ประสบการณ์การปลูกไผ่บงหวาน


ลอกเขามาอีกที 

ผู้เขียนได้ปลูกไผ่บงหวานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยได้เช่าพื้นที่ใน อ.เด่นชัย ทำเกษตรผสมผสาน โดยเริ่มที่พื้นที่ 5 ไร่ก่อน และพืชหนึ่งในนั้นก็คือไผ่บงหวาน ผู้เขียนได้ทดลองปลูก ในพื้นที่ 1 ไร่ โดยใช้พันธุ์ไผ่จำนวน 200 ต้น โดยได้ซื้อพันธุ์มาจาก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่แต่ก็ไม่ทราบอายุของไผ่บงหวานว่าจะให้หน่อไปได้อีกกี่ปี โดยจุดประสงค์ของการปลูกครั้งแรกเพื่อใช้หน่อไว้เป็นอาหาร ไม้ไว้ทำค้างผักต่างๆและค้างผลไม้ที่ปลูกอยู่ในที่ดิน ที่เช่าอยู่ ถึงตอนเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่ปลูก ปรากฏว่าหน่อไผ่บงหวานที่ขุดไปทดลองขายที่กิโลกรัมละ 50 บาทในตลาดใกล้ๆบ้าน มีลูกค้าสนใจซื้อไปรับประทานเยอะจนไม่พอขายก็เลยต้องการที่จะปลูกเพิ่ม และได้ทราบข้อมูลจากลูกค้าบางคนว่าที่จังหวัดเลยก็มีสายพันธุ์ลักษณะเช่นนี้ อยู่ จึงเดินทางไปที่จังหวัดเลย และได้ซื้อพันธุ์ไผ่บงหวานที่เพาะจากเมล็ดมาจากเขตอำเภอภูเรือมาส่วนหนึ่ง เมื่อนำมาปลูกแล้วก็ยังมีพื้นที่เหลือ จึงกลับไปหาซื้ออีกครั้ง ในปีพ.ศ. 2549 แต่เที่ยวนี้ไปได้เมล็ดไผ่บงหวานที่กำลังตายขุ๋ยจากบ้านชาวบ้านในเขตอำเภอภู เรือจึงนำกลับมาเพาะที่สวน และนำลงไปปลูกจนเต็มพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่นอกจากนี้จำนวนที่ปลูก 2,000 กว่าต้นและ ยังมีญาติพี่น้องของภรรยาเริ่มปลูกตาม รวมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 33 ไร่ ในสวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้งพบว่าต้นที่ปลูกจากเมล็ดมีหลายลักษณะ กระจายตัวอยู่ พบต้นไผ่บงหวานที่มีลักษณะรสชาติขมประมาณ 0.5% ทางสวนได้ทำการขุดออกทิ้งทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบต้นที่มีลักษณะทั้งหน่อเล็กและหน่อใหญ่ปะปนกันอยู่ หลังจากปลูกได้ 3 ปี การเก็บหน่อจำหน่ายจากต้นที่เพาะเมล็ดพบว่าผลผลิตต่ำมากเพราะมีต้นที่ให้ หน่อที่เล็กมากเป็นส่วนใหญ่ พบต้นที่ให้หน่อใหญ่ราวๆ 0.5 % ซึ่งทั้งๆที่ต้นแม่ที่ตายขุ๋ยก็ต้นใหญ่และให้หน่อใหญ่หน่อละไม่ต่ำกว่า 500กรัม ตอนนั้นคิดว่าต้นไผ่ที่เพาะจากเมล็ดน่าจะได้หน่อใหญ่เหมือนกับต้นแม่ทั้งหมด แต่พอผ่านไป 3-4 ปีกลับพบว่าแทบไม่ค่อยมีต้นที่ให้หน่อใหญ่ จึงสรุปได้ว่าไผ่บงหวานที่เพาะเมล็ดแล้วนำมาปลูกใหม่มีการกลายพันธุ์ที่ กระจายตัวสูงมากและได้ลักษณะที่ด้อยกว่าต้นแม่ถึง 99 % ผุ้เขียนทำงานด้านปรับปรุงพันธุ์มาก่อนจึงพอเข้าใจ และตั้งใจว่าจะต้องคัดสายพันธุ์ที่ให้ลักษณะที่ดีและทราบอายุ จึงจะทำให้ผู้เขียนและญาติๆพี่น้องของภรรยาได้พันธุ์ไผ่บงหวานที่ดีและทราบ อายุของไผ่บงหวานที่ปลูก
จากการดูต้นไผ่บงหวานของ จ.เลย ที่แสดงลักษณะที่ดี พบว่าไผ่บงหวานของ จ.เลย จะต้นใหญ่กว่า ให้หน่อที่ใหญ่กว่าพันธุ์ที่นำมาจาก จ.เชียงใหม่ จึงตั้งชื่อไผ่บงหวานที่คัดเลือกต้นใหม่จากการเพาะเมล็ดว่า “ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง” ซึ่งเพาะจากเมล็ดไผ่บงหวานปี 2549 ลักษณะพันธุ์คือ เป็นไผ่ขนาดกลาง ลำต้นโตเต็มที่สูงประมาณ 7-12 เมตรเนื้อไม้ตันไม่มีรูใหญ่ หน่อเมื่อเก็บจากต้นที่โตเต็มที่จะมีขนาด 1-3 หน่อต่อกิโลกรัม ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งที่ปลูกมีลักษณะเด่นอยู่ที่หน่อไผ่มีรสชาติไม่ขมมี ลักษณะหวานกรอบ ไม่มีเส้นใย เนื้อของหน่อละเอียดมีกลิ่นหอมเมื่อปรุงสุก กลิ่นคล้ายๆข้าวโพดหวาน หน่อ สามารถกัดชิมดิบๆแล้วไม่ขมติดลิ้นเหมือนไผ่พันธุ์อื่นๆ ทำให้นำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูโดยหั่นสดๆแล้วทำอาหารได้เลยไม่ต้องต้ม น้ำทิ้งก่อน อาทิ ลวกหรือย่างจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย หน่อบงหวานผัดกุ้ง ชุบแป้งทอด ร่วมกับผักสลัด ทำแกงเขียวหวาน ต้มจืดกระดูกหมู หรือจะแกงเหมือนหน่อไผ่พันธุ์อื่นๆ แต่มีเทคนิคอยู่ที่ ต้องเตรียมตั้งเครื่องปรุงให้น้ำเดือดไปก่อน แล้วค่อยใส่หน่อไผ่บงหวานทีหลัง ทิ้งให้น้ำเดือดต่อไม่เกิน 5 -7 นาที ก็นำไปรับประทานได้เลยไม่ต้องต้มน้ำทิ้ง หรือต้มนานๆเหมือนหน่อไผ่พันธุ์อื่นๆ จากข้อมูลที่ลูกค้านำไปรับประทาน ปรากฏว่าคนที่เป็นโรคปวดข้อทานหน่อไผ่อื่นๆที่ขมไม่ได้ พอรับประทานหน่อไผ่บงหวานแล้วไม่ปวดข้อ ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ไผ่บงหวานขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและขุดแยกเหง้า โดยทั่วไปแล้วไผ่บงหวานชอบดินร่วนปนทราย แต่ถ้าหากไม่ใช่ดินร่วนปนทราย ก็สามารถปลูกได้โดยการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ ลักษณะเด่นของไผ่บงหวานเพชรผึ้ง
หน่อที่เกิดจากต้นที่โตเต็มที่แล้วมีน้ำหนัก 500 กรัมขึ้นไป หน่อมีลักษณะอวบอ้วน เปลือกของหน่อมีลายเขียวสลับเขียวอ่อนและชมพู ออกหน่อดกและออกได้เรื่อยๆตลอดทั้งปีถ้ามีระบบการจัดการน้ำที่ดี ลำต้นโตเต็มที่สูงประมาณ 7-12 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 2-3 นิ้วมีรสชาติที่ดี หวานนิดๆ หอม กรอบ คล้ายๆยอดมะพร้าว หรือจะเรียกว่าหน่อยอดมะพร้าวก็ได้ เพราะรสชาติไม่เหมือนหน่อไม้เลย จากการตรวจทางห้องปฏิบัติกลางประเทศไทยผลการตรวจไม่พบสารไซยาไนด์ และจากการที่ผู้เขียนทดลองต้มหน่อดูพบว่าน้ำที่ต้มเป็นน้ำใสๆ ไม่มีสีเหลือง มีหน่อไม้ออกวางขายในท้องตลาดน้อย ทำให้ได้ราคาที่สูงกว่าหน่อไม้อื่นๆ โดยที่เกษตรกรที่ปลูกสามารถตั้งราคาเองได้
ลักษณะด้อยของไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง
เนื่องจากเป็นไผ่ที่ออกหน่อดกจึงทำให้แขนงก็ออกดกไปด้วย จึงต้องหมั่นแต่งแขนงเดือนละครั้ง แต่ต้นไหนที่ตัดแขนงไปแล้วก็ไม่ต้องตัดซ้ำ นอกจากนี้ยังเป็นไผ่ที่มีใบมาก ทำให้ลำต้นโน้มเอียงในฤดูที่ลมแรง ต้องคอยนำเชือกมัดรอบลำต้นเพื่อไม่ให้โน้มเอนลง หรือตัดยอดที่ล้มทิ้งบ้างเพื่อให้ตั้งขึ้นได้ ทำให้หลายๆคนที่ทำไผ่บงหวานแล้วท้อต่อความรก ไม่สามารถทำต่อได้ จึงไม่ค่อยพบสวนไผ่บงหวานแพร่หลายมากนักในแต่ละจังหวัด
การขยายพันธุ์
ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งขยายพันธุ์ด้วยการเพาะจากเมล็ดใช้เวลา 3 ปีจึงจะเก็บหน่อได้แต่ก็จะพบว่ามีการกลายพันธุ์ไปได้หลายลักษณะ อีกวิธีคือ การขุดแยกเหง้า แต่การขุดแยกเหง้าจากต้นที่เพาะจากเมล็ดและทราบอายุ ที่ได้คัดเลือกสายพันธุ์แล้วจะเป็นวิธีที่ให้ผลผลิตเร็ว ใช้เวลา 6-8 เดือน ก็สามารถที่จะเก็บหน่อได้ ไผ่บงหวานไม่นิยมตอนและปักชำข้อ เพราะไม่ค่อยติด และโตช้ากว่าการปลูกด้วยเหง้า การขุดแยกเหง้าจะทำได้หลังจากเกษตรกรปลูกไผ่บงหวานผ่านไปได้ 1 ปี จะเริ่มทำการขุดแยกเหง้าได้ดีที่สุดในเดือน มีนาคม และเดือนต่อๆไปแต่ต้องก่อนที่หน่อใหม่จะโผล่ออกมาเพราะไผ่บงหวานมีการสะสม อาหารไว้มาก จะทำให้การขุดแยกเหง้ามีการตายน้อยมากถ้าเกษตรกรขุดเพื่อขยายพันธุ์ปลูก เพิ่มเองก็ให้ขุดเหง้าละ 2-3 ต้นจะทำให้ติดดีและเก็บหน่อจำหน่ายได้ไว แต่ถ้าขุดเหง้าเพื่อใส่ถุงจำหน่ายก็ขุดเพียงต้นเดียวให้ติดราก แล้วนำใส่ถุงดำขนาด 5 คูณ 10 นิ้ว วัสดุที่ใช้ควรจะเป็นขี้เถ้าแกลบเพราะระบายน้ำดีและไม่มีเชื้อราต่างๆ ทำให้ต้นไผ่ที่ขุดมาใส่ตายน้อยมาก
การเตรียมพื้นที่ปลูก
ให้ไถดะในที่ดินเพื่อกำจัดวัชพืชก่อนจากนั้นก็ไถแปร ถ้าเป็นที่นาให้ยกร่องเพื่อระบายน้ำในช่วงฝนตกชุก โดยยกร่องห่างกันประมาณ 6-7 เมตร ปลูกที่ริมร่องน้ำห่างจากร่องน้ำราวๆ 1 เมตร แปลงหนึ่งปลูกได้ 2 แถว ถ้าเป็นที่สวนหรือที่สภาพไร่มีการระบายน้ำดี ก็ไม่ต้องยกร่อง ควรจะปลูกในเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมจะดีที่สุด เพราะจะเก็บหน่อครั้งแรกหลังจากปลูก ใช้เวลา 8 เดือนก็ตรงกับเดือนมกราคมของปีถัดไป จะทำให้ขายหน่อได้ราคาดี แต่ถ้าเป็นที่นาที่กังวลต่อการขังของน้ำที่โคนไผ่ ก็ให้เลี่ยงไปปลูกในเดือนตุลาคม แต่เกษตรกรต้องให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง พอฤดูฝนมาถึงไผ่ที่ปลูกก็จะทนต่อน้ำฝนที่ตกหนักได้ ไผ่แทบทุกชนิดจะกลัวน้ำขังโคนในช่วงที่ไผ่ยังเล็กอยู่เพราะมีรากน้อยมาก
การปลูก
ปลูกในระยะระหว่างต้น 2 เมตร ระยะระหว่างแถว 4 เมตร โดยพื้นที่ 1 ไร่จะใช้ต้นไผ่บงหวาน 200 ต้น โดยขุดหลุมกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร จากนั้นคลุกหลุมปลูกด้วยขี้เถ้าแกลบเพื่อเก็บความชื้นจะทำให้ไผ่บงหวานโต เร็วขึ้น ถ้าจะใช้ปุ๋ยคอกเก่ารองก้นหลุมก็ให้คลุกให้เข้ากันก่อน ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมประมาณ 1 กำมือ ถ้าใส่มากกว่านี้ต้นจะเหลืองและโตช้าเพราะรากไผ่ที่เกิดใหม่มีน้อยและยัง อ่อนอยู่ เมื่อเตรียมหลุมเสร็จก็นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลูก โดยให้กลบดินให้เสมอกับดินเดิม ถ้าปลูกในช่วงฤดูแล้งก็ปลูกลึกกว่าดินเดิมได้เล็กน้อย หลังจากปลูกให้รดน้ำทันทีให้ชุ่ม ต่อไปก็ให้รดน้ำทุกๆ 3 วันจนกว่าฝนจะตกชุก ถ้าเกษตรกรปลูกตรงกับฤดูแล้งควรจะหาฟางข้าว หรือวัสดุคลุมดินอื่นๆคลุมที่โคนไผ่ จะทำให้ต้นไผ่ไม่ขาดน้ำและเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง
การให้น้ำ
การให้น้ำควรจะให้น้ำด้วยการขังให้ท่วมแปลงแล้วปล่อยให้แห้งภายใน หนึ่งวัน หรือให้ด้วยระบบสปริงเกอร์ก็ได้ ซึ่งการให้ด้วยระบบสปริงเกอร์ จะช่วยทำให้ได้ไนโตรเจนในอากาศเพิ่ม ทำให้ไผ่ออกหน่อดกมากขึ้น ในช่วงนอกฤดู ควรให้น้ำ 3-4 วัน ต่อครั้งแต่ละครั้งเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ถ้าตรวจดูแล้วยังไม่ชุ่มก็ต้องเพิ่มเวลาไปอีก เพราะดินแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นช่วงฤดูฝน การให้น้ำควรดูตามสภาพอากาศ ถ้าฝนตกเรื่อยๆ ดินชื้นตลอดไม่ต้องให้น้ำ ถ้าฝนขาดช่วง สังเกตว่าดินแห้งก็ค่อยให้น้ำ แต่หากว่าจะทำไผ่บงหวานให้ออกหน่อทั้งปีหรือออกทะวายก็ต้องมีน้ำให้พอใช้ ช่วงที่หน่อไม้อื่นๆยังไม่ออก ถ้าเกษตรกรทำให้หน่อไม้ไผ่บงหวานออกมาได้ก็จะทำให้ได้ราคาสูง
การให้ปุ๋ย
ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเช่น มูลวัว มูลควาย มูลไก่ มูลหมู และวัสดุที่เหลือจากภาคเกษตรกรรมเช่นฟางข้าว ซังข้าวโพด แกลบ ขี้เถ้าแกลบ ขี้เถ้าจากชานอ้อยเผา กากถั่วเหลือง เป็นต้น ใส่ที่โคนไผ่กอละ หนึ่งกระสอบปุ๋ย หรือประมาณ 30 กิโลกรัม ปีละ 2 ครั้ง ใส่ช่วงเดือนธันวาคมก่อนให้น้ำและใส่เดือน พฤษภาคม นอกจากนี้ทางสวนใช้ปุ๋ยหมักจากกากยาสูบ ที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานยาสูบและขี้เถ้าจากการเผากากอ้อยที่หีบแล้ว ที่ทางโรงงานน้ำตาลใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาเตาต้มน้ำเพื่อทำอุตสาหกรรม น้ำตาลทรายมาเป็นวัสดุใส่โคนไผ่ เพื่อช่วยในการอุ้มน้ำให้มีความชุ่มชื้น และช่วยทำให้ดินร่วนซุย ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง สามารถแทงหน่อออกมาง่าย หน่อขาวอวบ ไม่แข็งต่างจากที่ไม่มีวัสดุคลุมโคนไผ่ ส่วนการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ จะให้เสริมในช่วงฤดูแล้งและหน่อไม้มีราคาสูง เพราะจะทำให้หน่อไม้ไผ่บงหวานมีขนาดหน่อใหญ่และดกขึ้น เนื่องจากได้สารอาหารครบตามความต้องการ ควรจะใช้ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 50 กรัมต่อกอ สลับกับ 8-24-24 อัตรา 50 กรัมต่อกอโดยให้ทุกๆ 15 วัน แต่พอช่วงฤดูฝน ความอุดมสมบรูณ์ของดินจะมีมากขึ้นก็ไม่ต้องให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์
การดูแลจัดการ
ใน 1 ปีต้องตัดแต่งต้นเก่าแก่ออกปีละ 1 ครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยนำไปใช้ทำไม้ค้ำยันผลไม้และผักในสวน หรือจะนำไปใช้เผาถ่านไม้ไผ่ไว้ใช้ในครัวเรือน เหลือก็ขายมีรายได้เพิ่มอีกทาง ส่วนเศษใบเศษกิ่งไผ่ก็ทิ้งไว้ในแปลงปล่อยให้จุลินทรีย์ ย่อยสลาย กลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไผ่ต่อไป นอกจากตัดแต่งต้นเก่าออกปีละครั้งแล้ว ช่วงเวลาฤดูฝนเป็นช่วงที่ต้องปล่อยให้หน่อไผ่ที่แทงออกห่างกอขึ้นลำ โดยกอหนึ่งจะปล่อยให้ขึ้นลำประมาณ 8-12 ลำ เพื่อเป็นลำแม่ที่จะให้หน่อในฤดูถัดไป ลำที่ปล่อยขึ้นใหม่จะมีแขนงออกตามข้อ ต้องคอยตัดแขนงทิ้ง แขนงที่อ่อนสามารถนำไปรับประทานได้ ในช่วงนอกฤดู แขนงจะไม่ออกเพราะหน่อไผ่ที่ออกมาจะถูกขุดขายตลอด ยิ่งขุดยิ่งออกมาเรื่อยๆ ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงนาทีทอง ของคนที่ฝากปากท้องไว้กับไผ่ ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกคบกับไผ่พันธุ์ไหน ไผ่บงหวานจะเก็บผลผลิตได้ 20-50 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน (ผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับการคัดเลือกสายพันธุ์และการดูแลจัดการที่ถูกต้อง) ช่วงนอกฤดูตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ทางสวนจะขายกิโลกรัมละ 60 บาท ช่วงในฤดูตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ทางสวนขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท รายได้โดยเฉลี่ยของไผ่บงหวานไม่น้อยกว่า 75,000 บาท ต่อไร่ต่อปี จากการที่ทางสวนได้เก็บข้อมูลไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เมื่อเปรียบเทียบกับไผ่สายพันธุ์อื่นๆ จะพบว่าไผ่บงหวานจะออกหน่อง่าย ออกได้เรื่อยๆทั้งปี ระยะเวลาที่หน่อโตพอที่จะขุดได้ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน ในช่วงนอกฤดูจะออกหน่อดก แต่ในช่วงฤดูฝนราวๆเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปก็ต้องปล่อยให้ขึ้นลำไปบ้าง จึงเก็บผลผลิตได้น้อยกว่าในช่วงนอกฤดู ในช่วงฤดูฝนเมื่อหน่อไผ่ธรรมชาติออกมา ทางสวนก็ยังขายหน่อได้ แม้จะได้ราคาไม่สูงมากนักไม่เหมือนในช่วงนอกฤดู แต่เมื่อเทียบกับการไม่ต้องมีต้นทุนเรื่องน้ำเพราะส่วนมากจะอาศัยน้ำฝน ซึ่งก็ถือว่าพอใช้ได้ ถ้าเป็นไผ่สายพันธุ์อื่นๆจะมีปัญหาการขายในช่วงฤดูฝน
การคลุมโคนไผ่
วัสดุที่ใช้คลุมโคนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง ให้ใช้ขี้เถ้าแกลบ ขี้เถ้าจากการเผาแบบชีวะมวล หรือแกลบดิบที่เก่าๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงเพราะที่โคนไผ่มีความชื้น พอเพียง ทำให้หน่อดกและหน่อใหญ่เกษตรกรจะได้น้ำหนักมากกว่าการที่ไม่ได้ใช้วัสดุคลุม โคนไผ่และหน่อยังมีรสชาติที่ดี มีความกรอบไม่แข็ง หวาน มากขึ้น สีผิวของหน่อขาวน่ากิน
โรคและแมลง
ไผ่บงหวานที่ปลูกพบไม่ค่อยพบโรคของไผ่มากวน ทำให้ต้นทุนสารเคมีไม่มี แต่แมลง พบหนอนม้วนใบบ้างเล็กน้อย ไม่มีผลเสียหายต่อต้นไผ่ แต่ถ้าไม่ต้องการให้ระบาดก็ตัดใบที่เป็นหนอนม้วนใบไปทิ้งไกลๆหรือเผาทำลาย นอกจากนี้ยังพบเพลี้ยอ่อนไผ่ได้บ้างเล็กน้อยในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูหนาวและ ฤดูร้อน แต่พอหมดฤดูหนาวเพลี้ยอ่อนก็จะหายไป นอกจากแมลงแล้วยังพบหนูและตุ่น หากเกษตรกรปล่อยให้สวนไผ่บงหวานรก ก็จะมีหนูมากินหน่อไม้ ทำให้เราได้ผลผลิตลดลง เกษตรกรต้องอย่าปล่อยให้สวนรก คอยกำจัดกิ่งไผ่และวัชพืชให้หมดเป็นระยะ ก็จะไม่มีหนูมารบกวน พอมีหนูมารบกวนก็จะมีงูเห่ามากินหนูอีกทีทำให้งูเข้ามาอยู่ในสวนไผ่
เคล็ดลับของการขุดหน่อไผ่
การขุดหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเกษตรกรต้องใช้เสียมลับให้คมเวลาขุดหน่อจะ ได้ไม่ช้ำ เมื่อจะขุดให้เขี่ยวัสดุที่คลุมหน่อไผ่ออกให้เห็นโคนของหน่อ แล้วใช้เสียมแทงให้ขาด ควรให้ติดส่วนของเหง้ามาสัก 2 เซนติเมตร เพื่อกำจัดเนื้อไม้ที่ยังอ่อนซึ่งเป็นที่อยู่ของตากิ่งแขนงข้าง แต่ถ้าไม่เอาตาข้างที่อัดแน่นกันอยู่ออกให้หมด ก็จะมีกิ่งแขนงเล็กๆขึ้นอยู่ทำให้กอไผ่รกใต้ และจะส่งผลทำให้ตาหน่อไม่สามารถแทงหน่อได้ ทำให้ไม่ค่อยมีผลผลิต
สรุปขั้นตอนการจัดการแปลงไผ่เพื่อเก็บหน่อ
- พฤษภาคม เริ่มปลูกไผ่
- มิถุนายนถึง ตุลาคม ดูแลกำจัดวัชพืช ให้น้ำ ให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ แต่งกิ่งแขนงไม่ให้รกที่โคนไผ่ เพื่อป้องกันหนูมากินหน่อ และง่ายกับการจัดการ
- พฤศจิกายน ถึงธันวาคม ตัดสางลำแก่ทิ้ง แต่งกิ่งแขนงข้างต้นไม่ให้กอรก ใส่ปุ๋ยคอก คลุมโคนไผ่ด้วยขี้เถ้าแกลบหรือวัสดุอื่นๆที่หาง่าย ให้น้ำจนชุ่ม
- มกราคมถึงกรกฎาคม ขุดหน่อขาย ให้หมด ห้ามปล่อยขึ้นลำ เหตุผลเพราะถ้าปล่อยขึ้นลำ อาหารที่กอไผ่สร้างขึ้นจะไปเลี้ยงลำใหม่ที่ยืดสูงขึ้นจะมีผลทำให้หน่อ ที่เกิดทีหลังฝ่อ และไม่ค่อยออกหน่อให้เก็บ
- สิงหาคม ถึงตุลาคม เก็บหน่อที่เล็กและหน่อที่เกิดชิดต้น แต่เริ่มปล่อยหน่อที่เกิดห่างกอไว้เป็นลำแม่ใหม่ กอละ 8-12 ลำ
- พฤศจิกายน ถึงธันวาคม ปฏิบัติเหมือนขั้นตอนเดิม ขั้นตอนต่างๆจะวนซ้ำเช่นนี้ทุกๆปี ไป
นอกจากไผ่บงหวานแล้ว ทางสวนยังได้ปลูกไผ่สายพันธุ์อื่นๆ อาทิเช่น ไผ่ตงไต้หวัน ไผ่เปาะช่อแฮ ไผ่เลี้ยงสีทอง ไผ่ซางดำ ไผ่ตงต่างๆ ไผ่หก ไผ่ซางหม่น ไผ่หม่าจู ไผ่ปักกิ่ง ไผ่ยักษ์เมืองน่าน ไผ่บงใหญ่พม่า ไผ่เป๊าะยักษ์สาละวิน ไผ่เป๊าะยักษ์ปาเก่อญอ ไผ่โมโซ และกลุ่มไผ่ประดับ เป็นต้น เพื่อปลูกไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบในการปลูกไผ่ว่าแต่ละสายพันธุ์สามารถนำมา ใช้ปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ดีแค่ไหน วิธีการบริหารจัดการแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งตอนนี้ทางสวนได้รับการ สนับสนุนจากหน่วยงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดแพร่ สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ครูเกษตรกร เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร และผู้ที่สนใจการปลูกไผ่ เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพได้อีกทางหนึ่ง สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือศึกษาดูงาน ติดต่อได้ที่สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง นายวรรณบดี รักษา

คำสำคัญ (Tags): #ไผ่บงหวาน
หมายเลขบันทึก: 568935เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2014 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2014 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท