99. ความรักชาติของนักการเมืองอินเดียในรัฐบาล นายกฯ Modi ผ่านภาษา


สำนึกรักชาติของนักการเมืองอินเดีย

                                       สภาผู้แทนราษฎรอินเดีย (โลกสภา)

https://www.google.co.th/search?q=Lok+Sabha,+India&source

          ตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษค.ศ.1947 ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของนักการทูตอินเดียที่ใช้ในการสนทนาและการติดต่อสื่อสารทั้งหมด แม้ว่าภาษาประจำชาติคือภาษาฮินดีก็ตาม ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากผู้นำของประเทศแล้ว

          อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษา และสามารถจัดการเรื่องนโยบายภาษาได้เป็นอย่างดีด้วยการยกย่อง และยอมรับให้มีภาษาราชการถึง 22 ภาษาอย่างเป็นทางการ และมีภาษาที่ไม่เป็นทางการอีกนับร้อยๆ ภาษา เมื่อนักการเมืองชาตินิยมขึ้นสู่อำนาจ ภาษาฮินดีกลับมาเป็นภาษาการทูตของนักการเมือง นักการทูตอินเดียจากวันแรกที่รัฐบาลใหม่พรรคบีเจพี นำโดยนายกฯ Modi ท่านใช้ภาษาฮินดีกับผู้นำของ SAARC ที่มาจากเอเชียใต้ แม้ว่าภาษาแม่ของท่านจะเป็นภาษากุจาราตี และท่านสามารถพูดได้ทั้งฮินดีและอังกฤษเหมือนชาวอินเดียจำนวนมาก นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Sushma Swaraj และรัฐมนตรีอีกสองสามท่านของพรรคบีเจพีสาบานตนด้วยภาษาสันสกฤต ซึ่งทำให้รัฐมนตรีหลายท่านจากรัฐพิหารเรียกร้องที่จะใช้ภาษามายถิลีในการสาบานตนในสภาผู้แทนราษฎรด้วย

           นักการทูตท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ท่านนายก Modi สนทนากับผู้นำต่างๆ ด้วยภาษาอังกฤษ แต่พอถึงจุดที่ละเอียดอ่อนท่านจะสื่อด้วยภาษาฮินดี”

         ประเด็นคือหากรัฐมนตรีเหล่านี้สะดวกที่จะใช้ภาษาใดในการสื่อสารได้ดีที่สุดก็ใช้ภาษานั้น ผู้นำในโลกนี้จำนวนมากใช้ภาษาแม่ตนเอง ถ้าท่านใดสะดวกที่จะสื่อเรื่องละเอียดอ่อนด้วยภาษาใดก็ใช้ภาษานั้นไป อีกสิ่งที่น่าเรียนรู้คือรัฐมนตรีที่มาจากรัฐทางใต้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาแม่ เช่น รัฐอันธรประเทศใช้ภาษาราชการคือเตลูกู แต่หัวหน้าพรรคนายChandrababu Naidu ได้บอกสมาชิกของท่านว่าพวกเขาควรเรียนภาษาฮินดีเพื่อใช้เป็นภาษาในการทำงานของรัฐบาลที่กรุงนิวเดลี ดังนั้นรัฐมนตรีส่วนใหญ่สาบานตนเป็นภาษาฮินดีที่เขียนคำอ่านด้วยอักษรเตลูกู

(ประมวลจาก http://timesofindia.indiatimes.com/india/Hindi-may-be-the-new-lingua-franca-of-Indian-diplomacy/articleshow/36112447.cms และhttp://timesofindia.indiatimes.com/ india/When-Sanskrit-echoed-in-in-the-Lower-House articleshow/36120297.cms)

    จากเรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงความรักชาติ รักภาษาแม่ ภาษาประจำชาติของตนและต้องการแสดงออกถึงความเป็น “อินเดีย” โดยผ่านภาษาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อความคิด นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลให้กับมวลมหาประชาชนชาวอินเดียที่มีผู้พูดภาษาฮินดีเป็นภาษาประจำชาติมากที่สุด  ภาษาสะท้อนอัตลักษณ์ตัวตนของคน นักการเมืองอินเดียในรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญและลงมือทำให้ดูก่อน  แม้ว่าผู้นำเหล่านี้สามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้คล่องแคล่วเป็นอย่างดี แต่นั่นเป็นภาษาที่แสดงให้เห็นถึง “การครอบงำ” ของอดีตอาณานิคมอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาแม่หรือภาษาที่เป็นของชาวอินเดียจริงๆ เพราะยังมีประชาชนชาวอินเดียอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เรียน และสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ  การใช้ภาษาแม่หรือภาษาฮินดีในฐานะภาษาประจำชาติจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อได้ตรงจากผู้ส่งสาร (นักการเมือง) ถึงผู้รับสาร (ประชาชนชาวอินเดีย) ทำให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ เข้าถึงกันในวงกว้างได้ดีขึ้นกว่าการใช้ภาษาอังกฤษ

 

        ประเทศไทยน่าจะได้เรียนรู้ว่าถึงอย่างไรการเป็นผู้รู้มากกว่าหนึ่งภาษาก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น  แต่นโยบายภาษาแห่งชาติของประเทศไทยยังไม่มี เราควรต้องหาวิธีที่จะจัดการให้ลูกหลานได้เรียนภาษาต่างประเทศหลังจากที่เริ่มเรียนภาษาแม่หรือใช้ภาษาแม่ให้แข็งแรงก่อน แล้วจึงค่อยเรียนรู้ภาษาต่างประเทศซึ่งไม่ควรกระหน่ำเรียนหลายๆ ภาษาพร้อมกันเหมือนที่หลายโรงเรียนในหลายท้องที่ของประเทศไทยกำลังตื่นตระหนกกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จนทั้งครูและนักเรียนเกิดความสับสนไปหมด ผลสัมฤทธิ์ที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ที่เกิดจากความเข้าใจอย่างแท้จริง

 

ท่านที่สนใจจะศึกษาเรื่องราวของอินเดียเพื่อเตรียมตัวเข้าประลองสนามการทำงานกับมหาอำนาจประเทศนี้ในอนาคต สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา เอกอินเดียศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียได้ในปลายปีนี้ โปรดติดตามรายละเอียดในเฟสนี้อย่างต่อเนื่อง และเข้าชมได้ที่ www.lc.mahidol.ac.th; Indian-Studies Mahidol-University พร้อมกับการให้ทุนสนับสนุนในการฝึกปฏิบัติภาคสนามที่ประเทศอินเดียด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 569904เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2014 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2014 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

  ขอบคุณ  บันทึกดีดีนี้ค่ะ 

ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ เป็นวิธีที่จะเรียนรู้และเข้าใจผู้อื่น เพื่อสะท้อนดูตัวเองค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท