สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


ที่มา:www.gotoknow.org


กรณีศึกษาคุณสาธิต เซกัล

คุณสาธิต เซกัล มีสัญชาติอินเดีย คือเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้เข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษาสิ่งพิมพ์ โฆษณา และสื่อต่าง ๆ อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ซึ่งคอยเจรจาปกป้องผลประโยชน์ของไทยอีกด้วย

คุณสาธิต เซกัล ซึ่งเป็นแกนนำ กปปส.ได้ขึ้นเวทีปราศรัย แสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิจารณ์การทำงานของคณะรัฐบาล จนทำให้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดในข้อหาต่าง ๆ และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แจ้งข้อหาไปที่ศรส. แล้วศรส.จึงแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงดำเนินการเนรเทศคุณสาธิต เซกัลออกจากประเทศไทยโดยเร่งด่วน จึงเกิดประเด็นศึกษาว่า คุณสาธิต เซกัล ในฐานะที่เป็นคนต่างด้าวมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่?

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถพิจารณาได้ว่า การที่คุณสาธิต เซกัล ซึ่งมีสัญชาติอินเดียจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย ได้ถูกเนรเทศนั้นเป็นเพราะการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง ซึ่งสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังต่อไปนี้

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 บัญญัติว่า

"ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใดและโดยไม่คํานึงถึงพรมแดน"

และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 บัญญัติว่า

“1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ”

จะเห็นได้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนมีและต้องได้รับการรับรองจากรัฐ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนที่มีสัญชาติของรัฐนั้นหรือเป็นคนต่างด้าว ก็ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยกันทั้งสิ้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยนั้นจะถูกกำจัดได้ก็ต่อเมื่อขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น

สิทธิในทางการเมือง หมายถึง สิทธิในการมีส่วนในรัฐบาลของประเทศ หรือสิทธิในการมีส่วนในการปกครองประเทศ ทั้งการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

โดยสิทธิดังกล่าวนี้ปกติรัฐจะสงวนไว้ให้เป็นสิทธิของประชาชนที่มีสัญชาติของประเทศตนเท่านั้น เพราะสิทธิทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐ ดังนั้นรัฐจะไม่ยอมให้คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศในฐานะผู้อาศัยมีสิทธิเหล่านี้ โดยสงวนไว้ให้แก่พลเมืองเจ้าของประเทศเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในความปลอดภัยและความดำรงอยู่ของประเทศนั่นเองปรากฎในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 1 บัญญัติว่า

“ ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยอาศัยสิทธินั้น ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน ”

ในประเทศไทย คนสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะมีสิทธิทางการเมือง คนต่างด้าวไม่มีสิทธิทางการเมือง มีเพียงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดนี้ มิได้จำกัดไว้แค่ปวงชนชาวไทยเท่านั้น ย่อมหมายถึงมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็ตาม ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะเห็นได้ว่าการขึ้นเวทีปราศรัยของคุณสาธิต เซกัล จึงถือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น หาใช่การใช้สิทธิทางการเมืองไม่ ดังนั้น คำสั่งเนรเทศคุณสาธิต เซกัล ออกนอกประเทศไทยจึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อ้างอิง

1.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนhttp://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/udhrt.pdf

2.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง,http://www.oknation.net/blog/print.php?id=30040

3.สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ,http://hilight.kapook.com/view/97452. 6 พฤษภาคม 2557

4.ศิริพร สุวรรณรัตน์,คนต่างด้าว,http://www.l3nr.org/posts/465919

สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568605เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท