ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


ณ ที่นี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยขอให้ทำความเข้าใจ ในความหมายของคำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสียก่อน

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคุณค่าที่มีลักษณะเด่นเฉพาะซึ่งจะเกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ และมีความเกี่ยวข้องผูกพันอยู่เฉพาะกับความเป็นมนุษย์เท่านั้น โดยมนุษย์ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัวขอตัวเองซึ่งจะไม่ขึ้นอยู่กับความเเตกต่างหรือเงื่อนไขอื่นใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น คนจนกับคนรวย คนที่มีการศึกษาหรือไม่มีการศึกษา ไม่ว่าผิวพรรณจะขาวหรือดำ ก็ล้วนเเล้วเเต่เป็นผู้มีศักดิ์ศรี ที่เราเรียกกันว่าศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เหมือนกันทั้งนั้น ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้มีความมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์แต่ละคนมีความอิสระในการที่จะพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตัวของตัวเอง ภายใต้ความรับผิดชอบของตนเอง โดยถือว่า " ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ " เป็นคุณค่า ที่ไม่ว่าใครก็ตามก็มิอาจจะล่วงละเมิดได้[1]

และพิจารณาจาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง"[2]

ต่อมา จะพิจารณาถึงในส่วนของคนเข้าเมือง

หากพิจารณาต่อมาในส่วนของคนเข้าเมืองนั้น ตามกฎหมายไทยสามารถแบ่งคนเข้าเมืองได้เป็น 3 กรณี คือ

1. คนเข้าเมืองโดยข้อเท็จจริง ซึ่งหากมีการเข้าเมืองมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง บุคคลผู้นั้นก็จะกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทันที

2. คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และ

3. คนสัญชาติไทยที่ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในสัญชาติไทย

ส่วนอีก 2 กรณี คือ คนต่าวด้าวที่เกิดในประเทศไทย เเละคนสัญชาติไทยที่ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในสัญชาติไทยก็จะถูกกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เว้นแต่ จะไปขออนุญาตเข้าเมืองหรือพิสูจน์สัญชาติไทยได้ แล้วแต่กรณี[3]

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นคนต่างด้าวหรือคนชาติ จะมีการเข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ตาม ทุกคนที่ได้เกิดมาเเล้วย่อมได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เเละย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่่ว่าใครก็ไม่อาจะล่วงละเมิดได้ ทั้งนี้รัฐจะต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีของเป็นมนุษย์ไว้อีกด้วย ซึ่่งในรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

มาตรา 4 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

มาตรา 26 “การใช้อำนาจ โดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”[4]

อนึ่ง ผู้เขียนขอยกกรณีที่เป็นปัญหา มาเป็นกรณีศึกษาในบทความนี้ คือ กรณีของน้องนิกหรือนายนิวัฒน์ จันทร์คำ ซึ่งปัจจุบันน้องนิกมีอายุประมาณ 19 ปี อาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ปัญหาของน้องนิก คือ น้องยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเเละรัฐใดเลย น้องนิกจึงตกเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ซึ่งจากประวัติของน้องระบุว่าน้องเข้ามาในประเทศไทยตอนอายุประมาณ 3-4 ปีพร้อมกับบิดาเเละมารดา ซึ่งมารดาของน้องนิกเป็นคนไทยลื้อไร้รัฐไร้สัญชาติ ทั้ง 3 คนไม่มีหนังสือเดินทางหรือได้รับการตรวจลงตราใดๆทั้งสิ้นจึงถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ขณะนั้นน้องนิกมีอายุเพียง 3-4 ปีจึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาในการเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ตำรวจจึงไม่สามารถดำเนินคดีใดๆกับน้องได้ น้องจึงมาอาศัยอยู่กับป้าที่จังหวัดตรังเเละป้าก็ให้น้องนิกเข้าเรียนในโรเรียน แต่ด้วยความที่ไม่มีความรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชนและกลัวว่าโรงเรียนจะไม่รับน้องนิกเข้าศึกษา คุณป้าของน้องจึงได้นำเอกสารประจำตัวของลูกชายมาใช้เป็นเอกสารระบุตัวน้องนิกแทน สุดท้ายน้องนิกจึงได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนซึ่งจริงๆแล้วแม้น้องนิกจะไม่มีเอกสารใดๆเป็นตัวระบุหรือแสดงตัวเลยก็ตาม น้องนิกที่กฎหมายถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ยังมีสิทธิในการศึกษา ซึ่งจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26 (1) บัญญัติว่า

“ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสําหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม”[5]

ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายในประเทศไทยตาม ม.10 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

“การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ”[6]

น้องนิกก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ก็ควรได้รับการปฏิบัติ และได้รับความคุ้มครอง รับรองสิทธิอย่างเช่นมนุษย์คนหนึ่ง เช่น สิทธิที่จะได้รับการศึกษา แม้น้องจะเป็นคนไร้สัญชาติ แต่น้องก็เป็นมนุษย์ ก็ควรจะได้รับสิทธิอย่างเช่นมนุษย์คนอื่นๆ เช่นเดียวกัน

ในกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นนี้ จึงถือเป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้น้องนิก จะเป็นคนไร้สัญชาติ แต่ก็ได้รับความคุ้มครองสิทธิอย่างเช่นมนุษย์คนอื่นๆ


[1] http://www.baanjomyut.com/library/freedom/page01.html

[2] http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

[3] เอกสารประกอบการเรียน วิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน

[4] http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf

[5] http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

[6] http://www.wbtvonline.com/pdf/9-04-201409-25-55.pdf

หมายเลขบันทึก: 568604เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท