ปัญหาสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยที่เชื่อมกับสังคมโลก


โรฮิงญา เป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนฝั่งพม่าที่พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงยา ส่งผลให้มีชาวโรฮิงยาจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหา ชีวิตที่ดีกว่า

มักมีคนเข้าใจผิดว่าอาระกันกับโรฮิงญาคือคนกลุ่มเดียวกัน จริงๆแล้วชาวอาระกันและชาวโรฮินยาเป็นคนละกลุ่มกัน  ชาว อาระกันมาจากรัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ของพม่า ส่วนชาวโรฮินยาหรือโรฮิงญามาจากเมืองจิดตะกองของบังกลาเทศ ทั้งสองกลุ่มเป็นพวกเชื้อสายเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร ต่างกันที่สัญชาติเพราะอยู่คนละประเทศ แต่นับถือศาสนาเดียวกันคือ อิสลาม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วชาวโรฮิงญาแล้วจะอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอะรากัน (ยะไข่) ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ  มากกว่าอาศัยอยู่ในบังคลาเทศ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง Maungdaw, Buthidaung, Rathedaung, Akyab และ Kyauktaw

ตั้งแต่แรกเริ่มเป็นต้นมา ประเทศพม่ามองว่าพวกโรฮิงญาไม่มีความจงรักภักดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวโรฮิงญาบางคนต้องการสร้างรัฐอิสระขึ้นทางอะรากันตอน เหนือ และผนวกเข้ากับปากีสถาน

พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นพลเมือง และในปี พ.ศ. 2491 กองทหารพม่าออกปฏิบัติการกวาดล้างพวกนี้ หมู่บ้านหลายร้อยแห่ง “ถูกเผาและคนหลายพันคนถูกฆ่า ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลอพยพหนีไปยังบริเวณที่เป็นปากีสถานในขณะนั้น” (Yunus 1995:3) และ นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เจ้าหน้าที่ทางการพม่าพยายามจะข่มขวัญและขับไล่ พวกโรฮิงญาในครั้งต่อ ๆ มาอีก ทำให้ผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้าสู่ปากีสถานและต่อด้วยบังคลาเทศระลอกแล้วระลอกเล่า

ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย"  และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า

ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ทางการที่นั่นต้อนรับพวกโรฮิงญาในฐานะเป็นโมฮาเจียร์ (ผู้ลี้ภัยอิสลาม) และตามรายงานข่าวทางการได้วางแผนจะสร้างหมู่บ้านตัวอย่างที่เหมือนไร่นา สหกรณ์แบบรัสเซียให้กับคนพวกนี้ (“Chottograme”1949) แผนการนี้ไม่ได้กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมา และต่อมาอีกไม่นานโรฮิงญาก็ได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นคนต่างด้าว

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 250,000 คน อาศัยอยู่ในบังคลาเทศในค่ายที่สหประชาชาติดูแลอยู่ในแถบบริเวณชายแดน บางคนกลับไปพม่าในเวลาต่อมา บางคนหลอมรวมเข้ากับสังคมบังคลาเทศ และประมาณ 20,000 คน ยังอาศัยอยู่ในค่ายใกล้กับเท็คนาฟ อย่างน้อยอีก 100,000 คน อาศัยอยู่นอกค่าย และทางการบังคลาเทศพิจารณาว่าเป็นผู้ลี้ภัยที่ผิดกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2542 ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้อย่างน้อย 1,700 คน ติดคุกในบังคลาเทศด้วยข้อหาข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย (UNHCR 1997:254; “Twenty-five” 1999)

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ยากจนไร้สัญชาติจำนวนมากจึงอพยพไปสู่เมืองใหญ่ในบังคลาเทศ มาเลเซีย ปากีสถาน และเดินทางต่อไป ซึ่งประเทศแถบอ่าวเปอร์เชียที่ซึ่งเชื่อกันว่ามีคนกลุ่มนี้กว่า 200,000 คนอาศัยอยู่ในช่วงทศวรรษ 1990 (Lintner 1993; Human Rights Watch 2000) ชาวโรฮิงญาบางคนได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอิสลามต่าง ๆ และเข้าร่วมการต่อสู้ในอัฟกานิสถานโดยต้องทำหน้าที่เสี่ยงภัยที่สุดใน สมรภูมิรบ กวาดล้างกับระเบิดและแบกสัมภาระ (Lintner 2002) ดังนั้นการที่ประเทศพม่าไม่ไว้ใจชุมชนชายแดนจึงนำไปสู่การพลัดถิ่นข้ามชาติ อย่างรวดเร็วและทำให้ปัจจุบันมีชุมชนอินเตอร์เน็ต และแหล่งข่าวข่าวของโรฮิงญาเองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

สาเหตุที่โรฮิงญาไม่สามารถอยู่ในประเทศของตนเองได้ และส่งกลับไปก็จะหนีออกมาอีก

ชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่ยังคงถูกปฏิเสธสิทธิในสัญชาติภายใต้กฎหมายพลเมืองพม่าปี 2525 พวกเขาอาศัยอยู่ในรัฐระไข่ห์ ตอนเหนือ ซึ่งยังคงต้องขออนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมเพื่อออกจากหมู่บ้าน เรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการค้าขายและแสวงหางานทำ นอกจากนั้นพวกเขามักจะถูกบังคับให้เป็นแรงงานอีกด้วย

ชาวมุสลิมโรฮิงยายังถูกจำกัดสิทธิพลเมืองอีกหลายประการ ได้แก่ ไม่มีอิสระในการเดินทาง การบังคับเก็บภาษี การยึดที่ดินและบังคับย้ายถิ่น การขัดขวางการเข้าถึงด้านสาธารณสุข ที่พักอาศัยและอาหารไม่เพียงพอ การบังคับใช้แรงงาน รวมทั้งมีข้อจำกัดในการสมรส  ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาหลายพันคนอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคซับซ้อน (1)

การแก้ไขปัญหาจึงต้องดูอย่างน้อยใน 4 มิติ หรือ 4 กรอบระดับด้วยกัน และต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป

                ระดับแรกที่ประเทศต้นทางคือ พม่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมเริ่มขยับแล้วคือ ทำการสำรวจประชากรโรฮิงญาเพื่อแยกแยะโรฮิงญาท้องถิ่น(ในพม่า)กับชาวเบงกอล หรือชาวเชื้อสายเบงกอลที่อาจสวมรอยเป็นโรฮิงญาเข้ามาจากบังคลาเทศและอินเดีย และการให้ถิ่นพำนักถาวร ออกเอกสารแสดงตน ซึ่งประชาคมโลกโดยเฉพาะหมู่สมาชิกอาเซียนร่วมกับสหประชาชาติอาจร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้สิทธิพลเมืองในโอกาสแรก ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลพม่าและรัฐบาลท้องถิ่น(รัฐยะไข่)ในการสำรวจประชากร และการพัฒนาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคต ตรึงมิให้ชาวโรฮิงญาคิดอ่านล่องเรือไปตายเอาดาบหน้า เป็นการส่งออกภาระของพม่ามาให้ประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก

                ระดับที่สองคือ การช่วยเหลือดูแลชาวโรฮิงญาที่ติดค้างอยู่ในประเทศแรกรับ หรือระหว่างทาง (Transit) เช่น ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ให้ได้มาตรฐานที่ประชาคมโลกหรือพี่น้องชาวมุสลิมพึงยอมรับได้ หมายถึงเร่งเสริมความพร้อมในการรองรับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับหน่วยงานหลักในประเทศไทยชั้นนี้คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงชีวิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมายังเป็นลักษณะตามมีตามเกิด คือมอบหมายมาจากรัฐบาลแล้วก็กระจายกันไปตามหน่วยงานสาขาทั่วประเทศ  แต่มิได้จัดหางบประมาณจากส่วนกลางให้เพียงพอเป็นค่าเลี้ยงดูต่างๆ ค่าจ้างบุคลากรให้เพียงพอ และเพื่อการจัดทำสถานที่ให้สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม ศักดิ์ศรี และความเป็นมนุษย์

                สภาพสถานที่กักขัง ณ วันนี้นั้น แออัดมากๆและสิทธิพื้นฐาน เช่นในการได้ออกมาสูดอากาศ ออกกำลังกายก็จำกัดมากๆ เพราะสถานที่ไม่อำนวย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่เพียงพอที่จะดูแลป้องกันการหลบหนี

                ปัญหาพื้นฐานอื่นๆ เช่น ล่ามไม่เพียงพอ สถานรักษาพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ พยาบาล ณ ที่กักกัน หรืออุปกรณ์เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานเพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ก็ยังขาดเหลืออีกมาก

                ขณะเดียวกัน การเปิดโอกาสให้คณะกรรมการกลางอิสลามเข้าไปร่วมดูแลอย่างจริงจังเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระฝ่ายราชการ และยังเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวมุสลิมโรฮิงญาด้วย ก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ  อีกทั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก็อยู่ในวิสัยที่จะช่วยพูดจากับโลกอิสลาม เพื่อร่วมให้ความช่วยเหลือได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นคณะกรรมการกลางอิสลามสามารถรับหน้าที่แทนฝ่ายราชการในการจัดหาสถานที่ เป็นศูนย์กลางหรือศูนย์รวมดูแลโรฮิงญาทั้งหมดแทนที่จะกระจายไปจังหวัดต่างๆ ที่บางจังหวัดไม่มีชุมชนมุสลิมร่วมดูแล ให้คำแนะนำ นอกเหนือจากความคับแคบดังกล่าว

                ในระดับที่สาม คือ การส่งไปยังประเทศที่สาม ซึ่งโอกาสการจะได้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศขาประจำดังอดีต เช่น ประเทศตะวันตกต่างๆ ก็คับแคบลงเพราะปัญหาเศรษฐกิจภายใน และปัญหาการต่อต้านชาวมุสลิมเรื่องแรงงานมาแย่งงาน และเรื่องความรู้สึกเกรงกลัวลัทธิสุดโต่งของการนับถือศาสนาที่นำไปสู่ความรุนแรงและเผชิญหน้า ฉะนั้นโอกาสการไปประเทศที่สามก็น่าจะเป็นภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะนับถือศาสนาเดียวกัน ที่สำคัญภูมิภาคนี้ต้องการแรงงานทุกระดับ และชาวโรฮิงญาก็พักอาศัยอยู่ในตะวันออกกลางบ้างแล้ว เช่นที่ ซาอุดิอาระเบียก็มีอยู่แล้วเป็นแสนๆคน  ฉะนั้นรัฐบาลก็น่าจะประชุมหารือกับประเทศตะวันออกกลาง โดยร่วมกับสหประชาชาติเพื่อการนี้ได้

                 ในระดับที่สี่ คงเป็นไปในกรอบอาเซียนเอง โดยเฉพาะไทยและมาเลเซีย ต่างขาดแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่ต้องการความรู้หรือความชำนาญการมาก  อีกทั้งไทยก็มีแรงงานพม่าอยู่มากมายถึง 3-4 ล้านคน ส่วนมาเลเซียก็มีแรงงานอินโดนีเซียหลายล้านคนเช่นกัน ทั้ง 2 ประเทศต่างยังต้องการแรงงานต่างด้าว เป็นส่วนที่จำเป็นยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นตลาดที่มีความเสรี(การกีดกัน สร้างกฎเกณฑ์ มักมีนัยของการหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเรื่องกึ่งค้ามนุษย์และการทุจริตคอรัปชั่น)  ฉะนั้น ไทยและมาเลเซียควรพิจารณาให้โรฮิงญาเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานต่างด้าวที่ต้องการ และนำเข้าสู่ระบบได้(2)

ที่มา

1.ประวัติของชาวโรฮิงญา http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=...

2. แนวทางการแก้ไขปัญหาโรฮิงญา http://www.naewna.com/politic/columnist/6795

1-2 ค้นหาเมื่อ วันที่ 16 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 568199เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 00:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท