Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ความเป็นไปได้ในการใช้สิทธิในสัญชาติไทยของคุณธงชัย นักศึกษาม้งไร้สัญชาติ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ... มาช่วยน้องชัยคิดกันหน่อยค่ะ


กรณีศึกษานายธงชัย แซ่ลี : สิทธิในสัญชาติไทยของนักศึกษาม้งไร้สัญชาติแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่มีบิดาเป็นคนสัญชาติอเมริกัน และมารดาเป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152483112338834

-------------

ข้อเท็จจริง

-------------

เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ คุณยอด ปอง นักศึกษาไร้สัญชาติ แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา ได้เฟซมาขอให้ตอบปัญหาความข้องใจของคุณธงชัย แซ่ลี ซึ่งเป็นนักศึกษาไร้สัญชาติ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยคุณยอดส่งข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งมาให้ผู้เขียนได้ศึกษา ผู้เขียนพบว่า เรื่องราวของคุณธงชัยน่าสนใจอย่างยิ่ง ผู้เขียนตระหนักว่า เรากำลังเผชิญกับเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งบิดาและมารดาได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติแล้ว อีกกรณีหนึ่ง

คุณธงชัยเล่าว่า เขาเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗[1]ที่บ้านห้วยคุ หมู่ ๘ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จากนางไมว่าง แซ่ลี[2] และนายบี แซ่โซ้ง[3] ในขณะที่คุณธงชัยเกิด กล่าวคือ ใน พ.ศ.๒๕๓๗ คุณแม่และคุณพ่อยังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ

เมื่อคุณพ่อของคุณธงชัยได้รับสถานะเป็นคนสัญชาติอเมริกันใน พ.ศ.๒๕๓๘ แล้ว ในช่วงต้น ก็เดินทางมาเยี่ยมครอบครัวในประเทศไทยปีละครั้ง

ใน พ.ศ.๒๕๔๔ คุณพ่อและคุณแม่ของคุณธงชัยมีบุตรสาวอีก ๑ คน กล่าวคือ ดญ.ศิริยุพา แซ่โซ้ง ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ ณ โรงพยาบาลเวียงแก่น สูติบัตรที่สำนักทะเบียนอำเภอเวียงแก่นออกให้แก่น้องสาวของคุณธงชัยระบุว่า เธอผู้นี้ไม่มีสัญชาติไทย แต่ระบุว่า เธอถูกเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ณ บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๓ ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และระบุว่า เธอมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ขึ้นต้นด้วยเลข ๗

ต่อมา ใน พ.ศ.๒๕๔๕ คุณพ่อก็ได้ทำเรื่องมารับทุกคนไปอยู่กับคุณพ่อในสหรัฐอเมริกา คุณแม่ก็ไปทำหนังสือเดินทางสำหรับคนต่างด้าว ส่วนน้องสาวเกิดในขณะที่คุณพ่อมีสถานะคนสัญชาติอเมริกันแล้ว จึงถือหนังสือเดินทางของคนสัญชาติอเมริกัน ในส่วนของคุณธงชัย ซึ่งเกิดก่อนที่คุณพ่อจะได้รับการแปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน และไม่มีหลักฐานการเกิด จึงทำให้ทางราชการไทยและทางราชการอเมริกันไม่เชื่อว่า คุณธงชัยเป็นบุตรของคุณพ่อและคุณแม่ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่แม่กลัวว่า ทุกคนจะไม่ได้ไป จึงยังไม่พาคุณธงชัยไปและทำเรื่องมอบอำนาจให้ตากับยายดูแลคุณธงชัย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่คุณธงชัยมีอายุราว ๘ ปี

คุณธงชัยเล่าว่า หลังจากนั้น คุณพ่อก็ดำเนินเรื่องจากสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทยเพื่อขอให้ทางสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทยมีหนังสือมาเรียกตัวคุณธงชัยไปสัมภาษณ์เพื่อขอวีซ่าไปสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาติดที่ว่า คุณธงชัยไม่มีหนังสือเดินทาง จึงทำให้คุณธงชัยจึงต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว

ต่อมา ใน พ.ศ.๒๕๔๙ คุณแม่และคุณยายของคุณธงชัยได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย[4] คุณพ่อกับคุณแม่ของคุณธงชัยจึงเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเพื่อที่คุณแม่ได้รับการออกบัตรประชาชนตามกฎหมายไทย ในครั้งนี้ คุณพ่อและคุณแม่กลับไปติดต่อกับทางสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทยอีกครั้งเพื่อจะพาคุณธงชัยไปสหรัฐอเมริกาด้วยอีกครั้ง ในครั้งนี้ ทางสถานทูตอเมริกาก็ยังยืนยันว่า ถ้าคุณธงชัยมีหนังสือเดินทาง ก็มีความเป็นไปได้ที่สถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทยที่ออกวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาให้แก่คุณธงชัย คุณธงชัยเล่าว่า ในการติดต่อกับอำเภอเวียงแก่นในรอบนี้ เจ้าหน้าที่อำเภอดังกล่าวได้บันทึกชื่อของเขาในทะเบียนประวัติประเภทชุมชนบนพื้นที่สูง (ชาวเขา ๙ เผ่า) และทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) อันทำให้เขาถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายนี้ขึ้นต้นด้วยเลข ๗ หลังจากนั้น คุณพ่อกับคุณแม่ก็กลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และตัดสินใจให้คุณธงชัยเรียนในประเทศไทยต่อไป

เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖ คุณธงชัยได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่อง “การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปและการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย” ผ่านอำเภอเวียงแก่น

ในปัจจุบัน คุณธงชัยมีอายุ ๑๙ ปี และยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยกับคุณยาย คุณตาเสียชีวิตแล้วเมื่อ ??? คุณธงชัย เรียนอยู่ในสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีสถานะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ ในขณะที่ คุณพ่อและคุณแม่ ตลอดจนน้องสาวของคุณธงชัยอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

---------------------------------

ข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงระหว่างประเทศไทยกับคุณธงชัย

---------------------------------

เราจะเห็นว่า คุณธงชัยมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

ในประการแรก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คุณธงชัยเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ เขาจึงมีข้อเท็จจริงอันแสดงถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างเขาและประเทศไทยโดยหลักดินแดน และจุดเกาะเกี่ยวนี้เป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด

ในประการที่สอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คุณธงชัยเกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนที่เกิดในประเทศไทย เขาจึงมีข้อเท็จจริงอันแสดงถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างเขาและประเทศไทยโดยหลักบุคคลอีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและคุณแม่ของคุณธงชัย จึงทำให้คุณธงชัยมีสถานะเป็นบุตรของหญิงที่เกิดในประเทศไทย และจุดเกาะเกี่ยวนี้เป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด เช่นกัน

ในประการที่สาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คุณแม่ของคุณธงชัยได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยใน พ.ศ.๒๕๔๘ เขาจึงมีข้อเท็จจริงอันแสดงถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างเขาและประเทศไทยโดยหลักบุคคลที่เข้มข้นมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและคุณแม่ของคุณธงชัยที่เพิ่มคุณภาพขึ้น จึงทำให้คุณธงชัยมีสถานะเป็นบุตรของหญิงสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ แต่จุดเกาะเกี่ยวในลักษณะนี้เป็นจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิด

---------------------------------

ปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยของคุณธงชัย

---------------------------------

ด้วยจุดเกาะเกี่ยว ๓ ลักษณะที่คุณธงชัยมีกับประเทศไทย ทำให้เราอาจวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะใช้สิทธิในสัญชาติไทยของคุณธงชัยอาจเกิดใน ๓ ความเป็นไปได้เช่นกัน กล่าวคือ

ความเป็นไปในประการแรก ก็คือ ความเป็นไปได้ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เราจะเห็นว่า เมื่อคุณธงชัยเกิดในประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๓๗ เขาจึงมีสิทธิที่จะร้องขอใช้สัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ และเมื่อปรากฏว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้คนที่เกิดในประเทศไทยที่มีชื่อในทะเบียนประวัติประเภทชุมชนบนพื้นที่สูง (ชาวเขา ๙ เผ่า) ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยนั้น และคุณธงชัยก็ได้ยื่นคำขอใช้สิทธิในสัญชาตินี้แล้วใน พ.ศ.๒๕๕๖ จึงมีความเป็นไปได้ว่า คุณธงชัยจะได้รับคำสั่งอนุญาตให้ใช้สิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรานี้ในเวลาต่อไป สิ่งที่ควรตรวจสอบ ก็คือ คุณธงชัยได้มีการยื่นคำขออย่างถูกต้องหรือไม่ และอำเภอเวียงแก่นได้ออกใบรับคำขอให้แก่คุณธงชัยอย่างถูกต้องหรือไม่

ความเป็นไปในประการที่สอง ก็คือ ความเป็นไปได้ภายใต้มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๓๑ จะเห็นว่า เมื่อคุณแม่ของคุณธงชัยเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากบุพการีที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะเป็นคนเข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร เธอจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ วรรค ๑[5] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และมีสิทธิร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ วรรค ๒[6] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และนอกจากนั้น มารดายังอาจร้องขอใช้สิทธิให้แก่บุตรที่เกิดในระหว่างวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ เราจึงอาจตั้งข้อสังเกตว่า หากคุณแม่ของคุณธงชัยยังไม่เคยใช้สิทธิแปลงสัญชาติเป็นไทย เธอก็อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ นี้ และคุณธงชัยก็อาจใช้สิทธิในมาตรา ๒๓ นี้ได้อีกด้วย ในสถานะ “บุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕”

แต่เมื่อคุณแม่ของคุณธงชัยมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติไทยไปแล้ว จึงไม่อาจใช้สิทธิตามมาตรา ๒๓ ข้างต้นได้ เว้นแต่จะไปสละสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติที่ได้รับมาใน พ.ศ.๒๕๔๘ แล้วค่อยย้อนกลับมาใช้สิทธิในมาตรา ๒๓ ได้ ซึ่งก็ไม่น่าจะต้องทำเช่นนั้น เว้นแต่ว่า คุณแม่ของคุณธงชัยอยากมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๒๓ แทนสัญชาติไทยภายหลังการเกิดโดยการแปลงสัญชาติที่ใช้สิทธิไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘

แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ของคุณธงชัยไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ นี้แล้ว คุณธงชัยจะใช้สิทธิในมาตรา ๒๓ นี้ได้หรือไม่ ซึ่งสำหรับ อ.แหววแล้ว คุณธงชัยก็จะน่ายังมีสิทธิในสัญชาติไทยดังกล่าวเพราะคุณธงชัยก็น่าจะมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของการได้สิทธิดังกล่าวดังที่กำหนดในมาตรา ๒๓ วรรค ๑ กล่าวคือ (๑) คุณธงชัยเป็นบุตรของคนที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยเพราะตกอยู่ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ก่อนที่ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ จะมีผล และ (๒) คุณธงชัยไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ หากคุณธงชัยจะใช้สิทธิในมาตรา ๒๓ ก็อาจทำได้โดยการยื่นคำขอตามมาตรา ๒๓ วรรค ๒ ได้เลยต่อสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแก่น และหากสำนักทะเบียนนี้ปฏิเสธที่จะลงรายการสัญชาติไทยให้ คุณธงชัยก็อาจใช้สิทธิฟ้องนายทะเบียนต่อศาลปกครอง ดังนั้น จะเห็นว่า ความเป็นไปได้ในประการที่สองนี้ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณธงชัยมากที่สุด เพราะทำให้คุณธงชัยอาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยนี้ได้โดยทันที

ความเป็นไปในประการที่สาม ก็คือ ความเป็นไปได้ภายใต้มาตรา ๑๑ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เมื่อฟังว่า คุณแม่ของคุณธงชัยเป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ คุณธงชัยก็น่าจะได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติตามคุณแม่ โดยผลของมาตรา ๑๑ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ในสถานะ “เป็นบุตร ภริยา หรือสามีของผู้ซึ่งได้แปลงสัญชาติเป็นไทย หรือของผู้ได้กลับคืนสัญชาติไทย” คุณธงชัยจะมีสิทธิร้องขอสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติในลักษณะนี้หากมีข้อเท็จจริง ๓ ประการดังต่อไปนี้ (๑) บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ(๒) มีความประพฤติดี และ (๓) มีอาชีพเป็นหลักฐาน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องตระหนัก ก็คือ การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติไทยเป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[7] ดังนั้น จะเห็นว่า ความเป็นไปได้ในประการที่สามนี้ จึงไม่น่าสนใจเท่าความเป็นไปได้ในประการที่สอง ซึ่งน่าจะเป็นสิทธิในสัญชาติไทยที่ดีที่สุดสำหรับคุณธงชัย

อ.แหววจึงขอให้คุณธงชัยอ่านบันทึกของ อ.แหวว และพิจารณาในทั้ง ๓ ความเป็นไปได้ และพิจารณาว่า จะใช้ความเป็นไปได้ไหนสำหรับการพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของตนเอง


[1]ดังปรากฏตามหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑ ตอน ๑ ) ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ และสูติบัตรประเภท ท.ร.๓ ตอน ๑ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๑ ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแก่น สูติบัตรนี้ระบุว่า คุณธงชัยไม่มีสัญชาติไทย และถูกบันทึกในทะเบียนบ้านกลาง ณ บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๓ ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

[2]นางไมว่าง แซ่ลี คุณแม่ของคุณธงชัยซึ่งเป็นคนม้งที่เกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ในศูนย์อพยพ น้ำยาว อำเภอปัว จังหวัดน่าน จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนม้งไร้สัญชาติซึ่งเกิดในประเทศลาว คุณแม่มีสูติบัตรผู้อพยพซึ่งออกโดยหัวหน้าศูนย์ควบคุมผู้อพยพและผู้หลบหนีเข้าเมือง อำเภอปัว จังหวัดน่านมีทะเบียนบ้านของผู้อพยพ แต่สูติบัตรนี้ระบุว่า คุณแม่ของคุณธงชัยมีสัญชาติลาว หลังจากการเกิดของคุณแม่ คุณตาก็ได้รับการแปลงสัญชาติไทย แต่คุณยายกับคุณแม่ ตลอดจนน้องของคุณแม่อีก ๕ คน ที่เกิดก่อนการได้สัญชาติไทยของคุณตายังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวต่อไป เมื่อทางราชการไทยปิดศูนย์อพยพน้ำยาว ทุกคนถูกส่งตัวมาอยู่ที่ศูนย์อพยพบ้านแก อำเภอเชียงคำ จังหวัด พะเยา ต่อมาเมื่อศูนย์บ้านแกปิดตัวลง คุณตาและครอบครัวได้ออกมาอยู่ในหมู่บ้าน ห้วยคุ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัด เชียงราย

[3] คุณพ่อของคุณธงชัยเกิดเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ที่แขวงคำเกิ๊ด (ลาวใต้) ซึ่งเป็นช่วงสงครามเวียดนาม และได้อพยพเข้าประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๓๐ โดยมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพ บ้านวินัย อำเภอสองแคว จังหวัดเลย คุณพ่อมีบัตรที่เรียกว่า CA ซึ่งออกโดยองค์การสหประชาชาติที่เข้ามาช่วยเหลือในขณะนั้น คุณพ่อตัดสินใจไปอเมริกาใน พ.ศ.๒๕๓๒ และได้กลับมาเยี่ยมญาติที่ประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๓๖ และได้แต่งงานกับคุณแม่ของคุณธงชัยในปีเดียวกัน ภายหลังการเกิดของคุณธงชัยใน พ.ศ.๒๕๓๗ คุณพ่อจึงได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นคนสัญชาติอเมริกันเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๘

[4] เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘ อำเภอเวียงแก่น ได้ออกหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ให้แก่นางสาวไมว่าง แซ่ลี มารดาของคุณธงชัย ซึ่งหนังสือนี้ระบุว่า นางสาวไมว่างได้รับพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้วตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการได้สัญชาติเป็นไทยลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้าที่ ๘๙ เล่มที่ ๑๒๒ ตอนที่ ๓๔ ง ลงวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า โดยมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ นางไมว่าง คุณแม่ของคุณธงชัยจึงอาจเริ่มใช้สิทธิในสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันประกาศการอนุญาตให้ถือสิทธิในสัญชาติไทยในราชกิจจานุเบกษา

[5] ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๑ และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๒ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริง ในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดีหรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

[6] ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน

[7] มาตรา ๑๒ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

หมายเลขบันทึก: 569953เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2014 03:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2014 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท