ธีรภัทร 4


ฝึกงานวันแรก( ที่สถานที่จริงๆ)

วันพฤหัสบดี ที่ 2 พฤศจิกายน 2549

วันนี้ดิฉันได้ไปฝึกงานที่ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา (รังสิต) ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่จะได้ทำงานในสถานที่จริงๆแล้ว การเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานของดิฉันนั้นสามารถทำได้โดย

  1. โบกรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่วิ่งผ่านไปผ่านมาตอนเช้าๆ 1 คัน
  2. บอกคนขับมอเตอร์ไซด์ว่าไปศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์(ETV) ถ้าเขาไม่รู้จักก็อธิบายเพิ่มเติมว่าอยู่ทางประตู 1 ของ มหาวิทยาลัยราชมงคล เข้าไปทางศูนย์วิจัยอีกประมาณ 100 เมตร
  3. พอมาถึงก็จ่ายค่ารถไป 20 บาทแล้วเดินเข้าศูนย์ฯได้เลย

จากการเดินทางตามขั้นตอนข้างต้นที่กล่าวไปแล้วนั้น ทำให้ดิฉันถึงที่ศูนย์เวลา 08.20 น. การทำงานเริ่มตอน 08.30 น.ค่ะ เข้าไปติดต่อว่ามาฝึกงาน พี่เจ้าหน้าที่ก็พาไปพบอาจารย์เอ๋ มีการพูดคุยสอบถามถึงหนังสือส่งตัวและการไปรายงานตัวที่ศูนย์พญาไทเมื่อวานนี้นิดหน่อย

อาจารย์เอ๋พาไปพบท่านอาจารย์สมเจตน์ ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษาที่นี่นั่นเอง ท่านก็แนะนำการทำงานที่นี่ว่ามีงานที่ต้องถ่ายทำรายการที่ต้องการความคล่องตัวสูงอนุญาตให้ใส่เสื้อช้อปกับกางเกงยีนส์มาทำงานได้ ในการทำงานต่างๆที่ศูนย์นี้หากมีข้อสงสัยอะไรให้ถามอาจารย์ได้ทุกคนเพื่อที่จะได้ความรู้และจะได้ทำได้ถูกต้อง ควรมีความกระตือรือร้นในการทำงานทำงานด้วยความรักในงานแล้วงานนั้นจะออกมาดี ท่านยังสอนให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนให้มือไม้อ่อน เหมือนกับรวงข้าวที่ยิ่งแก่เต็มที่เมล็ดใหญ่เท่าไหร่ก็จะยิ่งอ่อนและโน้มติดดินมากเท่านั้น ท่านอาจารย์ยังใจดีให้เสื้อทอดกฐินปลอดเหล้าดิฉันมาตัวหนึ่งด้วย ท่านบอกว่าแจกทุกคนทั้งศูนย์ฯเลย

หลังจากรายงานตัวกับอาจารย์สมเจตน์แล้ว ดิฉันออกมาเจออาจารย์หนุ่ยบอกว่าวันนี้มีงานถ่ายทำรายการที่สตูดิโอ 3 ให้ไปช่วยงานด้วยและอาจารย์ก็ให้ขนมปังหมูหยองมาทานด้วยบอกว่าต้องถ่ายทำนานให้ทานรองท้องเดี๋ยวจะหิว ดิฉันจึงตามอาจารย์ไปห้องสตูดิโอ 3 จากการสอบถามจากอาจารย์หนุ่ยทราบว่าที่ศูนย์นี้มีสตูดิโอ 3 ห้องเรียงขนาดจากใหญ่ที่สุดไปหาเล็กที่สุดตามลำดับ 1 - 3 ค่ะ และวันนี้ดิฉันได้เข้าไปทำงานที่สตูดิโอ 3 ที่เล็กที่สุด

เมื่อเข้าไปถึงในสตูดิโอมีอาจารย์อีก 3 ท่านอยู่ คือ อาจารย์แสงชัยที่เป็นอาจารย์พี่เลี้ยงของดิฉันในการฝึกงานที่นี่ทำหน้าที่ผู้กำกับ, อาจารย์ธนาเป็นตากล้องตัวที่ 1, อาจารย์สมบัติเป็นตากล้องตัวที่ 3 และดิฉันวันนี้ได้เป็นตากล้องตัวที่ 2 ค่ะ อาจารย์บอกว่าการนับหมายเลขกล้องนั้นเราจะนับเรียงจากซ้ายสุดเป็นตัวที่ 1 เสมอ แล้วนับเรียงลำดับไปทางขวาเป็นตัวที่ 2, 3,4....ต่อไป ในการถ่ายรายการครั้งนี้เป็นรายการของทางETVเอง ชื่อรายการหัตถศิลป์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแกะสลักและฉลุไม้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีพิธีกรและวิทยากรผู้สาธิตวิธีการทำอีก 2 คนทั้ง 3 คนจะพูดคุยดำเนินรายการอยู่บนเวทีตลอดรายการ ในการถ่ายทำครั้งนี้ใช้กล้อง 3 ตัว โดยจะถ่ายทำเป็นตอนๆใช้เวลาตอนละ 30 นาทีทั้งหมด 5 ตอน

เนื่องจากดิฉันมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการถ่ายทำรายการโทรทัศน์เพียงแค่หางอึ่งเท่านั้น จึงเกิดความกังวลว่าอาจจะทำผิดพลาดและทำให้ต้องเสียเวลาในการถ่ายทำหลายๆครั้งก็เป็นได้ จึงต้องขอให้อาจารย์สมบัติช่วยทบทวนความรู้เรื่องขาดภาพและทดลองใช้กล้องจับภาพขนาดต่างๆตามคำสั่งดูว่าสามารถทำได้ถูกต้องและรวดเร็วทันเวลาหรือไม่ เพราะผู้กำกับจะใช้เวลาในการสั่งตากล้องให้จับภาพขนาดต่างๆก่อนตัดภาพมาที่กล้องนั้นประมาณ 3 วินาที

ขนาดภาพที่ใช้ในการถ่านทำรายการโทรทัศน์ ที่ใช้ในวันนี้

  • Long Shot (LS.) คือ ภาพมุมกว้างเห็นภาพโดยรวมว่าคืออะไร
  • Medium Shot (MS.) คือ ภาพขนาดครึ่งตัว เช่น ถ่ายให้เห็นคน 2 คนที่กำลังคุยกันอยู่ เราเรียกว่า ภาพTwo Shot ก็ได้
  • Medium Close Up (MCU.) คือ ภาพที่เจาะจาเฉพาะคนใดคนหนึ่งที่พูดอยู่
  • Big Close Up (BCU.) คือ ภาพที่เน้นลงไปที่บางส่วน เช่น การเน้นวัตถุที่ทำการสาธิตอยู่
  • Extreme Close Up (ECU.) คือ ภาพที่ตัวส่วนอื่นออกไปเน้เฉพาะจุดที่ต้องการ เช่น ลวดลายของวัตถุที่เล็กมากๆ

ส่วนของการเคลื่อนกล้องและการปรับเลนส์ เริ่มจากการปรับโฟกัสของกล้อง โดยการซูมอินเข้าไปจนสุดแล้วโฟกัสให้ได้ จากที่เราเรียนมาคือซูมไปที่ดวงตาของคน แต่อาจารย์แสงชัยบอกว่าบางครั้งอาจจะเป็นการไม่สุภาพจึงควรซูมไปที่ไหล่แล้วค่อยปรับโฟกัสให้เส้นของไหล่ชัดเจนก็ใช้ได้

  • Pan คือ การเคลื่อนกล้องไปทางซ้าย - ขวา ช้าๆเหมือนการหันหน้าของคน
  • Tilt คือ การเคลื่อนกล้องให้เงยขึ้นหรือก้มลง
  • Zoom คือการใช้เลนส์ปรับขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง เหมือนภาพนั้นใกล้เข้ามาหรือไกลออกไป

จากการทบทวนและทดลองใช้กล้องแล้วจึงเริ่มถ่ายทำกัน คงเพราะอาจารย์แสงชัยเข้าใจว่าดิฉันเป็นมือใหม่จึงสั่งกล้องตัวของดิฉันก่อนจะตัดภาพมานานกว่ากล้องตัวอื่นและเพราะกล้องของดิฉันเป็นตัวที่อยู่ตรงกลางจึงไม่ต้องเคลื่อนย้ายมากนัก หลังจากถ่ายทำจบ 3 ตอนก็มีการพักกลางวันทานข้าวกัน วันนี้ดิฉันได้ทานข้าวฟรีค่ะทางพิธีกรและวิทยากรที่มาถ่ายทำเขาซื้อข้าวกล่องมาเลี้ยงทีมงานทุกคนเลย หลังจากพักแล้ว ตอนบ่าย2โมงเราก็เริ่มถ่ายทำกันต่ออีก 2 ตอนจนจบ 

วันนี้ดิฉันได้จับกล้องเกือบทั้งวันไม่น่าเชื่อเลยค่ะว่าจะเมื่อยคอและขาได้ขนาดนี้ สงสัยดิฉันจะเกร็งมากเกินไปหน่อยกับงานแรก คิดว่าวันต่อๆไปน่าจะดีขึ้น ถึงเวลา 16.30 น.เลิกงาน ดิฉันก็กลับบ้านล่ะค่ะแล้วพรุ่งนี้คงจะสามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้นแล้วล่ะค่ะเพราะว่าดิฉันจะใส่เสื้อช้อปกับกางเกงยีนส์ไปทำงานค่ะ สำหรับการทำงานวันแรกที่นี่ด้วยความตื่นเต้นเลยพิมพ์บันทึกซะยาวเลยไม่รู้ว่าเพื่อนคนอื่นๆจะรู้สึกอย่างนี้รึเปล่านะ...   

 

หมายเลขบันทึก: 57035เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2006 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ได้เข้าไปดูการทำงานในห้องผลิตรายการโทรทัศน์ฯ ขณะที่มีการบันทึกเทปอยู่ ก็ทราบว่านักศึกษาคงยังรู้สึกตื่นเต้นกับการได้ทำงานและทำหน้าที่เป็นช่างกล้องเป็นครั้งแรก เนื่องจากขณะที่บันทึกเทปอยู่นั้น ผู้กำกับสั่งให้กล้องตัวที่2 ที่นักศึกษาทำงานอยู่นั้น ทำการZoom In แต่นักศึกษากลับ Zoom Out ผู้กำกับก็เลยต้องพูดย้ำอีกครั้ง นักศึกษาจึงทำได้ถูกต้อง (^_^) ไม่เป็นไรคะ มือใหม่ ผิดพลาดกันได้ ... อ.เอ๋ย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท