สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


จากข้อเท็จจริงศึกษา ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มีคำสั่งเนรเทศ สาธิต เซกัล ประธานหอการค้าไทย-อินเดีย และประธานกลุ่มนักธุรกิจสีลมออกจากประเทศไทยหลังจากที่ สาธิต เซกัล มีชื่อเป็นแกนนำ กปปส. และขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยคำสั่งของ ศรส. เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2557 ได้กล่าวว่า สาธิต เซกัล แกนนำ กปปส. และเป็นบุคคลต่างด้าว ได้ร่วมกระทำผิดในข้อหาต่าง ๆ และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อไปแล้ว ทาง ศรส. จึงแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทยโดยด่วน[1]

จากข้อเท็จจริงมีข้อสังเกต ดังนี้

การเนรเทศหมายความว่า การเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวให้ออกจากประเทศ โดยอาศัยมาตรการหรือคำสั่งจากฝ่ายปกครองด้วยเหตุผลเพราะว่าการพำนักอาศัยของคนต่างด้าวจะขัดต่อสันติภาพ (หรือความสงบสุข) มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย และสวัสดิการสาธารณะของรัฐซึ่งโดยหลักแล้ว รัฐจะต้องอ้าง “เหตุ” เพื่อการเนรเทศคนต่างด้าวเสมอ โดยอาจมีหลายเหตุดังที่กล่าวไปข้างต้นผลในทางกฎหมายของคนต่างด้าวที่ต้องคำสั่งให้เนรเทศมีอยู่สองประการคือ บุคคลผู้นั้นจะต้องออกนอกราชอาณาจักรไทย และบุคคลผู้นั้นจะเข้ามาในประเทศไทยไม่ได้อีกต่อไป[2]

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือสามารถเนรเทศได้หรือไม่

จากข้อเท็จจริงพบว่า สาเหตุที่ทำให้นายสาธิต เซกัลป์ โดนเนรเทศ มีสาเหตุมาจากการที่นายสาธิต เซกัลป์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัย แสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิจารณ์การทำงานของคณะรัฐบาล แม้นายสาธิต เซกัลป์ จะเป็นคนต่างด้าว แต่นายสาธิต เซกัลป์ ก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550[3]มาตรา 45 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

จากมาตราดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบุคคลทุกคนย่อมได้รับการคุ้มครองให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แม้ว่าจะมิใช่คนสัญชาติไทยก็ได้รับการคุ้มครองให้มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นได้ การรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น นอกจากจะรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ยังได้รับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอีกด้วย

ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[4]บัญญัติว่า ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใดและโดยไม่คํานึงถึงพรมแดน

ดังนี้จากความคิดเห็นของข้าพเจ้า บุคคลทุกคลมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อย่างอิสระ ถึงแม้ตนเองมิใช่บุคคลที่มีสัญชาติของชาตินั้นๆ ดังนั้นการที่ นายสาธิต เซกัลป์ โดนเนรเทศ มีสาเหตุมาจากการที่นายสาธิต เซกัลป์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัย แสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิจารณ์การทำงานของคณะรัฐบาล จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน


[1] http://hilight.kapook.com/view/97452

[2] http://prachatai.com/journal/2014/03/52267

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

[4] ,http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/udhrt.pdf

หมายเลขบันทึก: 568603เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท