กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


โทษประหารชีวิตเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงถึงความจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่จำเป็นมาอย่างยาวนาน โดยในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว 140 ประเทศ ขณะเดียวกันยังมี 58 ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ ซึ่งในประเทศเหล่านี้เพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่นำโทษประหารชีวิตมาใช้จริง ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลางและหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยอยู่ด้วย ซึ่งวันนี้ ทีมเดลินิวส์ออนไลน์ ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือน กรมราชทัณฑ์ และเรือนจำกลางบางขวาง ในโครงการ "รู้ลึกหลังรั้วหนาม สัมผัสแดนประหาร ณ เรือนจำกลางบางขวาง" ที่จัดขึ้นโดย KTC เพื่อเข้าไปมอบหนังสือบริจาคให้กับ ห้องสมุดพร้อมปัญญา ในเรือนจำกลางบางขวาง

ตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลถึงโทษประหารว่า ในอดีตการประหารนักโทษมีอยู่หลายวิธีด้วยกันแต่ในสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนไปการประหารชีวิตโดยการยิงเป้า โดยนับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 - 2552 มีนักโทษถูกประหารชีวิตทั้งสิ้น 319 คน กระทั่งวันที่ 18 ก.ย.2546 การประหารชีวิตด้วยปืนถูกยกเลิก แต่ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 ก.ย. 2546 นักโทษชาย 4 คน ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเป็นครั้งแรก ต่อมาได้ยุติการประหารชีวิตไป โดยระหว่างปี พ.ศ. 2546-2551 (ยังมีโทษอยู่แต่ไม่มีการนำนักโทษไปประหาร) แต่ในวันที่ 24 ส.ค. 2552 มีการฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษชาย 2 คนที่เรือนจำบางขวาง ที่ถูกจับกุมข้อหาค้ายาเสพติดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2544 และศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต ทำให้จนถึงวันนี้มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดยาให้ตายทั้งสิ้น 6 คน

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่านักโทษที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในไทยจะถูกประหารชีวิตจริงน้อยมากหากเทียบกับสัดส่วนนักโทษประหารชีวิตที่มีอยู่ทั้งหมด ทำให้เกิดกระแสในสังคมอย่างต่อเนื่องว่าผู้กระทำผิดร้ายแรงเหล่านี้สมควรแล้วหรือที่จะไม่ต้องถูกประหารชีวิตโดยเฉพาะในประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตตามกระแสโลก ซึ่งองค์การหรือกลุ่มคนต่างๆที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้ยกเลิกโทษการประหารชีวิต หยิบยกประเด็นหลัก 3 หัวข้อมาพูดถึงคือ โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ โทษประหารชีวิตเป็นการสร้างความทรมานต่อร่างกายและจิตใจ และโทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมลดลง นอกจากนั้นแล้วโทษประหารชีวิตขัดต่อหลักปฏิญญาสากลข้อที่ 3 ที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างมีอิสระและปลอดภัย และข้อที่ 5 ที่ว่า ไม่มีใครมีสิทธิข่มเหงทารุณเรา

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารยังคงมีการถกเถียงเรื่องโทษประหารอยู่ตลอดเวลาในสังคม โดยฝ่ายที่เห็นด้วย มักมองว่า มาตรการนี้เป็นวิธีการที่สร้างความปลอดภัยและสันติภาพในสังคม แต่ในฝั่งที่ไม่เห็นด้วยมองว่าโทษประหารชีวิตมีลักษณะที่โหดร้าย ขัดกับหลักการพื้นฐานของศาสนา อีกทั้งยังมีการวิจัยในเชิงวิชาการมาแล้วหลายครั้งว่า โทษประหารชีวิตไม่สามารถลดปัญหาการเกิดอาชญากรรมได้ โดยงานวิจัยระบุว่า ปัจจัยที่จะทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงนั้นคือเรื่องของความรวดเร็วในการจับกุมและความชัดเจน แต่หากคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เสียหายและคนที่ถูกทำร้ายที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้ ประเด็นที่ว่าการยกเลิกโทษประหารมีความจำเป็นจริงหรือไม่จึงเกิดขึ้น เพราะที่จริงแล้วผู้ที่มีโอกาสถูกลงโทษประหารชีวิตหากรับสารภาพ ศาลก็อาจลงโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตแทนอยู่แล้ว อีกทั้งโทษประหารชีวิตยังสามารถขออภัยโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตได้ ซึ่งนับเป็นการผ่อนหนักเป็นเบาของโทษที่สามารถทำได้อยู่แล้ว

ในมุมมองสังคมที่มองอย่างเป็นกลางโดยไม่เอนเอียงไปฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก มีหลายเสียงที่แตกประเด็นที่น่าสนใจออกมาคือ ประเทศไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิตแต่ไม่ใช่เวลานี้ เพราะการประหารชีวิตในบางกรณีก็เหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู สังคมไทยเป็นสังคมแบบมือถือสากปากถือศีลที่ทำเหมือนไม่มีความรุนแรงอยู่ แต่ความจริงก็ยังมีความรุนแรงอยู่ นั่นเป็นเหตุผลที่ยังต้องมีโทษประหารชีวิตอยู่ นอกจากนี้คุณภาพของประชากรของประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันกับประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว หากจะยกเลิกโทษประหารชีวิตจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของประชาชนก่อน อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมต้องเข้มงวดกวดขันให้มากยิ่งขึ้น และตรงไปตรงมายิ่งขึ้น ไม่ให้ผู้เสียหายรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความกังขาในกระบวนการยุติธรรมอย่างในหลายๆคดีที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงจะต้องเตรียมความพร้อมมากพอสมควร เพราะหากสังคมยังเสื่อมโทรม คุณธรรมยังเสื่อมถอย การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง การยกเลิกโทษประหารชีวิตอาจยังเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ เพราะจะยิ่งสร้างความช้ำใจให้กับเหยื่อมากขึ้นไปอีก

โดยในเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ICCPR) เคยวินิจฉัยว่า รัฐภาคีไม่จำเป็นต้องยกเลิกโทษนี้โดยสิ้นเชิง แต่ต้องบังคับใช้อย่างจำกัดเฉพาะหมวดคดีบางประเภท ซึ่งแปลว่าหากประเทศไทยสามารถหาโทษชนิดอื่นมาทดแทนโทษประหารชีวิตได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะสามารถรณรงค์ให้พักการใช้โทษประหารชีวิตได้ แต่หากยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วปรับเปลี่ยนเป็นการจำคุกตลอดชีวิตแทนอย่างที่หลายฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกัน ประเทศไทยอาจต้องปรับเปลี่ยนการให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยเป็นการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการลดโทษและอภัยโทษ เพราะทุกวันนี้โทษจำคุกตลอดชีวิตของประเทศไทยเมื่อถึงเวลารับโทษจริงอาจถูกผ่อนผันและลดโทษจนเหลือเพียงจำคุกไม่เกิน 20 ปีก็พ้นโทษสู่โลกภายนอกได้แล้ว ซึ่งนักวิชาการมองว่านักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลาหลายปีจะสำนึกผิดและกลับตัวเป็นคนดีได้เมื่อออกมาสู่โลกภายนอก แต่ต้องยอมรับว่าในบางกรณีก็ไม่เป็นไปตามหลักวิชาจึงทำให้คนออกมากระทำผิดซ้ำ การจะยกเลิกโทษประหารหรือปรับเปลี่ยนเป็นโทษอะไรแทนนั้นจึงยังเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องทำการบ้านกันรอบด้านสำหรับการหาทางออก เพื่อนำมาซึ่งบทสรุปที่ทุกคนมีความเห็นสมควรตรงกัน
 (1)

โทษประหารชีวิตมักเกิดขึ้นในนามของความยุติธรรม แต่ไม่เคยมีหลักประกันยืนยันโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ผู้ที่ถูกประหารชีวิตในทุกกรณีนั้นเป็นผู้ทำความผิดอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหา (ทั้งนี้ยังไม่จำต้องพูดว่าความผิดดังกล่าวสมควรแก่โทษดังกล่าวหรือไม่ แม้ผู้ต้องหากระทำผิดจริงก็ตาม) มีหลายกรณีมากที่ผู้บริสุทธิ์ต้องโทษประหารชีวิต (หรือถูกประหารชีวิตไปแล้ว) แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกานับแต่ปี ๒๕๑๙ มีผู้ต้องโทษประหารชีวิตที่ได้รับการปล่อยตัวไม่น้อยกว่า ๑๑๓ คนหลังจากศาลพบว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ (ยังไม่นับอีกหลายร้อยคนที่ต้องโทษเบากว่าแต่ได้รับอิสรภาพด้วยเหตุผลเดียวกัน) คนเหล่านี้รอดชีวิตเพราะมีการรื้อฟื้นคดีโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เช่น ดีเอ็นเอ ตัวเลขดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าก่อนหน้านั้นมีคนบริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตไปแล้วมิใช่น้อย

ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การตัดสินให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับโทษในความผิดที่ตนไม่ได้ทำเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมนั้นล้วนเป็นมนุษย์ที่ผิดพลาดได้เพราะนอกจากจะมีข้อจำกัดในการรับรู้แล้ว ยังตกอยู่ภายใต้อคติ อีกทั้งยังมีความโลภที่ทำให้พ่ายแพ้ต่อผลประโยชน์ที่มุ่งแทรกแซงการตัดสินคดี (แม้แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ชื่อว่ามีมาตรฐานสูงทางด้านสิทธิเสรีภาพ ก็ยังถูกตั้งคำถามว่ามีการเลือกปฏิบัติ ในการจับกุม คุมขัง และการลงโทษประหารชีวิต เนื่องจากอคติด้านเชื้อชาติ) อย่างไรก็ตามหากความผิดพลาดในการตัดสินนั้นมีโอกาสแก้ไขได้ ก็ยังเป็นเรื่องที่รับได้ หากเขาถูกจับกุมคุมขังก็ยังมีหวังว่าจะเป็นอิสระได้ไม่ช้าก็เร็ว แต่หากเขาถูกประหารชีวิตไปแล้ว ใครเล่าจะคืนชีวิตให้เขาได้หากมีข้อพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์

ด้วยเหตุนี้โทษประหารชีวิตจึงทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจเป็นหลักประกันแห่งความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง ยิ่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คนยากจนเข้าถึงยากเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลานาน(เพราะประสิทธิภาพต่ำ) อีกทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อคนรวยมากกว่า (ไม่ว่าคนรวยที่ใช้ประโยชน์จากกฎหมายที่มีอยู่หรือคนรวยที่ใช้อิทธิพลอย่างไม่ถูกกฎหมาย) อย่างที่เกิดขึ้นในเมืองไทยทุกวันนี้ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ต้องโทษประหารชีวิตทั้งหลายสมควรได้รับโทษดังกล่าว

คดีเชอรี่แอน เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีข้อบกพร่องเกินกว่าที่จะพูดได้เต็มปากว่าการตัดสินคดีอุกฉกรรจ์ในทุกกรณีนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม ทำให้ได้คนที่ทำผิดจริงมารับโทษอย่างไม่มีข้อสงสัย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำผู้ที่ผิดตามคำตัดสินของศาลไปประหารชีวิต การลงโทษจำคุกตลอดชีวิตยังจะดีเสียกว่า เพราะหากเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ยังมีโอกาสได้รับอิสรภาพไม่วันใดก็วันหนึ่ง

อย่างไรก็ตามพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า หากเขาทำความผิดจริง และเป็นความผิดที่ร้ายแรง ก็สมควรแล้วที่เขาจะถูกประหารชีวิต มีเหตุผลหลายประการที่โทษดังกล่าวควรยกเลิกไปจากระบบกฎหมายของไทย ส่วนหนึ่งของเหตุผลดังกล่าวก็คือ ในเมื่อเราเห็นว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เหตุใดรัฐจึงทำเช่นนั้นเสียเอง โดยเฉพาะกับคนซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่จะต่อสู้หรือทำร้ายใครได้ จริงอยู่บุคคลมีสิทธิใช้ความรุนแรงในการป้องกันตัว แต่กับคนร้ายที่ยอมจำนน ปราศจากอาวุธแล้ว การใช้ความรุนแรงจนเขาถึงแก่ทุพพลภาพหรือตาย ย่อมเป็นความผิด แต่เหตุใดเราจึงเห็นว่ารัฐมีสิทธิหรือมีอำนาจในการทำเช่นนั้นกับบุคคลที่อยู่ในสภาพดังกล่าว เขาอาจจะเคยฆ่าคนตายมาแล้วก็จริง แต่ก็ใช่ว่าหลักการ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” จะเป็นสิ่งที่เราพึงยอมรับกัน ถ้าหากเรายอมรับหลักการดังกล่าว ก็หมายความว่า ผู้ข่มขืนก็สมควรถูกข่มขืนตอบด้วยเช่นกัน กฎหมายประเทศใดที่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นย่อมเป็นที่รังเกียจของวิญญูชนอย่างแน่นอน

มองในแง่ของชาวพุทธ การฆ่าเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ศีลข้อที่ ๑ นั้นไม่ได้อนุญาตให้ฆ่าคนหรือสัตว์บางประเภทได้ ขึ้นชื่อว่าการทำชีวิตให้ตกล่วงไปก็ถือว่าผิดศีลและเป็นบาปทั้งนั้น แม้แต่การสั่งหรือตัดสินให้ประหารชีวิต ก็ถือเป็นบาป (ดังเรื่องราวของพระเตมีย์ หนึ่งในสิบชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ซึ่งระลึกชาติได้ว่าเคยเป็นพระราชาและสั่งให้ลงอาญานักโทษ ทั้งทรมานและประหารชีวิต เป็นเหตุให้ตกนรกหลายหมื่นปี เมื่อรู้เช่นนั้นจึงแกล้งทำเป็นใบ้และหูหนวกเพื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นครองราชย์อันเป็นเหตุให้ต้องทำบาปอีก)

ในพระสูตรมีคำสอนและเรื่องราวมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าการฆ่านั้นเป็นสิ่งพึงงดเว้นทั้งในระดับวิถีชีวิตและการปกครอง ในกูฏทันตสูตร มีเรื่องราวของพระราชาที่ต้องการแก้ปัญหาอาชญากรรมด้วยวิธีรุนแรง เช่น ทรมานและประหารโจรผู้ร้าย แต่ปุโรหิต(ซึ่งเป็นตัวแทนคำสอนของพระพุทธเจ้า)คัดค้านโดยชี้ว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ข้อเสนอของปุโรหิตก็คือจัดระบบเศรษฐกิจให้ดี ให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้พออัตภาพ เมื่อพระราชานำไปปฏิบัติ ในเวลาไม่นานบ้านเมืองก็สงบสุข “บ้านเมืองไม่ต้องลงกลอน ลูกฟ้อนบนอกแม่”

ชาวพุทธนั้นไม่พึงเป็นผู้ฆ่าหรือสนับสนุนการฆ่า ไม่ว่าในกรณีใด ๆ เพราะเชื่อว่ามีวิธีการที่แก้ปัญหาได้ดีกว่าการฆ่า ดังนั้นจึงไม่ควรสนับสนุนให้รัฐทำการประหัตประหารผู้ใด เพราะการทำเช่นนั้นก็เท่ากับทำในนามของตน (แต่แม้จะทำในนามของผู้อื่น ก็ไม่สมควรเช่นกัน)

การประหารชีวิตนั้นไม่ได้ช่วยป้องปรามหรือยับยั้งอาชญากรรมเลย การศึกษาวิจัยทั่วโลกพบว่าหลายประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว คดีฆ่ากันตายลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกันในสหรัฐอเมริกา พบว่ารัฐที่ยังมีโทษประหารชีวิตไม่ได้มีอัตราการเกิดฆาตกรรมต่ำกว่ารัฐที่ไม่มีโทษดังกล่าวเลย

การเพิ่มโทษให้หนักขึ้นนั้นไม่ใช่เป็นสาเหตุให้คนทำผิดกฎหมายน้อยลง การมีมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้กระทำผิดมีโอกาสมากขึ้นในการถูกจับกุมและถูกตัดสินลงโทษต่างหากที่ทำให้อาชญากรรมลดลง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิต และหันมาเสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจสังคมเพื่อส่งเสริมให้คนทำความดีและลดแรงจูงใจที่จะทำความชั่ว วิธีนี้ไม่เพียงลดจำนวนอาชญากรเท่านั้น หากยังทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ผาสุกและบ้านเมืองสุขสงบอย่างแท้จริง (2)

ที่มา

1. โทษประหารชีวิต ความจำเป็นที่ต้องคงอยู่ หรือความรุนแรงที่ควรยกเลิกhttp://www.dailynews.co.th/Content/Article/127538/...

2. ทำไมเมืองไทยจึงควรยกเลิกโทษประหารชีวิต http://www.visalo.org/article/peace5410keepPromise...

1-2 ค้นหาเมื่อ 16 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 568206เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท