จากเรื่องขี้หมูสู่กลุ่มอาชีพ ตัวอย่างของการแก้ปัญหาชุมชน ผลงานชาวบ้านขาม อ.จอมพระ จ.สุรินทร์


โครงการบ้านขามรักษ์สิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการครอบคลุมการรักษาสิ่งแวดล้อมทุกๆ ด้าน เช่น การจัดการขยะ ความสะอาดภายครัวเรือน หน้าบ้าน ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในหมู่บ้าน แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากครัวเรือนและชุมชน ทำให้เห็นความสามัคคี การเสียสละในชุมชนในการแก้ปัญหาและสร้างชุมชนให้น่าอยู่

“บ้านขาม” น่าอยู่

จากเรื่องขี้หมูสู่กลุ่มอาชีพ


ที่บ้านขาม หมู่ 8 ต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ หมู่บ้านเล็กๆ มีประชากรเพียง 644 คน ทว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ของที่นี่กลับมีความคิดกว้างไกลเกินขนาดของหมู่บ้านไปหลายเท่าตัว ด้วยความสำเร็จของโครงการ “บ้านขามรักษ์สิ่งแวดล้อม” สามารถต่อยอดไปหลายๆ อย่าง ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีความสุข รักใคร่สามัคคีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน

ชาวบ้านขามประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โค กระบือ และสุกร แต่ไม่มีระบบการจัดการที่ดีพอ ต่างคนต่างเลี้ยง ไม่สนใจเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกรสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาช้านาน ทั้งน้ำเน่าเสีย และกลิ่นเหม็นโชยคลุ้งไปทั่วหมู่บ้าน

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวชาวบ้านขาม ซึ่งนำโดย สามารถ ดาศรี กำนันตำบลบุแกรง และชาวชุมชนจึงร่วมกันทำ โครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ “บ้านขามรักษ์สิ่งแวดล้อม” ขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

กำนันสามารถ เล่าว่า เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เลี้ยงสุกรไว้ภายในบริเวณบ้านของตนเอง เมื่อมีหลายครัวเรือนเลี้ยงสุกรมากขึ้น การใช้ชีวิตเหมือนต่างคนต่างอยู่ไม่สนใจกัน จึงเกิดปัญหาตามมาทั้งเรื่องของกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสีย ทำให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี นอกจากนี้ปัญหาจากน้ำขังตามที่ต่างๆ ยังส่งผลให้เกิดยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกระบาดสูงสุดในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ อีกด้วย

เมื่อชาวบ้านเริ่มทนไม่ได้จึงคิดที่แก้ปัญหานี้ให้หมดไป โดยเริ่มต้นเมื่อปี 2555 ได้มีการคัดเลือกสภาแกนนำชุมชนจำนวน 45 คน เพื่อร่วมประชุมวางแผนบริหารจัดการปัญหาภายในชุมชน จากนั้นจัดประชาคมเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนรับทราบปัญหา และคืนปัญหากลับไปเพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันแก้ เสร็จแล้วจึงพาแกนนำไปศึกษาดูงานถอดบทเรียน กระทั่งมอบหมายงานให้แกนนำทำเป็นแบบอย่างแก่ชาวบ้าน

“เราต้องสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้าน เมื่อแกนนำมีความเข้มแข็งแล้วก็นำแนวคิดไปปฏิบัติที่คุ้มของตนเอง ซึ่งแต่ละคุ้มก็จะมีสภาแกนนำคุ้มแยกย่อยออกไปอีก” กำนันสามารถ เล่า


โครงการบ้านขามรักษ์สิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการครอบคลุมการรักษาสิ่งแวดล้อมทุกๆ ด้าน เช่น การจัดการขยะ ความสะอาดภายครัวเรือน หน้าบ้าน ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในหมู่บ้าน แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากครัวเรือนและชุมชน ทำให้เห็นความสามัคคี การเสียสละในชุมชนในการแก้ปัญหาและสร้างชุมชนให้น่าอยู่

“ส่วนเรื่องปัญหาจากการเลี้ยงหมู ทุกวันนี้เบาบางลงไปเหลือผู้เลี้ยงรายใหญ่เพียงเจ้าเดียว ซึ่งเราก็ได้ขอความร่วมมือให้ไปสร้างฟาร์มเลี้ยงที่ห่างไกลจากหมู่บ้านออกไป เพื่อไม่ให้กระทบกับชาวบ้านเหมือนที่ผ่านมา ส่วนผู้เลี้ยงรายย่อยหลายรายก็เลิกอาชีพนี้ไปบ้างแล้ว หลังจากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เราก็จะประกาศครัวเรือนต้นแบบ และคุ้มต้นแบบที่สมารถเป็นแบบอย่างได้” กำนันบุแกรง แจงรายละเอียด

ความสำเร็จของโครงการและการมีสภาแกนนำชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้แต่ละคุ้มสามารถขยายผล ก่อเกิดฐานการเรียนรู้ประจำแต่ละคุ้มแตกต่างกันออกไป ได้แก่ คุ้มสหมิตร ดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง คุ้มจันทร์เจริญดำเนินงานเรียนรู้เพิ่มรายได้ คุ้มสันติสุข ดำเนินงานด้านเรียนรู้ลดรายจ่าย และคุ้มประตูสวรรค์ ดำเนินงานด้านแปรรูปอาหาร ซึ่งทั้ง 4 คุ้มสามารถสร้างเป็นอาชีพเสริมเป็นผลพลอยได้ทดแทนการเลี้ยงสุกร เช่น กลุ่มผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ กลุ่มผลิตน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มเพาะเห็นนางฟ้า กลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารพิษ กลุ่มผลิตไข่เค็ม กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

“ปัจจัยของความสำเร็จทั้งหมดนี้ เกิดจากการมีแกนนำที่เข้มแข็ง การสร้างจิตสำนึก 3 ต. ได้แก่ ตระหนก ตระหนัก ต่อเนื่อง และความสามัคคีเสียสละนำมาซึ่งการร่วมใจพัฒนา 4 ท. คือ ทำทันที ทำทุกที่ ทำทุกท่า และทำทุกท่าน ในอนาคตเราคาดหวังว่าจะขยายผลการดำเนินงานนี้ให้ครอบคลุมทั้งตำบล” กำนันสามารถ วางเป้าหมาย

ด้าน นางบุญรื่น ดาศรี รองหัวหน้าคุ้มสหมิตร กล่าวว่า ภายในคุ้มสหมิตรมีการจัดฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีแปลงผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ซึ่งผลผลิตที่ได้กำไรส่วนหนึ่งจะถูกนำเข้าส่วนเพื่อเป็นทุนดำเนินต่อไป อีกส่วนหนึ่งจะแบ่งให้กับสมาชิก เหนื่อยแต่ต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้แบบนี้

ขณะที่ จุฑาทิพย์ ต่อยอด หัวหน้าโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า โครงการร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้น่าอยู่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการมาแล้ว 2 รุ่นๆ ที่ 1 จำนวน 54 หมู่บ้าน รุ่นที่ 2 จำนวน 140 หมู่บ้าน และรุ่นที่ 3 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่จำนวน 174 หมู่บ้าน โดยความสำเร็จของแต่ละโครงการเราเน้นที่ 1.การสร้างสภาแกนนำชุมขนให้เข้มแข็ง และ 2.ผลลัพธ์ของโครงการ แต่สิ่งแรกที่เน้นย้ำ คือ แต่ละโครงการจะต้องสร้างสภาแกนนำให้เข็มแข็งก่อนเป็นอับดับแรก เมื่อผลลัพธ์ของโครงการสำเร็จสามารถขยายผลไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ และขยายประเด็นที่ของตนเองทำได้ด้วย เช่น บ้านขามซึ่งมีสภาแกนนำที่เข้มแข็ง ทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมแต่สามารถต่อยอดไปเรื่องของการรวมกลุ่มสร้างอาชีพ การปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น

ชุมชนจะต้องแก้ปัญหาได้โดยใช้กลไกลสภาแกนนำชุมชนเข้มแข็งเป็นตัวขับเคลื่อน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การที่ชุมขนมีสภาแกนนำที่เข้มแข็งสามารถเป็นแบบอย่างและชุมชนมีความสามัคคีไม่ว่าจะทำโครงการอะไรก็จะประสบผลสำเร็จทั้งสิ้น

ชุมชนบ้านขามมีรูปแบบในการดำเนินกิจกรรมโครงการที่ประสบผลสำเร็จทั้งสภาแกนนำและผลลัพธ์ของโครงการ ต่อยอดได้หลากหลายกิจกรรม ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านอื่นและเป็นแหล่งศึกษาดูงานในการบริหารชุมชนและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน เพราะถ้ากลุ่มคนไม่ลุกมาจัดการปัญหาอย่างมีระบบ ชุมชนก็ไม่น่าอยู่


ชาวบ้านขามให้ความสำคัญกับความสะอาดของชุมชน ทุกบ้านต้องน่ามอง น่าอยู่

พราะชาวบ้านชอบปลูกพืชผักสวนครัวไว้หน้าบ้าน บางครอบครัวจึงมีอาชีพเสริม นำยางรถยนต์เก่ามาเจาะทำเป็นกะบะปลูกต้นไม้ ขายราคาเส้นละ 80 บาท

ลานหน้าบ้าน ปลูกฟักปลูกแตงให้เลื้อยขึ้นร้าน ทำให้ร่มรื่น แถมยังได้ของกินใกล้มือ

คุ้มนี้โชว์การทำไข่เค็ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของคุ้ม

เพาะเห็ดนางฟ้าจากอาชีพเสริม จนกลายเป็นอาชีพหลัก

แยกขยะจนเป็นนิสัย

หมายเลขบันทึก: 569985เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2014 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2014 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชื่นชมครับ
กิจกรรมครอบคลุมในหลายมิติ -สังคม  สิ่งแวดล้อม  เศรษฐกิจ ฯ
และที่สำคัญ เห็นมิติของการจัดการชุมชนบนฐานคิดของการมีส่วนร่วมที่น่าชื่นชม...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท