ครอบครัวข้ามชาติ


มนุษย์ข้ามชาติ หมายถึงบุคคลที่มีการกระทำในลักษณะที่ข้ามชาติ คือมีถิ่นที่อยู่หรือเคยอยู่อาศัยในประเทศหนึ่งอยู่แล้วแต่ได้มีการข้ามหรือเคลื่อนย้ายมายังอีกประเทศหนึ่ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม นอกจากนี้ยังหมายความรวมถึงบุตรของบิดามารดาที่เป็นมนุษย์ข้ามชาติด้วย การที่มนุษย์ข้ามชาติอยู่กินกันฉันสามีภรรยากับบุคคลอีกคนหนึ่งจนให้กำเนิดบุตรจึงเกิดเป็นครอบครัวข้ามชาติขึ้นมา

ครอบครัวข้ามชาติ จึงหมายถึง สมาชิกของครอบครัวคนใดคนหนึ่งที่มีสถานะเป็นมนุษย์ที่ข้ามชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการข้ามพรมแดนในสมัยนี้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าในอดีต ดังนั้นครอบครัวข้ามชาติจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งจะพบได้ว่าครอบครัวข้ามชาติในพื้นที่ระหว่างชายแดนทั้งสองประเทศจะมีความซับซ้อนยิ่งกว่าพื้นที่อื่นๆ

จากกรณีศึกษาของครอบครัวเจดีย์ทอง ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นายอาทิตย์ เจดีย์ทอง สัญชาติไทย ได้พบรักกับนางสาวแพทริเซีย ซึ่งมีสัญชาติมาเลเซีย เนื่องจากทั้ง 2 นั้นได้ทำอาชีพเป็นแรงงานอยู่ที่ไต้หวัน เมื่อสัญญาจ้างแรงงานของทั้งคู่หมดลง ทั้ง 2 ก็ได้แยกย้ายกลับประเทศของตน โดยต่อมานั้นนางสาวแพทริเซียก็ได้เดินทางมาเยี่ยมนายอาทิตย์ที่ประเทศไทย และด่านตรวจคนเข้าเมืองได้บันทึกในการตรวจลงตราบนหนังสือเดินทางของเธอว่า สามารถอยู่อาศัยได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งระหว่างที่อยู่อาศัยนั้นทั้ง 2 ก็ได้ตกลงกันเพื่ออยู่กินกันฉันสามีภรรยา 

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การที่นางสาวแพทริเซียได้ไปแจ้งต่อทางอำเภอให้ตนนั้นอยู่ในสถานะของบุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งๆที่ตนนั้นมีสัญชาติเป็นคนมาเลเซีย ทั้งนี้เมื่อมีการแจ้งสถานะดังกล่าวประกอบกับการขาดซึ่งประสิทธิภาพในการทำงานอย่างรอบคอบของเจ้าหน้าในอำเภอก็ส่งผลให้ นางสาวแพทริเซียตกอยู่ในสถานะเป็นทั้งบุคคลไร้สัญชาติในรัฐไทยและเป็นบุคคลสัญชาติมาเลเซียในคราวเดียวกัน

ต่อมานางสาวแพทริเซียมีบุตรด้วยกัน 3 คน ซึ่งบุตรทั้งสามคนได้รับการแจ้งเกิดและอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย โดยนายอาทิตย์ เจดีย์ทองซึ่งได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะสัญชาติไทย ตามหลักดินแดนและสืบสายโลหิตผ่านบิดา แต่มิได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย ทั้งที่ความเป็นจริงบุตรทั้งสามมีสิทธิได้รับสัญชาติมาเลเซียตามหลักสืบสายโลหิตผ่านมารดา บุตรทั้งสามจึงมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเท่านั้น

การที่นางสาวแพทริเซียกลายเป็นคนไร้รัฐ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาแก่บุตรทั้งสามคน คือ บุตรทั้งสามคนย่อมไม่ได้รับสัญชาติมาเลเซีย และเมื่อไม่ได้รับสัญชาติมาเลเซียย่อมไม่ได้รับสิทธิบางประการที่คนชาติมาเลเซียได้ เช่น สิทธิในการได้รับการศึกษา หรือสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการ คือรับรองสถานะของบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่เกิดจากการแต่งงานข้ามชาตินี้ แม้ไม่รับรองในบัตรประจำตัวประชาชนชาวไทย แต่ควรรับรองในเอกสารสิทธิบางประการที่ทำให้กลุ่มคนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสิทธิที่ตนควรได้รับ หรือสิทธิที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ซึ่งก็คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

แหล่งที่มา

- รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร. (2557). "กรณีศึกษาครอบครัวเจดีย์ทอง : บุตรของชายสัญชาติไทยและหญิงมาเลเซียที่มี ลักษณะการอาศัยอยู่แบบผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ หรือไม่ ?" [ออนไลน์]. ที่มา: http://www.l3nr.org/posts/536193.

- คำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights).” 2491.[ระบบออนไลน์]. ที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo...

- ณภัทร ภูมิสันติ. “ปัญหาครอบครัวข้ามชาติชายแดนไทย- ลาว.”[ระบบออนไลน์]. ที่มา :http://www.l3nr.org/posts/535906

หมายเลขบันทึก: 568551เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท