจะได้ท้าทายหรือไม่เชื่อถือในความคิดรวบยอดหรือกรอบความคิดที่นักวิจัยหรือแม้แต่ตัวเราเองเป็นผู้สร้างสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยเปรียบเทียบเหตุการณ์ (incidents)หรือ กรณี (cases)ค้นหาความเหมือนหรือความแตกต่างเพื่อที่จะนิยามประเภท (define categories) และความคิดรวบยอดโดยนัยยะนี้การวิเคราะห์เชิงอุปนัยมีลักษณะบางอย่างร่วมกันกับวิธีวิจัย 2 อย่างนี้ดังจะนำเสนอต่อไป

หนังสืออ้างอิง

มิสเตอร์ แอ่น แอ้น. การวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีฐานราก. http://www.gotoknow.org/posts/172706

Keith F. Punch (1998).Introduction to Social Research: Quantitative and Qualitative Approaches. London: Sage Publication 

หมายเลขบันทึก: 570413เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2014 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2014 05:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ บันทึกนี้อ่านง่ายค่ะ มีคำถามนะคะ การสร้างทฤษฎีฐานราก ตรรกะที่ใช้ในการสร้างทฤษฎีคือการอุปนัย ในการวิจัยเชิงคุณภาพมักจะใช้จำนวนเคสน้อย ข้อสรุปทั่วไปจะเรียกว่าทฤษฎีก็ยังไม่น่าจะได้ เป็นเพียงข้อสมมุติฐานที่ต้องตราจสอบต่อไป การตรวจสอบตรงนี้อาจารย์ทำอย่างไรอยากได้ความรู้เพิ่มเติม เท่าที่อ่านงานวิจัยเชิงคุณภาพมามีจุดอ่อนตรงที่งานสิ้นสุดเมื่อได้ผลสรุปจากเดสที่ศึกษา ซึ่งบางเรื่องใช้เคสน้อยมาก

คนที่ทำทำในรายกรณีหรือเปล่าครับ (case) ถ้าทำเป็นรายกรณี ตรงนี้การเขียนบทวิเคราะห์สำคัญมากครับ ผมขอเสนอให้คุณ GD ลองไปอ่านบทความเรื่องนี้นะครับ บทความนั้นชื่อว่า Thick Description: Toward an Interpretive Theory of Culture เขียนโดย Clifford Geetz ในนั้นเกียรซ์เขียนว่า ถ้านักวิจัยได้ใช้ การบรรยายอย่างเข้มข้น (thick description) แล้ว เราน่าจะเชื่ิอได้ว่างานเขียนใช้วิธีการวิเคราะห์แบบคุณภาพมาดีจริงๆครับ แต่ถ้าเป็นการเขียนแบบรวม มีวิธีการทดสอบ หรือตรวจสอบอยู่เหมือนกันครับ ก็คือ เราต้องใช้วิธีการตรวจสอบที่เรียกว่า triangulation มีดังนี้ 1. ใช้นักวิจัยต่างคน ตรวจเดียวกัน 2. ใช้ทฤษฎีที่แตกต่างกันมาดูปรากฏการณ์เดียวกัน 3. ใช้วิธีการที่แตกต่างกันมาตรวจสอบข้อมูลชุดเดียวกัน นอกจากนี้เรายังมีนักวิชาการที่ศึกษาในเรื่องเดียวกัน เราอาจนำความรู้ที่นักวิชาการพวกนี้มาตรวจสอบข้อมูลก็ได้ครับ

เป็นประโยชน์มากต่อวิธีการวิจัยที่หลากหลายมากไปกว่าพื้นฐานแนวคิดปฏิฐานนิยม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท