​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๗๓. เที่ยวสองประเทศนอร์ดิก (๕) วันที่สาม ชมตลาดของเก่า และเยี่ยมชม AHO


          เช้าวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๗ หลังเดินออกกำลังตอนเช้า ตามด้วยอาหารเช้า ท่านทูตอ้อมพาเราเดินไปตลาดของเก่า (Flea Market) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร นักซื้อของเก่า หรือนักช็อปปิ้งเห็นของแล้วคงจะรู้สึกปั่นป่วนจากความ เย้ายวนเพราะเห็นซื้อกันคนละหลายชิ้น ท่านทูตอ้อมก็ได้นาฬิกาอีก ๑ เรือน ราคา ๗๕ โครน

          อาจารย์สุจินดา คงจะเห็นผมไม่ซื้อของ ท่านจึงชวนผมเดินกลับ กลับมาได้ครู่เดียว คุณเปาก็มาเคาะห้องถามว่า เขาจะไปดูของเก่าที่โรงเรียน ในงานบริจาคของเก่าให้โรงเรียน และโรงเรียนเปิดขายในวันเสาร์ ผมบอกว่าไป โดยนั่งรถไป

          เมื่อไปถึงปรากฎว่าเป็นโรงเรียนที่อยู่หลัง Vigeland Park ที่เราไปยืนดูนักเรียนเล่นกีฬากันตอนบ่ายวันที่ ๒๓ มีความแปลกที่ทาสีดำ มีของขายแตกต่างจากที่ตลาด Flea Market คือมีของชิ้นใหญ่กว่า เช่นเฟอร์นิเจอร์ จักรยาน ไม่เห็นชิ้นงานศิลปะอย่างที่ตลาด

          กลับมากินอาหารเที่ยง เป็นข้าวมันไก่ที่แสนอร่อย แล้วไป AHO (Arkitektur og designhhogskolen i Oslo - Oslo School of Architecture and Design) เพื่อเจรจาความร่วมมือ ปรากฎว่าเจรจาง่ายดาย เพราะอธิการบดี Karl Otto Ellefsen ให้เจ้าหน้าที่ วิเทศสัมพันธ์ยกร่าง MOU เอาไว้ให้เราตรวจดู โดยพอนั่งโต๊ะเจรจาปุ๊บ (ฝ่ายเขามี ๒ คน คืออธิการบดีกับ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ ฝ่ายเรามี ๙ คนครบทั้งขบวน) เขาก็บอกเลยว่า เป้าหมายของการประชุมกันครั้งนี้คือการลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยบอกว่า เขาสนใจร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ด้วยเหตุผล หรือคุณลักษณะที่เขาชอบ ๓ ประการ คือ (๑) การทำงานอย่างมีค่านิยม (values) ชัดเจน(๒) การเน้นงานไม้ (๓) การเน้นทำงานกับชุมชน

          เพื่อประกอบความเข้าใจรายละเอียดของความร่วมมือ อ. ขนุน (อ. รัชดาพร คณิตพันธุ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรสถาปัตย กรรมศาสตรบัณฑิต) ฉาย PowerPoint เล่าโครงการของสถาบันอาศรมศิลป์ ได้แก่โครงการฟื้นฟูเมืองเก่าเยาวราช และเวิ้ง นาครเกษม และโครงการฟื้นฟูย่านชุมชนริมน้ำจันทบุรี ทำให้ฝ่าย AHO ตาลุก บอกว่าต้องการให้นักศึกษาของเขามาร่วม โครงการแบบนี้

          เจรจาเสร็จ Prof. Karl Otto พาชมสถานที่ ที่เป็นห้องปฏิบัติการงานไม้ งานเหล็ก และห้องสตูดิโอของ นศ. ปริญญาโท ห้องปฏิบัติการงานไม้มีห้องเครื่องมือราคาแพง ที่ใช้คอมพิวเตอร์ และห้อง 3-D Printer ซึ่งเขาบอกว่า นศ. ของเขาสร้างเองได้ ราคาไม่แพง อ. แบน (ธีรพล) ถามว่าเครื่อง 3-D Printer ใช้สารเคมีเป็นพิษไม่ใช่หรือ เขาบอกว่าถ้าใช้ชนิดราคาถูกก็ใช่ แต่ก็มีสารเคมีที่ไม่เป็นพิษให้ใช้ แต่ราคาแพงมาก

          เราได้ความประทับใจว่า ในสังคมนอร์เวย์ อธิการบดีคือ Prof. Karl Otto Ellefsen ทำงานเองทุกอย่าง ไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ คอยรับใช้เลย ยกเว้นการยกร่าง MOU ที่มีเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ทำให้ โดยต้องรีบตกลงกันให้เขาไปแก้ร่างเดิม เพราะเขาต้องไปรับลูก

          นศ. กำลังเตรียมจัดงานฉลองการเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เขาเล่าว่า นักศึกษาจะเมา ๔ สัปดาห์ แล้วไปสอบ ศาสตราจารย์ของ AHO เล่าว่าตนมีลูกวัยรุ่น ฤดูนี้มีค่าใช้จ่ายมากจากงานฉลองนี้ ลูกที่มือเติบและพ่อแม่ตามใจอาจใช้เงินถึง ๑ แสนโครนเพื่อการนี้

          ค่ำท่านทูตเลี้ยงอาหารเย็นแก่ทีมบริหารของ AHO แล้วเซ็นข้อตกลงความร่วมมือ เป็นงานที่แสดงความตั้งใจจริง ของฝ่ายไทย ที่จะมีความร่วมมือด้านการศึกษากับนอร์เวย์

          ในบ่ายวันที่ ๓๐ เมษายน ตอนที่เราไปชมพิพิธภัณฑ์ ทีมของสถาบันอาศรมศิลป์ ๓ คน ไปร่วมประชุมสังเกตการณ์ การนำเสนอโครงการที่ นศ. ไปทำโครงการที่เวียดนาม นศ. เสนอแบบไม่เข้าใจสภาพของท้องถิ่น เมื่ออาจารย์ซักก็ตอบไม่ได้ เงอะๆ งะๆ เล่ากันว่า อาจารย์แบน (ธีรพล) เกิดอาการ culture shock ว่า อาจารย์ฝรั่งดุ นศ. ถึงขนาดนั้น ทำให้ทีมของ อาศรมศิลป์ใจชื้น ว่า นศ. ของเราที่จะส่งมาเรียนกับเขาคงไม่ทำให้เราขายหน้า นักศึกษาปริญญาตรีของเขาส่วนใหญ่ จบปริญญาตรีสาขาอื่น และออกไปทำงานมาก่อนแล้ว อายุเฉลี่ยของ นศ. ปี ๑ สูงถึง ๒๒.๗ ปี

วิจารณ์ พานิช

๒๖ เม.ย. ๕๗


ดอกไม้สวยที่ถ่ายได้ตอนออกไปเดินออกกำลัง


ทิวลิปกำลังงาม

เดินจากสถานทูตเพียง ๒๐๐ เมตรก็ถึงตลาด


ท่านทูตกำลังอธิบายให้ ดร. สุจินดาและ อ. ปุยฟัง


ชุดกาแฟชุดนี้บัดนี้อยู่ที่บ้าน อ. ปุย


อ. ประภาภัทร ครูแครอล และ อ. สุรพล


งานเลหลังของใช้รับบริจาคที่โรงเรียน


เราบ่นกันว่าตู้ไม้ตัวนี้สวยมาก แต่ไม่รู้จะขนมาอย่างไร


เจรจาความร่วมมือกับ AHO ยังไม่ทันเจรจาก็ตกลงกันได้เสียแล้ว


กองเชียร์นั่งอยู่ทางขวามือ


workshop อันทันสมัย (และแพง) ของ AHO


ไม้ เบิร์ช (birch) ที่ละอองเกสรปลิวว่อนในช่วงนี้
เป็นสาเหตุของโรคแพ้ละอองเกสรดอกไม้


ตัวอย่างไม้ ให้ นศ. ศึกษา


ห้องปฏิบัติการเปิดให้ นศ. เข้าใช้ ๒๔ ชั่วโมง นี่คือห้องปฏิบัติการงานไม้


ห้อง 3D printer


ห้อง นศ. ปริญญาโท ที่ยกกองกันไปแข่งขันออกแบบที่ญี่ปุ่น ห้องจึงว่า


อ. ธีรพล คุยกับ นศ. ป. ตรีที่มาทำงานวันเสาร์ ว่าต้องเร่งส่งงาน
นศ. ปี ๑ ของเขาอายุเฉลี่ย ๒๒.๗ ปี


หลังเจรจากับ AHO มานั่ง AAR กันในตลาด


พิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันอาศรมศิลป์ กับ AHO ที่สถานทูตไทย


ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก


ต้น birch

ดอก birch

หมายเลขบันทึก: 569829เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท