ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” คืออะไรหากจะให้จำกัดความอย่างง่ายๆ คือการที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน มีการศึกษาหรือไม่ มีผิวพรรณ ความเชื่อ ฐานะทางสังคมเช่นไร ล้วนเป็นผู้มีศักดิ์ศรี หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นคุณค่าในการในตัวตนของมนุษย์ทุกคนนั่นเอง ดังนั้นเมื่อทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว หากมองในเชิงคุณค่าของมนุษย์ ทุกคนย่อมมีความเท่าเทียมกันนั่นเอง และไม่อาจจะถูกกดขี่ หรือลดทอนสิ่งนี้ลงไปได้ไม่ว่าจากการกระทำใดๆก็ตาม ดังที่ได้บัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในข้อที่1 ใจความว่า

ข้อ 1 “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและ เสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตน มีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วย จิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ”

จะเห็นได้ว่าเรื่องของการยอมรับในความเท่าเทียม และความเสอมภาคของมนุษย์นี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานความคิดความอ่านของคนในสังคม ในการประพฦติปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียมในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกันนั่นเอง

สำหรับในบทความนี้จะมุ่งพิจารณาถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะเห็นว่ามีหลายกรณีที่บุคคลเหล่านี้ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเสมือนการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น หรือว่าเราไม่จำต้องเคารพในศํกดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาเหล่านี้เพราะเหตุว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาถูกพรากเอาไปนับตั้งแต่เวลาที่พวกเขาเดินทางเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย

กรณีศึกษาจาก นายนิวัฒน์ จันทร์คำ หรือน้องนิก น้องนิกมีสถานะเป็นคนไร้รัฐเนื่องจากไม่มีสัญชาติใดเลย และปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยน้องนิกเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับพ่อและแม่ เพื่อมาอาศัยอยู่กับคุณป้าที่จังหวัดตรัง และเป็นการเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย ในขณะที่น้องนิกยังเด็กมากอายุเพียง ประมาณสามปีเท่านั้นเอง และในเวลาต่อมา เมื่อน้องนิดถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน ก็ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากมีสถานะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คุณป้าจึงใช้วิธีการสวมรอยน้องนิกเป็นลูกของคุณป้า โดยใช้เอกสารของลูกชายคุณป้าเพื่อให้น้องได้เรียนหนังสือ ซึ่งประเด็นที่น่าพิจารณาคือการที่น้องนิกเป็นคนไร้รัฐและเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายนั้นจะทำให้น้องนิกไม่สามารถรับการศึกษา อย่างเท่าเทียมกับเด็กไทยคนอื่นได้อย่างนั้นหรือ เพราะใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 มาตรา10 บัญญัติว่า

“การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ”

มีข้อสังเกตคือ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้คำว่าบุคคลดังนั้นจำต้องพิจารณาว่าคำว่าบุคคลในที่นี้ หมายถึงเพียงแต่บุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือ หมายรวมถึงบุคคลทุกคนที่มีสถานะบุคคล และเรายอมรับกันว่าเขาคือมนุษย์ ซึ่งในประเด็นนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าการตีความควรจะตีความกฎหมายให้เป็นประโยชน์ มากกว่าเป็นโทษแก่บุคคล โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิมนุษยชนยิ่งแล้วใหญ่ ควรจะยึดหลักในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นหลักในการตีความ ซึ่งหากตีความตามแนวทางนี้น้องนิกย่อมมีสิทธิได้เข้ารับการศึกษาในนามของตนเองในฐานนะที่เป็นบุคคลคนหนึ่งและมีความเท่าเทียมกับ เด็กคนอื่นๆเช่นกันซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองเอาไว้แล้ว

จากที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องของการคุ้มครองความเท่าเทียมในการได้รับโอกาสต่างๆของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากๆประการหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า เราเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอื่นเพียงเพราะการไม่มีสัญชาติ ทั้งที่เรายอมรับว่าเขาคือมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเรา ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาในเรื่องของการศึกษานั้นเป็นเพียงเรื่องราวหนึ่งของการละเมิดความเท่าเทียมของบุคคลเท่านั้น ซึ่งในทางข้อเท็จจริงนั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่บุคคลเหล่านี้ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่

อ้างอิง

ศักดิ์ศรีของมนุษย์ แหล่งที่มา: http://www.romyenchurch.org/messages/?p=p_56&sName=-3624;-3633;-3585;-3604;-3636;-3660;-3624;-3619;-3637;-3586;-3629;-3591;-3617;-3609;-3640;-3625;-3618;-3660; 15พฦษภาคม 2557

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แหล่งที่มา: http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf 15พฦษภาคม 2557

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แหล่งที่มา: http://www.wbtvonline.com/pdf/9-04-201409-25-55.pdf 15พฦษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568417เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 03:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 03:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท