การละเมิดสิทธิในชีวิตอื่นๆ


   สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับ อาจแบ่งเป็นด้านต่างๆเช่น สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางวัฒนธรรม ซึ่งสิทธิในชีวิต ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เป็นพิเศษจากผู้อื่น เช่น คนพิการ คนชราฯลฯ ดังนั้นทุกคนควรปฏิบัติต่อบุคคลด้อยโอกาสให้ความสำคัญให้โอกาสและให้ความช่วยเหลือตามสมควรเพื่อให้ทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด และในเรื่องของสิทธิในชีวิตนี้ก็มีกฏหมายรองรับไว้ ตัวอย่างเช่น

   ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.1948 ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล

   ตัวอย่างของการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต การละเมิดสิทธิในชีวิตของชาวโรฮิงญา

   โรฮิงญาเป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนฝั่งพม่าที่พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงญา ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

   ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาที่หลบภัยออกมาจากรัฐอารากันจำนวนมาก ตั้งแต่ในบังกลาเทศ ปากีสถาน มาเลเซีย และเชื่อว่ามีจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนในประเทศไทย แต่สถานการณ์ในประเทศไทยนับว่าค่อนข้างจะเลวร้ายเช่นเดียวกัน เนื่องจากกลุ่มชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่มที่รัฐบาลไทยกำลังตรวจสถานภาพทางกฎหมาย ชาวโรฮิงญาไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ทั้งๆที่ในกลุ่มนี้มีประชาชนชาวพม่าอยู่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับชาวโรฮิงญาน้อยเลยไม่ได้รับสิทธิใดๆเลย จากข้อมูลข้างต้น การที่ชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ก็เนื่องจากต้องการหนีความยากลำบากที่เกิดจากการถูกกดขี่โดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า [2]

   การที่ชาวโรฮิงญาเข้าประเทศไทยมาอย่างผิดกฎหมายนั้น ทำให้ชาวโรฮิงญาตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เริ่มต้นจากการรับจ้างนำออกจากประเทศพม่าเข้ามายังฝั่งไทย คิดค่าหัวตั้งแต่ 20,000-50,000 บาท แล้วแต่ข้อตกลง เมื่อส่งข้ามแดนประเทศไทยมาแล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ แต่ปัจจุบันขบวนการรับจ้างนำชาวโรฮิงญา ไปยังประเทศที่ 3 มีความแยบยลมากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้วิธีการ “เข้าฮอส” แบบกินสองต่อ คือการรับจ้างนำชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากประเทศพม่าแล้ว ยังทำการกักขังควบคุมตัวเอาไว้ในสถานที่ตามแนวชายแดน เพื่อขายชาวโรฮิงญาให้กับผู้ต้องการแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ในราคาหัวละ 30,000–50,000 บาท ซึ่งมีนายทุนทั้งภาคการเกษตรและการประมง ที่ต้องการแรงงานเหล่านี้ไว้ใช้งาน เพราะค่าแรงถูก นายทุนสามารถกดขี่ได้ตามชอบใจ ดังนั้นชาวโรฮิงญาเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาพหนีเสือปะจระเข้ ถูกทารุณกรรมสารพัด [3]

   ถ้าทางการปล่อยให้ชาวโรฮิงญาถูกกดขี่ เป็นวัตถุในการค้ามนุษย์ต่อไป หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 บัญญัติว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง"

   ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้เป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน โดยมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งหมายถึงมนุษย์ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นมีเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ใด ก็จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเสียทั้งสิ้น ดังนั้น แม้ว่าชาวโรงฮิงญาจะไม่ใช่ชาวไทย ก็ควรได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยเช่นกัน

   นอกจากนี้ขบวนการค้าชาวโรฮิงญา หรือ กระบวนการค้ามนุษย์เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์รูปแบบหนึ่ง โดยการค้าเป็นการกระทำกับสิ่งของ การค้ามนุษย์จึงเป็นการกระทำกับมนุษย์ดังเช่นว่าบุคคลนั้นเป็นสิ่งของ ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป นอกจากการค้ามนุษย์แล้ว ในระหว่างการเดินทางยังมีการทารุณโหดร้าย นายจ้างกดขี่ตามใจชอบ ถูกใช้งานหนัก การกระทำเช่นนี้ก็เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นกัน ซึ่งการเอาเขาลงเป็นทาส ทั้งๆที่มนุษย์ทุกคนมีชีวิตจิตใจ มีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันทุกคน ขบวนการค้าชาวโรฮิงญาจึงเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตอย่างหนึ่ง จากการลดทอนศักดิ์ศรความเป็มนูษย์ทั้งในเรื่องการค้ามนุษย์และการเอาคนลงเป็นทาส

  ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั้นชี้ให้เห็นว่าสิทธิในชีวิตเป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คนหนึ่ง แต่ปัจจุบันก็ยังมีคนหลายกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิในชีวิตนี้ เช่น ชาวอุยกูร์หรือชาวโรฮิงญา ทั้งนี้ทางการไทยควรจะให้ความช่วยเหลือ ให้เขามีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการคุ้มครองสิทธิในชีวิต ให้เขาอยู่ได้โดยปกติสุข และถ้าสถานการณ์ในประเทศต้นทางของเขาสงบ เขาก็จะได้ถูกส่งกลับอย่างปลอดภัยในที่สุด

   ที่มา http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=...

    http://www.dailynews.co.th/Content/regional/174579...

   นิติ วณิชย์วรนันต์

   5501681133

หมายเลขบันทึก: 568515เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท